‘ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์’ เศรษฐศาสตร์โรแมนติกแค่ไหน? เมื่อความรักเปรียบเป็นสินค้าและตลาดแรงงาน

‘ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์’ เศรษฐศาสตร์โรแมนติกแค่ไหน? เมื่อความรักเปรียบเป็นสินค้าและตลาดแรงงาน

สนทนาเรื่องความรักกับนักเศรษฐศาสตร์  ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อะไรอยู่เบื้องหลังของการมีคู่ ทำไม ‘ความรัก’ เปรียบได้กับสินค้า และการเจอ ‘คนที่ใช่’ ไม่ต่างจากการได้งานในฝัน

“เมื่อไรจะเจอคนที่ใช่” หรือ “คู่ของเราจะไปกันรอดไหม”? คือคำถามที่ต่างคนก็ต่างมีคำตอบ แต่คำอธิบายจากหลักการแบบไหนที่จะทำให้เราได้พักวางอารมณ์เพื่อทำความเข้าใจตัวเองจากสิ่งที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากความรักได้

คลั่งรัก, รักข้างเดียว. ไปด้วยกันไม่รอด, พอใจที่จะเป็นโสด. คุยกันแล้วยังไม่ใช่ และอีก ฯลฯ คือนานาสถานะที่เชื่อว่าตลอดชีวิตของเราก็น่าจะเคยประสบกันสักครั้ง ถึงเช่นนั้นคงมีน้อยคนที่จะ Move on ได้โดยทันที และนิยามประสบการณ์ที่ผ่านมาได้แบบง่ายๆว่า การไม่สมหวังครั้งนี้ก็เป็นแค่อีกครั้งหนึ่ง ที่ “สินค้า” เรา “ไม่ตรง” กับความต้องการของผู้ซื้อ ความพึงพอใจในการจับคู่กันจึงยังไม่เกิด

“เศรษฐศาสตร์อธิบายได้ทุกเรื่องครับ ไม่เว้นแม้กระทั่งความรัก มันอาจจะดู Sensitive น้อยไปหน่อย แต่ก็ทำให้เราเข้าใจเบื้องหลังความคิดเหล่านั้น ” ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ ศาสตราจารย์ระดับ 11 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อธิบายระหว่างสนทนาในเดือนแห่งความรัก กุมภาพันธ์ 2566

 อาจารย์มองความรักอย่างไร ทั้งในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และในฐานะนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์?

ผมมองความรักเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในการเกิดเป็นมนุษย์นะ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ก็ได้รับความรู้สึกถูกรักจากครอบครัว จากผู้ให้กำเนิด พอโตขึ้นมาเริ่มเรียนรู้ความรักกับพ่อแม่ สัตว์เลี้ยง กับเพื่อน กับคนรัก พอมีลูกเราก็รักลูก ในมุมมองของผมความรักถือเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์แบบ เพราะถึงเราเหนื่อยเราก็ยอม ไม่ชอบสิ่งใดเราก็อดทน ถ้าเรามีความรักกับสิ่งนั้นเพียงพอ

ส่วนในฐานะนัก เศรษฐศาสตร์ ความรักเป็นสิ่งที่มีเหตุผล เป็นสิ่งที่อธิบายได้ เช่น ทำไมบางคนถึงเลือกคนนี้เป็นคู่ ทำไมคนหน้าตาดี ฐานะดีถึงมีโอกาสถูกเลือกมากกว่า? ความรักต่างจากความหลงอย่างไร? ทำไมคนๆ หนึ่งถึงตัดสินใจมีกิ๊ก และทำไมการหย่าร้างถึงเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ถ้ามองในเชิง Rational (การมีเหตุมีผล) จะเห็นมิติของการตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์ผสมอยู่

ในหลักเศรษฐศาสตร์การพัฒนา (Development Economist) ที่ผมศึกษา ยังมองได้ว่าความรักมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อมิติของการพัฒนา กล่าวคือการมีความรักต่อเพื่อนมนุษย์เป็นทุนที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เพราะที่ผ่านมา ปัญหาส่วนใหญ่ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา เช่น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การไม่ได้รับโอกาส การถูกกีดกันในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นต่อ เพศ ต่อสถานะ การไม่ได้เอื้ออาทรต่อกัน และงบประมาณที่ใช้ไปจากความเกลียดชังมันเป็นสิ่งที่สูญเปล่า เมื่อเทียบกับสิ่งที่เกิดมาจากความรัก ยังยังมีงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า สังคมที่มีความรักจะเป็นสังคมมีมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่สูงกว่า

ความรักจึงไม่ได้หมายถึงความรักแบบหนุ่มสาวเท่านั้น แต่หมายถึงรักกันทั้งในรูปแบบความเป็นมนุษย์ ความเอื้ออาธร การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มันจะทำให้กลไกเศรษฐกิจมันจะหมุนเวียนได้มากกว่า ยกตัวอย่าง แค่ในที่ทำงานถ้าคนไม่ชอบหน้ากัน การทำงานด้วยกันก็ยากและติดขัด และเกิดผลลัพธ์ที่ดีได้ยากกว่า ประเทศก็เช่นกัน ถ้ามีทุนทางสังคมดี คนในประเทศรักกัน ชุมชนก็เข้มแข็ง และภาครัฐไม่ต้องเสียงบประมาณที่สูญเปล่าเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากความไม่ชอบกันตรงนี้

ความรักทำให้เกิดการพัฒนา เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในเชิงบวกได้มากกว่า ?

