ภาพถ่ายมุมสูงของกรุงมาเล่ เมืองหลวงของสาธารณรัฐ มัลดีฟส์ (ภาพถ่ายโดย Shahee Ilya) ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Male-total.jpg?fbclid=IwAR33BPyuNpcnTkyO9e1_qIP-46Lb4BLrkdN5NVJYbcktlM5BeDH5odr11bQ
มัลดีฟส์ : Walking Around Malé
“ไปเที่ยวมาเล่มา” ผมบอกเพื่อนหลายคนหลังกลับจากทริปล่าสุด เกือบทุกคนทำหน้าแปลกใจ บางคนนึกว่า ผมหมายถึงประเทศมาลีในแอฟริกา แต่พอผมเปลี่ยนคำพูดใหม่ว่า “ไปเที่ยว มัลดีฟส์ มา” ทุกคนร้อง อ๋อ! เพราะไม่มีใครไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินชื่อหมู่เกาะในฝันกลางมหาสมุทรอินเดียแห่งนี้ เมื่อนึกถึงมัลดีฟส์ ภาพแรกที่ผุดขึ้นในใจของหลายคน คงไม่พ้นภาพหาดทรายขาวละมุน น้ำทะเลสีเทอร์คอยส์ รีสอร์ตกลางลากูน หรือจะเป็นฝูงปลากระเบนแมนต้าที่แหวกว่ายในท้องน้ำราวกับนกบินบนท้องฟ้าสีคราม มนตร์เสน่ห์ของมัลดีฟส์สำหรับนักเดินทางทั่วโลกยังคงเป็นทั้งหมดที่ว่ามานี้
แล้วมาเล่ (Malé) ที่ผมบอกตอนแรกล่ะ คือที่ไหน พูดถึงตอนนี้ หลายคนเริ่มกูเกิ้ลหา แล้วก็พบคำตอบว่า มาเล่ (ไม่ได้ออกเสียงว่า มาลี นะ) คือเมืองหลวงของมัลดีฟส์ หรือสาธารณรัฐมัลดีฟส์ (Republic of Maldives) ซึ่งเป็นชื่อทางการ นักท่องเที่ยวน้อยคนมุ่งหน้าไปมัลดีฟส์โดยบอกว่าจะไปเที่ยวมาเล่ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะมาเล่ไม่ใช่จุดขายหรือไฮไลต์ของมัลดีฟส์ แม้แต่ด่านแรกที่คุณไปถึงมัลดีฟส์ ซึ่งก็คือสนามบินนานาชาติมาเล่ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Velana International Airport ก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนเกาะเดียวกับตัวเมืองมาเล่ (สนามบินตั้งอยู่บนเกาะ Hulhule ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก) จากที่นั่น ถ้าคุณไม่นั่งรถข้ามสะพานใหม่เอียมที่มีชื่อว่า “สะพานมิตรภาพจีน-มัลดีฟส์” ก็แค่นั่งเรือเฟอร์รีจากหน้าสนามบินเพียงอึดใจเดียวก็ไปถึงเมืองหลวงมาเล่แล้ว อันที่จริง นักท่องเที่ยวอาจใช้บริการเครื่องบินทะเลหรือเครื่องบินน้ำ (seaplane) บินตรงไปยังเกาะรีสอร์ตอื่นๆ ได้จากสนามบินโดยไม่ต้องข้ามฝั่งไปมาเล่ด้วยซ้ำ


