ในทะเลปั่นป่วนนอกชายฝั่ง แอฟริกา ตะวันตก การออกเรือหาปลาหาใช่เพียงงานของผู้กล้า หากยังเป็นจารีตที่ก่อร่างสร้างชุมชนน้อยใหญ่ตามแนวชายฝั่งและความเคารพในธรรมชาติของพวกเขา
ตลอดแนวชายฝั่งนี้ของเราไม่มีสิ่งใดแปลกประหลาด
หากคุณตื่นเช้าพอจะเจอบรรดาเรือแคนูตอนกลับเข้าฝั่งในเมืองปอร์บูเอ ประเทศโกตดิวัวร์ เมืองอึนเกลชี ประเทศกานา เมืองโอลด์เจสวาง ประเทศแกมเบีย เมืองกรองโปโป ประเทศเบนิน เมืองอาแปม ประเทศกานา คุณจะได้ยินเหล่าชาวประมงพูดภาษาแฟนตี ภาษากา ภาษาเอียเว หรือทุกภาษาที่พูดกันในกานา
ตอนที่พวกหนุ่มๆ ลงจากเรือและมองเห็นหน้าค่าตา พวกเขาได้ในแสงอาทิตย์อุทัย ขณะลากอวนขึ้นฝั่ง เสียงขับขานของพวกเขายิ่งดังขึ้น “เอบัย เอบาเกโล มาแล้วมาได้ปลามาเพียบ” อวนแต่ละปากที่มาถึงหนักอึ้งด้วยสินทรัพย์จากทะเลลึก
ปลาที่จับมาได้ไม่เคยเหมือนเดิม จริงอยู่ที่มีพวกปลาเศรษฐกิจซึ่งคุ้นเคยกันดี เช่น ปลากระพงแดง ปลาเก๋า ปลาทูน่า ปลาแมกเคอเรล และปลาคปันลา (ภาษากา ใช้เรียกวงศ์ปลาเฮก) แต่ที่ไม่เคยขาดคือพวกที่เป็นที่หมายปองและหายากอย่างเครย์ฟิช ปลาไหล ปลากระเบน และชนิดพันธุ์อื่นๆ ที่มาในสารพัดรูปร่างและขนาด ทั้งที่มีกระดูกและไม่มีกระดูก
ชนเผ่ากา ซึ่งเป็นเผ่าของผม ไม่กลัวสิ่งที่พวกเขาไม่รู้จัก คำกล่าวที่ว่า “อาเบลคูมา อาบาคูมาวอ์– ขอคนแปลกถิ่น จงพบที่พักพิงในหมู่พวกเรา” เป็นปรัชญารากฐานประการหนึ่งในวัฒนธรรมของเรา ซึ่งช่วยอธิบายว่าเพราะเหตุใดชื่อสกุลพาร์กส์แบบยุโรปของผม ซึ่งนำเข้าโดยคุณปู่ชาวเซียร์ราลีโอนเชื้อสายจาเมกาผู้หนึ่ง จึงนับรวมเป็นชื่อสกุลของเผ่ากา
แต่ในหมู่ครอบครัวชาวประมงด้วยกัน ชาวกานานั้นนับว่าแตกต่างไม่เหมือนใคร เมื่อปี 1963 นิตยสาร เวสต์ แอฟริกา ซึ่งปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว เรียกชาวกานาว่า “ชาวประมงแห่งแอฟริกาทั้งมวล” เพราะพวกเขาท่องไปทั่วเจ็ดย่านนํ้า ตั้งแต่ไนจีเรียถึงเซเนกัล
ความที่เติบโตมากับท้องทะเลที่ขึ้นชื่อว่าปั่นป่วนที่สุดแห่งหนึ่งของแนวชายฝั่งดังกล่าว เหล่าชาวประมงที่พูดภาษา แฟนตีจากทางตะวันตกและตอนกลางของกานา ไม่เพียงเป็นนักว่ายนํ้าทะเลที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก แต่ยังเชี่ยวชาญการพายเรือแคนูชนิดหาตัวจับยากด้วย
