สุขาอยู่หนใด

สุขาอยู่หนใด

สุขา อยู่หนใด

การขับถ่ายกลางแจ้งเป็นพฤติกรรมเก่าแก่ของมนุษย์ ซึ่งไม่ค่อยมีปัญหาตราบเท่าที่คนไม่แออัดและผืนดินรองรับสิ่งที่มนุษย์ขับถ่ายได้อย่างปลอดภัย แต่เมื่อผู้คนอยู่รวมกันเป็นชุมชนใหญ่น้อยมากขึ้น เราก็ค่อยๆเรียนรู้ว่า สุขอนามัยเชื่อมโยงกับสุขภาพ โดยเฉพาะความสำคัญของการไม่สัมผัสจับต้องอุจจาระ ทุกวันนี้ การขับถ่ายกลางแจ้งทั่วโลกลดลงเรื่อยๆ แต่ประชากรเกือบ 950 ล้านคนยังคงทำกิจวัตรเช่นนั้น โดยราว 569 ล้านคนอยู่ในอินเดีย

เมื่อปี 2015 องค์การสหประชาชาติรณรงค์ให้ยุติการขับถ่ายกลางแจ้งภายในปี 2030 การเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่นั้นไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ ดังเช่นเวียดนามที่ทำสำเร็จภายในไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา การพิชิตหลักชัยของโลกซึ่งอยู่ในอันดับหกของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาตินี้ จะยกระดับการสาธารณสุขไปอย่างพลิกฝ่ามือ ทั้งยังจะช่วยบรรเทาความยากจนและความหิวโหย ตลอดจนพัฒนาการศึกษาด้วย เด็กป่วยต้องขาดเรียน เช่นเดียวกับเด็กหญิงที่มีประจำเดือนเพราะโรงเรียนไม่มีห้องน้ำที่สะอาดและปลอดภัย

สัดส่วนของประชากรคนอินเดียที่ขับถ่ายกลางแจ้งลดลงอย่างมากในช่วงหลายสิบปีมานี้ แต่ด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การทำสำมะโนประชากรชี้ว่า คนอินเดียส่วนใหญ่ในปัจจุบันอยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสสิ่งปฏิกูลของผู้อื่นมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ประกาศเจตนารมณ์จะหยุดการขับถ่ายกลางแจ้งในอินเดียให้ได้ภายในวันที่ 2 ตุลาคม ปี 2019 อันเป็นวันคล้ายวันเกิดปีที่ 150 ของคานธี หรือก่อนเป้าหมายในปี 2030 ขององค์การสหประชาชาติกว่าสิบปี เขาจัดสรรงบประมาณกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้างห้องน้ำและรณรงค์การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เรียกว่า สวัจฉภารัตอภิยาน (ภารกิจอินเดียสะอาด) ซึ่งธนาคารโลกให้เงินกู้เพิ่มอีก 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โมดีตั้งเป้าสร้างห้องน้ำใหม่ให้ได้มากกว่า 100 ล้านห้องเฉพาะในชนบทภายในปี 2019 เขาจะทำสำเร็จไหมก็เรื่องหนึ่ง แต่ห้องน้ำจะแก้ปัญหาได้มากน้อยแค่ไหนเป็นอีกเรื่อง รัฐบาลอินเดียสร้างห้องน้ำราคาถูกมาอย่างน้อย 30 ปีแล้ว โครงสร้างเดี่ยวง่ายๆหลายล้านห้องเหล่านี้กระจายอยู่ตามชนบท แต่เริ่มผุพังไปจำนวนมาก ที่มากยิ่งกว่าคือถูกนำไปใช้ เลี้ยงสัตว์เล็กหรือเก็บเครื่องไม้เครื่องมือ จักรยาน และธัญพืช ขณะที่เจ้าของเดินหิ้วถังออกไปทุ่ง ในอินเดีย ทัศนคติที่หยั่งรากลึกอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสุขาภิบาลที่มากกว่าการไม่มีน้ำและห้องน้ำ

สุขา
อินเดีย : “เบบี้” เด็กหญิงวัยสิบขวบในชุมชนซาเฟดาบัสตีของเดลี มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์อย่างรุนแรง พลราม ยาทาเร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข บอกว่า โรคท้องร่วงและภาวะทุพโภชนาการคือโรคประจำถิ่นของชุมชนแออัดแห่งนี้ ที่นี่แทบไม่มีห้องน้ำ และน้ำประปาสำหรับล้างมือก็ไหลเป็นพักๆ

