เมื่อลูกชายคนแรกเกิดเดือนเดียวกับที่ โควิด-19 เริ่มระบาดในเมืองอู่ฮั่น คุณพ่อมือใหม่ที่ต้องทำงานในคลินิกของครอบครัว จะเผชิญกับสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงนี้อย่างไร
เดือนธันวาคมปีนี้ ลูกชายคนแรกของผมจะอายุครบหนึ่งขวบพอดี แม้เวลาจะผ่านไปนานร่วมปี แต่วินาทีที่ได้เห็นหนูน้อยร้องไห้จ้าในห้องคลอด วินาทีที่อุ้มเด็กชายในอ้อมกอดพร้อมมือเล็ก ๆ ที่กำนิ้วผมไว้แน่น ยังคงสดใหม่ในความทรงจำราวกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เด็กชายลืมตาดูโลกท่ามกลางข่าวผู้ป่วยปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุในสาธารณรัฐประชาชนจีน
เมื่อเราทราบข่าวอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลกว่า มีคนในประเทศจีนติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จำนวน 27 คน โดยทั้งหมดล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับตลาดสดในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน
ผมพยายามรับฟังข่าวสารอย่างต่อเนื่องโดยไม่ตื่นตระหนก พร้อมกับหวังว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ก็น่าจะซํ้ารอยโรคระบาดอื่น ๆ ที่รัฐบาลสามารถควบคุมได้โดยมีผู้ติดเชื้ออยู่ในวงจำกัด
ผู้ติดเชื้อรายแรก
เพียงไม่นาน ตัวเลขผู้ติดเชื้อในเมืองอู่ฮั่นก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากหลักสิบสู่หลักหมื่น จนรัฐบาลจีนจำเป็นต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดคือปิดเมืองทั้งเมืองเพื่อยับยั้งการระบาด ท่ามกลางสายตาของทั่วโลกที่จับจ้องด้วยความหวาดวิตก
ผมพยายามปลอบใจตัวเองและคนรอบข้างว่าประเทศไทยยังปลอดภัยอยู่ และรัฐบาลนี้น่าจะประสบความสำเร็จในการจำกัดการระบาด ระยะทางจากอู่ฮั่นถึงกรุงเทพฯ กว่าสองพันกิโลเมตรก็น่าจะเป็นปราการด่านแรกที่ทำให้โอกาสระบาดในไทยคงมีไม่มากนัก
นับตั้งแต่มีประกาศถึงการระบาดอย่างเป็นทางกา รกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เริ่มตั้งจุดเฝ้าระวังคัดกรองนักท่องเที่ยวที่บินตรงจากเมืองอู่ฮั่น สนับสนุนให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อยๆ
หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลไทยก็ได้แถลงเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2563 ยืนยันพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือต่อมาเรียกด้วยชื่อย่อว่า โควิด-19 (COVID-19) รายแรกในประเทศไทยนับเป็นผู้ป่วยนอกประเทศจีนรายแรกของโลก ซึ่งเป็นหญิงชาวจีนอายุ 61 ปี
หลังจากนั้นราวสองสัปดาห์ กระทรวงสาธารณสุขก็ประกาศอย่างเป็นทางการว่า พบชายไทยอาชีพขับแท็กซี่ที่ติดเชื้อโควิด-19 จากผู้โดยสารซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจีนนับเป็นผู้ป่วยคนไทยรายแรกที่ไม่มีประวัติเดินทางไปประเทศจีน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดภายในประเทศ
รับมือระลอกแรก
โรคระบาดที่เริ่มขยับเข้ามาใกล้ตัว ทำให้คนไทยทุกคนมีโอกาสเป็นกลุ่มเสี่ยง เราต่างตะลีตะลานออกไปหาซื้อหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อผ่านทางเดินหายใจ แล้วยังป้องกันมลภาวะทางอากาศที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 ที่มาพร้อมกับฤดูแล้ง ซึ่งดำเนินอยู่ในขณะนั้น อีกทั้งกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่ก็ติดอันดับโลกในเรื่องคุณภาพอากาศที่เข้าขั้นวิกฤติอยู่เนืองๆ
ตั้งแต่แรก ผมไม่เคยคิดว่าการตัดสินใจลาออกจากการเป็นพนักงานของธนาคารเพื่อมาช่วยงานในคลินิกเวชกรรมเฉพาะทางจักษุซึ่งเป็นธุรกิจของบ้านภรรยา จะผลักให้ผมกลายเป็นแนวหน้าที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19
คลินิกของเราดำเนินการตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่มีจุดตรวจวัดอุณหภูมิ ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการให้สวมหน้ากากอนามัย ใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ จนถึงการพยายามลดความแออัดในคลินิก แต่พวกเราก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกกลัว
ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ ของใช้จำเป็นในการป้องกันตัวเองจากการระบาดอย่างหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์เริ่มหาซื้อได้ยากขึ้น แม้แต่ตัวแทนจำหน่ายจากบริษัทเวชภัณฑ์ยังไม่สามารถตอบได้ว่า สินค้าจะมีเมื่อไร แต่คลินิกของเราไม่ใช่คลินิกเดียวที่ต้องเผชิญกับการขาดแคลนดังกล่าว เพราะโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหลายแห่งก็เริ่มส่งเสียงแล้วว่าหน้ากากอนามัยไม่เพียงพอ บางแห่งถึงกับต้องใช้วัสดุที่หาซื้อจากร้านเครื่องเขียนมาประกอบเป็นชุดป้องกันส่วนบุคคลฉบับทำมือ รวมทั้งตัดเย็บหน้ากากใช้กันเองตามมีตามเกิด
เราต้องเริ่มมาตรการปันส่วนหน้ากากอนามัย เปลี่ยนให้พนักงานใช้หน้ากากผ้าแบบซักได้ โดยสงวนหน้ากากการผ่าตัด (surgical mask) ไว้สำหรับจักษุแพทย์ซึ่งเป็นบุคคลที่เสี่ยงที่สุด เนื่องจากต้องพบปะและตรวจอาการคนไข้อย่างใกล้ชิดชนิดหลีกเลี่ยงไม่ได้
คนไทยสู้ไม่ถอย
เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า และยังไม่เห็นวี่แววว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ความกลัวของผมเปลี่ยนเป็นความโกรธ โกรธที่รัฐบาลยังไม่ยกระดับมาตรการจำกัดการระบาดให้เข้มงวดขึ้น แต่กลับผลักภาระให้บุคลากรทางการแพทย์รับมือกันเอง โกรธที่มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลซึ่งใกล้ชิดกับนักการเมืองสามารถกักตุนหน้ากากจำนวนมหาศาลเพื่อเก็งกำไร ในขณะที่แพทย์พยาบาล
ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ต้องนำหน้ากากกลับมาใช้ซํ้า โกรธที่คนบางกลุ่มไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการเดินทางไปต่างประเทศ จนทำให้มีผู้เสี่ยงติดเชื้อหลายร้อยคนที่ต้องถูกกักตัวสังเกตอาการ 14 วัน
แต่ขณะเดียวกัน ท่ามกลางความกลัวก็ยังมีความหวัง เราได้เห็นฝีมือของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไทยที่รับมือกับการระบาดได้สมกับการเป็นประเทศลำดับที่หก ตามรายงานดัชนีความมั่นคงทางด้านสุขภาพ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งใน 13 ประเทศที่มีความพร้อมรับมือการระบาดมากที่สุดในโลก แม้ว่าทรัพยากรที่มีอยู่จะค่อนข้างจำกัดก็ตาม
นอกจากทีมแพทย์ไทยที่สู้ไม่ถอยแล้ว เรายังได้เห็นความช่วยเหลือจากประชาชนที่มีให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างล้นหลาม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ เงินบริจาคหรือการแสดงออกด้วยการร่วมปรบมือส่งกำลังใจจากที่บ้านตามเวลานัดหมาย หลายคนรวมกลุ่มกันผลิต
หน้ากากผ้าเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้ที่ต้องการ หรือกระทั่งจัดหาวัตถุดิบมาผสมเป็นเจลแอลกอฮอล์เพื่อส่งต่อให้กับโรงพยาบาลหรือไว้ใช้กันเอง
เหล่านักออกแบบและผู้มีทักษะต่าง ๆ เปลี่ยนความกลัวเป็นความรู้ ย่อยชุดข้อมูลยุ่งยากให้เข้าใจง่ายแล้วเผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์ ทั้งสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่กำลังดำเนินไป วิธีป้องกันตัวเองเบื้องต้น รวมถึงการอธิบายศัพท์ใหม่ ๆ เช่น การล็อกดาวน์ (lockdown) การกักตัว (quarantine) และการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) เป็นต้น รวมไปถึงการออกแบบในโลกจริง เช่น สติกเกอร์ระบุจุดที่ควรยืนระหว่างต่อแถว แผงกั้นเคาน์เตอร์ที่ทำจากแผ่นพลาสติกใสกับโครงท่อพีวีซีเพื่อช่วยให้เราปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างได้ง่ายยิ่งขึ้น
ในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันจากกรณีการแข่งขันมวยที่สนามมวยลุมพินี กรณีการระบาดจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ และกลุ่มผู้กลับจากการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย
ช่วงเวลานั้นเองที่ผมได้รับโทรศัพท์จากพ่อแม่ให้เตรียมซื้อของกักตุนไว้เผื่อรัฐบาลจะใช้มาตรการล็อกดาวน์ เสียงปลายสายค่อนข้างเครียด เพราะคงเป็นห่วงทั้งลูกและหลานชายที่อายุยังไม่ถึงสามเดือน
