CHAOS : CALM โกลาหล : สงบสุข ธีมครั้งใหม่ของ Bangkok Art Biennale 2022

CHAOS : CALM โกลาหล : สงบสุข ธีมครั้งใหม่ของ Bangkok Art Biennale 2022

ศิลปะร่วมสมัยจากศิลปินชั้นนำทั่วโลก กับการมุ่งผลักดันกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครแห่งศิลปวัฒนธรรมของโลก

โลกในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา สอนอะไรให้กับพวกเราบ้าง? ภายใต้ความวุ่นวายจากวิกฤตการณ์ที่รายล้อมผู้คนทั่วโลก ความนิ่งสงบยังคงเป็นขั้วตรงข้ามที่อยู่ในภายในจิตใจ ถึงแม้สองคำจะดูขัดแย้งกันด้วยความหมาย หากแต่ทั้งสองสิ่งกลับปรากฏอยู่ในชีวิตของทุกคนเสมอมา

จากแนวคิดของความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจครั้งนี้ ส่งทอดต่อมาสู่การเป็นแนวความคิดหลักของงาน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ภายใต้ธีม Chaos : Calm โกลาหล : สงบสุข โดยมีแก่นของแนวคิดคือ การค้นพบความสงบสุขท่ามกลางความวุ่นวาย เพื่เปิดโอกาสและปูทางนำไปสู่ความรู้ใหม่ๆ

Chaos : Calm โกลาหล : สงบสุข

ในส่วนของงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ หรือ BAB ในปี 2020 ที่ผ่านมา ถึงแม้จะอยู่ในช่วงการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ที่หลากหลายวงการกำลังสับสนวุ่นวาย และต้องเตรียมการรับมือในแบบฉุกเฉิน หากแต่ครั้งนั้น งาน BAB2020 นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมศิลปะระดับนานาชาติที่ยังคงยืนหยัดจัดงานตามกำหนด

ด้วยแนวความคิด ‘ศิลป์สร้าง ทางสุข’ งานครั้งนั้นจึงต้องการให้เป็นความสุขของผู้คนในช่วงระหว่างอุปสรรคที่หลากหลายทั้งระดับบุคคล สังคม และโลกกว้าง แม้จะออกเดินทางได้จำกัดบนพื้นที่จริงในช่วงมาตรการกึ่งล็อคดาวน์ แต่ผู้ชมงานกว่า 400,000 คนก็ได้รับชมงานในสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ รวมทั้งการเปิดให้ได้สัมผัสประสบการณ์ในโลกเสมือนจริงและทางออนไลน์ ซึ่งต้อนรับผู้คนได้ถึง 2.3 ล้านคนจากทั่วทุกมุมโลก

จากบทเรียนในครั้งการระบาด เป็นความทรงจำของพวกเราทุกคน นี่จึงกลายมาเป็นโจทย์ที่ศิลปินได้รับสำหรับการถ่ายทอดในงาน BAB2022 ภายใต้แนวคิด ‘Chaos : Calm โกลาหล : สงบสุข’ ซึ่งความท้าทายอยู่ที่การตีความผ่านความถนัด ประสบการณ์ ความรู้สึกนึกคิด และทั้งหมดนี้เองจะช่วยเตือนใจให้พวกเราทุกคนมองเห็นสิ่งที่มนุษยชาติกำลังประสบอยู่จากทั่วสารทิศ ทั้งเรื่องทางสิ่งแวดล้อม สังคม สงคราม ความเสื่อมโทรม ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันเอง

แต่ท่ามกลางความสับสน โลกยังคงมีความหวังอยู่เสมอ ถึงแม้กาลเวลาไม่อาจเรียกเอาความสูญเสียและเสื่อมสลายกลับมาให้เหมือนดังเดิมได้ หากแต่การค้นพบความสงบท่ามกลางวิถีอันแสนโกลาหล ผ่านการชมงานศิลปะ สัมผัสประสบการณ์ผ่านชิ้นงาน คิดและรู้สึกตามไปกับผลงาน อาจเป็นการเรียกสติให้กลับมาไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งอีกครั้ง มองเห็นคุณค่าของตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และมองทรรศนะของโลกในมุมมองที่กว้างออกไปกว่าเดิม

การรวมตัวของศิลปินชั้นนำระดับโลก และศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรง

ความพิเศษของเทศกาลศิลปะร่วมสมัย คือการโคจรมาพบกัน ตั้งแต่ศิลปินระดับโลกผู้สร้างผลงานที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมอยู่เสมอ ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานในบริบทของชุมชนและสังคมรอบกาย ไปจนถึงการค้นพบดาวดวงใหม่ที่น่าติดตามว่าจะขับเคลื่อนวงการศิลปะร่วมสมัยไปข้างหน้าในทิศทางของเขาเองได้อย่างไรบ้าง

Marina Abramović Artist Portrait with a Candle (C) from the series Places of Power Fine art pigment print Brazil, 2013 © Marina Abramović Courtesy of the Marina Abramović Archives

ศิลปินเจ้าประจำของงาน มารีน่า อบราโมวิช ยังคงอยู่ร่วมกับงานเทศกาลครั้งนี้ตั้งแต่เริ่มต้นยาวนานจนถึงครั้งที่ 3 นี้ เรามักเห็นมุมมองของเธอที่สื่อสารถึงความโกลาหลและสงบสุขผ่านสีหน้าท่าทางของเธอได้อย่างชัดเจน จึงนับเป็นความตื่นเต้นที่ผู้ชมจะได้ติดตามผลงานของเธอในยุคที่ทั้งสองหัวเรื่องโคจรมาพบกันแบบสุดขีดเช่นนี้

