เทศกาลอินทรยาตราปีนี้ อมิตา ศากยะ มีอายุ 21 ปี
เธออาศัยอยู่กับครอบครัวในตึกแถวสี่ชั้นชานกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล ไม่ไกลจากวัดสวายัมภูนาถ หนึ่งในสัญลักษณ์ของอดีตราชอาณาจักรแห่งนี้ แต่หากย้อนเวลากลับไปเพียงสิบกว่าปี อมิตา ศากยะ ก็คือหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของประเทศเช่นกัน เพราะในเวลานั้น เธอไม่ใช่มนุษย์ หากเป็นเทพเจ้า
อมิตา ศากยะ ในวัยเยาว์ดำรงสถานะกุมารีหลวงแห่งกาฐมาณฑุนาน 10 ปี (พ.ศ. 2534-2544) ตลอดระยะเวลานั้น เธอพำนักอยู่ที่กุมารีพะหาล (Kumari Bahal) หรือกุมารีเช (Kumari Che) ในภาษาเนวารี ตำหนักไม้แกะสลักสถาปัตยกรรมแบบอารามพุทธศาสนา พื้นเมืองอายุกว่าสองร้อยปีในย่านพระราชวังโบราณหรือจัตุรัสกาฐมาณฑุทุรพาร์ (Kathmandu Durbar Square) ซึ่งเมื่อหลายศตวรรษก่อนเจริญรุ่งเรืองขึ้นจากการเป็นชุมทางการค้าสู่อาณาจักรทิเบต ปัจจุบันที่นี่ยังคงเป็นศูนย์กลางการค้าและการท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้คนจากทั่ว ทุกมุมโลก เทศกาลอินทรยาตราปีนี้ อมิตาจะเดินทางไป ร่วมพิธีที่กุมารีเช ซึ่งในเวลานี้ มาตินา ศากยะ กุมารีหลวง องค์ปัจจุบันวัย 4 ขวบ พำนักอยู่ในฐานะเทพเจ้าที่มีชีวิต
หากลองเดินสำรวจร้านขายของที่ระลึกในย่านจัตุรัส กาฐมาณฑุทุรพาร์ เราจะพบเห็นไปรษณียบัตรรูปใบหน้ากุมารีอมิตาได้ไม่ยาก เด็กหญิงตัวน้อยในอาภรณ์สีแดงเข้มเดินดิ้นทองแพรวพราว ศีรษะเล็กๆครอบไว้ด้วยมงกุฎทองทรงสูงรูปพัดประดับอัญมณีหลากสี มาลัย สีแดงห้อยระย้าอยู่สองข้างพวงแก้ม ส่วนรอบคอประดับด้วยสร้อยนาคราชและมาลัย ทว่าใบหน้าอ่อนเยาว์ของเด็กหญิงไม่แสดงความรู้สึกใดๆ ดวงตาคมเข้มคู่นั้นถูกระบายด้วยผงทาขอบตาสีดำลากจากหางตาสูงขึ้นไปจนจรดขมับทั้งสองข้าง บนหน้าผากมีดวงตาที่สามเด่นชัด ทำให้เราสัมผัสได้ถึงพลังอำนาจเหนือเด็กหญิงธรรมดา
ทว่าอมิตาในวันนี้เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มสดใสของหญิงสาวผมยาวสยายประบ่า หากบุคลิกท่าทางยังคงงามสง่าและ เงียบขรึม เมื่อถามว่าเธอรู้สึกอย่างไรที่เห็นรูปตัวเองอยู่บนไปรษณียบัตร เธอตอบเพียงสั้นๆว่า “รู้สึกดีใจ” และเมื่อถามว่า เวลานี้เธอยังรู้สึกถึงความเป็นเทพเจ้าในตัวเอง หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่”