สำหรับนักท่องเที่ยว มาเล่คือประตูบานที่สองที่จะพาคุณไปยังเกาะน้อยใหญ่ของมัลดีฟส์ หรือตรงไปยังรีสอร์ตต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีเรือบริการรับ-ส่งจากท่าเรือหลายแห่งของมาเล่ แต่สำหรับชาวมัลดีฟส์ มาเล่คือเมืองหลวงซึ่งเป็นบ้านของผู้คนราว 200,000 คน หรือเกือบร้อยละ 40 ของประชากรทั้งประเทศ ด้วยเนื้อที่เพียง 9.27 ตารางกิโลเมตร (เทียบแล้วเกาะเสม็ดบ้านเรายังใหญ่กว่าเพราะมีพื้นที่ 13 ตารางกิโลเมตร) มาเล่จึงได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่นี่ยังเป็นศูนย์กลางทางการปกครอง เศรษฐกิจ การพาณิชย์และการเงิน ของมัลดีฟส์ ประเทศที่ประกอบไปด้วยหมู่เกาะปะการังวงแหวนหรืออะทอลล์ 26 อะทอลล์ รวมแล้วมีเกาะน้อยใหญ่เกือบ 1,200 เกาะ
สำหรับคนไทย มาเล่อาจจะดูอึดอัดสักหน่อย เพราะถนนหนทางคับแคบ รถวิ่งจอแจ และผู้คนพลุกพล่าน แต่นั่นก็เป็นเสน่ห์และสีสันอย่างหนึ่งของวิถีชีวิตเมือง ด้วยขนาดกะทัดรัด เราจึงสามารถไปเที่ยวจุดสนใจต่างๆ ในมาเล่ได้ด้วยการเดิน (หรือไม่ก็เรียกแท็กซี่ซึ่งต้องต่อรองราคากันเล็กน้อย) ค่าครองชีพในมาเล่จัดว่าสูงเมื่อเทียบกับเมืองท่องเที่ยวหลายเมืองแถบบ้านเรา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเศรษฐกิจของมัลดีฟส์ขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการเป็นอันดับหนึ่ง ผู้คนที่อาศัยอยู่ในมาเลส่วนใหญ่จึงมักทำงานเกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรือไม่ก็งานราชการ ผมลองวัดง่ายๆ จากอาหารกลางวันแบบคนท้องถิ่นอย่างข้าวราดแกง (สไตล์อินเดีย) สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 80 บาท (หรือ40 รูฟียะห์ซึ่งเป็นสกุลเงินท้องถิ่น / 1 รูฟียะห์เท่ากับประมาณ 2 บาทไทย) แนะนำให้ลองมาหาร้านอาหารที่คนท้องถิ่นกินกัน แต่ถ้าเป็นร้านที่บริการแก่นักท่องเที่ยว ราคาอาจพุ่งสูงขึ้นไปสองหรือสามเท่า ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของที่นี่คือ ผู้คนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีมาก ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการใช้ระบบการศึกษาแบบอังกฤษ (มัลดีฟส์เป็นรัฐในอารักขา หรือ protectorate ของอังกฤษนานกว่า 70 ปี กระทั่งได้เอกราชเมื่อ ปี 1965)


มาเล่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่นี่ยังเป็นศูนย์กลางทางการปกครอง เศรษฐกิจ การพาณิชย์และการเงิน ของมัลดีฟส์ ประเทศที่ประกอบไปด้วยหมู่เกาะปะการังวงแหวนหรืออะทอลล์ 26 อะทอลล์ มีเกาะน้อยใหญ่เกือบ 1,200 เกาะ
แม้มาเล่อาจจะไม่ใช่จุดหมายปลายทางของคุณในมัลดีฟส์ แต่ถ้าคุณพอจะมีเวลาสักครึ่งวัน (เป็นต้นว่าระหว่างรอเครื่องบินกลับบ้าน) ผมอยากชวนคุณเดินเล่นในมาเล่กันสักหน่อย ไหนๆ ก็ได้ชื่อว่ามาเที่ยวมัลดีฟส์แล้ว ต้องเก็บเรื่องราวไปเล่าให้เพื่อนฝูงทางเมืองไทยฟังเสียหน่อย ว่าแต่มาเล่มีอะไรน่าดูบ้าง
สำหรับผม ที่ที่ไม่อยากให้คุณพลาดคือ ตลาดปลามาเล่ (Malé Fish Market) เพราะนอกเหนือจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแล้ว สิ่งที่สร้างรายได้ให้มัลดีฟส์เป็นอันดับสองคือการประมงนั่นเอง หลายคนจึงบอกว่า ตลาดปลาเล็กๆ แห่งนี้เปรียบได้กับจิตวิญญาณของมาเล่เลยทีเดียว ยิ่งถ้าคุณเป็นคนชอบเดินตลาดสดเหมือนผม คุณจะรู้สึกตื่นตาตื่นใจเวลาที่ชาวประมงพื้นบ้านนำปลาทูน่าครีบเหลือง (yellowfin tuna) ตัวใหญ่ยักษ์มาขึ้นที่สะพานปลาซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามก้บตลาด แม้ขนาดของตลาดจะเทียบไม่ได้ แต่ผมว่าที่นี่น่าสนุกและ ว้าว ไม่แพ้ตลาดปลาสึกิจิในตำนานที่ญี่ปุ่นเลย คุณจะได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลของมัลดีฟส์จากปลานานาชนิดที่พ่อค้า (แปลกใจที่ทั้งตลาดนี้มีแต่พ่อค้า) วางขาย ทั้งปลาเก๋า ปลากะพง ปลากะมง ปลาอีโต้มอญ และอีกสารพัด จากสายตาและจมูก ผมบอกได้เลยว่าสดมาก (คนที่ชอบกินซูชิหรือซาชิมิ คงนึกเสียดายที่ไม่ได้เอาโชยุกับวาซาบิติดตัวมาด้วย) เวลาที่น่าไปเที่ยวคือเช้าและเย็น (ตลาดเปิดตลอดวัน) ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวประมงจะนำปลามาเทียบท่า แล้วเผลอๆ บางวันคุณอาจได้เห็นฝูงปลากระเบนมารุมกินเศษปลาที่พ่อค้าปลาโยนให้ หลังชมตลาดปลาแล้ว เพียงแค่ข้ามถนน คุณก็ยังได้แวะตลาดผักผลไม้ (produce market) เป็นของแถมสำหรับไฮไลต์วิถีชีวิตของชาวมาเล่ แต่ความที่มัลดีฟส์ขาดแคลนที่ดินเพาะปลูก ผักผลไม้ส่วนใหญ่ที่คุณเห็นจึงน่าจะนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะศรีลังกา


นอกเหนือจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแล้ว สิ่งที่สร้างรายได้ให้มัลดีฟส์เป็นอันดับสองคือการประมงนั่นเอง หลายคนจึงบอกว่า ตลาดปลาเล็กๆ แห่งนี้เปรียบได้กับจิตวิญญาณของมาเล่เลยทีเดียว
ถ้ายังพอมีเวลาเหลือ ผมอยากชวนคุณไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของมัลดีฟส์กันสักหน่อย นั่นคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (มัลดีฟส์) ไม่ต้องกลัวเวลาจะใช้เวลานาน เพราะพิพิธภัณฑ์ไม่ได้ใหญ่โตอะไร มีส่วนจัดแสดงหลักๆ แค่สองชั้น ที่นี่คุณจะได้เรียนรู้ว่า มัลดีฟส์ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศมุสลิม เคยเป็นอาณาจักรพุทธศาสนามาก่อน หลักฐานที่ยังหลงเหลืออยู่คือภาพสลักสัญลักษณ์ในพุทธศาสนาบนหินปะการัง (รูปเคารพส่วนใหญ่ถูกทำลายไปค่อนข้างมาก) ที่นี่ยังจัดแสดงศิลปวัตถุในยุคสุลต่านของมัลดีฟส์ ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวมัลดีฟส์ในฐานะนักท่องทะเล (seafarer) ดังจะเห็นได้จากแบบจำลองเรือพื้นเมืองที่เรียกว่า dhoni ซึ่งชาวมัลดีฟส์ยังใช้งานอยู่ในปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์มาเล่เปิดทำการทุกวัน ปิดวันศุกร์ (วันหยุดในประเทศมุสลิม) และเสียค่าเข้าชม (ต่างชาติคนละ 100 รูฟียะห์ หรือประมาณ 200 บาท)


