แอนิมอล ฟาร์ม : นวนิยายแห่งการเสียดสีอำนาจนิยม

แอนิมอล ฟาร์ม : นวนิยายแห่งการเสียดสีอำนาจนิยม

เรื่องราวและข้อมูลนวนิยายระดับโลกเรื่อง แอนิมอล ฟาร์ม ที่สะท้อนความโหดร้ายของการปกครองในระบบอำนาจนิยม ซึ่งกำลังเป็นกระแสอยู่ในสังคมไทยขณะนี้

นวนิยายไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของความบันเทิง หากแต่เป็นเรื่องราวของการบันทึกประวัติศาสตร์ และสายธารแห่งความคิดในยุคสมัยที่มีการตีพิมพ์ได้เช่นเดียวกัน

แอนิมอล ฟาร์ม (Animal Farm) นวนิยายเสียดสีการเมือง ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกของของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1945 มาจนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 74 ปีมาแล้วที่นวนิยายเรื่องนี้ได้โลดแล่นในวงวรรณกรรมและครองใจผู้อ่านทั่วโลก แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศไทยถึงกับแนะนำหนังสือฉบับนี้ให้ประชาชนได้อ่านเนื่องจาก “ให้ข้อคิดการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี”

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดกระแสพูดถึงนวนิยายเรื่องนี้ในวงกว้าง ทั้งผู้ที่เคยอ่านมาแล้ว และนักอ่านหน้าใหม่ที่สนใจว่า นวนิยายเรื่องนี้ที่ว่ากันว่าเป็นการเสียดการเมืองในระบอบอำนาจนิยม-สังคมนิยมนั้นมีการถ่ายทอดเรื่องราวในรูปแบบใด และสามารถเปรียบเรื่องราวกับการเมืองไทยที่กำลังเข้มข้นในช่วงเวลานี้อย่างไรบ้าง

แอนิมอล ฟาร์ม
ภาพปกนวนิยายเรื่อง แอนิมอล ฟาร์ม ฉบับแปลภาษาไทย ขอบคุณภาพจาก https://www.sanook.com/campus/1395629/

นักเขียนผู้สร้างผลงานเพื่อเรียกร้องต่อสังคม

จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) เป็นนามปากกาของ เอริค อาเธอร์ แบลร์ (Eric Arthur Blair) นักเขียนชาวอังกฤษ เกิดเมื่อปี 1903 ที่ประเทศอินเดีย ในช่วงที่อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ เขาได้ย้ายไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นช่วงที่เขาได้พัฒนาความสนใจเรื่องการแต่งวรรณกรรม ก่อนที่เขาจะย้ายไปพม่าเพื่อเป็นตำรวจในสังกัดของรัฐบาลอังกฤษ

หลังจากเป็นตำรวจมาได้ 5 ปี เขารังเกียจวิธีที่เจ้าหน้าที่อาณานิคมอังกฤษปฏิบัติต่อชาวพม่า ผู้อยู่ใต้อาณานิคม ประสบการณ์ครั้งนั้นถูกถ่ายทอดออกมาเป็นนวนิยายเล่มแรกของเขาที่ชื่อว่า Burmese Days หรือ พม่ารำลึก ซึ่งเป็นนวนิยายที่ “แจ้งเกิด” เขาในบรรณภพ หลังจากนั้นเข้าได้ย้ายไปยังยุโรป และได้มีโอกาสได้เป็นประจักษ์พยานของสงครามกลางเมือง และระบบสังคมนิคมของสเปนอันโหดร้าย โดยสิ่งเหล่านี้ได้เป็น “วัตถุดิบ”การเขียนนวนิยายที่มีนัยยะวิพากษ์ทางการเมืองหลายเล่มของเขา

นวนิยายชิ้นเอกของเขา คือเรื่อง ไนน์ทีนเอตตีโฟร์  หรือ 1984 ซึ่งเล่าเรื่องยุคดิสโทเปีย ที่รัฐบาลคอยจับตามอง ควบคุมชีวิตประชาชนชนอย่างเข้มงวด บิดเบือนความจริงในสังคม และการคิดต่างเป็นอาชญากรรมร้ายแรง นวนิยายเรื่องนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางและกลายมาเป็นวรรณกรรมคลาสสิกของโลกในเวลาต่อมา โดยนวนิยายฉบับนี้เคยเป็นสัญลักษณ์ในการรณรงค์ของกลุ่มคนที่ต่อต้านการรัฐประหารของประเทศไทยเมื่อปี 2557 ด้วยเช่นกัน

