ประเพณีพื้นบ้านใน บัลแกเรีย เชื่อมโลกมนุษย์กับภพจิตวิญญาณ
เพื่อกำราบความชั่วร้าย บันดาลความมั่งคั่ง และสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง
“พวกเขามากันหลายร้อยคน เสียงเดียวที่ได้ยินคือเสียงกระดิ่ง” อีโว ดังเชฟ เท้าความหลัง “บรรยากาศสุดเหวี่ยงและดิบเถื่อนสุดๆ ไปเลยครับ” ลองนึกภาพฝูงชนสวมหน้ากากน่าเกรงขาม ส่งเสียงเอะอะอื้ออึง กระโดดโลดเต้น กวัดแกว่งแขนไปมา
เสียงกระดิ่งรัวดัง ป่วนจังหวะชีวิตปกติ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใกล้ๆ กับกรุงโซเฟีย เมืองหลวงของบัลแกเรีย ในเมืองเปอร์นิก ซึ่งทุกเดือนมกราคม จะเป็นเจ้าภาพจัดงานเทศกาลซูโรวา งานเฉลิมฉลองสวมหน้ากากยิ่งใหญ่อลังการที่สุดงานหนึ่งในยุโรป และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก งานประเพณีเต้นรำสวมหน้ากากหยั่งรากลึกในบัลแกเรีย แต่เทศกาลฤดูหนาวคล้ายคลึงกันนี้จัดขึ้นอีกหลายแห่งในยุโรป เช่น เทศกาลอูซกาเวเนสในลิทัวเนีย มาโซพุสต์ในเช็กเกีย บูโชยารัสในฮังการี และคาปราในโรมาเนีย แต่ละงานมี กลิ่นอาย เครื่องแต่งกาย และพิธีกรรมเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
นักเต้นสวมหน้ากากของบัลแกเรียอาจสวมบทและมีชื่อแตกต่างกัน แต่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่า คูเคร์ (kuker พหูพจน์ kukeri) ผู้สร้างความตื่นตะลึง และความรื่นเริงแก่ผู้พบเห็น ประเพณีดังกล่าวคือสิ่งล้ำค่าควรเชิดชูสำหรับประกอบพิธีเอง เพราะถือว่าพวกเขากำลังธำรงรักษาพิธีกรรมตามความเชื่อพื้นบ้าน นอกจากนี้ การแปลงกายเชิงสัญลักษณ์และการผัดเปลี่ยนฤดูกาลใหม่ที่เฉลิมฉลองกันทั้งในรูปงานเต้นรำสวมหน้ากากตามหมู่บ้าน ที่ยืนยงมาช้านาน และในรูปเทศกาลสมัยใหม่ ยังดึงดูดการมีส่วนร่วมของชาวเมืองผู้หวนคืนถิ่นบรรพบุรุษปีแล้ว ปีเล่าในฐานะนักเต้นสวมหน้ากากในพิธี
ช่างภาพ อีโว ดังเชฟ ผู้เคยใช้ชีวิตเป็นชาวเมืองมาก่อน ต้องมนตร์สะกดของบรรยากาศหลุดโลกในเมืองเปอร์นิก เหล่าคูเคร์แผ่พลังงานการเชื่อมโยงอันดุดันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งเป็นธีมหรือแก่นเรื่องในงานของเขามาโดยตลอด แล้วท้ายที่สุด ธรรมชาติก็เพรียกหาให้เขาโยกย้ายไปอยู่ชนบท เพื่อใช้ชีวิตตามเป้าหมายใหม่ และด้วยเหตุนั้น การเดินทางของช่างภาพคนหนึ่งเพื่อบันทึกความหลากหลายของประเพณีสวมหน้ากากอันเก่าแก่ดั้งเดิมของบัลแกเรีย รวมทั้งผู้คนเบื้องหลังหน้ากากเหล่านั้น จึงเริ่มต้นขึ้น
นักแสดงร่วมพิธีทุกคนอำพรางตนอยู่หลังหน้ากาก การแปลงกายเปิดโอกาสให้พวกเขาข้ามผ่านระหว่าง สองภพภูมิ ระหว่างโลกความจริงกับจินตภพ โลกคนเป็นกับโลกคนตาย อดีตกับอนาคต หน้ากากคูเคร์แบบดั้งเดิมประดิษฐ์จากหนังสัตว์ เขา เขี้ยว และขนนก นอกจากนี้ ยังมีแบบแกะสลักจากไม้ หรือกระทั่งใช้สีวาดทาบนใบหน้าผู้ประกอบพิธีโดยตรง หน้ากาก “จะลบอัตลักษณ์หรือตัวตนของคนผู้นั้นออกไป ทำให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิต เหนือธรรมชาติที่สามารถเข้าไปในโลกจิตวิญญาณ และสื่อสารกับเหล่าภูติผีได้ครับ” ดังเชฟอธิบาย