มองได้แบบนั้น ผมใช้คำว่ามันสามารถเกิด Transaction (ทำธุรกรรม) ทางเศรษฐกิจโดยสมัครใจได้มากกว่า ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นโดยที่ภาครัฐอาจไม่จำเป็นต้องใส่นโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่โอเคว่า มันก็ไม่ได้หมายความแบบนั้นทั้งหมด ในมุมของความเกลียดชังก็มีข้อดีในเชิงเศรษฐศาสตร์ เช่น เกิดการแข่งขันซึ่งในเชิงเศรษฐศาสตร์เราเชื่อว่าการแข่งขันจะนำมาสู่ประสิทธิภาพที่ดี เกิดผลลัพธ์ เพิ่มผลิตภาพ แต่ถึงเช่นนั้นการแข่งขันที่มากไปก็เป็นส่วนหนึ่งให้เกิดความเครียดและความเกลียดชังได้ ดังนั้นถ้าเทียบกับประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่ดี มีการแข่งขันต่ำ และมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจต่างๆ คนในประเทศนั้นๆ ก็มีระดับของการเอื้ออาทรก็มีมากกว่า ซึ่งจะส่งผลต่อดัชนีความสุขที่มากกว่าด้วยเช่นกัน

เมื่อข้างต้นอาจารย์พูดถึงการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบขึ้นจากความรัก ช่วยขยายความว่ามันคืออะไร?

ผมพูดถึงมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ในความหมายของการ Give & Take ที่หมายถึงการเป็นผู้รับและผู้ให้ คือการรู้สึกถูกรัก และรักใครสักคน ซึ่งความรู้สึกนี้เทียบกับคนที่ไม่เคยถูกรักและไม่เคยรักใครเลย อย่างหลังน่าจะเหี่ยวเฉามากกว่า

เมื่อเราได้รับความรักจากใคร วันหนึ่งเมื่อเรารักใครเราก็ยอมที่จะเสียสละให้เขา เรายอมเหนื่อยกับสิ่งที่เราไม่ชอบ ยอมอดทนกับมัน ตัวอย่างจากเวลาเราเข้าพิธีแต่งงาน คำอวยพรหนึ่งที่ผู้ใหญ่มักอวยพรกับคู่บ่าวสาวเสมอๆ ก็คือ “ต้องอดทนและให้เกียรติซึ่งกันและกัน” เพราะเราต่างรู้ดีว่าความรักไม่ได้มีแค่การรู้สึกรักหรือถูกรัก แต่มีความอดทน ความเสียสละรวมอยู่ด้วย

มนุษย์ที่สมบูรณ์แบบหมายถึงการประกอบไปด้วยความหลากหลายทางความรู้สึก หลากหลายอารมณ์ เมื่อความรักไม่ใช่ความสวยงาม ความสุขอย่างเดียว การเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกที่ครบถ้วนตรงนี้ ผมมองว่ามันคือการเป็นมนุษย์ที่ เรา Enjoy มีความสุขกับความรักได้ ขณะเดียวกันเราก็ต้องยอมรับสิ่งที่ไม่ดีจากความรักได้ด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ ศาสตราจารย์ระดับ 11 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

 เศรษฐศาสตร์ถือเป็นวิชาที่โรแมนติกไหม และถ้าจะอธิบายความรักด้วยเศรษฐศาสตร์ต้องใช้หลักการใดบ้าง?

ถ้าตีความ “โรแมนติก” ว่าเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกรัก การบอกรัก การจูบ การกอด ให้ดอกไม้ มันคงขึ้นอยู่กับบุคคล แต่ถ้าพฤติกรรมนี้อยู่บนพื้นฐานของความพอใจให้อีกฝ่าย สิ่งนั้นมันก็เข้าใจได้ และนักเศรษฐศาสตร์ก็คงจะทำ เพราะความโรแมนติกนี้มองได้ว่าเป็น สินค้าแบบ Merit good ที่ใช้มาตรฐานทางสังคมเป็นตัววัดว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ ไม่ใช่มาตรฐานทางเศรษฐกิจ

