การเป็น แหล่งมรดกโลก จะช่วยเรื่องภัยคุกคาม-ท่องเที่ยวเกินขนาด ได้ไหม

การเป็น แหล่งมรดกโลก จะช่วยเรื่องภัยคุกคาม-ท่องเที่ยวเกินขนาด ได้ไหม

การขึ้นทะเบียนสถานที่สักแห่งในทำเนียบ แหล่งมรดกโลก ของยูเนสโก อาจมาพร้อมความท้าทายต่างๆ จากการพัฒนา ถึงการท่องเที่ยวเกินขนาด

แหล่งมรดกโลก – เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2016 คณะผู้บริหารกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ประกาศสิ่งที่ฟังดูคล้ายข่าวน่ายินดีว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เพื่อสร้างลานสเกตนํ้าแข็งแห่งใหม่หน้าโรงแสดงคอนเสิร์ตแห่ง เวียนนา (Wiener Konzerthaus) อายุเก่าแก่กว่าหนึ่งศตวรรษ

สำหรับคนที่เคยไปเยือนบ้านเกิดของเบทโฮเฟิน (เบโธเฟน) และโมซาร์ท มาแล้ว ย่อมประจักษ์ถึงลักษณะสองประการอย่างรวดเร็ว ประการแรก หัวใจหรือแก่นสารของเวียนนาคือภูมิทัศน์ในฝันทางสถาปัตยกรรมของบรรดาปราสาทราชวัง ยุคบาโรก ลานกว้างเรียบร้อยสะอาดตา และศาลาว่าการเมืองศิลปะนีโอกอทิก ประการที่สอง คนออสเตรียรักกีฬาฤดูหนาว ซึ่งเผยให้เห็นอย่างแจ่มชัดในพิธีกรรม ณ ใจกลาง กรุงเวียนนาเป็นประจำช่วงต้นปีนับตั้งแต่ปี 1996 นั่นคือการสร้างลานสเกตนํ้าแข็งประจำฤดูกาล หรือ Eistraum (แปลว่า “ความฝันนํ้าแข็ง”) ซึ่งดึงดูดผู้มาเยือนหลายแสนคน

พูดอีกนัยหนึ่งคือ สเกตนํ้าแข็งเป็นเอกลักษณ์ของเวียนนา พอๆ กับไส้กรอกนานาชนิดและวงซิมโฟนีนั่นเอง จึงไม่น่ามีใครคาดคิดว่า แนวคิดเรื่องลานสเกตนํ้าแข็งถาวรที่จะอยู่ภายในอาคารคอมเพล็กซ์สูงระฟ้าเพื่อลดสิ่งกีดขวางสำหรับคนเดินถนนให้มากที่สุดนี้จะกลายเป็นประเด็นเรียกแขกขึ้นมาได้ แต่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญที่ค้านสุดตัวคือคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก ซึ่งชี้ขาดว่า คอมเพล็กซ์ใหม่ดังกล่าวจะลดทอน “คุณค่าสากลอันโดดเด่น” ของพื้นที่ใจกลางกรุงเวียนนา

ใจกลางเมืองเก่าของกรุงเวียนนาเป็นหนึ่งในมรดกโลก 1,154 แห่งทั่วโลกของยูเนสโกซึ่งควรค่าแก่การปกป้องมาตั้งแต่ปี 2001 หลังประกาศคัดค้านลานสเกตนํ้าแข็งลอยฟ้า เมื่อปี 2017 คณะกรรมการมรดกโลกก็ใส่กรุงเวียนนาไว้ในบัญชี “สุ่มเสี่ยงต่ออันตราย” ร่วมขบวนกับมรดกโลกอื่น ๆ อีก 50 แห่ง หากเวียนนาล้มเหลวในการคลี่คลายข้อกังวลของคณะกรรมการมรดกโลกได้อย่างน่าพอใจแล้วก็เสี่ยงที่จะถูก “ถอดถอน” จากบัญชีรายชื่อพื้นที่สำคัญของยูเนสโกไปตลอดกาล

แหล่งมรดกโลก, ลานสเกตนํ้าแข็ง, เวียนนา, ออสเตรีย
ลานสเกตนํ้าแข็ง (บน) ดึงดูด ผู้ชื่นชอบกีฬาฤดูหนาวมายังใจกลางเมืองทางประวัติศาสตร์ของเวียนนาตั้งแต่ปี 1996 ตอนนี้แผนการสร้างอาคารคอมเพล็กซ์สูงระฟ้าที่มีลานสเกตถาวรอยู่ภายใน กำลังเรียกเสียงวิพากษ์จากคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก ซึ่งชี้ว่า โครงการดังกล่าวอาจบั่นทอน “คุณค่าสากลอันโดดเด่น” ของศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์แห่งนี้

