ชายผู้บันทึกประวัติศาสตร์และเรื่องราวของสังคมในแต่ละยุคสมัย ผ่านการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม
วันนี้เรานัด เบียร์-วีระพล สิงห์น้อย หรือ Beersingnoi ช่างภาพสถาปัตย์ คุยเรื่องการทำงานถ่ายภาพและชีวิตของเขา
เบียร์คือเจ้าของไอจีและเฟซบุ๊คเพจ Foto_momo รวมภาพถ่ายตึกและอาคารเก่ายุคโมเดิร์นที่เขาตั้งใจตระเวนถ่ายทั่วไทย
นอกจากความหลงใหลในการถ่ายภาพอาคารยุคโมเดิร์น เราค้นพบว่าเบียร์ก็ชอบเรื่องประวัติศาสตร์ไม่แพ้กัน เขาอ่านหนังสือประวัติศาสตร์เยอะมาก และรักในประวัติศาสตร์ไทยมาตั้งแต่สมัยเรียนด้วย
ทุกภาพถ่ายของเขาจึงมีเรื่องราวและเรื่องเล่าเบื้องหลัง เขาเคยบอกว่าตึกและอาคารคือหลักฐานของการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย แสดงถึงค่านิยมทางสถาปัตยกรรมและเทคโนโลยีการก่อสร้างในยุคนั้น ๆ ด้วย
และนี่คือบทสนทนากับ เบียร์ สิงห์น้อย ถึงตัวตนชีวิต ในฐานะช่างภาพสถาปัตยกรรมผู้สร้างปรากฏการณ์ให้อาคารยุคโมเดิร์นของเมืองไทย
คุณชอบถ่ายตึกยุคโมเดิร์นหรอ
ปัจจุบันก็เรียกว่าหลงใหลดีกว่า เมื่อก่อนก็ไม่ได้ชอบ ก็มองผ่านตลอด ไม่ได้มองตึกยุคนี้มาก แต่ว่าพอยิ่งหลงกับมันยิ่งมองไปทางไหนมันก็ยิ่งเจอ
ตึกที่ชอบที่สุดที่เคยไปเจอมาคือตึกไหน
ตึกฟักทอง เพราะว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นจริง ๆ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสนใจงานประเภทนี้ ตอนนั้นมันรู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมตึกมันเท่ขนาดนี้ ตึกมันเท่แต่ทำไมไม่มีใครพูดถึง
ซึ่งพบคำตอบว่า
เพราะคนส่วนมากยังไม่ได้สนใจ จริง ๆ วันนั้นที่เราไปถ่ายตึกฟักทอง ก็คือการไปทำงานนั่นแหละ ไปถ่ายรูปให้สมาคมสถาปนิกสยามซึ่งเค้าจะมอบรางวัลอาคารอนุรักษ์ ให้ทุกปี เราเองก็มีโอกาสได้ไปถ่ายตึกนี้ ตอนถ่ายตึกฟักทองก็รู้สึกว่าเราเรียนสถาปัตย์มาตั้งสี่ห้าปีทำไมไม่รู้จักตึกนี้เลย (หัวเราะ)
เราประทับใจตึกนี้มากก็เลยไปหาว่าคนออกแบบตึกนี้คือใคร แล้วเค้าทำงานที่ไหนสร้างตึกที่ไหนอีกบ้าง ก็เริ่มตะเวนถ่ายผลงานของคุณอมร ศรีวงศ์ (สถาปนิกอาวุโสแห่งวงการงานสถาปัตยกรรมในประเทศไทย) เค้าออกแบบอาคารที่กรุงเทพฯ ที่เชียงใหม่ เราก็อาศัยถามคนนั้นคนนี้ตามคอนเน็คชั่นไปเรื่อย ๆ
ได้ตามรอยและถ่ายรูปเก็บไว้มา 10 กว่าอาคาร เราก็เลยทำเป็นอัลบัมในเฟสบุ๊ค พอมันเห็นความหลากหลายของอาคาร คนสนใจเยอะ เราก็เลยลองรวบรวมตึกยุคนี้ดีกว่า
