เรื่อง ตำนาน บันดาลใจ เด็กชายกับนกกระสา การ์ตูนใหม่จาก “จิบลิ”

เรื่อง ตำนาน บันดาลใจ เด็กชายกับนกกระสา การ์ตูนใหม่จาก “จิบลิ”

เด็กชายกับนกกระสา อนิเมะเรื่องล่าสุดจากสตูดิโอจิบลิ ที่มีนกกระสาพูดได้ลึกลับตัวหนึ่งร่วมอยู่ในเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับบรรดานกลึกลับทั้งหลาย – และความเชื่อมโยงของพวกมันกับโลกแห่งวิญญาณ

ภาพยนตร์เรื่องใหม่จากสตูดิโอจิบลิเรื่อง ” เด็กชายกับนกกระสา ” (The Boy and the Heron) เรื่องราวเกี่ยวกับนกกระสาพูดได้ลึกลับ นำพาตัวเด็กหนุ่ม มาฮิโตะ ไปบนภารกิจอันเหลือเชื่อเพื่อช่วยชีวิตแม่ของเขา ภาพยนตร์ล่าสุดจากสตูดิโอผู้ชนะรางวัลออสการ์ได้รับแรงบันดาลใจจากนวนิยายญี่ปุ่นจากปี 1937 เรื่อง “How Do You Live?” (“Kimitachi wa Dou Ikiru Ka”) โดย Genzaburo Yoshino และตำนานนกกระสาที่มีความเป็นมายาวนานกว่าหลายศตวรรษ ซึ่งที่จริงแล้ว นกกระสาได้สยายปีกของมันไปมีอิทธิพลต่อวรรณกรรม ศิลปะ เรื่องเล่าตำนานของญี่ปุ่นมาเป็นเวลานานนับพันปี

นกกระสา หรือซางิ (sagi) ในภาษาญี่ปุ่น พวกมันมักถูกพบเห็นในอาการยืนสงบนิ่งอยู่ริมแม่น้ำ หนองน้ำ และนาข้าว ด้วยขาเรียวเล็กยาว ลำคอโค้ง และจะงอยปากแหลมยาว หากคุณโชคดีก็อาจจะได้เห็นตอนมันสยายปีกบินขึ้น อันเป็นภาพเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่เกินที่คาดคิด ซึ่งแตกต่างจากญาติสนิทของมันอย่างนกกระเรียน อันเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ โชคลาภ และอายุยืน ความหมายของการปรากฏตัวของนกกระสาค่อนข้างลึกลับ และสัมพันธ์กับวิญญาณ เทพเจ้า ความตาย และการเชื่อมโยงกับอีกโลกหนึ่ง

นกกระสา, จานกระเบื้อง, ญี่ปุ่น
จานกระเบื้องที่ผลิตในญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1730 ภาพวาดนกกระสาในเฉดสีน้ำเงิน ทอง และเงิน เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ การเปลี่ยนผ่าน และความเชื่อมโยงกับโลกแห่งวิญญาณในนิทานพื้นบ้านญี่ปุ่นหลายศตวรรษ PHOTOGRAPH BY ASHMOLEAN MUSEUM, BRIDGEMAN IMAGES

หลักฐานอ้างอิงแรกของนกกระสาในวรรณกรรมญี่ปุ่นเท่าที่รู้จักกันอาจอยู่ในวรรณกรรมชื่อว่า “โคจิกิ” โดย มาริโกะ นากาอิ อาจารย์สาขาวรรณกรรมญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัย Temple University Japan กล่าวว่า โคจิกิ เป็นงานวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น รวบรวมขึ้นในปี ค.ศ. 712 และประกอบด้วยตำนานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาจำนวนมาก ซึ่งเป็นแก่นหลักของศาสนาชินโตและตำนานของประเทศญี่ปุ่น

ตำนานเรื่องหนึ่งใน โคจิกิ กล่าวถึงเจ้าชายพระองค์หนึ่งที่สิ้นพระชนม์ในดินแดนห่างไกลบ้าน วิญญาณของพระองค์กลายเป็นนกสีขาว แม้จะไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นนกกระสา แต่นากาอิกล่าวว่า บันทึกทางวิชาการระบุว่าเป็นไปได้ “นกกระสาขาวมักปรากฏตัวใน ‘อีกโลกหนึ่ง’ ตามตำนานและนิทานพื้นบ้านของญี่ปุ่น” นากาอิเสริมว่า นกกระสามักปรากฏตัวขึ้นรอบๆ ความตาย และนอกจากนี้ นกทั่วๆ ไปมักเกี่ยวข้องกับความตายและงานศพ พวกนกมักบินร่วมขบวนศพหรือพิธีกรรมงานศพอื่นๆ

นกกระสา, เด็กชายกับนกกระสา
จากปลายศตวรรษที่ 1800 ภาพวาดนกกระสานั่งอยู่บนกิ่งของต้นหลิว PHOTOGRAPH BY BRIDGEMAN IMAGES