รวมทั้งศิลปินจากทั่วทุกมุมโลก ต่างแขนง ต่างวัย ต่างประสบการณ์ที่จะมาถ่ายทอดประสบการณ์ของธีมครั้งนี้ เช่น อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ ศิลปินสหวิทยาการและนักเคลื่อนไหวในแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา กับการจัดแสดงงานครั้งแรกของเธอในประเทศไทย ผ่านผลงานศิลปะที่เฉลิมฉลองภาวะไม่จำยอมของกลุ่มคนชาวเอเชียอเมริกัน และชาวเกาะแปซิฟิก (AAPI) หรือ อัลวิน รีอามิลโล ศิลปินชาวฟิลิปปินส์ กับงานศิลปะการมีส่วนร่วม ‘ประติมากรรมสังคม’ ที่สนองตอบต่อบริบทและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหลังจากการเคลื่อนย้ายข้ามผ่านระหว่างวัฒนธรรม เช่นเดียวกับเขาที่ย้ายไปอยู่ออสเตรเลีย

(Alwin Reamillo Piano Apotekariya (TipakLong March), 2019 Mixed Media + Objects on Found Player Piano (ca 1930) Courtesy of the artist)
(Amanda Phingbodhipakkiya We Are More, 2021 15′ x 25′ Digital displays Installation view. Times Square, New York, US Credit: Maria Baranova)

หรือจะเป็นศิลปินที่เคยร่วมเป็นหนึ่งในทีม Facilitator ในงาน Abramović Method Exhibition ในเทศกาลศิลปะนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ซึ่งหล่อหลอมให้เธอสนใจกับการตั้งคำถามกับสังคม และถ่ายทอดออกมาผ่านศิลปะการแสดงสดที่มักทำการแสดงตามพื้นที่ที่มีจุดขัดแย้งหรือการปะทะของอำนาจที่แตกต่างกันในประเทศไทย

เทศกาลศิลปะที่ปลุกชีวิตชีวาของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

จากซ้าย : ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่, คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Bangkok Art Biennale และคุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ในฐานะกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่มีความหลากหลายที่สืบสานผ่านกาลเวลา ยุคสมัย และวัฒนธรรม บนพื้นที่ของเมืองที่ประกอบรวมทั้งโบราณสถาน วัดวาอาราม ชุมชนเก่าแก่ แกลเลอรี่ศิลปะ และกลุ่มก้อนศิลปินผู้รังสรรค์ผลงาน จึงนับว่าเป็นเมืองที่มีศักยภาพสำคัญในการเป็นศูนย์กลางทางศิลปะของประเทศและโลก

ศาตราจารย์ ดร. อภินันท์​ โปษยานนท์ ในนามประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 เล่าถึงวิสัยทัศน์ของการจัดงาน ที่นับเป็นการปลุกเมืองผ่านการจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยกว่า 200 ผลงาน บนสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร จากศิลปินจำนวน 73 ท่าน 35 สัญชาติ

“ผลงานศิลปะร่วมสมัยทั้งหมดจะจัดแสดงตามสถานที่สำคัญต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ในกรุงเทพมหานคร 12 แห่ง ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร,  หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้, ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, สามย่านมิตรทาวน์, เดอะ ปาร์ค, เดอะพรีลูด วันแบงค็อก, JWD Art Space และบนพื้นที่เสมือนจริง BAB Virtual Venue”

Montien Boonma Zodiac Houses, 1998-1999. Metal, herbal medicine, wood, cellophane, and transparency sheet. Size variable. Installation view at the Bangkok Art Biennale 2018

นอกจากโอกาสสำหรับทั้งศิลปินและผู้ชมแล้ว ยังเป็นโอกาสสำหรับบุคคลผู้สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการจัดงาน ผ่านโครงการ ‘DEK BAB’ ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนอาสาตั้งแต่ระดับนิสิตนักศึกษา จนถึงบุคคลทั่วไป ได้เข้าร่วมทำงานกับศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศ ในการเป็นผู้ช่วยติดตั้งงานศิลปะ (Artist Crew), ผู้ติดตามศิลปิน (Liaison) และผู้นำชมและดูแลชิ้นงาน (Docent) รวมถึงร่วมเวิร์คช็อปและอบรมโดยทีมงานภัณฑารักษ์และกูรูด้านศิลปวัฒนธรรมที่มีประสบการณ์การจัดงานศิลปะในระดับโลก

งานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2565 ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2566 “โดยตลอดระยะเวลาของการจัดงานต่อเนื่อง 4 เดือนในครั้งนี้ เราคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว นักสะสมงานศิลปะ ภัณฑารักษ์ ศิลปิน และคนในวงการศิลปะทั่วโลก เข้าร่วมชมงานเป็นจำนวนมาก นับเป็นการกระตุ้นและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยได้อย่างมหาศาล พร้อมกันนี้ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี และเป็นการยกระดับการจัดงานศิลปะในไทย สนับสนุนศิลปินไทยให้อยู่ในกระแสของศิลปะระดับโลกอีกด้วย”

Recommend