ซาก มัมมี่ สุดหลอน แหล่งท่องเที่ยวแห่งเม็กซิโก และการถกเถียงเรื่องดูศพมนุษย์

ซาก มัมมี่ สุดหลอน แหล่งท่องเที่ยวแห่งเม็กซิโก และการถกเถียงเรื่องดูศพมนุษย์

เหล่า มัมมี่ ในกัวนาฮัวโตกลายเป็นประเด็นร้อนเรื่องการจัดแสดงศพมนุษย์ มีทั้งผู้ที่อยากใช้ประโยชน์จากมัมมี่ และผู้ที่อยากอนุรักษ์ไว้

ยูเนสโกประกาศให้เมืองกัวนาฮัวโตของเม็กซิโกอยู่ในรายชื่อแหล่งมรดกโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 จากสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคมสเปน มีประวัติศาสตร์เหมืองแร่เงิน และสิ่งปลูกสร้างที่สะท้อนถึงการปฏิวัติเม็กซิโก ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์แบบบาโรก ถนนสายแคบที่ปูด้วยหินก้อนกลม และการทาบ้านสีลูกกวาด ทว่า แหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในใจกลางเมืองกลับเป็นด้านมืดที่น่าสยดสยองเกินกว่าจะเป็นเป็นแหล่งมรดกโลก นั่นคือ พิพิธภัณฑ์ใต้ดินที่รวมมัมมี่กว่าหนึ่งร้อยร่าง

ศพชายปากเปิดอ้า ศพทารกผิวหนังหยาบย่น และศพลักษณะอื่น ๆ ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวมากกว่าร้อยปี ช่วงแรกนักท่องเที่ยวจ่ายเงินไม่กี่เปโซเพื่อดูมัมมี่ในห้องใต้ดินของโบสถ์ที่ใช้ฝังศพ และตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 เป็นต้นมา พิพิธภัณฑ์ก็จัดแสดงมัมมี่ใต้แสงไฟที่ชวนหลอน

นักวิชาการหลายคนชี้ว่าการจัดแสดงมัมมี่ในลักษณะยืนอาจทำให้มัมมี่เสียหาย ภาพถ่าย โรเบิร์ต ฮาร์ดิง, ALAMY STOCK PHOTOS

มัมมี่เหล่านี้เป็นแหล่งรายได้และความภาคภูมิใจของชนพื้นถิ่นนี้ ฮวน มานูเอล อาร์กูเอลเลส ซาน มิยัน นักมานุษยวิทยาชาวเม็กซิกันกล่าวว่า “นอกเหนือรายได้จากภาษีทรัพย์สินแล้ว ก็มีมัมมี่นี่แหละที่ให้รายได้ทางเศรษฐกิจมหาศาลแก่เทศบาลเมืองกัวนาฮัวโต” “ยากที่จะพูดว่ามัมมี่สำคัญมากขนาดไหน”

มัมมี่เหล่านี้เป็นประเด็นที่คนต่างถกเถียง ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจากต่างวัฒนธรรมที่ไม่เข้าใจว่าทำไมหนึ่งในเมืองที่สวยที่สุดของเม็กซิโกถึงจัดแสดงซากศพ หรือนักวิชาการบางคนคิดว่าทางพิพิธภัณฑ์ไม่ได้เก็บมัมมี่พวกนี้เป็นอย่างดี และอาจติดป้ายชื่อแบบขอไปที  ช่วงก่อนหน้านี้ โครงการสร้างพิพิธภัณฑ์มัมมี่แห่งใหม่ให้ทันสมัยขึ้นเพิ่งถูกยกเลิกไปหลังจากที่นักวิชาการและตัวแทนยูเนสโกไม่อนุมัติให้ชั้นบนของพิพิธภัณฑ์มีห้างสรรพสินค้าตั้งอยู่

แผนที่เมืองกัวนาฮัวโต ประเทศเม็กซิโก

ประเด็นนี้นำไปสู่การปรับปรุงและหันกลับมาให้ความสำคัญกับมัมมี่ที่เปราะบางเหล่านี้ ด้วยการสืบหาตัวตนของมัมมี่ที่ไม่มีการระบุชื่อ ซึ่งอยู่ภายใต้งานวิจัยของสถาบันมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์แห่งชาติเม็กซิโก (National Institute of Anthropology and History-INAH) นำทีมโดยซาน มิยัน  ศิลปินท้องถิ่นอย่าง ไมเคิล เจมส์ ไรท์บอกว่า “โครงการพวกนี้จะช่วยกอบกู้เกียรติของผู้ตาย และเปลี่ยนมัมมี่ให้เป็นแหล่งข้อมูลทางการศึกษา ดีกว่าการเอามัมมี่ไปจัดแสดงแบบภาพนิ่ง”