ในการสำรวจความคิดเห็นทั่วพื้นที่ชนบททางตอนเหนือของอินเดีย ซึ่งพบการขับถ่ายกลางแจ้งมากกว่าทางใต้ ผู้คนเลือกปลดทุกข์นอกบ้านอย่างชัดเจน พวกเขาบอกว่ามันดีต่อสุขภาพมากกว่า เป็นธรรมชาติ และกระทั่งถูกทำนองคลองธรรม ชาวอินเดียในชนบทจำนวนมากมองว่า กระทั่งห้องน้ำสะอาดเอี่ยมอ่องที่สุดก็ยังเป็นมลพิษทางศาสนา สำหรับพวกเขา การมีห้องน้ำอยู่ใกล้บ้านดูสกปรกกว่าการปลดทุกข์ห่างออกไป 200 เมตร

ในอำเภอขารโคเน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐมัธยประเทศ ฉันเดินผ่านถนนลูกรังของหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งกับนิขิล ศรีวาสตวะ นักวิจัยนโยบายของสถาบันวิจัยเพื่อเศรษฐศาสตร์เมตตาธรรม หรือไรซ์ (Research Institute for Compassionate Economics: RICE) องค์กรไม่แสวงกำไรซึ่งนำโดยชาวอเมริกันสองคน คือ ไดแอน คอฟฟีย์ และดีน สเปียร์ส แห่งนี้จ้างนักวิจัยทั้งชาวอเมริกันและอินเดียให้ศึกษาคุณภาพชีวิตของคนยากจนในอินเดีย โดยเน้นที่เด็กๆ ฉันกับศรีวาสตวะเดินนำกลุ่มเด็กไม่ใส่รองเท้าข้ามลำธารเล็กๆที่ส่งกลิ่นตุๆ และมีหนอนหางหนูลอยเต็ม ไปยังบริเวณบ้าน ที่ปัดกวาดสะอาดเอี่ยมหลังหนึ่ง เราพบชัคทิศ คนขับรถทัวร์เกษียณอายุซึ่งเพิ่งใช้เงิน 50,000 รูปี (ประมาณ 780 ดอลลาร์สหรัฐ) ขุดส้วมหลุมลึกสองเมตร แทนที่จะขุดหนึ่งเมตรตามคำแนะนำของทางการ และปูกระเบื้องรูปโลมาสีฟ้า

ชัคทิศภูมิใจกับห้องน้ำที่เขาสร้างด้วยเงินจากสวัจฉภารัตและเงินเก็บของตัวเอง เขาเสียใจอยู่ข้อเดียวที่ไม่ขุดหลุมให้ลึกกว่านี้ ส้วมหลุมมีข้อเสียใหญ่หลวงคือเต็มได้ และแทนที่จะใช้พลั่วตัก จ้างรถดูดส้วม หรือที่ง่ายกว่านั้นคือ ขุดส้วมใหม่ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติมาตรฐานในประเทศอื่นๆ แต่ชาวอินเดียในชนบท โดยเฉพาะทางตอนเหนือ มักเลือกไม่สร้างห้องน้ำเลย

สุขา
เฮติ : ในกรุงปอร์โตแปรงซ์ เอกซีเลียง เซอนา ยืนอยู่เหนือคอห่านของห้องน้ำสาธารณะแห่งหนึ่ง เขาใช้เวลาช่วงกลางคืน ดูดส้วมโดยใช้มือและถัง แล้วนำของเสียใส่ถุงไปทิ้งในคูหรือคลอง เพื่อหลีกเลี่ยงคำครหาและสายตาดูหมิ่นของชาวบ้าน

