ทวงคืน สมบัติแผ่นดิน – การคืนสมบัติที่ฉกชิงมาไม่ทำให้พิพิธภัณฑ์ปิดตัว หากเป็นการเปิดประตูบานใหม่ๆ
ในช่วงเวลาที่เรียกกันว่า ลัทธิอาณานิคมในแอฟริกา ตั้งแต่ปี 1884 ถึง 1914 มหาอำนาจยุโรปยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ ในทวีปแอฟริกาเป็นอาณานิคม และรวบรวมของสะสมทางชาติพันธุ์เพื่ออนุรักษ์ ศึกษา และจัดแสดงศิลปวัตถุทางวัฒนธรรมที่ได้จากอาณานิคมใหม่ๆของตน แม้การสะสมจะเป็นแรงกระตุ้นที่หยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์มนุษย์ พิพิธภัณฑ์ที่เรารู้จักส่วนใหญ่เพิ่งถือกำเนิดในศตวรรษที่สิบเก้า โดยได้รับการออกแบบเพื่อแบ่งปันผลพวงจากการสำรวจและการพิชิตของชาวยุโรป
ลัทธิอาณานิคมทำให้การสะสมกลายเป็นความบ้าคลั่งอย่างหนึ่ง เจ้าอาณานิคมไม่ได้ส่งนักสำรวจไปทำแผนที่ ซอกมุมใหม่ๆของโลกเพื่อความรู้ล้วนๆ ฉันใด สิ่งต่างๆก็ไม่ได้เข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์เฉยๆ ฉันนั้น บรรดานักมานุษยวิทยา มิชชันนารี พ่อค้า และทหาร จับมือกับพิพิธภัณฑ์เพื่อขนสิ่งของล้ำค่าน่าอัศจรรย์กลับยุโรป ภัณฑารักษ์ถึงกับส่งรายการ สิ่งที่อยากได้ให้คณะสำรวจดินแดนอาณานิคมติดอาวุธด้วยซ้ำ


ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ภัณฑารักษ์และผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ ซึ่งมักถูกนักเคลื่อนไหวและผู้นำทาง การเมืองกดดัน พากันขุดลึกลงไปเพื่อสืบหาว่าสิ่งของต่างๆเข้ามายังพิพิธภัณฑ์ของตนได้อย่างไร และทำต่อไปอีกขั้น มากขึ้นเรื่อยๆ ในกระบวนการที่เรียกว่า การส่งกลับประเทศเดิมหรือการคืนสมบัติวัฒนธรรม พวกเขานำงานศิลปะ ของใช้ประกอบพิธีกรรม และซากศพมนุษย์ ออกจากตู้จัดแสดงและห้องเก็บของ แล้วส่งคืนไปยังชุมชนอันเป็นต้นทาง
เฉพาะในปีที่ผ่านมา เยอรมนีโอนสิทธิถือครองสิ่งของหลายร้อยรายการให้คณะกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์แห่งชาติไนจีเรีย ฝรั่งเศสส่งมอบศิลปวัตถุ 26 ชิ้นคืนแก่เบนิน และพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทนในนิวยอร์กบรรลุข้อตกลง โอนกรรมสิทธิ์ถือครองประติมากรรมหลายสิบรายการให้แก่กรีซ


“ราวปี 1900 ชาติต่างๆในยุโรปแข่งกันว่าใครจะมีของสะสมทางชาติพันธุ์ในครอบครองมากที่สุดค่ะ” เบเนดิกต์ ซาวัว ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่มหาวิทยาลัยเทคนิคเบอร์ลิน บอกและเสริมว่า “ตอนนี้ฉันคิดว่าเราแข่งกันเป็นชาติแรกที่ส่งของเหล่านั้นคืนค่ะ”
ภัณฑารักษ์จำนวนมากหวังว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นยุคใหม่แห่งการร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์กับชุมชนและประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดของในคลังสะสมของตน ขณะเดียวกัน นักวิจารณ์พากันวิตกว่า การส่งคืนอาจ จุดประกายปฏิกิริยาลูกโซ่ที่จะทลายความเป็น “สากล” ของพิพิธภัณฑ์ซึ่งอาศัยสิ่งจัดแสดงจากนานาชาติช่วยอธิบาย ความเชื่อมโยงกันของโลกได้อย่างแจ่มชัด