ถ้ามองความโรแมนติกในความหมายที่การพยายามทำเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่ายหรือการมีความรักให้กับอีกฝ่าย ผมมองว่าเศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่โรแมนติกแน่ๆ เพราะเป็นศาสตร์ที่สอนให้เราเห็นแก่มนุษย์คนอื่น ศึกษาอรรถประโยชน์ และรสนิยม นักเศรษฐศาสตร์พยายามศึกษาความต้องการของสังคมในแต่ละแบบ พยายามเข้าใจถึงปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เศรษฐศาสตร์สอนให้ผู้เรียนใส่ใจมนุษย์ ใส่ใจสังคม และ Care ต่อโลก

ในหลักของเศรษฐศาสตร์มีทั้งที่เป็นกระแสหลัก ที่พูดเรื่อง Demand -Supply (อุปสงค์-อุปทาน) การตีมูลค่าทางการตลาด พูดถึงดุลยภาพทางการตลาด แต่อีกด้านก็มีหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ที่พยายามเข้าใจพฤติกรรมของคน การตัดสินใจของคนซึ่งหลักนี้น่าจะอธิบายความรักให้เห็นภาพที่สุด

สำหรับผมสิ่งที่อธิบายความรักได้ดีที่สุด คือการเปรียบเทียบความรัก การพบรัก เป็นการจับคู่ (Matching) คล้ายๆ กับ กับสภาพความเป็นจริงของ “ตลาดแรงงาน” ซึ่งผู้จ้างกับผู้ถูกจ้างต้องมีความต้องการซึ่งกันและกัน สมมติว่าเราอยากเข้าทำงานบริษัทนี้ แต่ถ้าบริษัทไม่รับมันก็ไม่ได้ Matching กันง่ายๆ นั่นเพราะแรงงานหรือการหาคู่ มันไม่ใช่ตลาดสินค้าหรือตลาดหุ้นที่มองแค่ราคาซื้อ ราคาขาย อยากซื้อก็ได้ซื้อเลย แต่เป็นเรื่องของความพึงพอใจในขณะนั้น เพราะเราอยากได้เขา แต่เขาอาจจะไม่อยากได้เราก็ได้ หรือแม้ทั้งสองฝ่ายจะพอใจซึ่งกันและกันแต่ก็ไม่ใช่ในเวลาที่ต่างคนต่างต้องการหา ดังนั้นความรักจึงอยู่ในเงื่อนไขของการเกิด ตลาดสองด้าน” (two-sided matching market) ซึ่งมีองค์ประกอบมากมายกว่าที่หนุ่มสาวจะสามารถจับคู่ ตกลงเป็นแฟน หรือแต่งงานกันได้

ยกตัวอย่างการหาคนในตลาดแรงงาน เราดู CV ผู้สมัครก่อน จนเมื่อเขามีคุณสมบัติระดับหนึ่งที่องค์กรพอใจ จึงเข้ามาสู่การสัมภาษณ์ และการทดลองงาน (Probation) เรื่องความรักก็เช่นกัน อย่างน้อยเรามี สเป็กพื้นฐาน หน้าตาแบบนี้ ลักษณะแบบนี้ แต่ก็ยังไม่พอ เราก็ต้องมาคุยกัน มาเดทกัน ไปเที่ยวกัน ซึ่งเมื่อถึงตรงนี้ มันอาจจะเวิร์คหรือไม่ก็ได้ การหาแรงงานหรือคนรัก มันยากกว่าการซื้อสินค้าที่พอใจเพียงเรื่องราคาผู้ซื้อผู้ขาย

เบื้องหลังของการตัดสินใจเลือกคู่ แม้จะมีเรื่องอารมณ์บ้าง แต่มันก็ประกอบไปด้วยการชั่งใจถึงข้อดีข้อเสีย ดูว่าคนคนนี้ใช้ได้ในระดับหนึ่งไหม เหมาะกับเราหรือเปล่า อย่างไรก็ดี มันก็มีกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ในช่วงหลังที่ยกความคิดที่ว่า คนเราอาจไม่ได้ตัดสินใจด้วยเหตุผลไปซะทุกอย่างขนาดนั้น มันจึงมีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) ที่เริ่มศึกษาถึงความไม่มีเหตุผลของคน (Irrational) และเริ่มเห็นว่า มนุษย์เราไม่ได้อยู่ในอะไรที่ต้องมีมูลค่าทางตลาด (Market Value) ที่ทุกอย่างต้องตีเป็นเงินอย่างเดียว แต่ถูกกำหนดด้วยสังคมที่ตีมูลค่าทางคุณธรรม (Moral Value) ที่ตีค่าด้วยหัวใจ หลักการนี้อธิบายสิ่งที่อยู่นอกเหนือความเป็นเหตุเป็นผล เช่น เราคิดว่าผู้ชายแบบนี้ต้องชอบผู้หญิงคนนี้ ผู้หญิงแบบนี้กำลังมองหาผู้ชายแบบนี้อยู่ แต่เมื่อผู้ชายคนนี้ซึ่งตรงตามสเป็กที่มองหามากลับไม่ชอบ ซึ่งก็ต้องหาสาเหตุในแต่ละบริบทว่าเป็นเพราะอะไร อะไรทำให้เขาแสดงพฤติกรรมที่นอกเหนือเหตุผลเช่นนั้น