คุณเคยบอกว่าตึกยุคโมเดิร์นมันเป็นหลักฐานช่วงเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย
ใช่ คิดว่านะ ถ้ามองทางประวัติศาสตร์มันก็คือการรับแนวความคิดและอิทธิพลการออกแบบจากสังคมทางตะวันตกมา นักเรียนไทยไปเรียนสถาปัตย์จากเมืองนอกแล้วกลับมา เค้าก็มาเริ่มต้นการเป็นสถาปนิกในประเทศไทย ซึ่งตึกโมเดิร์นเริ่มเด่นชัดจริงๆ ช่วง 2500 ต้น ๆ แต่จริง ๆ มันก็จะมีก่อนหน้านั้นแล้ว
เช่นในปี 2475 ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็เริ่มมีเห็นได้ชัดตรงถนนราชดำเนิน แล้วพอเทคโนโลยีหรือการก่อสร้างมันเริ่มพัฒนาขึ้น สามารถสร้างรูปทรงได้หวือหวาขึ้น มันก็จะกลายมาเป็น Modern mutualism หรืออย่างตึกสกาล่านี่ถือเป็นยุคปลายแล้ว สกาล่าปี 1969
ทำไมสมัยนี้ถึงไม่ค่อยเห็นการสร้างตึกแนวนี้แล้ว
มันเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยแหละ ความนิยมแบบนั้นมันหมดไป ก็เลยกลายเป็นตึกสมัยใหม่ที่สร้างตึกสูงได้มากขึ้น ปัจจัยมีหลายอย่างทั้งวัสดุ เทคโนโลยีที่มันเปลี่ยนไป ในยุคนั้นมันเป็นปูน ยุคนี้มันเป็นเหล็ก กระจก แนวความคิดมันก็เปลี่ยนไป อาจจะมีแนวความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมมามากขึ้น เอาจริง ๆ สร้างก็สร้างได้ แต่ก็อาจจะไม่คุ้มในการลงทุนสักเท่าไหร่ เพราะว่าพื้นที่มันก็ไม่ถูกใช้เต็มที่
ถ้าย้อนกลับไปในไทม์ไลน์ไล่มาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5-6 ตอนนั้นเป็นช่างจีน เราเห็นได้ตามเยาวราช เจริญกรุง หลังจากนั้นช่างอิตาลี ช่างทางตะวันตกเข้ามาในราชสำนักของสยาม เช่น พระที่นั่งอนันต์ เรียกว่าเป็นการเอาความทันสมัยแบบตะวันตกเข้ามาสังคมไทยแล้ว บางคนก็นับว่าพระที่นั่งอนันต์ฯ เป็นความทันสมัยได้ ยุคนั้นถือว่าทันสมัยมากนะ ความเป็นศิวิไลซ์
พอช่างอิตาลี ช่างเยอรมันเข้ามาทำงานมากขึ้น คนไทยก็ได้ความรู้มากขึ้น ยุคนั้นยังไม่มีโรงเรียนสถาปัตย์ ไม่มีการเรียกว่าสถาปนิก เพราะว่าสถาปนิกเพิ่งมีตอนสมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มมีการจำกัดความคำว่าสถาปนิกให้มันแตกต่างจากคำว่าช่างแล้ว มันคือเอาความงามทางศิลปะเข้ามาบวกกับเทคโนโลยีทางวิศวะกรรม ยุคนั้นก็เลยจะก่อเกิดความสำคัญของสถาปนิกมากขึ้น