แอนิมอล ฟาร์ม
จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) เป็นนามปากกาของ เอริค อาเธอร์ แบลร์ (Eric Arthur Blair) ผู้แต่งนวนิยายเรื่อง แอนิมอล ฟาร์ม ขอบคุณภาพถ่ายจาก https://en.wikipedia.org/wiki/George_Orwell

แอนิมอล ฟาร์ม กับแนวคิดการต่อต้านระบบอำนาจนิยม

สำหรับนวนิยายเรื่อง แอนิมอล ฟาร์ม แบลร์ได้แรงบันดาลในการเขียนเรื่องนี้มาจากช่วงที่อังกฤษเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียตในสงครามโลกครั้งที่สองเพื่อร่วมกันต่อต้านนาซีเยอรมนี ในช่วงเวลานั้น วงศ์สังคมชั้นสูงในอังกฤษก็พลอยเห็นดีเห็นงามกับระบบการปกครองแบบสังคมนิยม (ที่มีลักษณะอำนาจนิยมอย่างเข้มงวด) ของสตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตในเวลานั้นไปด้วย ซึ่งแบลร์มองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เขาจึงตัดสินใจเขียนนวนิยายเล่มนี้เพื่อชี้ให้เห็นถึงความโหดร้ายของอำนาจนิยมในระบบสังคมนิยม โดยเปรียบเทียบให้เป็นการปกครองกันเองของเหล่าสรรพสัตว์ในฟาร์มแห่งหนึ่ง ซึ่งนักวิจารณ์วรรณกรรมหลายคนมองว่าตัวละครที่ปรากฏในเรื่องนั้นจงใจอ้างอิงถึงบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์รัสเซีย และบุคคลในระบบนาซีเยอรมัน

เรื่องย่อของแอนิมัลฟาร์ม กล่าวถึงฟาร์มสัตว์แห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ ที่เจ้าของฟาร์มชื่อ มิสเตอร์โจนส์ เป็นคนขี้เกียจและชอบเมาเหล้า ทำให้สัตว์ในฟาร์มไม่ได้รับการดูแลที่ดี หมูพ่อพันธุ์ตัวหนึ่งในฟาร์มชื่อ เฒ่าเมเจอร์ คิดว่าเหล่าสรรพสัตว์ไม่ควรอยู่ภายใต้การปกครองของมนุษย์ และร่วมกัน “ปฏิวัติ” จนมิสเตอร์โจนส์ต้องหลบหนีไปจากฟาร์ม จากนั้นไม่นาน เฒ่าเมเจอร์ได้ตายลง หมูสองตัวชื่อ นโปเลียน และ สโนว์บอล ตัดสินใจขึ้นมาปกครองฟาร์มและกำหนด “บัญญัติสัตว์ 7 ประการ” ซึ่งมีข้อสำคัญว่า “สัตว์ทุกตัวเท่าเทียมกัน”

โดยสัตว์ในฟาร์มชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญมีทั้ง สเคลเลอร์ หมูที่ฉลาดในการพูด ทำหน้าที่เป็น “กระบอกเสียง” และบิดเบือนความจริงเพื่อหมูชนชั้นปกครอง มอลลี่ ม้าตัวเมียที่ให้ความสนใจแต่ความสวยงามของตนและน้ำตาลก้อน บ็อกเซอร์ ม้าหนุ่มแข็งแรงที่เป็นแรงงานสำคัญให้ฟาร์ม เหล่า แกะ ที่ชอบประสานเสียงอย่างไม่สนกาลเทศะ เบนจามิน ลาผู้นิ่งเฉยไม่ยินดียินร้ายกับเรื่องการปกครองในฟาร์ม และ ม้าโคลเวอร์ ผู้ที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงเหล่าสุนัขที่เป็นสมุนรับใช้ให้กับนโปเลียน

แอนิมอล ฟาร์ม
แอนิมอล ฟาร์ม เวอร์ชันที่ถูกนำไปสร้างเป็นการ์ตูน ขอบคุณภาพจาก https://www.sanook.com/campus/1395629/

