ศิลปะร่วมสมัยจากศิลปินชั้นนำทั่วโลก กับการมุ่งผลักดันกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครแห่งศิลปวัฒนธรรมของโลก
โลกในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา สอนอะไรให้กับพวกเราบ้าง? ภายใต้ความวุ่นวายจากวิกฤตการณ์ที่รายล้อมผู้คนทั่วโลก ความนิ่งสงบยังคงเป็นขั้วตรงข้ามที่อยู่ในภายในจิตใจ ถึงแม้สองคำจะดูขัดแย้งกันด้วยความหมาย หากแต่ทั้งสองสิ่งกลับปรากฏอยู่ในชีวิตของทุกคนเสมอมา
จากแนวคิดของความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจครั้งนี้ ส่งทอดต่อมาสู่การเป็นแนวความคิดหลักของงาน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ภายใต้ธีม Chaos : Calm โกลาหล : สงบสุข โดยมีแก่นของแนวคิดคือ การค้นพบความสงบสุขท่ามกลางความวุ่นวาย เพื่เปิดโอกาสและปูทางนำไปสู่ความรู้ใหม่ๆ
Chaos : Calm โกลาหล : สงบสุข
ในส่วนของงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ หรือ BAB ในปี 2020 ที่ผ่านมา ถึงแม้จะอยู่ในช่วงการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ที่หลากหลายวงการกำลังสับสนวุ่นวาย และต้องเตรียมการรับมือในแบบฉุกเฉิน หากแต่ครั้งนั้น งาน BAB2020 นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมศิลปะระดับนานาชาติที่ยังคงยืนหยัดจัดงานตามกำหนด
ด้วยแนวความคิด ‘ศิลป์สร้าง ทางสุข’ งานครั้งนั้นจึงต้องการให้เป็นความสุขของผู้คนในช่วงระหว่างอุปสรรคที่หลากหลายทั้งระดับบุคคล สังคม และโลกกว้าง แม้จะออกเดินทางได้จำกัดบนพื้นที่จริงในช่วงมาตรการกึ่งล็อคดาวน์ แต่ผู้ชมงานกว่า 400,000 คนก็ได้รับชมงานในสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ รวมทั้งการเปิดให้ได้สัมผัสประสบการณ์ในโลกเสมือนจริงและทางออนไลน์ ซึ่งต้อนรับผู้คนได้ถึง 2.3 ล้านคนจากทั่วทุกมุมโลก
จากบทเรียนในครั้งการระบาด เป็นความทรงจำของพวกเราทุกคน นี่จึงกลายมาเป็นโจทย์ที่ศิลปินได้รับสำหรับการถ่ายทอดในงาน BAB2022 ภายใต้แนวคิด ‘Chaos : Calm โกลาหล : สงบสุข’ ซึ่งความท้าทายอยู่ที่การตีความผ่านความถนัด ประสบการณ์ ความรู้สึกนึกคิด และทั้งหมดนี้เองจะช่วยเตือนใจให้พวกเราทุกคนมองเห็นสิ่งที่มนุษยชาติกำลังประสบอยู่จากทั่วสารทิศ ทั้งเรื่องทางสิ่งแวดล้อม สังคม สงคราม ความเสื่อมโทรม ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันเอง
แต่ท่ามกลางความสับสน โลกยังคงมีความหวังอยู่เสมอ ถึงแม้กาลเวลาไม่อาจเรียกเอาความสูญเสียและเสื่อมสลายกลับมาให้เหมือนดังเดิมได้ หากแต่การค้นพบความสงบท่ามกลางวิถีอันแสนโกลาหล ผ่านการชมงานศิลปะ สัมผัสประสบการณ์ผ่านชิ้นงาน คิดและรู้สึกตามไปกับผลงาน อาจเป็นการเรียกสติให้กลับมาไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งอีกครั้ง มองเห็นคุณค่าของตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และมองทรรศนะของโลกในมุมมองที่กว้างออกไปกว่าเดิม
การรวมตัวของศิลปินชั้นนำระดับโลก และศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรง
ความพิเศษของเทศกาลศิลปะร่วมสมัย คือการโคจรมาพบกัน ตั้งแต่ศิลปินระดับโลกผู้สร้างผลงานที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมอยู่เสมอ ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานในบริบทของชุมชนและสังคมรอบกาย ไปจนถึงการค้นพบดาวดวงใหม่ที่น่าติดตามว่าจะขับเคลื่อนวงการศิลปะร่วมสมัยไปข้างหน้าในทิศทางของเขาเองได้อย่างไรบ้าง
ศิลปินเจ้าประจำของงาน มารีน่า อบราโมวิช ยังคงอยู่ร่วมกับงานเทศกาลครั้งนี้ตั้งแต่เริ่มต้นยาวนานจนถึงครั้งที่ 3 นี้ เรามักเห็นมุมมองของเธอที่สื่อสารถึงความโกลาหลและสงบสุขผ่านสีหน้าท่าทางของเธอได้อย่างชัดเจน จึงนับเป็นความตื่นเต้นที่ผู้ชมจะได้ติดตามผลงานของเธอในยุคที่ทั้งสองหัวเรื่องโคจรมาพบกันแบบสุดขีดเช่นนี้
