โลกมีมนุษย์ 8,000 ล้านคนแล้ว และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมเรื่องที่ต้องเผชิญ

โลกมีมนุษย์ 8,000 ล้านคนแล้ว และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมเรื่องที่ต้องเผชิญ

“วันแห่ง 8 พันล้าน” โลกมีมนุษย์ 8,000 ล้านคนแล้ว และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางโจทย์ปัญหาใหม่ๆ ที่โลกต้องเผชิญ

นับตั้งแต่เกิด ‘โฮโม เซเปียนส์’ ขึ้นบนโลกเมื่อประมาณ 300,000 ปีที่แล้ว จำนวนประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้นถึง 1 พันล้านคนครั้งแรกเมื่อปี 1804 ซึ่งเป็นปีที่ค้นพบมอร์ฟีน, เฮติประกาศเอกราชจากฝรั่งเศส และบีโธเฟนแสดงซิมโฟนี่หมายเลข 3 เป็นครั้งแรกในเวียนนา จากนั้น จำนวนมนุษย์ก็แตะ 7 พันล้านคนและกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมาเป็น “วันแห่ง 8 พันล้าน” ซึ่งเป็นผลมาจากการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น น้ำที่สะอาดขึ้น และการปรับปรุงด้านสุขอนามัย ทั้งหมดนี้ช่วยลดการระบาดของโรคได้ ปุ๋ยและการจัดการน้ำก็ช่วยเพิ่มผลผลิตอาหารรวมทั้งโภชนาการที่ดีขึ้น ในหลายประเทศมีเด็กเกิดมากขึ้นและกำลังจะตายกันน้อยลง

ทว่า ความท้าทายก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน มลพิษและการประมงที่มากเกินไปทำให้หลายพื้นที่ในมหาสมุทรเสื่อมโทรม สัตว์ป่ากำลังหายไปอย่างน่าวิตก ป่าไม้ถูกโค่นล้มเพื่อสร้างพื้นที่เกษตรกรรม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กลายเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ วิกฤตเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจที่เรายังไม่ได้ทำ สิ่งใดจะควบคุมอนาคตของเราได้มากกว่ากันระหว่าง ‘ปากหลายพันล้านปากที่เราต้องป้อนอาหาร หรือสมองอีกนับพันล้านที่เราสามารถใช้เพื่อทำเช่นนั้น?’

“ผมคิดว่าผลกระทบที่แน่นอนต่อชีวิตมนุษย์ในอนาคตนั้นยังไม่แน่ชัด” แพทริก เจอร์แลนด์ (Patrick Gerland) ผู้ดูแลการประมาณการจำนวนประชากรของกรมเศรษฐกิจและสังคมของสหประชาชาติกล่าว “จนถึงตอนนี้ โลกประสบความสำเร็จในการปรับตัวและค้นหาแนวทางแก้ไข ต่อไปนี้เราอาจยังมองโลกในแง่ดีได้” กระนั้นเขายอมรับอย่างรวดเร็วว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ “การรักษาสภาพที่เป็นอยู่และไม่ทำอะไรเลยนั้นไม่ใช่ทางเลือก” เขาระบุ “ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น สถานการณ์จะไม่ดีขึ้นด้วยตัวมันเอง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแทรกแซงทั้งในปัจจุบันและอนาคต”

โลกกำลังเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรอันมหาศาลและล่มสลายในเวลาเดียวกันซึ่งเกิดขึ้นคนละฟากโลก ในจีน เป็นครั้งในรอบ 2,000 ปีที่ประเทศไม่ได้มีประชากรมากที่สุดในโลกอีกต่อไป เพราะอินเดียแซงหน้าไปได้ในที่สุด แม้กระทั่งก่อนนโยบายลูกคนเดียว “การเกิดในจีนก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง” เจอร์แลนด์ระบุ แนวโน้มเหล่านี้เร่งตัวขึ้น ในจีนมีเด็กที่เกิดในปี 2020 น้อยกว่าปี 2015 ถึงร้อยละ 45 วัยทำงานกำลังหดตัวลง และในอนาคตอาจมีกลุ่มคนสองกลุ่มที่ทำงานได้คือคนเกษียณแล้วหรือเด็ก ตามรายงานของ Nature คาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