ช่วงเวลาที่อมิตา ศากยะ ดำรงตำ แหน่งกุมารีหลวง ระบอบกษัตริย์ในเนปาลยังไม่ถูกล้มเลิก อมิตาในฐานะเทวีพรหมจรรย์ ผู้เป็นองค์จุติของเทวีตาเลจู (หรือพระนางทุรคา ศักติของพระศิวะ) และหนึ่งในเทพเจ้าที่ปกปักรักษานครกาฐมาณฑุ คือผู้เจิมติกะหรือผงวิภูติ (ทำจากมูลวัวที่นำมาเผาและบดจนละเอียดแล้วผสมกับสีแดงชาดที่ได้จากรากไม้) ให้กษัตริย์พิเรนทรา พีระ พิกรม ชาห์ เทพ ทุกปีในช่วงเทศกาลอินทรยาตรา ก่อนที่พระองค์จะถูกปลงพระชนม์ในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมแห่งราชวงศ์เนปาลเมื่อปีพ.ศ. 2544 ปีเดียวกับที่อมิตาสิ้นสุดสถานะ ความเป็นเทพเจ้าเมื่อเธอพ้นจากวัยเยาว์เข้าสู่วัยสาวแรกรุ่น จากนั้นเด็กหญิงไร้เดียงสาตัวน้อยนาม ปรีติ ศากยะ (กุมารีหลวงระหว่างปีพ.ศ. 2544-2551) เด็กหญิงจากตระกูลศากยะอีกคนก็ได้รับเลือกให้เป็นองค์จุติของเทวี ตาเลจูแทนที่เธอ
เด็กหญิงในช่วงวัยก่อนมีประจำเดือนเป็นเครื่องหมายของความบริสุทธิ์ ไร้มลทินและตัณหา ตามความเชื่อนี้ กุมารีจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีโลหิตไหลออกจากร่างกาย (ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด รวมทั้งเมื่อเจริญวัยจนมีรอบเดือน) จากนั้นกระบวนการเสาะหากุมารีองค์ใหม่จะเริ่มต้นขึ้น โดยในระยะหลังจะคัดเลือกจากเด็กหญิงในตระกูลศากยะ หรือวัชราจารย์ที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมตามจารีต
อมิตาในวัย 13 กลายเป็นเด็กสาวธรรมดาเพียงชั่วข้ามคืน เธอต้องย้ายออกจากตำหนักที่เคยพำนักอยู่ตลอดระยะเวลา 10 ปี และมีคนรับใช้ใกล้ชิดมาอยู่ในบ้านร่วมกับคนในครอบครัวที่ไม่คุ้นเคย เพราะเธอต้องจากบ้านไปตั้งแต่ยังจำความไม่ได้
พ่อของเธอเล่าว่า อมิตาต้องใช้เวลาปรับตัวนานกว่า 2 ปี เธอเข้ากับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนได้ยาก ไม่มีใครกล้าคุยด้วยเมื่อรู้ว่าเธอเคยเป็นเทพเจ้ามาก่อน ขณะที่บุคลิก เคร่งขรึม พูดน้อย และไว้ตัวของเธอก็เป็นอุปสรรคในการเข้าสังคมกับเพื่อนๆ เช่นกัน นอกจากนี้ อมิตายังต้องหัดทำ งานบ้านต่างๆ ด้วยตัวเอง และเรียนรู้ที่จะเดินบนถนนโดยลำพัง
ตอนที่เราพบอมิตา ดูเหมือนเธอจะปรับตัวเข้ากับโลกของคนธรรมดาได้ดีแล้ว แต่เธอก็ยังประหยัดถ้อยคำและระมัดระวังในการตอบคำถาม ปัจจุบันเธอศึกษาวิชาบัญชีอยู่ในวิทยาลัยแห่งหนึ่ง อมิตายังเก็บตุ๊กตาและของเล่น ที่คนนำไปถวายให้ตอนเป็นกุมารีไว้ในตู้กระจกของห้องรับแขก เธอบอกว่า ตอนเป็นกุมารี สิ่งที่เธอโปรดปรานมากที่สุดก็คือตุ๊กตา
