เผยเบื้องหลังภารกิจช่วยชีวิต 13 หมูป่าในถ้ำหลวง กับนักดำน้ำในถ้ำ ริค สแตนตัน

เผยเบื้องหลังภารกิจช่วยชีวิต 13 หมูป่าในถ้ำหลวง กับนักดำน้ำในถ้ำ ริค สแตนตัน

“เราไม่มีแผนสอง” พบกับ ริค สแตนตัน ผ่านบทสัมภาษณ์โดยเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2561 นับเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเมื่อทีมนักฟุตบอลเยาวชนและผู้ช่วยผู้ฝึกสอนรวม 13 ชีวิตหายตัวไปในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แม้ทีมฟุตบอลจะหายตัวไม่ถึงเวลา 24 ชม. แต่ระดับน้ำในฤดูฝนที่กำลังไหลบ่าในถ้ำสร้างความกังวลถึงความปลอดภัยของผู้สูญหายทั้ง 13 ชีวิตให้หลายฝ่ายเป็นอย่างมาก

ทางการไทยได้รับข้อความจากนักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษท่านหนึ่ง ในข้อความกล่าวถึงชื่อของชาวอังกฤษสามท่าน ซึ่งมีชื่อว่าริค สแตนตัน (Rick Stanton) ร็อบ ฮาร์เปอร์ (Rob Harper) และจอห์น โวลันเธน (John Volanthen)

“They’re the world’s best cave divers, please contact them…Time is running out.”
[พวกเขาเป็นนักดำน้ำในถ้ำที่เก่งที่สุดในโลก โปรดรีบติดต่อพวกเขา เวลาเหลือน้อยลงทุกที]

“ริค สแตนตัน” นักดำน้ำในถ้ำชาวอังกฤษ ผู้นำภารกิจคนสำคัญในการกู้ภัยและค้นหาทีมนักฟุตบอลเยาวชนและครูผู้ช่วยผู้ฝึกสอน 13 ชีวิตในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ปี พ.ศ 2561 รูปภาพโดย LINH PHAM, GETTY IMAGES

ชาวอังกฤษทั้งสามมาถึงประเทศไทยภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง พวกเขาก็ได้เป็นส่วนสำคัญของภารกิจในครั้งนี้ อาสาสมัครหลายชีวิตและหลายหน่วยงานทำงานแข่งกับเวลาและเผชิญกับอุปสรรคมากมายเป็นเวลากว่าสองสัปดาห์ในระหว่างที่ทั่วโลกเฝ้าจับตา จนในที่สุด วันที่ 10 กรกฎาคม ทีมกู้ภัยสามารถช่วยเหลือนักฟุตบอลทั้ง 13 คนออกจากถ้ำหลวงได้อย่างปลอดภัย

คุณสแตนตัน อดีตนักดับเพลิงที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้นำปฏิบัติการครั้งนี้ ปัจจุบัน เขาใช้ชีวิตหลังเกษียณในวัย 60 ปี หลังภารกิจกู้ภัยที่ถ้ำหลวง คุณสแตนตันได้รับบทนำแสดงในสารคดีเรื่อง “The Rescue” ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และเขายังได้เขียนหนังสืออัตชีวประวัติชื่อว่า “Aquanaut: The Inside Story of the Thai Cave Rescue” อีกด้วย

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณสแตนตันเกี่ยวกับชีวิตของเขาทั้งก่อนและหลังภารกิจ สัมภาษณ์โดยคุณโจเอล บอร์น (Joel K. Bourne Jr.)

การสัมภาษณ์บางส่วนถูกตัดและแก้ไขตามความเหมาะสม

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก (โจเอล บอร์น): คุณเคยบอกว่าคุณชอบกิจกรรมว่ายน้ำมาตั้งแต่เด็ก

RS (ริค สแตนตัน): ผมสนใจกิจกรรมในน้ำมาตลอดและผมก็ว่ายน้ำเก่งด้วย ผมโตมาในช่วงยุค ค.ศ. 1960 กับ 1970 ซึ่งตอนนั้นสารคดีดำน้ำกับฌาคส์ กุสโต (The Undersea World of Jacques Cousteau) ยังมีฉายตามโทรทัศน์อยู่ และผมก็ใส่บูทยางมาทั้งชีวิตด้วย ใส่ไปตกปลา ใส่ตอนดับเพลิง ใส่ตอนสำรวจถ้ำ ขนาดราศีเกิดผมก็ยังเป็นราศีมีนด้วย ถ้าคุณเชื่อเรื่องพวกนั้นนะ

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก: คุณรู้จักการสำรวจถ้ำครั้งแรกในปี ค.ศ.1979 ตอนคุณดูสารคดีเรื่อง “The Underground Eiger” ที่นักสำรวจสามคนทำลายสถิติดำน้ำในถ้ำเมืองยอร์กเชอร์ อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้คุณหลงใหลการสำรวจถ้ำขึ้นมาครับ

