“มึงจะไปขายใคร” พ่อพูดในวันที่เรากำลังขนข้าวของออกไปวางขายใน กิจการเพื่อสังคม ของเราในวันแรก
“น้ำยา” ต่างๆ อย่างแชมพู สบู่เหลว น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน ฯลฯ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันบรรจุในแกลลอนซึ่งเสียบหัวปั๊มเอาไว้สำหรับแบ่งขาย แทนที่จะขายเป็นขวดเล็กๆ อย่างที่พบเห็นในท้องตลาดหรือตามร้านสะดวกซื้อ ฉันวาดหวังให้ผู้ซื้อนำขวดเปล่ามาซื้อน้ำยาเหล่านั้นเพื่อลดการใช้ขวดพลาสติก
ุจุดเริ่มต้น
ความคิดนี้เกิดขึ้นตอนที่ฉันได้ดูทอล์กทางยูทูบของลอเรน ซิงเกอร์ สาวสวยชาวอเมริกันผู้ใช้ชีวิตแบบ “ขยะเหลือศูนย์” หรือ zero-waste
“นี่คือขยะทั้งปีของฉัน” เธอพูดพร้อมโชว์โหลแก้วใบเล็กที่มีขยะชิ้นเล็กชิ้นน้อยบรรจุอยู่เต็ม หลายคนเห็นแล้วร้องว้าว! แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่ถูกฝึกมาให้ตั้งคำถามอย่างฉันแล้ว สิ่งแรกที่ฉันคิดคือ “โกหกหรือเปล่าวะ”

ถึงแม้ฉันจะเคยเห็นว่า สบู่เหลวบางยี่ห้อมีแบบบรรจุถุงรีฟิลสำหรับเติมใส่ขวดเดิมขายด้วย แต่กลับไม่เคยเห็นแชมพูขายแบบรีฟิลเลย ขวดหัวปั๊มสภาพดีที่เคยมีแชมพูบรรจุอยู่ภายในย่อมกลายเป็นขยะ ซึ่งต้องล้นโหลแก้วของลอเรนแน่ๆ แต่เธอใช้ชีวิตให้ขยะเหลือศูนย์ได้อย่างไร
พอหาข้อมูลมากขึ้น ฉันก็พบว่าลอเรนใช้บริการร้านค้าแบบเติมหรือบัลก์สโตร์ (bulk store) ที่ลูกค้าต้องนำขวดหรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ไปเติมสบู่ แชมพู หรือแม้กระทั่งของกินด้วยตัวเอง ฉันรีบค้นหาร้านค้าแบบเดียวกันในบ้านเรา แต่พบว่าไม่มีอยู่เลย
“ในเมื่อไม่มี ทำไมเราไม่ทำเองเลยล่ะ”
“นั่งตบยุง” ดูจะเป็นคำที่อธิบายผลประกอบการของวันแรกได้ดีที่สุด คนที่มาจับจ่ายในตลาดหลายคนมองอยู่ห่างๆ แล้วเดินจากไป แม้จะมีสินค้า แต่เรายังไม่มีลูกค้า พอฟ้าเริ่มมืดและยุงจริงๆ เริ่มมา พวกเราก็เตรียมเก็บข้าวของ