ลานหินกลางจัตุรัสกาฐมาณฑุทุรพาร์อันกว้างใหญ่ คลาคล่ำไปด้วยฝูงชน ขั้นบันไดสูงใหญ่ทั้งสี่ทิศของวิหาร วัดนารายันแต่งแต้มไปด้วยอาภรณ์สีสันสดใสราวกับดอกไม้หลายร้อยหลายพันสี ดวงตาของผู้คนต่างจับจ้องไปที่แถวกองทหารกุรข่า วงโยธวาทิต ขบวนแห่ของไภรวะ หรือพระพิราพ (ภาคดุร้ายของพระศิวะ) ลักเห (ช้าง) และ หนุมาน ที่เต้นระบำอยู่รอบลานจัตุรัสประสานไปกับเสียง โห่ร้อง กลองและฉาบ ไปจนถึงขบวนรถของบุคคลสำคัญในกองทัพรัฐบาลและบรรดาทูตานุทูตที่ทยอยเดินทาง มาร่วมพิธีกรรมอันยิ่งใหญ่ประจำปีของหุบเขากาฐมาณฑุ ขณะที่กองทัพช่างภาพและสื่อมวลชนทั้งท้องถิ่นและจากทั่วโลกต่างรอคอยวินาทีสำคัญบนบันไดวิหารอีกด้าน ดูเหมือนทุกคนจะมารวมตัวกันเพื่อรอพบหัวใจของงาน ซึ่งก็คือเด็กหญิงตัวน้อยๆคนหนึ่งที่ชาวโลกรู้จักในนาม “กุมารี” หรือ “ดยาห์ เมจู” ในภาษาพื้นเมือง
ในวันอันสำคัญนี้ “เทพเจ้ามีชีวิต” จะเสด็จออกมาจากตำหนัก ย่างพระบาทไปบนผ้าขาว แล้วประทับบนราชรถล้อไม้ขนาดใหญ่ก่อนจะมีการแห่ไปรอบนครศักดิ์สิทธิ์ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องรื่นเริงของผู้คนบนถนนทุกสาย
เทศกาลอินทรยาตราเวียนมาบรรจบตามปฏิทินจันทรคติ ตรงกับช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนของทุกปี เป็นสัญญาณ บ่งบอกว่าฤดูฝนสิ้นสุดลงแล้ว และฤดูแห่งการเก็บเกี่ยว ผลผลิตกำลังเริ่มต้นขึ้น การบูชาเหล่าเทพเจ้าที่ประทาน ความอุดมสมบูรณ์ให้พืชพันธุ์ธัญญาหารจึงเปิดฉากขึ้นอย่าง ยิ่งใหญ่นาน 9 วัน เทพเจ้าผู้เป็นศูนย์รวมแห่งจิตวิญญาณ ของฤดูกาลสำคัญนี้ นอกเหนือจากพระอินทร์หรืออินทรา แล้ว ก็คือองค์จุติของเทวีตาเลจู ผู้สถิตอยู่ในร่างของ เด็กหญิงบริสุทธิ์หรือ “กุมารี” เทศกาลนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กุมารียาตรา”
แม้ระบอบกษัตริย์ของเนปาลจะถูกล้มเลิกไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 หลังสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานนับสิบปีสิ้นสุดลง พร้อมกับธรรมเนียมปฏิบัติที่กษัตริย์ เนปาลทุกพระองค์จะเสด็จมาสักการะกุมารีถึงตำหนักทุกปี ในช่วงเทศกาลอินทรยาตรา เพื่อให้เทพเจ้าในร่างมนุษย์อำนวยพรผ่านการเจิมผงติกะที่พระนลาฏ เพื่อเป็นหลักประกันว่าพระองค์จะรักษาอำนาจและปกครองอาณาจักรได้อย่างมั่นคงปลอดภัยจากอริราชศัตรู แต่ความเชื่อและความสำคัญของกุมารีในฐานะเทพผู้ปกป้องคุ้มครองอาณาจักรไม่เคยเสื่อมคลายไปจากความรู้สึกนึกคิดของชาวเนปาล และดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกสารทิศให้หลั่งไหลมาร่วมเทศกาลสำคัญนี้
ดินแดนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสวรรค์ของเหล่าฮิปปี้หนีทุกข์ จากสงครามเมื่อหลายทศวรรษก่อน แม้ปัจจุบัน เนปาล จะผนึกตัวเองกับธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างเหนียวแน่น จนถนนแทบทุกสายในนครแห่งเทพเจ้าคลาคล่ำ ไปด้วยผู้คนหลากสัญชาติ และแม่น้ำบักมาตีที่ไหลผ่านนครหลวง กาฐมาณฑุและเมืองปาตานจะเอ่อท้นไปด้วยธารขยะ ก่อนไหลไปรวมกับแม่น้ำคงคา แต่ดูเหมือนเทพเจ้ากับ มนุษย์ในหุบเขาแห่งศรัทธาก็ยังอยู่ร่วมกันอย่างไม่ยี่หระ
ทุกเช้าตรู่ชาวเนปาลในหุบเขากาฐมาณฑุจะทำพิธีบูชา เทพเจ้าต่างๆในศาสนาฮินดู เช่น พระพิฆเนศ พระศิวะ พระวิษณุ พระนางกาลีหรือพระนางทุรคา รวมไปถึง พระโพธิสัตว์ และพระพุทธรูป ก่อนเริ่มต้นกิจกรรม ทั้งปวงในชีวิต เราจึงพบเห็นดอกไม้ ข้าวสาร น้ำ รวมทั้งผงวิภูติสีแดงเข้มแรระบายอยู่ทั่วไปตามวิหารเทพเจ้า สถูป และบนลานหน้าประตูบ้าน ณะที่เหล่านักบวช ฤๅษี และโยคีหลากนิกายหลายความเชื่อต่างระบายสีสันบนร่างกายก่อนประจำอยู่ตามวิหารในจัตุรัสพระราชวังโบราณ
“ฉันรู้สึกว่าศาสนาและชีวิตของเราคือสิ่งเดียวกัน” สริตา อวาเล เล่า หญิงวัย 33 ปีผู้นี้เป็นเจ้าของเกสต์-เฮาส์เล็กๆในเมืองปาตาน เมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขากาฐมาณฑุ (อีกเมืองคือภักตปูร์) สริตาจบการศึกษาวิชาเอกพุทธศาสนาจากมหาวิทยาลัยตรีภูวัน เธอพาเราเดินซอกซอนเข้าไปยังชุมชนศากยะในเมืองปาตานเพื่อทำความรู้จักกับเหล่าเทพเจ้าเพียงเศษเสี้ยวหนึ่ง ในศาสนาฮินดู พระโพธิสัตว์ และพระพุทธรูปปางต่างๆ ในพุทธศาสนานิกายตันตระหรือวัชรยานซึ่งได้รับอิทธิพล จากลัทธิตันตระของศาสนาฮินดู พุทธศาสนานิกายนี้ถือกำเนิดในราวสมัยราชวงศ์คุปตะของอินเดีย แต่มาแพร่หลายหลังพุทธศตวรรษที่ 10-11
เนปาลจึงเป็นเหมือนจุดบรรจบระหว่างสองศาสนา คือฮินดูลัทธิไศวะและพุทธสายวัชรยาน ซึ่งต่อมาประสานกลมกลืนจนเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้ศาสนาประจำชาติ หรือศาสนาที่คนส่วนใหญ่นับถือคือศาสนาฮินดูก็ตาม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวเนปาลคนหนึ่งจะบอกว่า เขานับถือทั้งพุทธและฮินดู หรือชาวฮินดูเนปาลจะเชื่อว่าพุทธศาสนาคือส่วนหนึ่งของศาสนาฮินดู ขณะที่ชาวพุทธเนปาลก็เชื่อว่า เทพเจ้าชั้นสูงของศาสนาฮินดู ทั้งพระศิวะและพระนารายณ์คือพระโพธิสัตว์ผู้พร้อมจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