เศรษฐศาสตร์มองความรักเป็นสินค้า แล้วมันมีสิ่งที่เรียกว่า “สินค้าทั่วไป (Common Goods)” ซึ่งสามารถซื้อได้เลยด้วยราคาที่พอใจ เช่น เสื้อผ้า อาหาร กับอีกสินค้าที่เราเรียกว่า “สินค้าประสบการณ์ (Experience Goods)” ซึ่งเราต้องมีประสบการณ์ก่อน ถึงจะรู้ว่าดีหรือไม่ดี เช่น ต้องดูหนัง ต้องฟังเพลงก่อน ถึงจะรู้ว่าสนุกไหม ความรักก็เช่นกันคือต้องมีประสบการณ์ก่อนถึงจะทราบว่าเวิร์คหรือไม่เวิร์ค นอกจากนั้นในบางเหตุการณ์ความรักยังเป็นสินค้า ที่ “ถึงจะมีประสบการณ์ก็ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี (ทางเศรษฐศาสตร์เรียกสินค้าประเภทนี้ว่า Credence Goods)” เพราะแม้มีประสบการณ์ไปแล้วก็ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าตกลงดีหรือไม่ดี ต้องผ่านระยะเวลาไปก่อนถึงจะเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้มันมีคุณค่ากับเรามากเพียงใด ถ้าถามว่าเศรษฐศาสตร์อธิบายความรักได้ไหม มันอธิบายได้ทุกอย่างนะ อยู่ที่ว่าเราใช้หลักเศรษฐศาสตร์ในระดับไหนมาอธิบาย

อาจารย์เคยใช้หลักเศรษฐศาสตร์ให้คำปรึกษากับเพื่อนบ่อยไหม?

ผมไม่ค่อยมีเพื่อนมาปรึกษาหรอกครับ และถ้ามองตามจริงในมุมเศรษฐศาสตร์ ความละเอียดอ่อนทางอารมณ์มันต่ำ คือเราเข้าใจว่า เหตุผลคืออะไร เราก็ต้องถามเพื่อนกลับทุกครั้งว่า “อยากได้ยินคำพูดแบบไหน”

กลับมาที่คำถามว่า ถ้าเรามองว่าโรแมนติกคือ  “สิ่งที่เกี่ยวข้องกับความรัก” ต้องยอมรับว่าเศรษฐศาสตร์เป็นสาขาที่มีความโรแมนติก เพราะเป็นสาขาที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยเริ่มตั้งแต่การเข้าใจถึงลักษณะของแต่ละคน การพยายามตอบสนองความต้องการ การพยายามอธิบายถึงปัจจัยที่มีอยู่อย่างจำกัดในการตอบสนองความต้องการนั้นๆ และการพยายามช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่า ในการลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม แต่ถ้าเรามองว่า “โรแมนติก” คือ รัก การบอกรัก การจูบ การกอด ให้ดอกไม้ นักเศรษฐศาสตร์อาจจะไม่ใช่คนที่โรแมนติกเท่าไร เพราะมองที่เหตุและผลของเรื่องต่างๆ ไปเกือบทุกเรื่องจนอาจจะขาดความ Sensitive ละเอียดอ่อนในเชิงความรู้สึกหรืออารมณ์

สิ่งที่พบเจอในทุกยุคทุกสมัยที่เกี่ยวข้องกับความรัก เช่น ความรักที่ไม่สมหวัง ชอบคนที่มีฐานะดีกว่า ชอบคนที่ดูดี หล่อ สวย ตรงนี้อธิบายได้อย่างไร?

เศรษฐศาสตร์ อธิบายในเรื่องของ “ความพึงพอใจ”  หรือ preference แต่ในบริบทของความรักนี้ เราเรียกว่าการมี “สเป็ก” ซึ่งแน่นอนว่า แต่ละคนจะมี Preference คร่าวๆว่า เราอยากให้คนรักของเรามีคุณสมบัติแบบไหน ไม่ว่าจะเป็น หน้าตา ฐานะ ความคิด นิสัยใจคอ ฐานะ หรืออาชีพ หลักการไม่ต่างกับเวลาที่บริษัทคัดเลือกพนักงานโดยดูจากประสบการณ์หรือการศึกษาของผู้สมัครงานบนใบสมัคร