ชนชั้นสูงของไทยไปเรียนต่างประเทศ มีบางส่วนที่ไปเรียนด้านสถาปัตย์ พอกลับประเทศไทยมา ก็ตั้งโรงเรียน เริ่มจากเพาะช่าง จากนั้นก็เป็นคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ซึ่งถือว่าเป็นคณะสถาปัตย์คณะแรกของไทยโดยอาจารย์นารถ โพธิประสาท ที่ เรียกว่าก่อตั้งระบบการเรียนการสอนมันชัดเจน เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เป็นฐานรากของวงการสถาปนิกไทย
ตัวคุณเองก็เรียนด้านสถาปัตย์ ตอนนี้มาเป็นช่างภาพอนุรักษ์ถ่ายตึกเก่า มันมีที่มายังไง ช่วยเล่าหน่อย
สมัยเด็กๆ เราเป็นเด็กมัธยมที่ชอบวาดรูป เรียกว่าพอมีฝีมือวาดรูปนิดนึง แล้วก็เก่งวิทยาศาสตร์กับ คณิตศาสตร์บ้างนิดนึง เลยเลือกเรียนคณะสถาปัตย์ศิลปากร เอกสถาปัตย์ไทย เพราะเราชอบวาดรูปลายไทย สนใจเรื่องความเป็นไทย ชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะไทย ก็เลือกถาปัตย์ไทย จริงๆ ก็จะสนุกกับประวัติศาสตร์มากกว่า สนใจเรื่องราวในอดีตมาก
ที่คณะมีวิชานึงถ่ายภาพเบื้องต้น ถ่ายภาพสถาปัตยกรรม เป็นวิชาเลือกที่เราสนใจไปลงทะเบียนเรียนดู ซึ่งก่อนหน้านั้นเราสนใจเรื่องกล้องถ่ายรูปอยู่แล้วเลยเลือกลงเรียน พอเรียนวิชานี้ก็เจออาจารย์พิเศษคือพี่สมคิด เปี่ยมปิยชาติ พี่สมคิดก็จบสถาปัตย์มา เรียกว่ามาเปิดโลกให้เรารู้ว่าการถ่ายภาพมันมีแขนงต่างๆ ย่อยออกมา แล้วก็ประกอบอาชีพได้ด้วย เราก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจดี
นอกจากพี่สมคิด เราก็เจออาจารย์ที่จบจากอังกฤษมา เขาก็มาเปิดโลกให้เราเห็นว่าการถ่ายภาพมันควรมีแนวคิดเบื้องหลังด้วยแบบ conceptual art เขาก็แนะนำให้เปิดหนังสือของศิลปินดัง ๆ ที่ทำงานด้านภาพถ่าย เราก็จะรู้ว่าจริง ๆ ศิลปะภาพถ่าย conceptual art มันไม่จำเป็นต้องเน้นถ่ายสวยอย่างเดียว มันมีถ่ายซากศพ ถ่ายดอกไม้เหี่ยวมันก็สวยได้
ทุกวันนี้ก่อนออกไปถ่ายภาพ เราก็จะศึกษาบริบทและศิลปะ มีเบื้องหลังการทำงาน เราอยู่ในวงการสถาปัตย์อยู่แล้ว เราก็จะได้เปรียบที่ว่าเราเข้าใจมันได้เร็วกว่าคนอื่น เราเข้าใจตึกได้ง่าย เข้าใจเทคโนโลยีการก่อสร้าง เข้าใจมุมมองมากขึ้น
เหมือนเวลาเรารู้จักผู้หญิงคนนึง แล้วก็รู้ว่าผู้หญิงคนนี้เค้าจะสวยตรงไหน เค้าจะต้องสวยตอนอารมณ์เศร้าหรือเค้าจะต้องสวยตอนอารมณ์ร่าเริง อะไรอย่างนี้ เราจะชอบเปรียบเทียบการมองอาคารเหมือนคน
ฟังดูแล้วคุณหลงใหลการถ่ายภาพมากเหมือนกันนะ