เครื่องแต่งกายซึ่งแตกต่างกันไปตามภูมิภาค อาจออกแนวน่ากลัวหรือตลกขบขันก็ได้ กล่าวคือ อาจเป็นสิงสาราสัตว์ อสูรกาย ซาตาน หรือตัวละครที่เป็นมนุษย์ เช่น เจ้าสาวกับเจ้าบ่าว หมอกับพยาบาล และปู่ย่าตายาย ในภูมิภาคแถบตะวันตก คูเคร์ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า ซูร์วาคาร์ (survakar พหูพจน์ survakari) จะสวมชุดหนังสัตว์ หรือเสื้อผ้าเย็บจากผ้าขี้ริ้วสีฉูดฉาด ส่วนในแถบตะวันออกของบัลแกเรีย พวกเขาจะสวมเสื้อคลุมทูนิก คูเคร์บางคนถือดาบไม้ ตะขอต้อนแกะ หรือไม้ถูพื้น แต่ทุกคนจะสวมเข็มขัดร้อยกระดิ่งหลายขนาดต่างกันไป เชื่อกันว่าเสียงกระดิ่งมีพลังอำนาจในการชำระล้าง และช่วยให้การข้ามภพระหว่างโลกคนเป็นกับโลกคนตายเกิดขึ้นได้
เพื่อให้เห็นแนวคิดดังกล่าวในภาพถ่ายบุคคลของเขา ดังเชฟหันไปหาธรรมชาติ เหมือนกับที่หน้ากาก และพิธีกรรมนั้น “ได้แรงบันดาลใจจากป่าดงพงไพร” เขาบอก ฉากหลังของเขาทำให้พรมแดนระหว่างความจริงและสิ่งเหนือธรรมชาติพร่าเลือน การจัดแสงช่วยเสริมความลี้ลับ ให้ความรู้สึกล่องลอยมีมนต์ขลัง “นอกจากแค่บันทึกขนบธรรมเนียมนี้ไว้” เขากล่าว “ผมอยากให้ตัวละครเหล่านี้รู้สึกเหมือนมีชีวิตอยู่ในโลกจิตวิญญาณของ พวกเขาด้วย”
“ผมเดินทางไปที่บ้านของคนที่ผมอยากถ่ายภาพ ตามหมู่บ้านเล็กๆ ทั่วประเทศ” ดังเชฟเล่า “ส่วนใหญ่ อยู่ในช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน ซึ่งพวกคูเคร์จะออกมาเพ่นพ่านกัน” นั่นคือช่วงที่พวกเขา ประกอบพิธีกรรมกันนั่นเอง
พิธีกรรมนี้เป็นเครื่องหมายบ่งบอกการมาถึงของฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนในวัฏจักรเวียนว่ายตายเกิด เมื่อย้อนเล่าถึงต้นกำเนิดประเพณีนี้ ชาวบ้านจะพูดถึงตำนานการสร้างโลกเรื่องเดียวกัน กล่าวคือ ในช่วงเวลาพิเศษที่พรมแดนระหว่างสองโลก ได้แก่ โลกของคนเป็นกับโลกของบรรพบุรุษผู้วายชนม์ พังทลายลง สวรรค์กับโลกจะเชื่อมผสานกัน วิญญาณผู้วายชนม์จะเข้ามาท่องภพคนเป็น ผู้คนจำเป็นต้องปกป้องคุ้มครองหมู่บ้าน เรือกสวน บ้านเรือน และผู้อยู่อาศัยทั้งหลายจากพลังอำนาจชั่วร้าย พวกเขาเล่า ประเพณีนี้แฝงไว้ซึ่งเนื้อหา ไร้กาลเวลาว่าด้วยการเสริมพลังอำนาจ และการอยู่รอดในช่วงเวลาท้าทายอย่างฤดูหนาว
ทุกวันนี้ การแต่งกายเน้นที่ตัวผู้ประกอบพิธีมากกว่า โดยมุ่งแสดงให้เห็นความโดดเด่นเฉพาะตัวควบคู่ ไปกับประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน และก็เช่นเดียวกับหน้ากาก พิธีกรรมจะมีรูปแบบแตกต่างกันแล้วแต่เมืองและภูมิภาค ในแถบตะวันตกของบัลแกเรีย กลุ่มนักเต้นสวมหน้ากากจะประกอบพิธีตั้งแต่วันคริสต์มาสจนถึงวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “วันเวลาอันแปดเปื้อน” เพราะภูติผีวิญญาณร้ายออกเพ่นพ่าน ขณะที่เหล่าคูเคร์ในแถบตะวันออกจะทำพิธีกันก่อนจะเข้าเทศกาลมหาพรต
ในอดีต จะมีแต่หนุ่มโสดอายุน้อยเท่านั้นที่ประกอบพิธีกรรมนี้ในฐานะพิธีแห่งการเปลี่ยนผ่าน หรือเข้าสู่ความเป็นชายอย่างสมบูรณ์ และเป็นข้อพิสูจน์ถึงความพร้อมที่จะแต่งงานสร้างครอบครัว ปัจจุบัน ผู้คนทุกวัยและเพศสภาพเข้าร่วมขบวนแห่รอบหมู่บ้านเพื่อนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์และการผัดเปลี่ยนเข้าสู่ฤดูกาลใหม่
เรื่อง อิกลีกา มิชโควา
ภาพถ่าย อีโว ดังเชฟ
สามารถติดตามสารคดี โลกระหว่างสองภพภูมิ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2564
สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/533276