ส่วนผู้สมัครงานเองก็ทำการศึกษาว่าบริษัทมีชื่อเสียงดีไหม ชั่วโมงทำงานโหดไปไหม ลักษณะของงานเป็นอย่างไร แต่การดูเพียงซีวีอย่างเดียวก็คงไม่บอกอะไร ดังนั้นจับคู่ดังกล่าวจึงยังคงมีความไม่แน่นอนสูง (เขาจะดีอย่างที่บอกจริงหรือไม่) จึงมักมีช่วงที่ผู้เล่นทั้งสองฝั่งจะมาพบกันเพื่อตรวจสอบและอัปเดต “ความเชื่อ” ในข้อมูลเกี่ยวกับอีกฝั่ง นั่นก็คือการการออกเดท คบหาดูใจ ซึ่งเปรียบในการหางานก็คือ การสอบสัมภาษณ์และการทดลองงาน ว่าจะผ่าน Probation หรือไม่ ด้วยเหตุผลดังกล่าว การตรวจสเปกในช่วงคบค้าจึงทำให้เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ที่มีคุณสมบัติที่เป็นที่นิยม (และขาดแคลน) มากกว่าจะมีความได้เปรียบในการต่อรองในการหาคู่มากกว่าคนที่มีฐานะและหน้าตาแบบบ้านๆ  จึงไม่แปลกที่เราเห็นอยู่บ่อยๆ ว่า คนสวยคนหล่อแ และคนรวย มักถูกเลือกได้มากกว่า

ในการจับคู่ ก็เหมือนตลาดงานว่า คนที่มองหาต้องการอะไร พยายามเรียนรู้ กับอีกฝ่ายหนึ่งต้องโชว์ว่าตัวเองเป็นอย่างไร เป็น Screening กับ Signaling ไปพร้อมๆ กัน แต่การที่จะเกิดการจับคู่ได้ สเปกทั้งหมดไม่เพียงแต่ต้องลงรอยกันพอสมควรแต่ก็ต้องถูกเปรียบเทียบกับตัวเลือกอื่นในตลาดด้วย ด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นไปได้ว่าคน 2 คนที่เท่าเทียมกันทุกอย่างแต่ดันไปพบคนพิเศษในคนละตลาดกัน คนหนึ่งอาจได้ลงเอยแบบสบายๆ แต่อีกคนอาจถูกทอดทิ้งแบบไม่แยแสไม่ว่าเขาจะทุ่มเทอะไรมากแค่ไหน เพียงเพราะว่าพวกเขา 2 คนนี้อยู่ในตลาดที่มีโครงสร้างและตัวเลือกอื่นๆ ที่แตกต่างกัน ดังนั้นคนที่สเป็คไม่เข้ากับใครเลย ก็ไม่แปลกที่อาจจะไม่เลือกใครเลย (หรือไม่ถูกเลือก หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เป็นโสดนั่นเอง)

ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมคนหล่อ สวย ฐานะดี ถึงมักถูกเลือก นั่นก็อธิบายได้ด้วยการมี Value หรือคุณค่า ซึ่งเราเชื่อกันว่าอะไรที่ยิ่งหายาก มีปริมาณน้อย คุณค่าก็ยิ่งมาก ฉันใดฉันนั้น  คนหน้าตาดี ซึ่งมีน้อยกว่าคนหน้าตาธรรมดา ก็ยิ่งถูกกำหนดให้มีคุณค่า (จากอีกฝั่ง) มากกว่าด้วย เช่นเดียวกับเรื่องฐานะ ความร่ำรวย เมื่อสังคมยังประกอบไปด้วยคนเหล่านี้ที่น้อยกว่าคนธรรมดา ก็ยิ่งมีคุณค่ามากกว่าโอกาสทางถูกเลือกก็จะมากกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้จะมีคุณค่ามาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คนนี้จะสมหวัง 100% เพราะต่อให้คนหน้าตาดีและฐานะดีถูกให้ความสนใจในช่วงแรก แต่ผู้เลือกเองก็อาจจะมีสเป็กอื่นๆ อีกด้วย

ผู้หญิงสวย ผู้ชายหล่อ คนเก่ง บ้านรวย ก็จะยังมีคุณค่าสูงตลอดไป?

ใช่ครับ  เพราะมันมีน้อยกว่าไง แต่คนเหล่านี้ก็อาจจะถูกเลือกไปแล้วก็ได้ เหมือนคนมาสมัครงาน โดยที่ยังไม่รู้จัก ไม่เคยได้พูดคุยกัน ถ้าคนนี้ๆจบมาเกรดดีกว่า จบมหาวิทยาลัยดัง มีประสบการณ์ดีกว่า เมื่อเทียบกับอีกคนที่อะไรก็ไม่ดี คนที่ดูดีกว่าในประวัติสมัครงานก็ยิ่งมีโอกาสที่จะได้งานมากมากกว่า