และแล้วลูกค้ารายแรกก็มาซื้อน้ำยาล้างจานใส่ขวดรียูสที่เรารวบรวมมาและเตรียมเผื่อไว้ ลูกค้าคนนั้นคือคุณป้าแม่ค้าร้านข้างๆที่มาช่วยซื้อเพราะคิดว่า พวกเราทำาโครงงานส่งอาจารย์ และกลัวว่าเราจะไม่ได้คะแนน
สัปดาห์ต่อมา เราจึงหาทางสื่อสารให้คนเข้าใจมากขึ้นด้วยการเดินแจกใบปลิว ทำส่วนลดพิเศษแบบยอมขาดทุนเพื่อให้ได้คุยกับลูกค้ามากขึ้น ได้เรียนรู้การคิดต้นทุน การตั้งราคา ค่าดำเนินการ และอื่นๆ ทั้งนี้ราคาสินค้าแบบเติมอย่างน้ำยาของเราถูกกำาหนดเพดานด้วยราคาค้าปลีกที่มีบรรจุภัณฑ์อยู่แล้ว เราจึงไม่ได้กำาไรมากมายนัก
“แค่เห็นก็เจ๊งแล้ว เรียนมากันสูง ๆ ทำบ้าอะไรกัน” พ่อซึ่งเคยอยู่บนเส้นทางการทำาธุรกิจมาก่อนพูดขึ้น ในวันที่พวกเราแสนดีใจที่ขายได้เงินพันกว่าบาท นับเป็นยอดขายมากที่สุดในหลายสัปดาห์ เงินจำนวนนี้หากหักต้นทุนแล้วหารกัน ก็ตกคนละร้อยกว่าบาทเท่านั้น แม้ว่านี่คือความจริง แต่มันแทบไม่สำคัญเลยเมื่อเทียบกับการที่เราได้ลงมือทำและพูดคุยกับผู้คนในวันนี้

หลังจากทดลองตลาดอยู่สามเดือน ปลายปี 2560 “Refill Station–รีฟิล สเตชั่น” ร้านค้าแบบเติมแห่งแรกของไทยจึงถือกำาเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยตั้งแบบฝากขายอยู่ภายในร้าน Better Moon Cafè ร้านกาแฟเล็กๆ แสนอบอุ่นย่านอ่อนนุช อันเป็นกิจการของครอบครัวแพร์ หนึ่งในหุ้นส่วนของรีฟิล สเตชั่น และการเดินทางของพวกเราในฐานะผู้ประกอบการเพื่อสังคมก็เริ่มต้นขึ้น
ด้วยการบอกต่อแบบปากต่อปากและการแพร่กระจายข่าวสารในโลกสังคมออนไลน์ ไม่นานนักร้านของเราก็เริ่มเป็นที่รู้จัก ลูกค้าเริ่มเตรียมขวดล่วงหน้ามาซื้อสินค้าคนไหนที่ไม่ได้เตรียมมาเอง ทางร้านก็มีขวดรียูสล้างสะอาดที่ลูกค้าคนอื่นๆ ทิ้งเอาไว้ให้ บางคนซื้อสินค้าที่ช่วยลดการใช้พลาสติกอย่างกล่องข้าว ขวดน้ำ หรือถ้วยอนามัย ขณะเดียวกันก็มีสื่อมาขอสัมภาษณ์เราอย่างไม่ขาดสาย

“น้องเป็นโซเชียลเอนเทอร์ไพรส์หรือเปล่า” ปลายสายโทรศัพท์ถาม ในตอนนั้นฉันถามกลับไปว่า มันคืออะไร หลังจากพี่นักข่าวอธิบายอยู่พักใหญ่ ฉันจึงตอบไปว่า “ไม่แน่ใจเหมือนกันค่ะ แต่ต่อให้รีฟิล สเตชั่น จะเป็นหรือไม่เป็นโซเชียลเอนเทอร์ไพรส์ หนูก็จะเลือกทำเหมือนเดิมค่ะ”
ผ่านไปเกือบปี ฉันจึงเข้าใจคำาว่าโซเชียลเอนเทอร์ไพรส์ (social enterprise) หรือกิจการเพื่อสังคม เมื่อสมัครเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะกิจการเพื่อสังคมซึ่งจัดโดยเชนจ์ฟิวชั่น (Change Fusion) สถาบันที่ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคม ร่วมกับบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน)
“ผมคิดว่าการทำงานเพื่อสังคมต้องทำเป็นกิจลักษณะแนวคิดแบบอาสาสมัครมีข้อจำากัด จะทำงานอาสาสมัครให้ดีได้ ก็ต้องทำให้เป็นระบบมากๆ ผมสนใจเรื่องความยั่งยืนขององค์กรตั้งแต่แรก พอเราได้ทำางานกับหลายองค์กร เราเริ่มเห็นว่าความยั่งยืนขององค์กรร้อยละ 80 ถึง 90 เกิดจากความยั่งยืนทางการเงิน แต่คนไม่ค่อยชอบพูดถึงกัน”
สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการเชนจ์ฟิวชั่นเล่าถึงปัญหาที่เขาเห็นจากประสบการณ์การให้คำปรึกษาและช่วยเหลือองค์กรต่างๆ อันเป็นจุดเริ่มต้นในการหันมาทำงานผลักดันกิจการเพื่อสังคม “ถ้าอยากให้ยั่งยืนก็ต้องทำเป็นธุรกิจให้ได้ แต่ก็ต้องทำเพื่อสังคมด้วย” เขาบอก