เช่นเดียวกับตำนานของกุมารีซึ่งคนส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นเทพของศาสนาฮินดู แต่กลับคัดเลือกเด็กหญิงจาก ครอบครัวชาวพุทธ ทว่าตามตำนานความเชื่อของชาวพุทธนิกายมหายานถือว่ากุมารีคือองค์จุติของพระนางศยามตารา เทวีชาติแห่งเจ้าหญิงภริกูติธิดาของพระเจ้าอัมสุวรมา กษัตริย์ราชวงศ์ลิจฉวีซึ่งอภิเษกกับพระเจ้าซงซันกัมโป ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรทิเบตในพุทธศตวรรษที่ 12 กุมารีจึงเป็นเทพที่เคารพศรัทธาของทั้งชาวพุทธและชาวฮินดูด้วยเหตุผลนี้อีกประการหนึ่ง
สริตาเล่าว่า กุมารีในหุบเขากาฐมาณฑุมีทั้งหมด 3 พระองค์ ประทับอยู่ที่กาฐมาณฑุ ภักตปูร์ และปาตาน แต่กุมารีที่ทำหน้าที่เจิมติกะให้กษัตริย์และเป็นกุมารีที่กษัตริย์ทรงแสดงความเคารพตามตำนานความเชื่อที่ สืบทอดต่อกันมา คือกุมารีหลวงแห่งกาฐมาณฑุเท่านั้น
เมื่อเราเดินมาถึงอาคารหลังหนึ่งในย่านการค้า สริตา บอกว่าเรามาถึงบ้านของกุมารีแห่งเมืองปาตานแล้ว ป้าย บนตัวอาคารนั้นเขียนไว้ชัดเจนว่า “Living Goddess” หรือเทพเจ้าที่มีชีวิต
เราได้พบ “เทพเจ้า” ขณะเธอกำลังเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์อยู่กับอาจารย์สองท่าน เธอมีนามว่า ชานิรา วัชราจารย์ อายุ 15 ปี เป็นกุมารีองค์แรกของเนปาลที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาด้วยคะแนนสูงสุดขณะอยู่ในตำแหน่ง ตอนนี้กุมารีชานิรากำลังศึกษาต่อระดับวิทยาลัย โดยมีอาจารย์เดินทางมาสอนหนังสือถึงบ้าน ค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนทั้งหมดรัฐบาลเป็นผู้ออกให้ด้วย เหตุผลที่ว่า เมื่อชีวิตในฐานะเทพเจ้าสิ้นสุดลง กุมารีชานิราจะมีชีวิตอยู่ในโลกสามัญได้อย่างปกติสุข ไม่สูญเสียเวลาและโอกาสทางการศึกษาในช่วงที่ดำรงตำแหน่งกุมารี เราจึงได้พบทั้งเทพเจ้าและเด็กสาวธรรมดาในเวลาเดียวกัน
”พระองค์เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว สอนเพียงครั้งเดียว ก็จำได้โดยไม่ต้องอธิบายหลายครั้ง” อาจารย์จากวิทยาลัยเล่าถึงการสอนเทพเจ้าให้เราฟังพร้อมรอยยิ้มและบอกว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นครูของกุมารี แม้ว่าจะต้องสอนพระองค์ด้วยวาจาและภาษาสุภาพกว่าปกติก็ตาม