แต่ถ้าถามว่า สุดท้ายเลือกมาทำงานแล้วจะอยู่กันได้ไหม ก็เป็นอีกเรื่อง เพราะอย่างที่บอกไปว่า ความรักมันเป็นสินค้าประสบการณ์ ยังไม่มีใครรู้ว่าจะไปกันรอดในระยะยาวไหม ซึ่งต้องลองคบและดูใจกันไปซักระยะก่อนถึงจะทราบว่าควรไปต่อหรือพอแค่นี้ มันจึงมีคนที่คบกันมานานๆ เป็นแฟนกันมานาน เพราะแต่งงานจริงๆ อยู่ด้วยกันมาจริงๆ แป๊บเดียวเลิก ในขณะที่บางคู่คบกันแป๊บเดียวกลับอยู่ได้ยาว ดังนั้นการ Matching มันไม่ใช่เหมือนในหนังที่แต่งงานแล้วจบ แฮปปี้ แต่เมื่อมีการใช้ชีวิตมันก็ต้องอดทน ต้องรับข้อเสียกัน ถึงกลับไปสู่ตอนแรกว่า ถ้าเรารักใครจริง เราก็ต้องอดทนในด้านที่ไม่ดีของคนคนนั้น

แล้วสำหรับการเลือกเป็นโสด มองในหลักเศรษฐศาสตร์ได้อย่างไร?

ในตลาดงาน นักเศรษฐศาสตร์แรงงานมักมองว่าการตัดสินใจเลือกงานจะขึ้นอยู่กับว่าค่าจ้างที่บริษัทให้นั้นสูงกว่าค่าจ้างที่หวัง (Reservation wage) หรือไม่ และมีแรงงานบางรายที่มองว่าถ้าบริษัทให้ค่าจ้างไม่ถึงที่ตัวเองต้องการก็ควรรอข้อเสนอที่ดีกว่าต่อไป อาจจะไปเรียนต่อ หรือหาอะไรทำ จนกว่าจะเจองานที่ใช่ เพราะคิดว่าขืนรีบเลือกไปสุดท้ายมันก็ต้องแยกทางกันอยู่ดี เรื่องนี้คล้ายกับเวลาเรามีเพื่อนที่ช่างเลือก ใครจะดีแค่ไหนก็ยังไม่พอ แล้วก็เลือกที่จะเป็นโสดต่อไป

นักเศรษฐศาสตร์โนเบลในปี 2010 อย่าง Peter Diamond มองว่าถ้าหางานยังไม่ถูกใจ ก็ค่อยๆ รอๆ หาๆ ไปก่อนก็ได้ เช่นเดียวกัน ถ้าหากเรายังไม่พบคนที่ชอบจริงๆ การรอคอยหาคนที่ใช่อาจดีว่าการเสียเวลาไปกับคนที่ไม่ใช่ (unstable match) และเอาเวลาไปสร้างคุณค่าให้กับตัวเองดีกว่า

การเป็นโสดในสายตานักเศรษฐศาสตร์จึงไม่ได้แปลว่าไม่มีใครต้องการเขาเสมอไป และก็จะสรุปห้วนๆ ตามคำเปรียบเปรียบที่ว่า “ขึ้นคาน” ไม่ได้เช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากตลาดหาคู่เป็นตลาดที่มีสองด้านอย่างที่กล่าวไป การมีคู่จึงอาจสู้เป็นโสดอยู่คนเดียวไม่ได้ ยิ่งถ้ามีคนที่มีซัพพอร์ตจากครอบครัว มีการงาน มีงานอดิเรก มีเพื่อนฝูงมากๆ การเป็นโสดอาจเป็นตัวเลือกที่ไม่ได้แย่ขนาดนั้น

อย่างไรก็ดี การเป็นโสดนานๆ ก็มีข้อเสียตรงที่ยิ่งรอนานเท่าไหร่ก็ยิ่งอาจทำให้คนที่สนใจจะมาจับคู่กับเรามีจำนวนน้อยลงได้เหมือนกัน เพราะนอกจากตลาดจะเล็กลงตามอายุแล้ว ลักษณะทางกายภาพของเราก็อาจเปลี่ยนไป เหมือนกับการว่างงานนานๆ จากที่รองานที่เหมาะสม เมื่อถึงเวลาหนึ่งตลาดแรงงานก็จะมองว่าคนๆ นี้ไม่มีประสบการณ์การทำงานมานานและมันคงดูไม่ค่อยดีนัก เช่นเดียวกันคนที่มีสถานะโสดนานๆ ก็จะเริ่มมีตัวเลือกก็เริ่มลดลง และเกิดตั้งคำถามว่าทำไมคนนี้โสดนาน การ Matching หรือจับคู่กันก็ยากขึ้น

แล้วกับการคบซ้อน มีกิ๊ก แบบนี้อธิบายได้ไหม?