กลางเดือนมีนาคม ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มระดับจากหลักสิบไปแตะหลักร้อย ขณะที่รัฐบาลยังไม่มีทีท่าชัดเจนว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและห้าจังหวัดปริมณฑล ประกอบด้วยสมุทรปราการสมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี และปทุมธานี ประกาศล็อกดาวน์แบบสายฟ้าแลบบังคับใช้ในวันที่ 22 มีนาคม เป็นเวลาสามสัปดาห์ ปิดสถานที่เสี่ยงตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าไปจนถึงร้านเสริมสวย โดยอนุญาตให้เปิดเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายยา ส่วนร้านอาหารก็จำหน่ายให้ซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านเท่านั้น
“อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” คือสโลแกนรับมือการระบาดในไทย ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินและการกำกับดูแลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ซึ่งกำหนดข้อห้ามปฏิบัติและขอความร่วมมือประชาชนออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น รวมถึงหลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัดและอีกเงื่อนไขสารพัดเพื่อจำกัดการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด
วิถีชีวิตเว้นระยะห่าง
ผมอดไม่ได้ที่จะรู้สึกเสียดาย เพราะแผนของเราที่ว่าจะพาเจ้าตัวเล็กไปเปิดโลกตามสวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า หรือสวนสัตว์ เป็นอันว่าต้องเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด เช่นเดียวกับโรงเรียนสอนว่ายนํ้าสำหรับเด็กเล็กที่ต้องปิดตัวลงตามคำสั่งของรัฐบาล แม้เวลาที่ผ่านไปไม่อาจย้อนกลับคืนมาได้ แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ยังมีกันและกัน
ผมนึกไม่ออกเลยว่าจะทำใจอย่างไรหากต้องเจอสถานการณ์เช่นเดียวกับเพื่อนชาวศรีลังกาที่ภรรยากลับไปคลอดลูกสาวที่บ้านเกิด ส่วนเขายังต้องทำงานในไทยและได้เห็นหน้าลูกคนแรกผ่านทางหน้าจอ
ฮีโร่ผู้ปิดทองหลังพระ
การประกาศล็อกดาวน์กลายเป็นดาบสองคมที่ผู้มีอำนาจอาจนึกไม่ถึง เนื่องจากชีพจรเศรษฐกิจเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มหานครแห่งนี้จึงเป็นศูนย์รวมแรงงานจากทั่วทุกภูมิภาคของไทย เมื่อโอกาสหารายได้หายวับไปในชั่วข้ามคืน
ภาพที่ปรากฏในวันถัดมา คือผู้คนที่คลาคลํ่าอยู่ตามท่ารถโดยสาร เพื่อรอเดินทางกลับภูมิลำเนาเพราะเกรงว่ารัฐบาลจะประกาศห้ามเดินทางข้ามจังหวัด คราวนี้เหล่าแรงงานไม่ได้กลับบ้านตัวเปล่า แต่บางคนได้นำพาเชื้อโควิด-19 กลับบ้านเกิดไปด้วย การระบาดที่เคยกระจุกตัวในกรุงเทพฯ จึงกระจายสู่แทบทุกจังหวัดโดยไม่ตั้งใจ
ข่าวหลายสำนักนำเสนอตัวเลขผู้ติดเชื้อแต่ละจังหวัดด้วยแผนที่ประเทศไทย ในแต่ละวัน พื้นที่สีขาวซึ่งบ่งบอกว่าปลอดผู้ติดเชื้อ ค่อย ๆ เปลี่ยนสู่สีแดงอ่อนและแดงเข้มเป็นลำดับ ช่วงเวลานั้นผมทำใจแล้วว่า อีกไม่นานตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มคงจะกระโดดไปถึงหลักพันต่อวัน แต่ตัวเลขดังกล่าวกลับลดลงอย่างต่อเนื่องกระทั่งหลงเหลือเพียงผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมในสถานที่ควบคุมโรคของรัฐ (state quarantine) กล่าวได้ว่าไทยหยุดการติดเชื้อภายในประเทศได้สำเร็จและลดความชันของกราฟผู้ติดเชื้อให้ราบเรียบ (flatten the curve) แบบคาดไม่ถึง
นอกเหนือจากทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่อุทิศตนเป็นทัพหน้าในการรับมือการระบาดใหญครั้งนี้อย่างเข้มแข็งแล้ว ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการยับยั้งการระบาดระดับท้องถิ่นคืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม. เครือข่ายจิตอาสาที่ก่อตั้งมากว่าสี่ทศวรรษ ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 1,050,000 คนทั่วประเทศไทย แต่ละคนรับผิดชอบดูแลสิบหลังคาเรือน ทำงานร่วมกับแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยได้รับค่าสินนํ้าใจ เดือนละ 1,000 บาทจากกระทรวงสาธารณสุข
ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 อสม. เปรียบเสมือนแขนขาของหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่นอกจากจะช่วยเผยแพร่องค์ความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลรักษาสุขอนามัยเพื่อรับมือกับโรคระบาดแล้ว ยังช่วยสอดส่องคนที่เข้าออกจากชุมชน คัดกรองกลุ่มเสี่ยงเบื้องต้น รวมถึงดูแลกระบวนการกักตัวของกลุ่มที่กลับมาจากพื้นที่เสี่ยงทั้งในและต่างประเทศ และกระจายยารักษาโรคประจำตัวเพื่อลดความหนาแน่นที่โรงพยาบาลด้วย
ด้วยความที่เป็นคนในชุมชนเดียวกัน ทำให้ อสม. สามารถดูแลแบบเคาะประตูบ้าน ส่งเสริมให้คนในชุมชน เว้นระยะห่าง ล้างมือ และสวมใส่หน้ากากอนามัย ช่วยถมช่องว่างระหว่างโรงพยาบาลกับชุมชน ผ่านการบันทึกติดตามอาการของกลุ่มเสี่ยง ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มีอยู่จำกัดสามารถตรวจหาเชื้อและทำการรักษาได้อย่างทันท่วงทีความสำเร็จของเหล่า อสม. ในการยับยั้งการระบาดทำให้องค์การอนามัยโลกกล่าวชื่นชมว่า บุคคลเหล่านี้คือ “ฮีโร่ผู้ปิดทองหลังพระ”
พิษเศรษฐกิจของโควิด-19
ผลลัพธ์จากการล็อกดาวน์ที่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศลดลงเหลือศูนย์ เราคงกล่าวได้อย่างภาคภูมิใจว่าประเทศไทยรับมือการระบาดโควิด-19 ได้อย่างดีเยี่ยม รัฐบาลไทยได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทั้งหมดตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เหลือเพียงมาตรการป้องกันเช่นเดิม โดยตัวเลขผู้ป่วยใหม่แทบทั้งหมดมีที่มาจากต่างแดนซึ่งยังมีการควบคุมการเข้าออกชายแดนอย่างเข้มงวด
อย่างไรก็ดี ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดของไทยกลับทรุดหนักติดอันดับหนึ่งของภูมิภาค โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีไตรมาสสองติดลบถึงร้อยละ 12.2 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า ปีนี้เศรษฐกิจจะหดตัวร้อยละ 8.5 นับว่าหนักหนาสาหัสที่สุดตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อ พ.ศ. 2540
อีกตัวเลขที่น่ากังวลซึ่งมาพร้อมสภาวะเศรษฐกิจยํ่าแย่คืออัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 22 ใกล้เคียงกับคราววิกฤติต้มยำกุ้ง ในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 459 ราย ตัวเลขดังกล่าวนับว่าสูงลิ่วหากเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิต 59 รายจากการติดเชื้อโควิด-19
โลกใบที่ไม่เหมือนเดิม
ผมแทบลืมไปแล้วว่า โลกก่อนการระบาดหน้าตาเป็นอย่างไร เราอาจเคยบ่นรำคาญการใส่หน้ากากอนามัย ตอนนี้กลับขาดไม่ได้ เราเคยอยากทำงานจากที่บ้าน ก็ได้ทำสมใจ แต่ชีวิตวิถีใหม่อาจไม่ดีอย่างที่ฝัน เราเคยมั่นใจว่า ถึงอย่างไร ธุรกิจอาหาร ท่องเที่ยว และบริการก็จะยังเดินหน้าไปต่อได้ แต่กลับต้องหยุดชะงักโดยไม่รู้ว่าจะฟื้นตัวกลับมาเมื่อใด เช่นเดียวกับความมั่นใจที่ว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่จะป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่เช่นในอดีต แต่ความเป็นจริงกลับตรงข้าม เพราะประชาคมโลกที่มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นกลับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
ถึงวันนี้ สำหรับผม “ความปกติใหม่” ไม่ใช่แค่การสวมหน้ากากอนามัย หรือการเว้นระยะห่างทางสังคมแต่คือการยอมรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งการให้ความสำคัญกับปัจจุบันและคนที่เรารัก เพราะไม่มีใครตอบได้ว่า โรคอย่างโควิด-19 จะกลับมาระบาดอีกครั้งเมื่อใด แล้วเราจะรับมือการระบาดครั้งใหม่ได้ดีเท่าในอดีตหรือไม่ สิ่งเดียวที่เราทำได้คือ เชื่ออย่างมีความหวังว่า “ทางออก” จะปรากฏขึ้นในไม่ช้า
เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพ เอกรัตน์ ปัญญะธารา
สามารถติดตามเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2563
สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2