สมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก มีค่าเฉลี่ยผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สูงเป็นอันดับสองของประเทศ ข้อมูลจากสำนักงานคลังจังหวัดสมุทรสาคร ปี พ.ศ. 2553 ระบุว่า ภาคธุรกิจประมงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 7,369 ล้านบาท ขณะที่ภาคเกษตรกรรม ตลอดจนโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม มีมูลค่ากว่า 290,320 ล้านบาท และมีความต้องการแรงงานสูง โดยเฉพาะแรงงานระดับล่างที่คนไทยส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะทำ เนื่องจากเห็นว่างานหนักและค่าแรงถูก ดังนั้น ทางเลือกและทางออกของผู้ประกอบการคือการจ้างแรงงานข้ามชาติ
ปัจจุบัน คาดกันว่ามีแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา อาศัยอยู่ในสมุทรสาครกว่า 200,000 คน แยกเป็นแรงงานหลบหนีเข้าเมือง แรงงานที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ และแรงงานที่นำเข้าตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงานระหว่างรัฐ ในจำนวนนี้ ประมาณร้อยละ 92 เป็นแรงงานพม่า โดยคาดว่าน่าจะมีคนพม่าเกือบ 2 ล้านคนเข้ามาขายแรงงานในประเทศไทย
ธุรกิจค้าพม่า
เมื่อความโลภไม่เคยไว้หน้าใคร มนุษย์จึงทำได้กระทั่งค้าขายกันเอง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของความโลภนั้น ในบรรดาแรงงานพม่าเกือบสองล้านคน จำนวนไม่น้อยสามารถยกระดับสถานะของชีวิตให้พ้นจากความยากจนชนิดสุดจะทน แต่หลายคนกลับถูกลดทอนสถานะเป็นเพียง “สินค้า” ที่มีไว้ซื้อขาย
“ไม่มีใครมีสิทธิพิเศษในการผลาญสังหารชีวิตผู้อื่น เราต้องดูแลแรงงานข้ามชาติเหมือนกับแรงงานไทย อย่ามองว่าเราเป็นประชากรชั้นหนึ่งและพวกเขาเป็นชั้นสอง แต่ควรมองว่าพวกเขาเป็นแขกและเราเป็นเจ้าบ้านที่ต้องดูแลแขก” สมพงษ์ สระแก้ว หรือ “ตุ่น” ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือเรียกย่อๆว่าแอลพีเอ็น (Labour Right Promotion Network Foundation: LPN) บอกเราถึงสาเหตุที่ต้องดูแลแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าพวกเขาจะมาจากพม่า ลาว กัมพูชา หรือที่อื่นใด ทุกคนล้วนมีสิทธิความเป็นมนุษย์ที่พึงได้รับการเคารพอย่างเท่าเทียมกัน
ตุ่นเล่าว่า ไม่ว่าแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยจะมีจำนวนแท้จริงเท่าไร ต้องยอมรับว่าในจำนวนนี้ร้อยละ 90-95 ถือสัญชาติพม่า คนเหล่านี้ประสบปัญหาปากท้องและเหตุการณ์บ้านเมืองที่ไม่ค่อยปกติ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานหลบหนีเข้าเมืองตามแนวพรมแดนทางธรรมชาติและกระจายไปทุกๆที่ที่มีรายได้ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจประมง
“จะบอกว่ามาแย่งงานคนไทยทำนั้นไม่เป็นความจริง ความจริงคือคนไทยไม่ทำ เอง เพราะค่านิยมรักสบาย” ตุ่นอธิบายว่า แรงงานชาวไทยมักปฏิเสธที่จะทำงานประเภท 3D คือ สกปรก (dirty) ยากลำบาก (difficult) และเสี่ยงอันตราย (dangerous) ผนวกกับทรรศนะของนายจ้างที่ว่าลงทุนน้อยสุด กำไรสูงสุด แรงงานข้ามชาติจึงกลายเป็น “ขุมทรัพย์” ของผู้ประกอบการ รวมทั้งนายหน้า