เส้นทางของสุนิตย์คล้ายกับผู้ประกอบการเพื่อสังคมอีกหลายคน เขาเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อมองเห็นปัญหาความยั่งยืนทางการเงินขององค์กรเพื่อสังคม จึงเสนอแนวคิดในการประกวดนวัตกรรมเพื่อสังคมของธนาคารโลก จนได้เงินรางวัลสนับสนุนมาดำเนินงาน
สุนิตย์พบว่าผู้ประกอบการหลายรายมีปัญหาเรื่องโมเดลธุรกิจไม่ชัดเจน การวัดผลทางสังคม และเงินทุนตั้งต้นในการดำเนินงาน เชนจ์ฟิวชั่นจึงพยายามจัดหาทรัพยากรต่างๆ เหล่านี้เพื่อให้ทุกคน “รอด”
คำว่า “social enterprise” หรือ SE เป็นคำใหม่ในภาษาไทย จึงมีชื่อเรียกที่หลากหลาย เช่น กิจการเพื่อสังคม ธุรกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นต้น โดยเรียกเจ้าของกิจการว่า “ผู้ประกอบการเพื่อสังคม” หรือ social entrepreneur แต่ไม่ว่าเลือกใช้คำในภาษาไทยว่าอะไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นเน้นย้ำว่า ผลลัพธ์ที่ได้จะต้องตกอยู่กับสังคม ซึ่งรวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย

ความเจ็บปวดและความหวัง
สำหรับรีฟิล สเตชั่น แล้ว แม้ธุรกิจจะประสบปัญหาและรายได้ลดลงในช่วงโควิดระบาด ก็ยังไม่เจ็บปวดเท่ากับปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้น เพียงแค่ไม่กี่เดือน ธุรกิจอาหารเดลิเวอรีขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก พลอยทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 60 หรือวันละ 3,400 ตัน และยังมีข่าวว่ารัฐบาลมีโควตานำาเข้าเศษพลาสติกปริมาณมหาศาล เพียงแค่ครึ่งปีเรานำาเข้าเศษพลาสติกสูงถึง 65,000 ตันแล้ว ยังไม่นับรวมที่ลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมายที่เป็นข่าวอย่างต่อเนื่องด้วย
ที่เราทำมาทั้งหมดสูญเปล่าไหม เราทำแค่นี้จะไปเปลี่ยนอะไรได้ ฉันเริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง รู้สึกโมโหว่าการกระทำของเราช่างน้อยนิด ต่อให้เราลดพลาสติกอีกแค่ไหน ก็ยังมีคนจำานวนมหาศาลที่ไม่สนใจ แม้เราจะเชื่อมาตลอดว่า สิ่งเล็กๆ เปลี่ยนแปลงโลกได้ แต่พอเห็นปริมาณขยะมากขนาดนี้ ฉันก็เริ่มไม่แน่ใจและไม่มั่นใจว่าเราจะมีความหวังในการฟื้นฟูโลกใบนี้อยู่ไหม