เรามาดูกันว่ามัมมี่และพิพิธภัณฑ์มัมมี่เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และทำไมถึงเรียกความสนใจให้คนหลั่งไหลไปกัวนาฮัวโต

ความเชื่อเรื่องมัมมี่เกิดขึ้นได้อย่างไร

พิพิธภัณฑ์มัมมี่ตั้งอยู่ในแถบชานเมืองของกัวนาฮัวโต เมืองศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์ที่โดดเด่น เป็นสถานที่แรก ๆ ที่นักท่องเที่ยวมักจะมาเยือน จนเกิดประโยคติดตลกในหมู่ชาวเม็กซิกันที่มุ่งหน้าไปเมืองกัวนาฮัวโตว่า “ฉันจะไปดูป้า ๆ ล่ะ”

ภาพหลักฐานในปี ค.ศ. 1911 เมื่อครอบครัวที่ไม่ได้จ่ายภาษีฝังศพ มัมมี่เหล่านี้จึงถูกขุดขึ้นมาจัดแสดง ในระยะแรกจัดแสดง ณ ห้องฝังศพใต้สุสานเมือง ภาพถ่าย CLASSIC IMAGE, ALAMY STOCK PHOTOS

นักท่องเที่ยวชาวเม็กซิกันค่อนข้างเห็นดีเห็นงามกับการจัดแสดงมัมมี่ด้วยความรู้สึกทั้งความสนใจและความเคารพ มากกว่าการรู้สึกรังเกียจหรือขยะแขยงมัมมี่  ดานเต โรดริกูเอซ ซาบาลา ไกด์พื้นถิ่นกัวนาฮัวโตได้อธิบายว่า “เพราะสำหรับพวกเราชาวเม็กซิกัน ความตายไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เราโอเคกับความตาย เรามีประเพณีวันแห่งความตาย (Day of the Dead) ที่นำอาหารไปเซ่นคนรักที่ตายไปแล้ว และเชิญนักดนตรีมาเล่นในสุสาน”

ว่ากันว่าถ้าคุณอยู่ในละแวกกัวนาฮัวโต คุณจะได้ยินต้นกำเนิดว่ามัมมี่มาจากไหน บ้างบอกว่ามัมมี่หลายร่างถูกฝังขณะยังมีชีวิต บ้างก็ถูกฝังเพราะเสียชีวิตจากอหิวาตกโรค แต่มัมมี่ทั้งหมดถูกฝังด้วยดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ  เจอรัลด์ คอนล็อก ศาสตราจารย์กิตติคุณของมหาวิทยาลัย Quinnipiac ที่มุ่งศึกษาด้านมัมมี่อย่างกว้างขวาง เสริมว่า “คนงานในสุสานแต่งเรื่องมัมมี่ ด้วยการโยงมัมมี่ให้เกี่ยวข้องกับการแขวนคอ พวกอาชญากรสิ้นคิดและแม่มด เพื่อเรียกให้คนหันมาสนใจเรื่องมัมมี่มากขึ้น”

ประมาณช่วงปี 1861 สุสานสาธารณะหลายแห่งมีนโยบายเก็บภาษีฝังศพ ครอบครัวใดที่จ่ายภาษีฝังศพประจำปีทางสุสานก็จะเก็บศพให้ไว้ให้ และในปี 1865 คนงานในสุสานเริ่มขุดร่างของคนที่ญาติไม่ได้มาจ่ายภาษีให้

คนงานในสุสานคาดว่าคงจะได้เจอโครงกระดูกฝุ่นเขลอะ แต่เมื่อเปิดหลุมศพขึ้นมากลับเจอร่างมัมมี่หลายร่างที่ผิวหนัง เส้นผม หรือแม้แต่ลิ้นยังไม่เน่าเปื่อย สภาพแวดล้อมที่อบอุ่น แห้งแล้งจึงกลายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการถนอมศพมนุษย์

แหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่น่าขนหัวลุก

เกิดเป็นกระแสว่ามัมมี่เหล่านี้เป็นสิ่งอัศจรรย์ ในที่เก็บกระดูกใต้ดิน สัปเหร่อพบผ้าห่อศพที่ยังสวมอยู่บนร่างของมัมมี่ สวมใส่รองเท้าข้อสูง หรือพบแม้กระทั่งป้ายชื่อและวันตายของมัมมี่ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นของแปลกและเป็นสิ่งสร้างรายได้ให้กับคนงานในสุสานอย่างรวดเร็ว

งานวิจัยชิ้นใหม่ของมัมมี่ในกัวนาฮัวโตมีจุดประสงค์เพื่อระบุตัวตนศพในศตวรรษที่ 19 และ 20 และเพื่อหาวิธีรักษาสภาพศพให้ดีกว่าเดิม ภาพถ่าย เครจ โลเวลล์, EAGLE VISIONS PHOTOGRAPHY / ALAMY STOCK PHOTOS

หลายปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวฉกฉวยสิ่งสำคัญอย่างป้ายชื่อที่ใช้ระบุตัวตนของมัมมี่ไว้เป็นของที่ระลึก ไกด์ของพิพิธภัณฑ์และคนในละแวกนี้จึงตั้งชื่อเล่นให้มัมมี่ไร้ชื่อพวกนั้นใหม่และแต่งเรื่องเข้าไปด้วย เช่น เรียกมัมมี่เพศหญิงที่มีลักษณะกระดูกสันหลังคดอย่างรุนแรงว่า ลา บรูฆา (แม่มด) และเรียกมัมมี่อีกร่างว่า เอล อาโอกาโด (ชายจมน้ำ)

ภาพมัมมี่ในลักษณะกรีดร้อง เป็นผลมาจากกล้ามเนื้อขากรรไกรคลายตัวลงหลักจากที่ร่างนี้เสียชีวิต ภาพถ่าย ดีเอโก เฆซุส ซานเชส ตอร์เรส, ALAMY STOCK PHOTOS

มัมมี่กลายเป็นทูตวัฒนธรรมแห่งกัวนาฮัวโต เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวและแรงบันดาลใจของตัวละครในนิยาย อย่างการต่อสู้ระหว่างมัมมี่กับนักมวยปล้ำ luchadores (Mexican wrestlers) หนังสยองขวัญในทศวรรษที่ 1970 และPinches Momias (Damn Mummies) ซีรีส์เรื่องใหม่ที่จะฉายในเม็กซิโกปีหน้า

จะทำอย่างไรต่อกับมัมมี่

สถาบันมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์แห่งชาติเผยแพร่งานวิจัยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดข้อเรียกร้องต่อการเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่และตั้งข้อหาเรื่องการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อมัมมี่ นักวิจารณ์ต่อต้านต่อประเด็นอื้อฉาวขององค์กรท้องถิ่นที่สั่งขนย้ายมัมมี่ไปไว้ในอุโมงค์ใต้ดินหนึ่งของกัวนาฮัวโตระหว่างการแข่งรถแรลลี่

จุดประสงค์โครงการของสถาบันแห่งชาติคือเพื่อระบุตัวตนของมัมมี่ระหว่างที่มีชีวิตอยู่ ด้วยการตรวจสอบมรณบัตรตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และ 20 เอกสารต่าง ๆ ในโบสถ์ และหนังสือพิมพ์ นอกจากนี้วิธีการทางนิติเวช อย่างการเอกซเรย์ หรือการวิเคราะห์ดีเอ็นเอของเส้นผม ฟันและผิวหนัง ช่วยเชื่อมโยงซากศพกับชาวกัวนาฮัวโตในปัจจุบันได้

มัมมี่ทารกเพศชายสวมชุดนักบุญในพิพิธภัณธ์มัมมี่แห่งกัวนาฮัวโต ประเทศเม็กซิโก ซึ่งเป็นพิธีฝังศพทารกในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ภาพภ่าย ไมเคิล เจมส์ ไรท์

ซาน มิยันกล่าวว่า “มัมมี่เหล่านี้ควรได้รับการปฏิบัติเฉกเช่นศพมนุษย์อื่น ๆ ทั่วไป” กล่าวคือ หากมัมมี่ร่างที่เราไม่ทราบพื้นเพนี้กลายเป็นปู่ทวดของใครสักคน ลูกหลานของเขาก็คงไม่อนุญาตให้นำศพของบรรพบุรุษมาหากินแน่ มัมมี่ตัวนี้จะต้องนำกลับไปฝังใหม่ “โดยทันทีและไม่มีปัญหาใดๆ”

นักวิชาการของสถาบันและผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ หวังว่างานวิจัยชิ้นใหม่นี้จะเกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น และจะเปลี่ยนรูปแบบการจัดแสดงมัมมี่ให้มัมมี่เหล่านี้ได้รับการจดจำแบบใหม่ในฐานะสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรม (cultural artifacts) พัฒนาการควบคุมอุณหภูมิในพิพิธภัณฑ์ และเก็บรักษามัมมี่ให้อยู่ในลักษณะแนวนอนแทนแนวตั้ง

“มัมมี่เหล่านี้ก็แค่คนธรรมดาที่เราสามารถรับรู้ถึงยุคสมัยที่เขามีชีวิตอยู่” คอนล็อก กล่าวเสริม
“พวกเขาก็เคยเดินอยู่บนถนนสายนี้ ไปตลาดเก่า เราไม่ควรเอาเขาไปจัดแสดงแบบแปลก ๆ เลย”

เรื่อง เจนนิเฟอร์ บาร์เจอร์

แปล สุดาภัทร ฉัตรกวีกุล

โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม ชินชอร์โร มัมมี่ ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

Recommend