ใกล้ๆ กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมัลดีฟส์ มีสองที่หมายที่คุณสามารถแวะชมหรือถ่ายภาพได้ ที่แรกคือพระราชวังสุลต่าน (Muleeaage) อาคารเตี้ยๆ สีสันสดใสและงดงามด้วยลวดลายสลักประดับบานประตู หน้าต่าง และชายคา สร้างขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งต่อมาใช้เป็นทำเนียบประธานาธิบดี นักท่องเที่ยวไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปด้านใน เราจึงทำได้แค่เพียงถ่ายภาพจากด้านนอก ในละแวกใกล้เคียงยังเป็นที่ตั้งของมัสยิดแห่งแรกและเก่าแก่ที่สุดในมัลดีฟส์ชื่อ Old Friday Mosque อายุเก่าแก่กว่า 350 ปี จุดเด่นของที่นี่คือ สถาปัตยกรรมที่สร้างจากหินปะการังสลักเสลาลวดลายวิจิตรและข้อความจากพระคัมภีร์อัลกุรอาน ปกติที่นี่ไม่เปิดให้คนซึ่งไม่ใช่ชาวมุสลิมเข้าเยี่ยมชม (เว้นแต่ขออนุญาตล่วงหน้า) แต่หากคุณโชคดีเหมือนผมที่ไปเยี่ยมชมนอกช่วงเวลาละหมาด และแต่งกายสุภาพ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลก็อาจอนุญาตให้คุณเข้าไปชมด้านใน ซึ่งคุณจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศความขรึมขลังและเปี่ยมศรัทธา ยังไม่ต้องพูดถึงความวิจิตรบรรจงของสถาปัตยกรรมด้านใน โดยเฉพาะลวดลายไม้แกะสลัก เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงกิจการอิสลาม (Ministry of Islamic Affairs) ดูกระตือรือร้น เป็นมิตร และยินดีอธิบายเรื่องราวต่างๆ ให้เราฟัง ด้านนอกของมัสยิดคือที่ตั้งของสุสานอดีตสุลต่านและเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ ซึ่งมีหินปะการังสลักเป็นหินหน้าหลุมศพ จุดเด่นอีกอย่างคือหออะซานกลมใหญ่สีน้ำเงินขาวรูปร่างคล้ายประภาคาร


ถึงตอนนี้ ถ้าคุณเหนื่อย ลองแวะพักหย่อนใจที่โอเอซิสเล็กๆ ใจกลางมาเล่อย่างสวนสาธารณะ Sultan Park ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมัลดีฟส์และพระราชวังสุลต่าน สวนสาธารณะแห่งนี้แม้จะเล็กมากถ้าเทียบกับสวนสาธารณะในบ้านเรา แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนที่นี่ให้ความสำคัญกับต้นไม้และพื้นที่สีเขียวอย่างมาก เพราะตามถนนหนทาง ผมสังเกตเห็นว่า ต้นไม้ได้รับการดูแลและตัดแต่งอย่างดี

พูดมาถึงตรงนี้ ผมเริ่มนึกสงสัยว่า ชาวเมืองมาเล่อยู่บนเกาะกลางมหาสมุทรแบบนี้ พวกเขายังอยากไปเที่ยวชายหาดกันบ้างไหม ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เมื่อเราถามเรื่องนี้กับเพื่อนคนไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ในมัลดีฟส์มานาน เขากลับแนะนำให้เราไปดูด้วยตาตนเองที่ ชายหาดเทียม (artificial beach) ในมาเล่ ใช่ครับ ฟังไม่ผิด ชายหาดเทียมจริงๆ เพราะด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และความแออัดของประชากร มาเล่แทบไม่มีชายหาดสำหรับให้ประชาชนได้พักผ่อนหย่อนใจ (ชายหาดธรรมชาติสำหรับคนท้องถิ่นที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่เกาะ Villingili ซึ่งสามารถนั่งเรือเฟอร์รีจามาเล่ไปได้โดยใช้เวลาเพียง 10 นาที) ผมไปถึงชายหาดเทียมตอนบ่ายแก่ๆ แดดร่มลมตก ผู้คนกำลังคึกคัก หลายคนลงไปว่ายน้ำ บ้างจับกลุ่มพูดคุย บ้างถ่ายภาพเซลฟี บ้างสนุกกับตกปลา สำหรับเราที่เป็นคนต่างชาติอาจต้องเคารพความเป็นส่วนตัวของชาวมาเล่ และความแตกต่างทางวัฒนธรรมสักหน่อย

ขอให้สนุกกับการเดินเที่ยวมาเล่นะครับ ฉบับหน้าเรายังมีเรื่องราวสนุกๆ น่ารู้จากมัลดีฟส์มาฝากกัน คอยติดตามอ่านได้ที่นี่ หรือที่เฟซบุ๊ก National Geographic Thailand และเว็บไซต์ NGThai.com
เรื่อง กองบรรณาธิการ
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา
ขอขอบคุณผู้สนับสนุนการเดินทาง: สิงห์เอสเตท จำกัด (มหาชน) และโครงการ CROSSROADS, Maldives ข้อมูลเพิ่มเติม: www.crossroadsmaldives.com
สารคดีแนะนำ