แม้แต่ในหมู่ชาวกาด้วยกันเอง กลุ่มชาวประมงผู้เป็นที่นับหน้าถือตามากที่สุด หรือเหล่าโวลาเซ ก็มักมาจากอากุตโซ หรือเครือข่ายตระกูลอาบีซี-แฟนตี ซึ่งเป็นกลุ่มชนเผ่าแฟนตีที่แปลงสัญชาติเป็นชาวกา การเปลี่ยนอัตลักษณ์จากชาวแฟนตีเป็นชาวกาอย่างง่ายดายเช่นนี้มีรากฐานมาจากค่านิยมร่วมที่ผูกโยงกับความมุ่งมาดที่จะธำรงไว้ซึ่งวิถีความเป็นอยู่ของตน ชนทั้งสองเผ่าไม่ออกไปจับปลาในทะเลในวันอังคาร หรือในแหล่งนํ้าจืดในวันพฤหัสบดี นี่คือข้อห้าม การหยุดพักเป็นประจำทุกสัปดาห์นี้จึงเปิดโอกาสให้เหล่าวิญญาณแห่งท้องนํ้าได้เพิ่มพูนปลาให้สมบูรณ์อันเป็นการกระทำจากความใฝ่ใจในทางอนุรักษ์ซึ่งหยั่งรากในัฒนธรรมและประเพณี
พูดให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นก็คือ ความคิดเชิงอนุรักษ์คือ ตัวกำหนดขอบเขตของทักษะต่างๆ ที่ชุมชนชาวประมงกานาเรียนรู้ ชาวประมงจำนวนมากเป็นเกษตรกรนอกเวลา พวกเขาจะหวนกลับมาทำงานบนบกปีละครั้งหรือสองครั้ง เมื่อเหล่าสัตว์นํ้ามีความอุดมสมบูรณ์น้อยลง
ชาวประมงที่เหลือจะลอกเลียนรูปแบบการอพยพของสัตว์นํ้าชนิดพันธุ์หลักที่บริโภคกันในย่านที่พวกเขาอาศัยอยู่หรือย้ายไปบริเวณที่จะพบปลาชนิดอื่นแทน
ปลาที่มีให้จับไม่ขาดมือนี้ยังหล่อหลอมให้เกิดความเชี่ยวชาญด้านการถนอมอาหารและรมควัน ตลอดแนวชายฝั่ง ปลารมควันที่สำรองไว้มากพอช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะมีโปรตีนหลักจากอาหารเพียงพอเสมอไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลใด
ความจริงที่ว่า นานๆ ครั้งจะมีผู้สูญหายไปในทะเลบ้าง และการไม่อาจคาดเดาได้ของปริมาณปลาที่จับได้ หมายความว่า ครอบครัวชาวประมงผูกความฝันของตนไว้กับความผกผันของโชคชะตา
ชาวประมงจะนำนํ้าพักนํ้าแรงสีเงินยวงของตนมาให้พวกผู้หญิงในหมู่บ้าน พวกผู้หญิงจะขายพวกมัน และเอากำไรมาเล่นแร่แปรธาตุด้วยการแลกเปลี่ยนค้าขาย การทำไร่ และให้การศึกษากับเด็กๆ ที่วิ่งเล่นตามชายหาด
แม้เมื่อพวกผู้ชายไม่หวนกลับมา พวกเขายังทิ้งบางสิ่งไว้เบื้องหลัง
ลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งของผมที่ใช้ชื่อ ไอย์เคว เหมือนผม เป็นคนหนึ่งที่ไม่หวนกลับมา เมื่อปี 1992 ตอนที่ผมออกเดินทางไปอาศัยอยู่นอกเมืองหลวงอักกรา ที่เขตตูลอนซึ่งอยู่ไกลออกไปเกือบ 650 กิโลเมตรทางตอนเหนือของกานา เขาบอกสิ่งหนึ่งกับผมซึ่งผมจดจำไว้เสมอ นายไม่มีอะไรต้องกังวล พวกเราเป็นชาวเผ่ากา เมื่อมีท้องทะเลเกื้อหนุนเราอยู่ไม่มีอะไรที่เราต้องกลัว
ไม่ว่าผมจะเดินทางอยู่หนใด ในท่ามกลางความแปลกแยก ผมจะหลับตาลง และเงี่ยหูสดับฟังเสียงนํ้า
ความเรียง นีไอย์ เควพาร์กส์
ภาพถ่าย เดอนี ไดเยอ
ติดตามสารคดี ทะเลเปรียบดังลมหายใจเรา ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกรกฎาคม 2565
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/549797