ข้อพิพาทเกี่ยวโยงระหว่างเมืองอันเป็นที่รักกับงานอดิเรกสุดโปรดของชาวเมืองนำพาความสนใจที่ไม่มีใครปรารถนามาสู่โครงการมรดกโลก ซึ่งเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีไปเมื่อ วันที่ 6 พฤศจิกายน ปี 2022 ยูเนสโกหรือองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารมรดกโลกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1945 ในฐานะส่วนหนึ่งของความพยายามนานาชาติหลังสงครามในอันที่จะส่งเสริมความเข้าใจทางวัฒนธรรมและสันติภาพที่จะตามมา ยี่สิบเจ็ดปีให้หลัง ชาติสมาชิกได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกจากภยันตรายต่าง ๆ

การปกป้องสิ่งที่เป็นพื้นที่เมืองใหญ่ซึ่งไม่มีการพัฒนา เพิ่มเติม เช่น ย่านใจกลางเมืองเก่าของเวียนนา เป็นข้อเสนอ สุดหินในตัวเองอยู่แล้ว และถือเป็นหนึ่งในความท้าทายหลาย ประการที่โครงการมรดกโลกของยูเนสโกพยายามดิ้นรนจัดการ มาตั้งแต่แรกดำเนินการในปี 1972

การขึ้นทะเบียนมรดกโลกประสบความสำเร็จอย่างไร้ข้อกังขาในการเชิญชวนผู้มาเยือนให้ไปยังท้องถิ่นห่างไกล ซึ่งมักเป็นสถานที่ที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ กระนั้นผลงานที่ผ่านมากลับมีทั้งสองด้าน โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงการป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวล้นทะลักแหล่งมรดกโลก

อย่างไรก็ตาม ท้องถิ่นบางแห่งประสบความสำเร็จในการจัดการกับการท่องเที่ยวเกินขนาดได้ด้วยตัวเอง เช่นเมือง ดูบรอฟนิกในโครเอเชียที่กำหนดเพดานจำนวนผู้มาเยือนศูนย์กลางประวัติศาสตร์ของตน แต่ก็ด้วยแรงกดดันจากยูเนสโก

แล้วยังมีกลุ่มวัดวาอารามสมัยศตวรรษที่สิบสองภายในนครวัดของกัมพูชา เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 1992 ศาสนสถานเหล่านี้ดึงดูดผู้มาเยือนปีละ 22,000 คน ปัจจุบัน ตัวเลขดังกล่าวพุ่งเป็นห้าล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็นสองเท่าในปี 2025

ยูเนสโกพอใจจะวางกรอบงานของตนที่นครวัดว่าเป็น “ต้นแบบการจัดการสถานที่ใหญ่มโหฬารที่ดึงดูดผู้มาเยือนหลายล้านคนและสามารถหล่อเลี้ยงประชากรขนาดใหญ่ในท้องถิ่นได้ด้วย” แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า การท่องเที่ยวแบบมวลชนส่งผลคุกคามแหล่งนํ้าใต้ดินในภูมิภาค ซึ่งย่อมเป็นภัยต่อเสถียรภาพของศาสนสถานต่าง ๆ ด้วย

แหล่งมรดกโลก, ศาลาว่าการเมือง, ศิลปะนีโอกอทิก, ออสเตรีย, เวียนนา
ศาลาว่าการเมืองศิลปะนีโอกอทิก ทำหน้าที่เป็นจุดสนใจด้านสถาปัตยกรรม ณ ใจกลางกรุงเวียนนา เมืองหลวงของออสเตรีย ย่านประวัติศาสตร์ของเมืองหลวงแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโกเมื่อปี 2001

การปกป้องมรดกโลกจากผู้เล่นตัวร้ายต่าง ๆ เป็นเรื่องเกินความสามารถของยูเนสโกมานานแล้ว การพุ่งเป้าทำลายล้างสมบัติลํ้าค่าทางวัฒนธรรมของประเทศหนึ่ง เพื่อสำแดงพลังอำนาจในสงครามกลายเป็นเรื่องพบเห็นได้จนชินตา ตั้งแต่กรณีเมืองอะเลปโปของซีเรีย ถึงซานาในเยเมน และที่เป็นเรื่องอื้อฉาวและน่าสลดใจในปี 2001 ก็คือความล้มเหลวของยูเนสโกในการหยุดยั้งการทำลายพระพุทธรูปบามีอาน

ไม่นานมานี้ ยูเนสโกต้องรับมือกับศัตรูหน้าใหม่ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อปี 2007 มีการตีพิมพ์งานวิจัยที่เขียนโดยคณะนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งออกมาเตือนถึงภัยคุกคามหนักขึ้นทุกทีในแหล่งมรดกโลก 26 แห่ง ซึ่งรวมถึงธารนํ้าแข็งพี้นที่ที่มีความสำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ

เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ ยูเนสโกมีเครื่องมือในการจัดการกับปัญหานี้อย่างจำกัด กรณีหนึ่งคือเกรตแบร์ริเออร์รีฟ แนวปะการังในตำนานของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ปี 1981 เมื่อปีที่แล้ว ยูเนสโกขู่จะนำระบบนิเวศแนวปะการัง อันไพศาลนี้มาใส่ไว้ในบัญชีสถานะ “สุ่มเสี่ยงต่ออันตราย” หากรัฐบาลออสเตรเลียไม่ทำงานหนักพอจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยหลักในการออกมาเตือนเช่นนั้น