ในช่วงแรกหลังการปฏิวัติ สัตว์ทุกตัวต่างมีอาหารที่สมบูรณ์ ชีวิตมีความสุขภายใต้การดูแลของชนชั้นผู้นำหมูอย่างนโปเลียนและสโนว์บอล จนกระทั่งสโนว์บอลมีความคิดสร้างกังหันลมเพื่อเป็นเครื่องมือในการเลี้ยงตัวเองของเหล่าสรรพสัตว์ แต่นโปเลียนได้อวดอ้างความคิดกังหันลมว่าเป็นของตน จึงทำให้ทั้งสองตัวแตกคอกัน นโปเลียนได้ใช้โฆษณาชวนเชื่อว่าผลงานกังหันลมเป็นของตนเสียเอง แล้วขับไล่สโนว์บอลออกไปจากฟาร์ม ซึ่งในเวลาต่อมา สัตว์ในฟาร์มตัวอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับนโปเลียนก็ถูกขับไล่ออกจากฟาร์ม สโนว์บอลถูกสร้างให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความกลัวและเลวร้ายต่อบรรดาสัตว์ในฟาร์มไม่ต่างจากนายโจนส์ที่พวกเขาได้ขับไล่ไปในตอนแรก

เมื่อไม่มีใครห้ามปราม นโปเลียนก็เริ่มเสวยสุขขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเบียดบังผลประโยชน์ที่สัตว์ฟาร์มมีร่วมกันเป็นของตัวเองส่วนใหญ่ โดยอ้างว่าตนฉลาดและทำประโยชน์มากกว่าผู้อื่น จึงสมควรได้รับส่วนแบ่งมากกว่า (ทั้งที่ความจริง ก็ไม่ได้ทำอะไรมากนัก นอกจากให้สเคลเลอร์คอยพูดยกย่องและบิดเบือนความจริง และมีสุนัขที่ล้างสมองมาเพื่อข่มขู่และทำร้ายสัตว์ที่เห็นต่าง)

สุดท้ายม้าบ็อกเซอร์ที่แข็งแรงซึ่งทำงานเพื่อฟาร์มมาตลอดก็ได้ตายลงเนื่องจากการทำงานหนัก คุณภาพชีวิตของเหล่าสัตว์ก็เริ่มย่ำแย่ลงกว่าสมัยมนุษย์เป็นเจ้าของฟาร์ม เหล่าสัตว์ที่เหลือก็ไร้สติปัญญาหรือเหนื่อยหน่ายเกินกว่าจะยุ่งเกี่ยวกับการปกครองฟาร์มโดยนโปเลียน ในที่สุด บัญญัติสัตว์ 7 ประการ” ซึ่งมีข้อสำคัญว่า “สัตว์ทุกตัวเท่าเทียมกัน” ในตอนแรก ก็ถูกเปลี่ยนโดยนโปเลียนให้เป็น “สัตว์ทุกตัวเท่าเทียมกัน แต่สัตว์บางชนิดมีความเท่าเทียมมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น” (ซึ่งหมายถึงตัวนโปเลียนเอง)

ในตอนท้ายของเรื่อง นโปเลียนได้เป็นผู้รวบรวมทรัพย์สินเกือบทั้งหมดของฟาร์มให้เป็นของตน และทำตัวเหมือนมนุษย์มากขึ้นทุกวัน ดื่มเหล้าเมามาย ใส่เสื้อผ้าและตัดสินใจคบหาสมาคมกับมนุษย์เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ (เพื่อตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่) และในที่สุด นโปเลียนก็ได้ทำพฤติกรรมแบบเดียวกับมนุษย์ทุกอย่าง ทั้งที่ก่อนการปฏิวัติ มนุษย์ถูกมองว่าเป็นเผ่าพันธุ์ที่ชั่วร้ายที่สุด

แอนิมอล ฟาร์ม
เลออน ทรอตสกี (Leon Trotsky) นักการเมืองโซเวียตในช่วงก่อตั้งสหภาพโซเวียต ที่ด้านต่อต้านการก้าวขึ้นสู่อำนาจของโจเซฟ สตาลิน จนถูกเนรเทศออกจากสหภาพโซเวียต ถูกเปรียบเทียบว่าเป็นต้นแบบให้กับ สโนว์บอล ในนวนิยายเรื่อง แอนิมอล ฟาร์ม ขอบคุณภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Leon_Trotsky

การเทียบเคียงแรงบันดาลใจกับฉากหลัง และตัวละคร ซึ่งตรงกับบุคคลในประวัติศาสตร์

ดังที่ได้กล่าวไปตอนต้นว่า นักวิจารณ์วรรณกรรมหลายคนมองว่าทั้งโครงเรื่อง ฉากหลัง และตัวละครนั้น ผู้เขียนจงใจอ้างอิงถึงสถานที่และบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ เช่น ฟาร์มสัตว์เปรียบเหมือนระบบสังคมนิยมของสหภาพโซเวียต ที่มีการปฏิวัติรัสเซีย โค่นล้มอำนาจเก่า และพูดถึงการครองอำนาจของสตาลินที่เอารัดเอาเปรียบประชาชนด้วยการใช้แรงงาน และชนชั้นนำของประเทศพากันเสวยสุขเสียเอง ซึ่งแบลร์ได้แต่งนวนิยายเรื่องนี้เพื่อเสียดการปกครองสหภาพโซเวียตของสตาลินโดยตรง โดยตัวละครหลักในเรื่องสามารถเทียบเคียงกับบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ได้ดังนี้