RS: มันทำให้ผมอยู่ในสภาวะจดจ่อนะ ตอนนั้นผมก็รู้จักการปีนเขา แต่การดำน้ำมันดูตื่นเต้นกว่า ลงไปใต้ดินแล้วก็ลงไปใต้น้ำอีก มันเหมือนของดีหลายๆ อยู่รวมเป็นแพ็กเกจเดียวกัน ซึ่งผมชอบมาก

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก: ชมรมนักสำรวจถ้ำในมหาวิทยาลัยเหมือนจะเป็นบ้านอีกหลังของคุณเลยสินะครับ

RS: ใช่เลยครับ มันเหมือนบ้านอีกหลังหนึ่งของผม และสมาชิกในชมรมก็เป็นเหมือนครอบครัวของผมด้วย ธรรมชาติของการสำรวจถ้ำมันทำให้คุณต้องพึ่งพาคนอื่นซึ่งทำให้เราผูกพันกันมาก ขนาดว่าผ่านไป 42 ปีแล้ว สมาชิกหก-เจ็ดคนของเรายังอยู่พร้อมหน้ากันช่วงวันหยุดเดียวกับที่เด็กๆ เข้าไปหลงในถ้ำอยู่เลย

เหล่าทีมกู้ภัยฉุกเฉินรวมตัวกันหน้าถ้ำ ซึ่งการช่วยเหลือครั้งนี้เป็นความพยายามของรัฐบาลไทยและอาสาสมัครจากทั่วโลก
ภาพถ่ายโดย TASSANEE VEJPONGSA, ASSOCIATED PRESS

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก: สำหรับหลายคนการดำน้ำในถ้ำมืดๆ นี่นับเป็นฝันร้ายอย่างหนึ่งเลยนะ แต่ทำไมคุณถึงคิดว่ามันสนุกล่ะ

RS: คุณรู้ถึงความรู้สึกในสภาวะจดจ่อที่เราปล่อยวางทุกอย่างให้ใจมันอยู่กับช่วงเวลาหนึ่งรึเปล่า ผมว่าตอนดำน้ำในถ้ำเนี่ย ประสาทสัมผัสมันถูกจำกัดไว้หมด มองอะไรก็ไม่ชัด เสียงเดียวที่ได้ยินคือเสียงฟองน้ำเป็นเหมือนเสียงกล่อม ซึ่งคุณรู้สึกเพียงแค่นั้น

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก: ในเรื่อง The Rescue มีคนในทีมบอกว่าการดำน้ำเหมือนกับการลอยตัวในอวกาศ

RS: ฟังดูน่าทึ่งใช่มั้ยล่ะ คุณเคยฝันว่าอยากจะบินมั้ย การดำน้ำมันก็เหมือนแบบนั้นแหละ แบบที่ว่าคุณจะเคลื่อนไหวแบบสามมิติไปทางไหนก็ได้ ถ้ามีรูอยู่บนเพดานถ้ำคุณก็บินขึ้นไปบนนั้นได้ มันเหมือนลอยตัวกับชุดกระรอกบินในแบบสโลว์โมชั่นสุดๆ

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก: ก่อนที่คุณได้รับการติดต่อให้ไปช่วยเด็กๆ ที่ไทย คุณเป็นทั้งอาสากู้ภัยและกู้ศพติดถ้ำมาแล้วหลายครั้ง ครั้งหนึ่งคุณเคยต้องกู้ศพเพื่อนของคุณเองด้วย

RS: มีแค่นักสำรวจถ้ำเท่านั้นที่จะช่วยนักสำรวจถ้ำด้วยกันได้ มันไม่มีทีมกู้ภัยมืออาชีพ แม้แต่ในสหราชอาณาจักรเอง คุณต้องพึ่งคนที่มีประสบการณ์การดำน้ำและกู้ภัยในถ้ำเท่านั้น

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก: ทำไมกองกำลังพิเศษจากรอบโลกถึงไม่มีใครหาวิธีที่มันใช้ได้ผลเลย แต่ทีมนักดำน้ำวัยกลางคนจากอังกฤษถึงทำได้ล่ะ

RS: เป็นเพราะประสบการณ์ช่ำชองของพวกเราเอง และเรารู้ว่าพวกหนุ่มๆ ไม่มีทางว่ายน้ำออกมาเองได้ถ้าเราไม่ใช้ยาสลบ มันไม่เกี่ยวว่าคุณจะมีความกล้าหาญและมั่นใจแค่ไหนก่อนเอาหัวจุ่มน้ำ ไม่มีใครจะคุมสติตัวเองในสภาพนั้นได้นานถึงสองชั่วโมง มันเป็นไปไม่ได้

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก: ครั้งแรกที่ผมได้ยินแผนของคุณว่าเด็กๆ จะถูกให้ยาสลบกับถูกมัดเพื่อให้คุณและนักดำน้ำคนอื่นๆ ลำเลียงตัวพวกเขาออกมาได้ มันฟังดูน่ากลัวมาก ผมคิดว่าคนทั้งโลกก็กลัวเหมือนกัน แล้วมันมีอะไรมาดลใจให้คุณคิดแผนนั้นขึ้นมาล่ะ เป็นเพราะคนงานปั้มน้ำที่คุณดำน้ำพาเขาออกมาในวันแรกรึเปล่า