ขณะที่เรียนหนังสืออยู่นั้น หากมีคนเดินทางมาบูชาองค์กุมารี ชานิราต้องพักหน้าที่นักเรียนชั่วครู่เพื่อไปทำหน้าที่เทพเจ้าในห้องบูชาที่อยู่ติดกัน ทั้งสองห้องมีบรรยากาศแตกต่างกันอย่างลิบลับ เช่นเดียวกับบทบาทที่ชานิราต้องเล่นสลับกันไป
“ฉันมาที่นี่ทุกครั้งเวลาไม่สบายใจหรือรู้สึกว่ากำลังจะมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้น ทุกครั้งที่มาบูชาท่าน เมื่อกลับไปทุกอย่างก็จะดีขึ้น” ผู้จัดการธนาคารหญิงคนหนึ่งซึ่งเดินทางมาจากอีกเมืองเล่าถึงความเชื่อที่เธอมีต่อกุมารี
กองตำราวิชาเศรษฐศาสตร์ที่วางอยู่บนโต๊ะบอกเล่าความฝันของเด็กสาวธรรมดาคนหนึ่งว่าเธออยากทำงานธนาคาร แต่ในห้องบูชาอันศักดิ์สิทธิ์คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่เข้ามากราบไหว้บูชา เธอคือเทพเจ้าผู้ขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากให้มนุษย์ที่หวังมาพึ่งพิง เท้าที่ไม่อาจสัมผัส พื้นดินวางอยู่ในถาดทองเหลืองทรงกลมซึ่งเต็มไปด้วย ดอกไม้ ข้าวสาร และเงินที่ผู้คนนำมาถวาย ใบหน้าเคร่งขรึมขณะให้พรต่างจากใบหน้าของเด็กสาวที่มีความฝัน เฉกเช่นมนุษย์ปุถุชนทั่วไป
ที่บ้านของกุมารีชานิรายังมีอดีตกุมารีแห่งเมืองปาตานอยู่อีกองค์หนึ่ง มีศักดิ์เป็นป้าของชานิรา ชื่อว่า ทานะ กุมารี ปัจจุบันอายุมากกว่า 50 ปี แต่เธอยังคงดำรงตน ในฐานะกุมารี และมีผู้คนมากราบไหว้บูชา แม้จะมีการคัดเลือกเด็กหญิงขึ้นเป็นกุมารีองค์ใหม่แทนที่หลายองค์ แล้วก็ตาม เล่ากันว่าเธอยังไม่มีระดู ทำให้เธอยังคงสถานะเทวีพรหมจรรย์ ทุกวันนี้ เธอยังคงแต่งกายในอาภรณ์ สีแดงสด เกล้าผมสูงเป็นมวยไว้บนศีรษะเหมือนกุมารี บุคลิกเงียบขรึม ใบหน้าเรียบเฉยไร้อารมณ์ หลังงองุ้ม ทรงไว้ซึ่งความน่าเคารพยำเกรง
เรารู้สึกว่าเธอคงไม่อาจทำหน้าที่อื่นใดบนโลกนี้ได้ นอกจากหน้าที่ในฐานะเทพเจ้าที่ผู้คนมอบให้ หรืออาจเป็นเพราะเธอรู้สึกว่า เทพเจ้ากับเธอคือสิ่งเดียวกัน
สำหรับคนต่างถิ่นและต่างความเชื่อเช่นเราซึ่งไม่เคย มีชีวิตพันผูกกับ “เทพเจ้ามีชีวิต” หรือเทพเจ้าในร่างมนุษย์มาก่อน แม้จะเข้าใจว่านี่คือตัวแทนของความเชื่อและศรัทธาอันเก่าแก่ และสัมผัสได้ถึงพลังงานพิเศษที่ปรากฏผ่านดวงตา รวมไปถึงกลิ่นอายความศักดิ์สิทธิ์ที่อบอวลอยู่ภายในห้องบูชา แต่ความเป็นมนุษย์ในร่างเด็กผู้หญิง ก็ทำให้เราอยากพูดคุยถามไถ่กุมารีทั้งสองเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆของชีวิตในฐานะองค์จุติของเทพเจ้า ทว่ากุมารี ชานิราเอ่ยปากพูดเบาๆ เฉพาะกับครูและมารดาเท่านั้น เมื่อเห็นคนต่างถิ่นแปลกหน้าอย่างเรา เทพเจ้าเพียงแค่มองมาด้วยดวงตาเรียบเฉย ยากที่จะคาดเดาความรู้สึกนึกคิด