แต่ทวีปแอฟริกามีแนวโน้มตรงกันข้าม ประชากรกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่นไนจีเรียซึ่งมีอัตราการเกิดสูงกว่าจีนถึง 20 เท่า โดยมากกว่า 1 ใน 3 ของประเทศอาศัยอยู่ในภาวะยากจนข้นแค้น พวกเขาต้องมีผู้ใหญ่หนึ่งคนที่อดอาหารในบางครั้งเพื่อให้ครอบครัวอยู่รอด ประชากรไนจีเรียอาจเพิ่มขึ้น 4 เท่าภายในสิ้นศตวรรษนี้โดยปัจจุบันอยู่ที่ 216 ล้านคน หากเป็นจริง ไนจีเรียจะมีประชากรมากกว่าจีนแต่มีพื้นที่น้อยกว่าถึง 10 เท่า ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับอัตราการเกิด และปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างมากคือ ‘การเข้าถึงการศึกษา’ การเพิ่มการเข้าถึงระบบศึกษาอาจทำให้จำนวนประชากรเติบโตช้าลงราว 1 พันล้านคนได้ในช่วงกลางศตวรรษนี้ แต่ไม่มีใครตอบได้ว่าเราจะขยายโอกาสทางการศึกษาเหล่านี้ได้รวดเร็วและมากน้อยเพียงใด

สหประชาชาติ, กลุ่มนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันในซีแอตเติล และผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เห็นพ้องกันโดยส่วนใหญ่ว่าศตวรรษหน้าจะมีจำนวนประชากรมากกว่า 9 พันล้านคน และจะมีการอพยพครั้งใหญ่ทั่วทั้งโลก หลังจากนั้นแต่ละคนต่างมองอนาคตแตกต่างกันไป สหประชาชาติประมาณว่าจำนวนมนุษย์จะเพิ่มเป็นราว 10.4 ถึง 11,000 ล้านคน สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการวิเคราะห์ระบบประยุกต์ในกรุงเวียนนา (The International Institute for Applied Systems Analysis, IIASA) คาดว่าจำนวนประชากรจะเพิ่มเป็น 9.7 พันล้านคนจากนั้นลดลงเหลือประมาณ 9 พันล้านคน ขณะเดียวกัน Institute for Health Metrics (IHME) ของซีแอตเติล จะเพิ่มสูงสุดที่ 9.7 พันล้านคนเช่นกันแต่จะลดลงเหลือ 8.8 พันล้านคน

พวกเขาใช้สมมติฐานที่แตกต่างกัน “เรื่องราวหลักไม่ใช่แค่เรื่องภาวะเจริญพันธุ์ แต่ยังเกี่ยวกับการต่อสู้ระหว่างการเกิดและตายในเด็กและทารก” แอนน์ กูจอน (Anne Goujon) ผู้อำนวยการโครงการประชากรของ IIASA กล่าว อย่างไรก็ตาม ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าต้องรวมปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับการคาดการณ์จำนวนประชากรในอนาคต เพราะผลกระทบนั้นยิ่งใหญ่ ความร้อนจัดอาจสร้างทะเลทรายเพิ่ม และทำให้ความมั่นคงทางอาหารแย่ลง รวมทั้งการย้ายถิ่นฐานจากประชากรบริเวณชายฝั่ง

ผู้คนจะตอบสนองเช่นไร?และเรากำลังมุ่งหน้าไปทางไหน? “วิธีเดียวที่เราจะหลุดพ้นจากความไม่สมดุลทางประชากรนี้ คือความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีการจัดการอย่างดี” สไตน์ เอมิล โวลล์เซ็ท (Stein Emil Vollset) ผู้ดูแลการประเมินจำนวนประชากรของ IHME กล่าว

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

Earth now has 8 billion people—and counting. Where do we go from here? (nationalgeographic.com)

Recommend