มองได้ว่าเป็นการกระจายความเสี่ยง (Diversification) แนวคิดนี้สะท้อนมุมมองกระจายความเสี่ยง แบ่งระดับความเสี่ยงไปตามความสัมพันธ์กับแต่ละคน  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในด้านการเงินการลงทุน เรารู้กันอยู่แล้วว่าการลงทุนในลักษณะของการกระจายความเสี่ยงมีวัตถุประสงค์ที่อยากให้เกิดการขาดทุนต่ำที่สูด (Minimize Loss) ซึ่งแสดงว่า การคบซ้อนไปมา ย่อมได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่า “การลงทุนประเภทเน้นคุณค่า” ที่ให้ความสำคัญกับคนๆ หนึ่งไปเลย ดังนั้นถ้ารักใครคนเดียวแล้วคนนั้นเป็นคนที่ใช่กับเราก็จะมีความสุขมาก หรือทางการเงินการลงทุนก็คือ คนๆ นั้นจะได้รับ Return จากความรักมากกว่า

อย่าลืมว่าในการลงทุน แม้จะเป็นการกระจายความเสี่ยง แต่หารู้ไม่ว่าวิธีนี้ทำให้เราพลาดโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดียิ่งกว่าถ้าเราเอาเงินก้อนนั้นไปลงทุนกับหุ้นที่ดีๆ สักตัว ความสัมพันธ์ก็เหมือนกัน ถ้าอยากลงหลักปักฐานและประสบความสำเร็จกับชีวิตคู่จริง ๆ เราก็ต้องยอมเสียอิสรภาพบางส่วนไป และจริงจังกับคนๆ นั้นจริงๆ นักลงทุนที่เป็น Value Investor ที่ถือหุ้นไม่เยอะ และเชื่อว่าหุ้นตัวนี้ดี จนได้รับผลตอบแทน โอเคความเสี่ยงอาจจะดี แต่เข้ามีข้อมูลข้างในที่รู้ว่าหุ้นนี้จะเติบโตได้ยาว นั่นทำให้เขาได้กำไรสูงสุด

 

การมองสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุด้วยผลมากเกินไป มันทำให้ความรู้สึกรักกับใครน้อยลงไปหรือไม่ แบบเดียวกับว่าถ้าคิดเป็นหลักเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด การมีความรัก ความพึงพอใจกับคู่จะลดน้อยลงไปไหม?

ความรักมันจะถูกปรับได้นะ มันมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่ได้คงที่แบบใดแบบหนึ่ง เพิ่มได้ลดได้ มันมีหลักเศรษฐศาสตร์จิตวิทยา ที่อธิบายว่า ความรักมันประกอบไปด้วยความรู้สึกหลายแบบ หนึ่งในนั้นคือ มันเป็น “ความหลง”  และเมื่อผ่านไปนานๆ ความรู้สึกหลงนั้นก็จะค่อยๆ น้อยลงไป

เวลาพูดถึงความรัก มันก็ต้องแยกระดับของมัน ในนามความรักบางคนเกิดขึ้นช่วงแรกๆ จากความหลงใหล หรือบางคนความรักมันเป็นเรื่องของ “ความสบายใจ” มากกว่า เช่นสามีภรรยาที่อยู่กันมานาน ช่วยจีบกันใหม่ๆ ความรักที่เกิดขึ้นคงมีเรื่องของความหลงกันอยู่บ้าง แต่พอกินกันไป ความรักของสามีภรรยาคู่นี้จะถูกปรับให้อยู่ในรูปของ ความอบอุ่นและความสบายใจแทน แต่ก็มีความรู้สึกรักเหมือนกัน

ในตลาดแรงงาน ปัจจัยที่ทำให้คนอยากย้ายงาน หลักเศรษฐศาสตร์อธิบายว่ามันมี Push – Pull Factor คือทั้งแรงดึงและแรงดูด เช่น ปัจจัยที่ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายคือไปต่างประเทศ มีแรงผลักคืออาจจะเบื่องานในเมืองไทย เบื่อรัฐบาล อยากย้ายประเทศ กับปัจจัยดึงดูดคือบรรยากาศการทำงานในเมืองนอกน่าทำงาน เงินเดือนดี

ความรักก็เช่นกัน ถ้าเปรียบเทียบกับคนมีกิ๊ก สาเหตุก็มีทั้งแรงผลักจากคนเก่า ที่อยู่แล้วไม่สบายใจ ชวนทะเลาะเบาะแว้ง และแรงดูดแรงดึงคือฝ่ายนั้นมันน่าลุ่มหลง อาจจะหล่อสวยกว่า ดูดีกว่า  ถ้าแรงผลักและแรงดูดมีพลังมาก มันก็จะทำลายกรอบคุณธรรมไป กลายเป็นมีกิ๊ก คบซ้อน ข้ามกรอบความถูกต้องไป เหมือนกับเรื่องของการคอร์รัปชั่นที่เราๆ ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่ผิด และถ้ามันมีแรงผลักและแรงดึงที่สูงมากพอ การคอร์รัปชั่นก็สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งหมายความว่าตลาดทางเศรษฐกิจมีแรงในการผลักดันมากกว่าตลาดคุณธรรม ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจก็จะชนะคุณธรรม

ถึงที่สุดแล้ว เราเชื่อกันว่าความสัมพันธ์ที่ดี การมีความรักที่ดีทำให้ชีวิตมีความสุข อาจารย์มองว่าหลักคิดแบบไหนที่จะทำให้เรามีความรักหรือมีชีวิตอย่างมีความสุข?