หลังการล็อบบีอย่างหนักจากออสเตรเลีย คณะกรรมการมรดกโลกเลื่อนการตัดสินใจออกไปถึงปลายปี 2022 แม้ตามรายงาน รัฐบาลออสเตรเลียได้ให้คำมั่นว่าจะจัดสรรงบประมาณ 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อปกป้องแนวปะการังแล้ว ก็ยังต้องคอยดูต่อไปว่า ความชิงชังนโยบายความรับผิดชอบด้านภูมิอากาศระดับชาติของออสเตรเลียเองจะพลิกกลับได้หรือไม่ [อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ของยูเนสโกเสนอเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่าแนวปะการังนี้ควรอยู่ในรายการ “สุ่มเสี่ยงต่ออันตราย” ได้แล้ว]

เกรตแบร์ริเออร์รีฟ, ออสเตรเลีย, ปะการัง
ภัยคุกคามจากโลกร้อน : ยูเนสโกขึ้นทะเบียนเกรตแบร์ริเออร์รีฟของออสเตรเลียเป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อปี 1981 องค์กรนานาชาตินี้ขู่จะใส่แนวปะการังแห่งนี้ไว้ในรายการมรดกโลกที่ “สุ่มเสี่ยงต่ออันตราย” หากรัฐบาลออสเตรเลียไม่ทำงานหนักพอเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยหลักในการออกคำเตือนลักษณะนี้

ยูเนสโกมีแนวโน้มจะมีอิทธิพลมากกว่าในประเทศที่ยากจนกว่า เช่น เบลีซ ซึ่งแนวปะการังขนาดใหญ่อันดับสองของโลกถูกคณะกรรมการมรดกโลกจัดให้อยู่ในรายชื่อ “สุ่มเสี่ยงต่ออันตราย” มาตั้งแต่ปี 2009 กระทั่งเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จึงได้พ้นจากสถานะดังกล่าว เมื่อคณะกรรมการสดุดีเบลีซที่ทุ่มเทความพยายามอย่าง “สร้างสรรค์” หลายประการในการจัดการชายฝั่งให้ดีขึ้น

เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี อาจเป็นแหล่งมรดกโลกโด่งดังที่สุดที่ตกอยู่ในความเสี่ยง เมืองลากูนนี้ถูกรุมเร้าจากปัญหาการท่องเที่ยวเกินขนาดอย่างน่าพรั่นพรึง (25 ล้านคนในปี 2019) และอุทกภัยที่รุนแรงขึ้นทุกทีเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถึงอย่างนั้น ปีที่แล้วยูเนสโกก็ตัดสินใจไม่จัดให้เวนิสอยู่ในรายชื่อ “สุ่มเสี่ยงต่ออันตราย” นับเป็นชัยชนะเห็น ๆ ของกลุ่มล็อบบียิสต์จากรัฐบาลอิตาลี และความพ่ายแพ้ของกลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม

หลังการทำหน้าที่ด้วยการไม่ทำหน้าที่ของยูเนสโก ทางการเมืองเวนิสก็ลงมือจัดการปัญหาด้วยตัวเอง ตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้ เวนิสจะเป็นเมืองแรกในโลกที่เก็บค่าเข้าชม โดยหวังว่าจะชะลอการถล่มรายวันของนักท่องเที่ยว แล้วจะได้ผลไหม ถ้าได้ผล ยูเนสโกก็จะมีบทบาท ต่อให้ไม่ชัดเจนและไม่มีข้อสรุป แต่ก็ยังสำคัญอยู่ดี

แม้จะบกพร่องและไร้อำนาจในบางโอกาส แต่โครงการมรดกโลกก็ยังมีความหมาย ถึงจะไม่ได้มีสิ่งใดมากไปกว่าหลักการที่โครงการสนับสนุน กล่าวคือสมบัติอันหลากหลายของโลกจำเป็นต้องได้รับการพิทักษ์รักษา เพราะพวกมันปกป้องตัวเองไม่ได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องออกมาพูดว่า ลานสเกตนํ้าแข็งแห่งหนึ่งเป็นภัยต่อศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์ของเวียนนา อย่างที่ยูเนสโกทำ หากแม้คณะกรรมการมรดกโลกจะดำรงอยู่เพียงเพื่อเป็นศูนย์รวมของมโนธรรมบ้างแล้ว ในอีก 50 ปีข้างหน้า เราอาจตระหนักว่าคณะกรรมการนี้สำคัญมากขนาดไหน

เรื่อง โรเบิร์ต เดรเพอร์

ติดตามสารคดี ความท้าทายของแหล่งมรดกโลก ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2566

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/570167


อ่านเพิ่มเติม 6 สถานที่ มรดกโลกในประเทศไทย

Recommend