นกกระสาขาว ที่โดดเด่นด้วยรูปลักษณ์ มักปรากฏในนิทานและภาพพิมพ์อุคิโยะ (บล็อกไม้) ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสารของเทพเจ้าหรือเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์และการเปลี่ยนแปลง เมื่อนกกระสาตัวอื่น เช่น อาโอซางิ (aosagi – นกกระสาสีน้ำเงิน) หรือ โกอิซางิ (goisagi – นกกระสาตัวกลางคืน) ปรากฏขึ้น การปรากฏตัวของพวกมันอาจเป็นลางร้าย นักปักษีวิทยาคนหนึ่งเขียนหนังสือหนึ่งเล่มเพื่อสำรวจว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงรู้สึกว่านกกระสาสีเทา (เช่นนกที่ปรากฎใน “เด็กชายกับนกกระสา”) น่าขนลุกหรือน่าเศร้าใจเมื่อเทียบกับภาพลักษณ์ที่ดีกว่าในประเทศอื่นๆ

โยไก (สัตว์ประหลาด) ที่เรียกว่า อาโอซางิบิ (Aosagibi) ซึ่งมีมาตั้งแต่ช่วงปี 1700 เป็นอย่างน้อย เป็นภาพของอาโอซางิหรือโกอิซางิ นั่งอยู่บนต้นไม้ เรืองแสงสีน้ำเงินวับวาว คาดเดาว่านกเรืองแสงนี้อาจเป็นผีหรือปีศาจจำแลง “อาโอซางิ กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมและมีความเกี่ยวข้องกับความมืดมิดมากกว่า” นากาอิ กล่าว โดยระหว่างโบยบิน พวกมันจะกลมกลืนไปกับความมืดและหายตัวไป ก่อนจะปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งเมื่อพบแสงสว่าง “มันอาจเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงวงจรชีวิตว่าเมื่อผู้คนตาย พวกเขาจะกลับไปสู่โลกหลังความตาย”

เด็กชายกับนกกระสา, นกกระสา

เด็กชายกับนกกระสา, นกกระสา, วัดเซ็นโซจิ, ญี่ปุ่น
นักแสดงในระหว่างการแสดง Shirasagi-no Mai หรือ รำนกกระสาขาว ที่วัดเซ็นโซจิในกรุงโตเกียว ขบวนพาเหรดซึ่งมีต้นกำเนิดในเกียวโต ปัจจุบันจัดขึ้นที่วัดเซ็นโซจิปีละสองครั้ง ในเดือนเมษายนและพฤศจิกายน PHOTOGRAPHS BY TOMOHIRO OHSUMI, GETTY IMAGES

แนวคิดหลักของเรื่องราวต่างโลกยังคงดำเนินต่อไปในละครโนห์เรื่อง “ซางิ” ซึ่งดัดแปลงมาจากนิทานใน “เฮเกะ เคงเง็น” วรรณคดีที่เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 14 เรื่องราวเกี่ยวกับ จักรพรรดิไดโกะ ที่พบเห็นนกกระสาตัวหนึ่ง จึงสั่งให้จับมา แต่เมื่อเห็นมันร่ายรำอย่างงดงาม จักรพรรดิก็ปล่อยมันไป บรรดานักแสดงละครโนห์มักสวมชุดสีขาวเพื่อสื่อถึงความบริสุทธิ์ของนก ดิเอโก เพลเลคเคีย นักวิชาการละครโนห์และอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกียวโตซังเงียว กล่าว

แม้ตามปกติละครโนห์จะใช้หน้ากากเมื่อแสดงเป็นตัวละครเหนือธรรมชาติ แต่ในการแสดง “ซางิ” อันหาชมได้ยากนี้ “บทบาทของนกกระสาจะแสดงโดยวัยรุ่นหรือผู้สูงอายุ” เพลเลคเคีย กล่าว เขาอธิบายว่า วัยรุ่นและผู้สูงอายุเชื่อว่าสามารถอยู่ใกล้ชิดกับโลกหลังความตายได้มาก และสามารถเข้าถึงและเชื่อมต่อกับโลกแห่งวิญญาณได้ง่ายกว่า เนื่องจาก “สามารถทำได้เฉพาะในช่วงรอยต่อของชีวิตเท่านั้น”

นางาอิ คาดการณ์ว่า นกกระสาได้ปรากฏในนิทานพื้นบ้านบ่อยครั้งเพราะเป็นตัวละครที่คุ้นเคยสำหรับชาวนา มักพบเห็นในทุ่งนา บทเพลงเต้นรำที่ชื่อว่า “ชิราซางิ โนะ ไม” (Shirasagi no Mai – รำนกกระสาขาว) มีการการแสดงเป็นประจำ ณ วัดเซ็นโซจิ กรุงโตเกียว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1652 แต่ต้นกำเนิดของบทเพลงนี้อาจย้อนไปไกลถึงศตวรรษที่ 11 ในการแสดง นักเต้นสวมชุดนกกระสา หมุนตัวช้าๆ ก้มลง ตีลังกา สูงช้าๆ ประกอบกับเสียงขลุ่ยและกลองที่ทรงพลัง เดิมแสดงที่ศาลยาซากะ จ.เกียวโต บทเพลงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปัดเป่าโรคระบาด

เรื่อง 


อ่านเพิ่มเติม วิทยาศาสตร์เบื้องหลัง สตาร์วอร์ ที่เป็นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้

Recommend