เมื่อสามปีที่แล้ว นักวิจัยของไรซ์เก็บข้อมูลการใช้ห้องน้ำจากชาวอินเดียในชนบทกว่า 22,000 คน และพบว่าร้อยละ 40 ของครัวเรือนที่มีห้องน้ำจะมีสมาชิกอย่างน้อยหนึ่งคนขับถ่ายกลางแจ้ง คนที่มีห้องน้ำที่รัฐสร้างให้มีแนวโน้มขับถ่ายกลางแจ้งมากกว่าคนที่สร้างห้องน้ำด้วยตนเองสองเท่า และครอบครัวที่ไม่มีห้องน้ำบอกว่ามีเงินไม่พอสร้างห้องน้ำแบบที่ตนจะใช้จริงๆ องค์กรไรซ์ยังพบว่า ส้วมหลุมที่ชาวอินเดียสร้างเองมักมีขนาดใหญ่กว่า 1.4 ลูกบาศก์เมตรซึ่งเป็นขนาดที่องค์การอนามัยโลกแนะนำสี่ถึงห้าเท่า “นั่นคือขนาดมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลกครับ” ศรีวาสตวะบอก “ซึ่งจะไม่เต็มภายในห้าปีสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกหกคน” ส้วมหลุมในอุดมคติของชาวอินเดียใหญ่กว่านั้น คือต้องใหญ่ถึง 30 ลูกบาศก์เมตร หรือใหญ่กว่าห้องนั่งเล่นของชาวอินเดียจำนวนมาก

ทำไมต้องหมกมุ่นกับขนาดด้วย “ส้วมหลุมที่เล็กกว่าจะเต็มภายในห้าเดือนครับ” ชัคทิศอธิบายเหตุผลซึ่งไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง “แล้วผมก็ต้องจ้างทลิต” หรือคนวรรณะต่ำ “มาดูดส้วมอีก”

“คุณทำเองไม่ได้หรือครับ” ศรีวาสตวะถาม ชัคทิศส่ายหน้า

“ชาวบ้านไม่ยอมหรอกครับ” เขาบอก “คุณจะถูกอัปเปหิโทษฐานทำความสะอาดบ้านของตัวเอง”

นั่นคือคำตอบที่ช่วยไขปริศนาข้อใหญ่ว่าด้วยการสุขาภิบาลของอินเดีย กล่าวคือทำไมอัตราการขับถ่ายกลางแจ้งของอินเดียถึงสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆอย่างมาก ทั้งๆที่อินเดียมั่งคั่งกว่า อัตราการรู้หนังสือสูงกว่า และเข้าถึงแหล่งน้ำได้มากกว่า สิ่งที่ทำให้อินเดียแตกต่าง อย่างน้อยก็จากข้อมูลของไรซ์ คือความเชื่อของชาวอินเดียในชนบทเรื่องความบริสุทธิ์ มลพิษ และวรรณะ

หลายพันปีมาแล้วที่ทลิต (Dalit) หรือที่เคยรู้จักกันในชื่อจัณฑาล ถูกห้ามดื่มน้ำร่วมบ่อ บูชาเทพเจ้าร่วมวัดเดียวกัน หรือกระทั่งใส่รองเท้าต่อหน้าผู้มีวรรณะสูงกว่า กฎหมายสมัยใหม่ซึ่งลงโทษการเลือกปฏิบัติเช่นนั้นแทบไม่มีการบังคับใช้ อีกทั้งความยากจนและความรุนแรงยังคงบีบคั้นให้ทลิตทำงานสกปรกของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดซากสัตว์จาก ท้องถนน รกจากห้องคลอด หรือสิ่งปฏิกูลของมนุษย์จากส้วมหลุมและท่อน้ำทิ้ง ขณะที่ชาวอินเดียวรรณะสูงกว่ารักษาสถานะและความสูงส่งส่วนหนึ่งด้วยการไม่ข้องแวะกับงานต่ำๆเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทลิตที่ต่อสู้เพื่อความเสมอภาคเริ่มปฏิเสธงานที่เคยเป็นเหมือนตราประทับรับรองการกดขี่ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ค่าใช้จ่ายในการดูดส้วมจึงพุ่งสูงขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้บริการ  มีสูงกว่าแรงงานที่เต็มใจทำ เมื่อพิจารณาบริบททางสังคมและเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยปัญหาเช่นนี้แล้ว ก็ไม่น่าแปลกใจที่ชาวอินเดียในชนบทบางส่วนที่เก็บเงินได้มากพอจึงขุดส้วมหลุมให้ใหญ่เพื่อจะได้ไม่ต้องดูดส้วม หรือเพราะเหตุใดคนหลายร้อยล้านคนที่ส่วนใหญ่มีเงินพอจะสร้างห้องน้ำง่ายๆได้ กลับเลือกปลดทุกข์กลางแจ้งแทน

เรื่อง เอลิซาเบท รอยต์

ภาพถ่าย แอนเดรีย บรูซ

 

อ่านเพิ่มเติม

ชีวิตเป็นเช่นไร เมื่อต้องอยู่กับหมอกควันในอินเดีย

Recommend