ถ้าตอบเป็นความเห็นมันก็คงมีหลายแบบนะ แต่ผมขอตอบโดยอ้างอิงจากงานวิชาการแล้วกัน มีงานศึกษาชื่อดังของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่มีชื่อว่า Harvard Study of Adult Development ซึ่งใช้ระยะเวลาในการศึกษาค้นคว้าทั้งสิ้น 75 ปีเต็ม เปลี่ยนผ่านผู้ควบคุมงานวิจัยมาถึง 4 รุ่น โดยงานวิจัยชิ้นนี้ริเริ่มจากการติดตามศึกษาชีวิตของวัยรุ่นชาย 2 กลุ่มคือกลุ่มแรกเป็นนักศึกษาชายชั้นปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัย Harvard 268 คน และกลุ่มที่สองเป็นวัยรุ่นชายอายุ 12 – 16 ปี เติบโตแบบตามมีตามเกิดในเมือง Boston อีก 456 คน รวมทั้งหมด 724 คน

ทุก ๆ 2 ปี ทีมวิจัยจะให้ทั้ง 724 คนมาทำแบบสอบถามเกี่ยวกับความพึงพอใจในชีวิต ทั้งด้านหน้าที่การงาน ด้านสังคม ด้านชีวิตส่วนตัว รวมไปถึงการขอสัมภาษณ์ภายในบ้านเพื่อพูดคุยกับบุคคลในครอบครัวด้วย และทุกๆ 5 ปี พวกเขาก็จะได้รับการตรวจสุขภาพด้วยจนกระทั่งตลอดระยะเวลาที่ทำการติดตามศึกษาชีวิตของวัยรุ่นทั้ง 724 คนนี้

เมื่อเวลาผ่านไปทีมวิจัยให้เห็นการเติบโตของพวกเขาในแต่ละปี มีหน้าที่การงานทำ สามารถไต่ระดับจากการสร้างเนื้อสร้างตัวจนมีหน้ามีตาในสังคม (ตามลักษณะของเด็กฮาวเวิร์ด) แต่ในจำนวนผู้ถูกวิจัยก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่ประสบกับความล้มเหลว จมดิ่งลึกลงไปในห้วงแห่งความผิดหวังถึงขั้นติดเหล้าเมายาก็มี

จนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน จากจำนวน 724 คน เหลือชีวิตรอดอยู่เพียงแค่ 60 คน ซึ่งแต่ละคนก็มีอายุไม่ต่ำกว่า 90 ปีแล้ว และจากการเรียนรู้ชีวิตของบุคคลเหล่านี้ทำให้ทีมวิจัยได้เรียนรู้ว่า ความร่ำรวย มีหน้ามีตาในสังคม หรือ การทำงานอย่างหนักนั้นไม่ใช่คำตอบของชีวิตที่มีความสุข ซึ่งคำตอบที่แท้จริงของชีวิตที่มีความสุขก็คือ การที่คนๆ นั้นจะต้องมี “ความสัมพันธ์ที่ดี” กับคนรอบข้างนั่นเอง จากความเชื่อแรกเริ่มในช่วงวัยรุ่นที่ว่า ชื่อเสียงและเงินทอง จะทำให้มีชีวิตที่ดีและมีความสุข แต่จากการศึกษามาตลอดระยะเวลา 75 ปี กลับพบว่า บุคคลที่ให้ความสำคัญกับ “ความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้คนรอบข้าง” นั้นจะเป็นผู้ที่พบกับความสุขที่แท้จริง ความสัมพันธ์ที่ดีเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม มักจะคิดว่าชื่อเสียง เงินทอง เป็นสิ่งที่สร้างความสุขได้ง่ายกว่า

หลายคนคิดว่าความสัมพันธ์ที่ดีนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ต้องคอยเอาใจใส่อยู่ตลอดเวลาซึ่งก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น แต่แน่นอนว่ามันก็ไม่ได้ได้แค่พูดคุย เพราะความสัมพันธ์แต่ละรูปแบบก็มีสิ่งที่ซ้อนอยู่ เช่น ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านและคนในชุมชน จนไปถึงความสัมพันธ์กับมนุษย์โลกคนอื่นๆ ที่ต้องมีพบปะหน้ากัน การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีนั้นมันก็ไม่ได้ยากจนเกินกว่ามนุษย์จะทำได้ และความสัมพันธ์ที่ดีมันเริ่มต้นได้จากการเงยหน้าขึ้นมาจากจอโทรศัพท์ และพูดคุยกับคนรอบๆ ตัว ให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

ตามแบบที่อธิบายตามหลักคำสอนทางพุทธศาสนาก็คือ “การมีสติอยู่กับปัจจุบัน”

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

ภาพ : ณัฐวรรธน์ ไทยเสน

อ่านเพิ่มเติม วิทยาศาสตร์ว่าด้วยการ ตกหลุมรัก ต้อนรับวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก

Recommend