นโปเลียน ผู้ปกครองของเหล่าสัตว์ที่มีใช้อำนาจ ความกลัว และเล่ห์เหลี่ยมเพื่อให้ขึ้นสู่อำนาจ บริหารจัดการฟาร์มให้มีความร่ำรวย แต่ก็เก็บความร่ำรวยเอาไว้กับตัวเองและพวกพ้อง ใช้สัตว์ในฟาร์มทำงานหนัก และจัดการผู้เห็นต่างอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งเปรียบได้กับ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ผู้นำสหภาพโซเวียตหลังการปฏิวัติและช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

สโนว์บอล อดีตสหายร่วมปฏิวัติผู้ชาญฉลาด เป็นมันสมองให้กับการพัฒนาฟาร์ม สติปัญญาของเขาจำเป็นต่อฟาร์มอย่างยิ่ง ทำให้เหล่าสัตว์ในฟาร์มนิยมชมชอบในตัวเขา ซึ่งนโปเลียนมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อตัวเขา นโปเลียนจึงขับไล่เขาออกจากฟาร์มและให้เป็นแพะรับบาปกับสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งเปรียบได้กับ เลออน ทรอตสกี (Leon Trotsky) นักการเมืองโซเวียตในช่วงก่อตั้งสหภาพโซเวียต ที่ด้านต่อต้านการก้าวขึ้นสู่อำนาจของโจเซฟ สตาลิน จนถูกเนรเทศออกจากสหภาพโซเวียต

มิสเตอร์โจนส์ มนุษย์เจ้าของฟาร์มผู้มองข้ามและดูแลสัตว์ได้ไม่ดี จนในที่สุดก็ถูกเหล่าสัตว์เลี้ยงของตัวเองปฏิวัติและยึดฟาร์ม และกลายเป็นความหวาดกลัวที่เหล่าสัตว์ต่างหวาดกลัว เปรียบได้กับ จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย กษัตริย์องค์สุดท้ายของรัสเซีย ที่ถูกโค่นล้มโดยกลุ่มบอลเชวิก ผู้นำการปฏิวัติโค่นล้มอำนาจกษัตริย์ของรัสเซีย เมื่อปี 1917

สเคลเลอร์ หมูที่ช่ำชองในวาทศิลป์ เป็นกระบอกเสียงของนโปเลียน จูงใจให้บรรดาสัตว์ในฟาร์มทำงานหนักเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในสังคม รวมไปถึงการบิดเบือนความจริงและพูดเชิดชูนโปเลียนเกินจริงให้กับบรรดาสัตว์ เปรียบได้กับ โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ (Joseph Goebbels) นักการเมืองของพรรคนาซีเยอรมัน ลูกน้องคนสนิทของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) โดยโยเซ็ฟเป็นผู้รับผิดชอบด้านงานโฆษณาชวนเชื่อให้กับฮิตเลอร์ ผู้ชักจูงเยอรมันให้ก่อสงครามโลกครั้งที่สอง นับไปสู่การพ่ายแพ้อย่างหายนะของเยอรมนีในท้ายที่สุด

บ็อกเซอร์ ม้าหนุ่มผู้แข็งแรง ผู้เชื่อว่ามีเพียงแค่การทำงานหนักที่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ แต่ไม่ใคร่ชาญฉลาดเท่าไหร่นัก และรู้ไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมการปกครองของนโปเลียน มันเป็นแรงงานสำคัญให้กับฟาร์มในการสร้างกังหันลมและการสู้รบกับมนุษย์ที่มายึดฟาร์มคืน แต่ในที่สุดมันก็ทำงานหนักจนตาย บ็อกเซอร์เปรียบเหมือนชนชั้นแรงงาน หรือชนชั้นกลางในสังคม ที่ต้องทำงานหนักให้กับความคาดหวังของสังคมไปจนตัวตาย

แอนิมอล ฟาร์ม
หน้าปกนวนิยายเรื่อง แอนิมอล ฟาร์ม ฉบับพิมพ์ครั้งแรก เมื่อปี 1945 ขอบคุณภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Animal_Farm