รวมทั้งศิลปินจากทั่วทุกมุมโลก ต่างแขนง ต่างวัย ต่างประสบการณ์ที่จะมาถ่ายทอดประสบการณ์ของธีมครั้งนี้ เช่น อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ ศิลปินสหวิทยาการและนักเคลื่อนไหวในแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา กับการจัดแสดงงานครั้งแรกของเธอในประเทศไทย ผ่านผลงานศิลปะที่เฉลิมฉลองภาวะไม่จำยอมของกลุ่มคนชาวเอเชียอเมริกัน และชาวเกาะแปซิฟิก (AAPI) หรือ อัลวิน รีอามิลโล ศิลปินชาวฟิลิปปินส์ กับงานศิลปะการมีส่วนร่วม ‘ประติมากรรมสังคม’ ที่สนองตอบต่อบริบทและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหลังจากการเคลื่อนย้ายข้ามผ่านระหว่างวัฒนธรรม เช่นเดียวกับเขาที่ย้ายไปอยู่ออสเตรเลีย
หรือจะเป็นศิลปินที่เคยร่วมเป็นหนึ่งในทีม Facilitator ในงาน Abramović Method Exhibition ในเทศกาลศิลปะนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ซึ่งหล่อหลอมให้เธอสนใจกับการตั้งคำถามกับสังคม และถ่ายทอดออกมาผ่านศิลปะการแสดงสดที่มักทำการแสดงตามพื้นที่ที่มีจุดขัดแย้งหรือการปะทะของอำนาจที่แตกต่างกันในประเทศไทย
เทศกาลศิลปะที่ปลุกชีวิตชีวาของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
ในฐานะกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่มีความหลากหลายที่สืบสานผ่านกาลเวลา ยุคสมัย และวัฒนธรรม บนพื้นที่ของเมืองที่ประกอบรวมทั้งโบราณสถาน วัดวาอาราม ชุมชนเก่าแก่ แกลเลอรี่ศิลปะ และกลุ่มก้อนศิลปินผู้รังสรรค์ผลงาน จึงนับว่าเป็นเมืองที่มีศักยภาพสำคัญในการเป็นศูนย์กลางทางศิลปะของประเทศและโลก
ศาตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ในนามประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 เล่าถึงวิสัยทัศน์ของการจัดงาน ที่นับเป็นการปลุกเมืองผ่านการจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยกว่า 200 ผลงาน บนสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร จากศิลปินจำนวน 73 ท่าน 35 สัญชาติ
“ผลงานศิลปะร่วมสมัยทั้งหมดจะจัดแสดงตามสถานที่สำคัญต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ในกรุงเทพมหานคร 12 แห่ง ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้, ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, สามย่านมิตรทาวน์, เดอะ ปาร์ค, เดอะพรีลูด วันแบงค็อก, JWD Art Space และบนพื้นที่เสมือนจริง BAB Virtual Venue”
นอกจากโอกาสสำหรับทั้งศิลปินและผู้ชมแล้ว ยังเป็นโอกาสสำหรับบุคคลผู้สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการจัดงาน ผ่านโครงการ ‘DEK BAB’ ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนอาสาตั้งแต่ระดับนิสิตนักศึกษา จนถึงบุคคลทั่วไป ได้เข้าร่วมทำงานกับศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศ ในการเป็นผู้ช่วยติดตั้งงานศิลปะ (Artist Crew), ผู้ติดตามศิลปิน (Liaison) และผู้นำชมและดูแลชิ้นงาน (Docent) รวมถึงร่วมเวิร์คช็อปและอบรมโดยทีมงานภัณฑารักษ์และกูรูด้านศิลปวัฒนธรรมที่มีประสบการณ์การจัดงานศิลปะในระดับโลก
งานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2565 ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2566 “โดยตลอดระยะเวลาของการจัดงานต่อเนื่อง 4 เดือนในครั้งนี้ เราคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว นักสะสมงานศิลปะ ภัณฑารักษ์ ศิลปิน และคนในวงการศิลปะทั่วโลก เข้าร่วมชมงานเป็นจำนวนมาก นับเป็นการกระตุ้นและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยได้อย่างมหาศาล พร้อมกันนี้ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี และเป็นการยกระดับการจัดงานศิลปะในไทย สนับสนุนศิลปินไทยให้อยู่ในกระแสของศิลปะระดับโลกอีกด้วย”