วิถีหลอมรวมเชื้อชาติ ศาสนา และพหุวัฒนธรรมอันน่าอัศจรรย์ในสิงคโปร์

วิถีหลอมรวมเชื้อชาติ ศาสนา และพหุวัฒนธรรมอันน่าอัศจรรย์ในสิงคโปร์

จากความหลากหลายของชุมชนและการหลอมหลวม พหุวัฒนธรรม เราจะสามารถอธิบายมรดกทางวัฒนธรรมอันโดดเด่นของชนชาติสิงคโปร์ได้อย่างไร

หากเดินเตร็ดแตร่ไปยังถนน Telok Ayer ผ่านย่านร้านกาแฟอันคึกคัก แผงขายอาหาร และภัตตาคาร ก็จะพบกับอากาศที่เต็มไปด้วยกลิ่นกรุ่นของกาแฟและเครื่องเทศ ทันใดนั้น ก็จะได้พบกับกลุ่มควันธูปที่ฟุ้งออกมาจากวัดที่แทรกตัวอยู่ในสัญลักษณ์ความเป็นเมืองใหญ่และความเป็น พหุวัฒนธรรม แบบร่วมสมัย

วัด Thian Hock Keng และวัด Yueh Hai Ching ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเล สร้างขึ้นเพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชนชาวจีนฮกเกี้ยนและแต้จิ๋วตามลำดับ และใกล้ๆ กัน มีมัสยิด Al-Abrar และโบสถ์เมโธดิสท์จีน เป็นประจักษ์พยานของการเติบโตทั้งทางกายภาพ จิตวิญญาณ และวัฒนธรรมของสิงคโปร์

นับตั้งแต่การก่อตั้งในฐานะท่าเรือเพื่อการค้าขายในปี 1819 บรรดาผู้อพยพต่างหลั่งไหลเข้ามายังเกาะแห่งนี้พร้อมความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่า พวกเขาเริ่มก่อตั้งธุรกิจเพื่อการค้าขาย สร้างรากฐาน วางกรอบสำหรับชุมชนใหม่ เพื่อปักหลักและเริ่มการก่อกำเนิดสังคมพหุวัฒนธรรมของสิงคโปร์

ประวัติศาสตร์สิงคโปร์, สิงคโปร์, พหุวัฒนธรรม
ภาพถนน Telok Ayer ในทศวรรษ 1880 ซึ่งมีหลังคาอันงดงามของวัด Thian Hock Keng เป็นฉากหลัง ภาพถ่ายโดย NATIONAL MUSEUM OF SINGAPORE

เนื่องจากความหลากหลายทางศาสนาที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายเทศกาลเฉลิมฉลองกลายมาเป็นการเฉลิมฉลองร่วมกันในชุมชม สักสินาห์ ครูสอนฟิตเนสชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดียและมาเลย์ได้เข้าร่วมการถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน และเฉลิมฉลองวันฮารีรายอ อีดิลฟิตรี อันเป็นวันที่สิ้นสุดช่วงเวลาการถือศีลอดของชาวมุสลิมในสิงคโปร์

“ในช่วงวันฮารีรายอ ทั้งครอบครัวและญาติๆ ของฉันไปรวมตัวกันที่บ้านของญาติ ซึ่งเหมือนเป็นจุดศูนย์กลาง เราไม่ต้องไปที่อื่นเลยค่ะ” เธอกล่าว

พระพิฆเนศ, พหุวัฒนธรรม
ในเทศกาลพระคเณศ (Ganpati festival) หรือที่รู้จักกันในชื่อ คเณศจตุรถี (Ganesh Chaturthi) เป็นเทศกาลที่ชุมชนชาวอินเดียมาเฉลิมฉลองวันประสูติของพระพิฆเนศ ภาพถ่ายโดย BILLEASY, UNSPLASH