ชานิราในห้องเรียนแตกต่างจากชานิราในห้องบูชาเหมือนอยู่ในโลกคนละใบ ในห้องเรียนที่อยู่ติดกันเราได้ เห็นเด็กหญิงคนหนึ่งเรียนหนังสืออย่างมีความสุข ใบหน้าเปื้อนยิ้มบ่อยครั้ง พูดคุยอย่างเป็นกันเองกับครูผู้สอน แต่อีกห้องซึ่งห่างกันเพียงไม่กี่ก้าวย่าง ใบหน้าเดียวกันนี้ กลับสงบ เงียบขรึม ไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกใดๆ
ส่วนทานะ กุมารีผู้เป็นป้านั้นยังคงนิ่งเงียบ ใบหน้าไร้วี่แววของอารมณ์ใดๆ เธอไม่มองมาทางพวกเราด้วยซ้ำ ตอนที่คนในบ้านเชิญเธอมาที่อาสนะเมื่อมีคนเดินทางมา บูชา ดวงตาบนใบหน้าสงบหรุบต่ำ ไม่สนใจความเคลื่อนไหวของสิ่งรอบตัว เธอดูเหมือนตุ๊กตากระเบื้องเคลือบ สีซีดจางเก่าแก่เพราะความยาวนานของกาลเวลา เราไม่แน่ใจว่าในขณะที่โลกขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว นาฬิกา ชีวิตของเธอจะรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หรือว่า ในโลกของเธอมีเพียงความสงบนิ่งอบอวลไปด้วยความเดียวดาย ยากที่เราจะเข้าถึงและเข้าใจ
แม้จะตระหนักว่าเธอก็คือมนุษย์คนหนึ่ง แต่ดูเหมือน ทานะกุมารีไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อนั่งอยู่บนอาสนะและมีคนเข้าไปกราบและสัมผัสเท้า เทพเจ้าที่สถิตอยู่ในร่างก็ทำหน้าที่อำนวยพรและเจิมติกะให้คนผู้นั้นด้วยความ เมตตา ทุกขั้นตอนดำเนินไปอย่างเงียบเชียบจนเสร็จสิ้นพิธี ผู้มาบูชาจึงสั่นกระดิ่งทองเหลืองอันเล็กเพื่อส่งสัญญาณให้เทพเจ้ารับรู้ เเน่นอนว่าทานะ กุมารีไม่ยอมพูดคุยกับเรา ร่างบริสุทธิ์สะอาดอันเป็นที่พำนักของเทพเจ้าย่อมต้องวางตนอยู่ในที่อันเหมาะสม สูงส่ง แต่เราเชื่อว่า เธอมียังโลกอีกใบที่เราไม่ได้รับอนุญาตให้รับรู้
อย่างไรก็ตาม สำหรับเรามันไม่ง่ายเลยที่จะมีชีวิตแบบนี้ และถ้าหากว่านี่คือการอุทิศชีวิตเพื่อศรัทธาสูงสุดของมนุษย์แล้ว เทพเจ้าเบื้องบนก็คงรับรู้ได้ด้วยทิพยญาณว่าผู้คนมากมาย ในโลกต่างยังวนเวียนอยู่ในวังวนของความทุกข์ยากไม่สิ้นสุด และมนุษย์ด้วยกันเองก็ไม่อาจเยียวยารักษาบาดแผลให้กันและกันได้ พวกเขาจึงรอคอยให้อำนาจ พิเศษบางประการมาช่วยปลดปล่อย
เรื่อง กันต์ธร อักษรนำ
ภาพถ่าย ยุทธนา อัจฉริยวิญญู
เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนสิงหาคม 2554