RS: ก็มีส่วนบ้าง คนงานปั้มก็ปัจจัยหนึ่ง อีกปัจจัยนึงมาจากตอนที่ผมกับเพื่อนสนิทคนหนึ่งกำลังซ้อมดำน้ำกู้ภัยในถ้ำ เพื่อนผมก็เป็นนักดำน้ำมีประสบการณ์คนหนึ่ง แต่เขาขอยกเลิกการซ้อมเพราะเขารู้สึกไม่ดีตอนมีคนคอยนำเขาอยู่ใต้น้ำ

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก: คุณหมอริชาร์ด แฮร์ริส นักดำน้ำและวิสัญญีแพทย์ชาวออสเตรเลียเคยบอกว่าแผนของคุณไม่มีทางสำเร็จแน่ กว่าจะเขาจะยอมร่วมมือก็ต้องโน้มน้าวกันสุดๆ

RS: ผมไม่เห็นว่ามันจะมีทางให้แผนนั้นล้มเหลว เราคิดแผนในการลำเลียงตัวไว้แล้วอย่างดี ทั้งเรื่องอากาศหายใจและเรื่องอื่นๆ ถ้าตอนนั้นคุณมีคำถามด้านความปลอดภัย ผมก็ตอบคุณได้ทันทีเลยว่าเราคิดไว้แล้วและนี่คือวิธีของเรา

นักดำน้ำช่วยนำเสบียงและของยังชีพอื่นๆ ไปให้ทีมผู้รอดชีวิตซึ่งอยู่ลึกในถ้ำถึง 3 กิโลเมตรระหว่างที่หลายฝ่ายกำลังวางแผนนำตัวพวกเขาออกจากถ้ำ รูปภาพโดย ROYAL THAI NAVY FACEBOOK PAGE VIA AP

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก: แต่มันไม่มีแผนสำรองอื่นแล้วเหรอครับ

RS: มันไม่มีคำว่าแผนสำรอง

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก: ทหารไทยเสนอว่าควรให้เด็กๆ รออยู่ในนั้นจนกว่าจะหมดฤดูฝนก่อน

RS: นั่นไม่มีทางทำได้ เพราะเรากักตุนอาหารไว้ในนั้นได้ไม่พอ ถ้าน้ำเต็มถ้ำคุณไม่สามารถดำน้ำนำเด็กออกมาได้ ต่อให้มีเชือกนำทางขึงไว้ คุณก็ดึงตัวเองตามเชือกในน้ำไม่ได้ ถึงจะรอสามสี่เดือนให้ฤดูฝนผ่านไปแต่น้ำก็ยังขังในถ้ำอยู่ดี

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก: แล้วยังมีเรื่องที่ก๊าซ CO2 เพิ่มสูงขึ้น ก๊าซออกซิเจนเริ่มลดน้อยลง จนเด็กบางคนเริ่มมีอาการติดเชื้อในปอดอีก

RS: ไม่มีทางที่การรอจะใช้ได้ผล มันไม่ใช่แค่การคาดการณ์ของผมด้วย แต่ถ้าเรารอ เด็กๆ ต้องตายอย่างแน่นอน

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก: หลังจากทุกอย่างจบลง ช่วงเกษียณของคุณก็ไม่เงียบสงบเหมือนเดิมอีก

RS: ผมเคยพูดเล่นๆ อยู่ว่าวัยเกษียณของผมกำลังไปได้ดีเลย จนกระทั่งเด็กพวกนี้ทำตัววุ่นวาย ส่วนตัวผมเอง ผมว่ามันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรในตัวผม แต่ที่แน่ๆ มันเปลี่ยนตัวตนบนโลกนี้ของผมไป โอกาสหลายอย่างก็เข้ามา ปีที่แล้วผมไปอยู่กองถ่ายในออสเตรเลียมาตั้งสองเดือนครึ่ง มีคุณ Ron Howard คุณ Viggo Mortensen กับคุณ Colin Farrell ด้วย

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก: เราจะเรียนรู้อะไรจากปฏิบัติการกู้ภัยในถ้ำครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งนี้ได้บ้างครับ

RS: การทำงานร่วมกันทำให้เกิดผลสำเร็จ และการไว้ใจผู้เชี่ยวชาญก็ด้วย ซึ่งใช้ได้ในกรณีอื่นเหมือนกัน อย่างเรื่องไวรัสโคโรนาเนี่ย ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องระบาดวิทยาเลย คนทั่วไปก็ด้วย แต่บางครั้งคุณก็ต้องเชื่อใจคนอื่นบ้าง

เรื่องโดย JOEL K. BOURNE, JR.

แปลจาก Inside the risky cave dive that rescued a Thai soccer team โดย นิธิพงศ์ คงปล้อง

โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม ปฏิบัติการช่วย “13 หมูป่า” สามสัปดาห์ในโลกที่เคยเป็นไปไม่ได้

Recommend