ที่ส่วนใหญ่เป็นคนพม่าด้วยกันเองในการจัดหาและลำเลียงแรงงานไปสู่มือผู้ประกอบการ
“ปกติคนไทยไปสมัครงานไม่ต้องเสียเงินใช่ไหม แต่แรงงานพม่า ถ้าอยากทำงานต้องเสียเงินประมาณ 7-8 พันบาท อ้างว่าเป็นค่าเอกสารบ้าง ค่าชุดบ้าง แล้วจ่ายค่าจ้างเป็นรายเหมา ใครทำมากก็ได้มาก ใครแกะกุ้งมากได้เงินมาก นับเป็นกิโลเอา”
แต่ปัญหาคือพวกเขามักไม่ได้ค่าจ้างตามที่ตกลง ถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบด้วยสารพัดวิธีการแสวงหาผลประโยชน์ เส้นแบ่งระหว่างการละเมิดสิทธิแรงงานกับการค้ามนุษย์เป็นเพียงเส้นบางๆที่ยากจะแยกออกจากกัน จำนวนผู้ที่ตกเป็นเหยื่อนั้นก็ยากจะประมาณการ อีกทั้งการกระทำที่เข้าข่ายดังกล่าวยังไม่มีวี่แววว่าจะบรรเทาเบาบางหรือยุติลง ดังจะเห็นได้จากผู้มาร้องทุกข์ที่มูลนิธิ
ซึ่งมีไม่เว้นแต่ละวัน
ทุย ทุย เล่าว่า เธออยากมาทำ งานที่ประเทศไทย เพราะได้ยินคำบอกเล่าว่าเงินเดือนดี ติดก็ตรงที่เธอไม่มีเงิน นายหน้าผู้อารีจึงเสนอว่าจะออกค่าใช้จ่ายให้ก่อน รวมเบ็ดเสร็จ 22,000 บาทที่ต้องใช้คืน เธอเล่าต่อว่า ได้เงินเดือน 3,000 บาทจากการทำงานในโรงงานแห่งหนึ่ง แต่ต้องจ่ายให้นายหน้าทั้งหมดและจะได้เงินติดตัวแค่วันละ 100 หรือ 150 บาท ทุย ทุย ไม่ใช่หญิงสาวคนเดียวที่ตกอยู่ในชะตากรรมนี้ เพื่อนชาวพม่าของเธอคนหนึ่งพยายามหลบหนีและทำสำเร็จ
“เจ้านายโกรธมาก นึกว่าฉันช่วยให้เพื่อนหนี เลยเอาท่อนไม้ทานาคาปาใส่โดนตาอย่างจัง เจ็บมากๆ” ดวงตาของเธอบวมปูดและเขียวชํ้าจนอักเสบ เมื่อเห็นท่าไม่ดี นายหน้าเลยบอกกับทุย ทุย ว่าจะพาเธอไปโรงพยาบาลสำหรับคนพม่า ไม่ต้องจ่ายเงินสด ติดค่ารักษาไว้ก่อนได้ “เขาพาฉันขึ้นรถตู้ไปในคืนนั้น มีฉัน นายหน้า คนขับรถ และชายอีกคนที่ฉันไม่รู้จัก”
เวลาผ่านไปราวหนึ่งชั่วโมง ทุย ทุย ถูกไล่ลงจากรถและชายนิรนามคนนั้นตามลงมา เขาใช้มีดแทงที่ท้องเธอ 4-5 ครั้ง และโยนเธอทิ้งในลำคลองข้างทาง ทว่าทุย ทุย ยังไม่หมดสติ เธอแข็งใจลากร่างชุ่มเลือดขึ้นมาบนถนนและหวังว่าจะมีรถวิ่งผ่านมาสักคัน แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มี ”แล้วก็มีหมาสองตัวเห่า เธอเล่า สักพักก็มีคนมาเจอ มีคนมาดูเยอะแยะไปหมด” สุดท้ายพวกเขาก็ช่วยพาฉันไปส่งโรงพยาบาล
“ถ้ารู้ว่ามาแล้วจะเกิดเรื่องแบบนี้ ฉันไม่มาหรอก แรกๆก็อยากกลับพม่านะ แต่ก็อยากทำงาน” ดูเหมือนว่าประสบการณ์อันเลวร้ายจะทำให้เธอสับสนไม่น้อยว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับชีวิตดี จะลองเสี่ยงกับชีวิตต่างแดนอีกสักครั้ง หรือจมปลักอยู่กับความยากไร้ ท้ายที่สุด ทุย ทุย ก็เลือกที่จะทำงานในประเทศไทยต่อไป
มีปัจจัยหลายอย่างเหลือเกินที่เป็นสาเหตุของปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานและการค้ามนุษย์ ตุ่นเคยพูดไว้ว่า หนึ่งในอุปสรรตสำคัญคือ ทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐไทยบางคน (ยํ้าว่าบางคน) ที่ยังเห็นว่า แรงงานข้ามชาติ คือประชากรชั้นสองที่ไม่จำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่มากนัก
(อ่านต่อหน้า 3)