ฉันยกหูโทรศัพท์หาศา–ศานนท์ หวังสร้างบุญ เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน ผู้ริเริ่มกิจการเพื่อสังคมหลากหลายกิจการและสนใจเรื่องนโยบายสาธารณะเป็นพิเศษ ฉันเล่าถึงความรู้สึกผิดหวังอยู่ครู่ใหญ่ ก่อนที่ปลายสายจะตอบกลับมาว่า “เราว่าการพัฒนาหรือการแก้ไขปัญหาอะไรก็ตาม มันต้องเป็นอิสระจากตัวเรา ตอนนั้นเราก็เคยตั้งคำถามแบบเดียวกัน ตอนทำเรื่องชุมชนป้อมมหากาฬแล้วเราก็เจ็บปวดมากๆ เพราะเรารู้สึกว่าเราเปลี่ยนอะไรไม่ได้”
แต่ถึงอย่างนั้น ศานนท์ก็ยังมีพลังปลุกปั้นเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมหลายอย่างไปพร้อมๆกันจนฉันทึ่ง เรียกว่าถ้าได้ยินชื่อศาทีไร ก็มักจะได้ฟังความคิดใหม่ๆ ที่เขากำลังลงมือทำเสมอ เราจะมานั่งถกเถียงกันว่า มันจะเป็นไปได้ไหม หรือมีช่องว่างตรงไหนบ้าง และผ่านไปไม่นาน เราก็จะเห็นศาและทีมสร้างมันขึ้นมาแล้วจริงๆ

“เราจะยังมีความหวังอยู่ไหม” เป็นคำถามที่สื่อสัมภาษณ์ฉันในช่วงโควิด แม้ฉันจำคำตอบในวันนั้นไม่ได้ และฉันอาจจะไม่ได้มีความหวังเต็มเปี่ยมอย่างศานนท์ แต่สิ่งที่ทำให้ฉันยังคงพูดเรื่องเดิมๆ หรือทำงานอยู่ในทุกวันนี้ ก็คือความเชื่อที่ว่า ยิ่งเราทำมากขึ้นเท่าใด ยิ่งเราสื่อสารมากขึ้นเท่าไร ก็จะมีคนมาช่วยเรามากขึ้นเท่านั้น
ฉันคิดถึงสิ่งที่บิล เดรย์ตัน ผู้ก่อตั้งอโชก้า (Ashoka) องค์กรเก่าแก่ที่สนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมทั่วโลกเคยกล่าวไว้ว่า “ผู้ประกอบการเพื่อสังคมไม่พอใจเพียงแค่ได้แจกจ่ายปลาหรือสอนวิธีจับปลา แต่พวกเขาจะไม่หยุดพักจนกว่าจะได้ปฏิวัติอุตสาหกรรมประมงแล้ว” เป็นคำพูดที่อ่านกี่ทีก็ทำให้มีพลัง แม้ว่าฉันจะไม่สามารถ “ปฏิวัติอุตสาหกรรม” การจัดการพลาสติกในตอนนี้ แต่ฉันเชื่อว่า ฉันเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้
ทุกวันนี้ พ่อเลิกบ่นเรื่องการทำร้านรีฟิล สเตชั่น แล้ว และแม้พ่อจะไม่ถึงกับเอากล่องข้าวไปซื้ออาหาร แต่ฉันก็แอบเห็นพ่อแยกขยะรีไซเคิลให้ด้วย ถึงพ่อจะบ่นว่าฟังฉันพูดจนเบื่อแล้ว แต่ฉันก็ดีใจที่พ่อเข้าใจฉันมากขึ้น และเปลี่ยนมาบ่นว่า “ทำอะไรของมึงเยอะแยะ” แทน
เรื่อง สุภัชญา เตชะชูเชิด
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา
สามารถติดตามเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนธันวาคม 2563
สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2