จริง ๆ ก็แอบสนใจมาตั้งแต่มัธยมละ แต่ว่าเราก็ไม่ได้มีตังค์ กล้องตอนนั้นก็แพง พอเข้ามหาลัยพี่สาวให้ยืมกล้องตัวนึงหลังเค้าเรียน เราเลยได้กล้องเก่าตัวนึงมาฝึกถ่าย แล้วก็ไปเรียนถ่ายรูปตามสารพัดช่าง เรียนแบบวิชาชีพ เค้าก็จะสอนแนวถ่ายสวยงาม ถ่ายประกวด ซึ่งเราก็รู้สึกว่าไม่ได้ยากอะไร ก็พอทำได้
ตอนนั้นอยากทำงานเป็นช่างภาพเลยไหม
ตอนจบมาก็ทำงานด้านสถาปัตย์ก่อน เพราะสนใจด้านประวัติศาสตร์ แล้วก็ทำ วิทยานิพนธ์ด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งมันก็จะไปเชื่อมโยงกับการทำงานด้านการอนุรักษ์ตึกเก่า เราพยายามผลักดันให้ตัวเองไปอยู่ในวงการนั้น
ย้อนกลับไปเมื่อตอนพี่เรียนจบมาในปี 2546 วงการอนุรักษ์บ้านเรามันยังไม่ได้บูมมาก แทบจะไม่มีการพูดถึง แต่เราก็โชคดีได้เข้าไปทำงานอนุรักษ์อาคารไทยพาณิชย์ตรงถนนเพชรบุรี อันนั้นก็เป็นโปรเจคแรกแรกที่ใช้วิชาชีพเข้าไป
พอทำจริง ๆ เรารู้สึกว่าไม่ได้ชอบมากขนาดนั้น ไม่ได้เป็นตัวเราเท่าไหร่ เริ่มมาถ่ายภาพจริงจังตอนหันไปทำงานหนังสือแล้ว ช่วงนั้นบริษัทสถาปนิก 49 เค้ากำลังจะจัดตั้งเป็นสำนักพิมพ์ขึ้นมา เรามีโอกาสได้ไปคุยกับพี่เต้ย-นิธิ สถาปิตานนท์ เป็นศิลปินแห่งชาติ เข้าไปร่วมงานกับเค้า ชื่อสำนักพิมพ์ลายเส้น ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่ได้เริ่มเป็นช่างภาพหรอก แต่เราก็แสดงตัวว่าเราอยากเป็นช่างภาพนะ อยากถ่ายรูป ชอบถ่ายรูป ขอถ้ามีงานถ่ายรูป ผมขอบ้าง (หัวเราะ)
เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานช่างภาพอย่างเป็นจริงจังหรือเปล่า
ตอนนั้นเริ่มได้ไปถ่ายรูปโมเดลอาคาร ยังไม่ได้ถ่ายรูปอาคารใหญ่ ก็เริ่มต้นจากถ่ายโมเดลจำลองพวกนั้นเอามาลงหนังสือ ถ่ายไปถ่ายมาจนขยับขยายโอกาสไปเรื่อย ๆ จนได้ถ่ายอาคารจริงบ้าง เริ่มจากอาคารเล็ก ๆ จนเราก็พอจะถ่ายรูปเป็นแล้ว ก็มีงานถ่ายรูปตึกที่มาจากคอนเน็คชั่นส์เข้ามาเรื่อย ๆ จนจะพอเลี้ยงตัวได้ ก็เลยออกมาเป็นช่างภาพอิสระจนถึงทุกวันนี้
คุณสามารถถ่ายรูปแล้วดึงคาแรกเตอร์ตึกออกมาได้ดี คิดว่าอะไรในตัวคุณที่ทำให้ภาพถ่ายตึกมันดูมีชีวิตออกมาขนาดนั้น
เอาจริง ๆ เป็นคนกัดไม่ปล่อยคนนึงแหละ ถ้าเกิดว่ามันยังไม่สำเร็จก็จะทำไปเรื่อย ๆ เราก็ไม่ได้ถ่ายสวยในครั้งเดียว มีหลายครั้งที่มันไม่สวยเราก็ต้องกลับไปถ่ายซ้ำ ใช้สกิลในการเป็นช่างภาพสถาปัตย์มาถ่ายงาน
ความเป็นช่างภาพ ความเป็นสถาปนิก และความชอบประวัติศาสตร์ มันดูหลอมเป็นแบบตัวตนคุณมากเลย