สักสินาห์ยังคงเฉลิมฉลองวันตรุษจีนกับเพื่อนๆ ชาวจีนที่เติบโตมาด้วยกัน และเคยเล่นไพ่นกกระจอกด้วยกัน นอกจากนี้ เธอกล่าวว่าเธอรักเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งเป็นเทศกาลที่รวมตัวเพื่อนๆ ของเธอได้มากที่สุด

“ถึงแม้ว่าฉันไม่ได้เฉลิมฉลองในแง่ของศาสนา แต่ฉันก็รักเทศกาลคริสต์มาสซึ่งเป็นวันหยุดของครอบครัว เพื่อน ในช่วงใกล้วันปีใหม่ เป็นช่วงเวลาแห่งการรำลึกว่าช่วงปีที่ผ่านมาว่าได้ให้อะไรกับเราบ้าง และได้แสดงออกถึงความรู้สึกขอบคุณซึ่งกันละกัน” เธอกล่าวเสริม

การละเล่นแข่งเรือมังกร (Dragon Boat Festival) ในภาพพิมพ์แกะไม้ของคนจีนเมื่อครั้งอดีต ภาพถ่ายโดย NATIONAL MUSEUM OF SINGAPORE
การละเล่นแข่งเรือมังกร (Dragon Boat Festival) ในยุคปัจจุบัน ที่มีลักษณะการแข่งขันอย่างจริงจังมากขึ้น ภาพถ่ายโดย SINGAPORE DRAGON BOAT ASSOCIATION

งานแต่งงานในสิงคโปร์ก็ถือเป็นตัวเร่งการหลอมรวมและพัฒนาการของมรดกทางวัฒนธรรมของสิงคโปร์ ในปี 2017 ราวหนึ่งในห้าของการแต่งในสิงคโปร์เป็นการแต่งงานของชุมชนต่างเชื้อชาติ

“มันไม่ใช่เรื่องยากที่จะแต่งงานกับแอนิตาเลยครับ เพราะในสิงคโปร์ เราต่างมีเพื่อนจากทุกที่ เราเลยมีการปรับตัวทางวัฒนธรรมได้ง่ายมาก” Siu Kan ชายหนุ่มเชื้อสายจีนที่แต่งงานกับแอนิตา หญิงสาวเปอรานากัน (ลูกครึ่งมลายู-จีน ในไทยอาจเรียกว่าชาวบาบ๋า-ยาย๋า) “ในตอนแรก พ่อแม่ของฉันอยากให้ฉันแต่งงานกับชาวเปอรานากันด้วยกันมากกว่า แต่พอเวลาผ่านไป พวกเขาก็ยอมรับเรามากขึ้นค่ะ” แอนิตา กล่าว

กถักกฬิ, พหุวัฒนธรรม, สิงคโปร์
ระบำกถักกฬิ (Kathakali) การเต้นที่มีรากกำเนิดจากทางตอนใต้ของอินเดีย ใช้เครื่องแต่งกายสีสันสดใสและใช้มือร่ายรำอย่างซับซ้อน แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์คือการแสดงออกทางใบหน้าและสายตาของนักแสดง ซึ่งถือเป็นวิธีการสื่อผ่านเรื่องราวไปยังผู้ชม ภาพถ่ายโดย NATIONAL HERITAGE BOARD

มรดกทางวัฒนธรรมถือเป็นสิ่งสำคัญในฐานะตัวตนของประวัติศาสตร์ประเทศ และเป็นรากเหง้าของชาวสิงคโปร์ การเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม และการทำตัวเองให้คุ้นเคยกับแนวคิดที่แตกต่างถือเป็นเรื่องสำคัญในสิงคโปร์ การมีประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยรวมกัน ถือเป็นถือเป็นฐานที่มั่นคงของหลายชุมชนในสิงคโปร์ที่จะเติบโตไปด้วยกัน

เรื่อง TAN J KEN


อ่านเพิ่มเติม ชีวิตในเมือง : อยู่เมืองใหญ่ ได้อะไร เสียอะไร

ชีวิตในเมือง

Recommend