เฒ่าเมเจอร์ หมูเฒ่าที่เป็นผู้คิดค้นหลักการและเป็นผู้กระตุ้นการปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจการปกครองฟาร์มจากมนุษย์ มันเป็นที่เคารพนับถือของเหล่าสัตว์ในบรรดาฟาร์ม ก่อนจะตายและส่งต่อหลักการปฏิวัติมายังเผ่าพันธุ์หมู นั่นก็คือนโปเลียนและสโนว์บอล และหลักการปฏิวัติของเขาก็ถูกทำลายด้วยการคอรัปชั่นในอำนาจเบ็ดเสร็จของนโปเลียน เปรียบได้กับ คาร์ล มาคซ์ (Karl Marx ) นักปรัชญาชาวเยอรมันผู้คิดค้นหลักการสังคมนิยมและการปฏิวัติทางชนชั้น และ วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) ผู้นำการปฏิวัติในรัสเซีย

เบนจามิน เป็นลาซึ่งเป็นสัตว์ที่ชาญฉลาดที่สุดในฟาร์ม แต่เลือกที่จะนิ่งเฉย เพราะไม่เชื่อว่าการปฏิวัตินั้นจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง แท้จริงแล้วเขาสามารถชักจูงให้สัตว์ทุกตัวตระหนักของความเลวร้ายของการปกครองโดยบรรดาหมู แต่เขาเลือกที่จะไม่ทำ และทำให้เหล่าสัตว์ในฟาร์มถูกกดขี่ด้วยการปกครองที่โหดร้าย ซึ่งเปรียบได้กับประชาชนผู้มีความรู้ในสังคมแต่กลับไม่ยอมชี้ทางหรือคัดค้านการปกครองที่ไม่ถูกต้อง และสุดท้ายต้องจบด้วยการถูกปกครองด้วยผู้นำและอำนาจที่ชั่วร้ายเช่นเดียวกับสัตว์ตัวอื่นๆ ในฟาร์ม เช่นมอลลี่ และโคลเวอร์ เหล่าแพะ ฯลฯ

สิ่งที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้เป็นที่นิยม เนื่องจากการชี้ให้เห็นถึงความชั่วร้ายของระบบสังคมนิคม อำนาจนิยม (บางคนก็มองว่าเป็นอำนาจเผด็จการ) ที่ใช้กลไกต่างๆ ในการกดขี่ประชาชนและพรากเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ซึ่งในตอนแรกจะอ้างการปฏิวัติ โค่นล้มอำนาจเก่า เพื่อความสุขของประชาชน ก่อนที่จะเริ่มต้นการปกครองอย่างทารุณโหดร้าย บิดเบือนเจตนาการปฏิวัติตามที่เคยให้กับประชาชนในครั้งแรก ซึ่งถึงแม้ว่าผู้แต่งจะให้ฉากหลังเป็นสหภาพโซเวียต แต่แนวคิดการปกครองโดยสังคมนิยมและอำนาจนิยมก็มีมักมีลักษณะเช่นนี้ จึงทำให้ แอนิมัล ฟาร์ม ครองใจผู้อ่านทั่วโลก ในฐานะวรรณกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความชั่วร้ายในลักษณะการปกครองเช่นนี้

โดยในประเทศไทยเอง ก็มีการแปลนวนิยายเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2502 ใช้ชื่อไทยว่า ฟาร์มเดียรัจฉาน และมีเวอร์ชันแปลล่าสุดเป็นครั้งที่ 9 เมื่อปี 2557 ใช้ชื่อไทยว่า แอนิมอล ฟาร์ม การเมืองเรื่องสรรพสัตว์ นั่นแสดงให้เห็นถึงความนิยมของนวนิยายเรื่องนี้ในหมู่นักอ่านชาวไทยมาตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

แหล่งอ้างอิง

รู้จักหนังสือ Animal Farm ที่ พล.อ. ประยุทธ์ ชวนให้อ่าน เรื่องของหมูที่ตั้งตนเป็นเผด็จการ

แกะรอยสัตว์น้อย ใน Animal Farm

อ่านเรื่อง Animal Farm ใน 3 นาที

Animal Farm | Character Analysis

An Animal Farm Literary Analysis

Orwell’s Life

George Orwell and Animal Farm: A Critical Analysis Essay (Critical Writing)


อ่านเพิ่มเติม โลกจะเป็นอย่างไรถ้าพรรคนาซีชนะสงคราม? 

Recommend