คงตกตะกอนละมั้ง มันก็เป็นสิ่งที่เราชอบทั้ง 3 อย่าง เราเอามาเบลนด์ให้มันอยู่ในตัวเรา เราสนใจด้านอนุรักษ์อาคาร เรายังมีความชอบในการอนุรักษ์อาคารอยู่ ยังเห็นว่าคุณค่าทางประวัติศาสตร์มันสำคัญนะ เป็นจังหวะที่โชคดีที่เอาเรื่องถ่ายรูปมาบวกกับตรงนี้ได้
เคยคิดมั้ยว่าวันนึงจะกลายมาเป็นช่างภาพถ่ายตึกเก่า ซึ่งพอทุกคนพูดถึงเบียร์สิงน้อย ก็มีภาพจำถึงนักถ่ายภาพตึกยุคโมเดิร์น
ตอนแรกไม่คิดหรอก ทำไปทำมาจนมันเป็นตัวของตัวเอง ตอนแรก ๆ ที่เราเริ่มทำ เราก็จะไปติดตามดูผลงานพวกช่างภาพฝรั่ง คนที่ถ่ายประเภทแบบเราเนี่ยในเมืองไทยมันอาจจะยังไม่มีแต่ว่าฝรั่งทำกันมาพอสมควรแล้ว เราก็ติดตามผลงานพวกเขาจนวันนึงได้สร้างผลงานของตัวเอง ในแบบของตัวเอง
ถ้าสมมติมีคนที่อายุน้อยกว่าอยากทำแบบคุณบ้าง อยากจะบอกอะไรพวกเขา
ต้องเริ่มทำเลย เราเองก็เคยลังเลที่จะทำมาหลายปี รู้สึกว่าทำช้าไปด้วยซ้ำ บางตึกมันถูกทุบไปแล้ว ไม่ทันแล้ว อยากบอกว่าพวกภาพถ่ายมันมีคุณค่านะ จริง ๆ แล้วมันมีคนที่เค้าก็เห็นความหมายของมันอยู่ เราอยากสนับสนุนทุกคนอย่างเต็มที่ ไม่งั้นเดี๋ยวทุกอย่างมันจะสายเกินไป
คุณคิดว่าหัวใจสำคัญของการแบบทำสิ่งนี้คืออะไร
อย่างแรกคือความอดทน มันไม่ใช่งานที่จะจบภายในวันสองวัน หรือภายใน 1-2 เดือน มันเป็นโปรเจ็กต์ระยะยาวที่เราต้องต้องลงลึกกับมันจริง ๆ ถ้าเราไม่ชอบมันจริง เราจะทนไม่ได้นานขนาดนี้ ถ้าเกิดเราคิดว่าจะทำเพื่อเรียกยอด Follow หรือว่าเรียกยอด Like เฉยๆ ทำไม่นานก็คงเบื่อ เพราะมันต้องทุ่มเททั้งการเดินทาง ทั้งงบประมาณ แผนการทำงานต่าง ๆ
ต่อมาคือการอ่าน มีหนังสือที่จะต้องอ่านมากมาย หลาย ๆ คนชอบถามเราว่าไปเอาข้อมูลมาจากไหน ง่าย ๆเลยคืออ่านหนังสือ ค้นคว้าให้หมด มันจะต้องเริ่มต้นจากอ่าน อ่านอะไรใกล้ตัวก่อน แล้วต่อยอดต่อไปเรื่อย ๆ มันทำให้เรารู้กว้างขึ้น
ความหมายของการถ่ายภาพตึกเก่าสำหรับคุณคืออะไร
ตอนนี้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว มันมีคุณค่า มันเหมือนเวลาเราไปดูพวกภาพเก่าตามหอจดหมายเหตุ เรารู้สึกว่าเราเห็นอะไรบางอย่างจากตรงนั้นแล้วเรามาทำต่อได้เยอะ เรารู้สึกว่าอยากให้ภาพถ่ายเรามันอยู่ในประวัติศาสตร์อย่างนั้นล่ะ
เรื่อง นิภัทรา นาคสิงห์
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : วัชรบูล ลี้สุวรรณ การเดินทางถ่ายรูปสัตว์ป่าหายาก จนต่อยอดถึงงานอนุรักษ์ป่าตะวันตกของไทย