หากห้าปีที่ผ่านมาคือช่วงเวลาปฏิวัติมุมมองที่พิพิธภัณฑ์มีต่อคลังสะสมของตน ก็สมควรแล้วที่ประกายความคิดนั้นเกิดขึ้นในฝรั่งเศส ประเทศที่การปฏิวัติมากมายเริ่มต้นขึ้น เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2017 ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง เดินทางไปเยือนวากาดูกู เมืองหลวงของบูร์กินาฟาโซ อดีตอาณานิคมของฝรั่งเศสในแอฟริกาตะวันตก ต่อหน้านักศึกษาเต็มหอประชุม เขายอมรับ “อาชญากรรม” ในยุคล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส จากนั้นสุนทรพจน์ก็พลิกไปอย่างคาดไม่ถึง
“ผมไม่อาจยอมรับได้ที่มรดกวัฒนธรรมจำนวนมากของหลายประเทศในแอฟริกา เก็บอยู่ในฝรั่งเศส” มาครงบอกผู้ฟัง “เรื่องนี้มีคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ แต่ไม่มีเหตุผลรองรับที่ฟังขึ้น ยั่งยืน และปราศจากเงื่อนไข” เขาเสริมว่า ภายในห้าปี “ผมต้องการให้เกิดเงื่อนไขต่างๆที่รองรับการส่งคืนมรดกแอฟริกันสู่แอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร”


มารี-เซซิล ซินซู ผู้บริหารมูลนิธิซินซูที่เน้นศิลปะแอฟริกันร่วมสมัย ชมสุนทรพจน์ดังกล่าวที่หอศิลป์ของเธอในเบนิน อดีตอาณานิคมฝรั่งเศสอีกแห่ง และตะลึงไป “ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ค่ะ” เธอบอก “มันปุบปับราวกับพายุฝนฟ้าคะนอง” เพียงหนึ่งปีก่อนหน้านั้น คำขอคืนสมบัติวัฒนธรรมที่ทหารฝรั่งเศสยึดไปในทศวรรษ 1890 ของประธานาธิบดีเบนินถูกปฏิเสธอย่างทันทีทันควัน “ฝรั่งเศสปฏิเสธมาตลอดค่ะ” ซินซูเสริม
ไม่นานหลังมาครงกล่าวสุนทรพจน์นั้น ปาทรีซ ตาลง ประธานาธิบดีเบนิน ก็ยื่นคำขอคืนสมบัติวัฒนธรรมอีกครั้ง สภานิติบัญญัติฝรั่งเศสผ่านกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจคืนสิ่งของเหล่านั้นเมื่อปี 2020 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 ของต่างๆก็ส่งถึงทำเนียบประธานาธิบดีในเมืองโกโตนู “มรดกของเบนินกลับคืนมาแล้ว” ตาลงบอกกลุ่มผู้สื่อข่าวที่ร่วมอยู่ในพิธีเปิด

(ภาพถ่าย: จอห์น เวสลีย์ พาวล์, ALAMY STOCK PHOTO)

ตลอดหลายชั่วโมงที่ชนชั้นนำของเบนินเดินกระทบไหล่พูดคุยท่ามกลางศิลปวัตถุที่กลับคืนมาและผลงานจัดแสดงของศิลปินร่วมสมัยชาวเบนิน ภายในห้องโถงเพดานสูงคลาคล่ำไปด้วยคณะทูตานุทูต แม่หมอวูดูไม่สวมรองเท้า และเจ้าหน้าที่ทหารสวมเครื่องแบบสีดำทอง เหล่าเชื้อพระวงศ์ดาโฮมีย์ที่สวมสร้อยคอปะการังแดงเดินอาดๆผ่านสมบัติของบรรพบุรุษที่อยู่ในตู้กระจก
ตลอดสี่เดือนจากนั้น มีผู้เข้าชมนิทรรศการดังกล่าวเกือบ 200,000 คน บางครั้งต้องเข้าแถวหลายชั่วโมงเพื่อรอโอกาสเข้าชมศิลปวัตถุที่ได้คืนมา ผู้เยี่ยมชมส่วนใหญ่เป็นชาวเบนิน เป็นการตอกกลับความคิดที่ว่า ชาวแอฟริกันไม่สนใจในประวัติศาสตร์ของตนหรือพิพิธภัณฑ์
ซาวัวก็อยู่ในงานเลี้ยงที่โกโตนูคืนนั้นด้วย ดวงตาเธอเป็นประกายขณะมองไปรอบๆ ห้องจัดแสดงอันคลาคล่ำ “ก่อนที่การส่งคืนทั้งหมดนี้จะเริ่มขึ้น คนจำนวนมากพูดว่า ถ้าเราคืนสิ่งหนึ่งไป พิพิธภัณฑ์ของเราจะว่างเปล่า” เธอบอก “ฉันคิดว่าไม่เป็นแบบนั้นหรอกค่ะ”

เรื่อง แอนดรูว์ เคอร์รี
ภาพถ่าย ริชาร์ด บาร์นส์
แปล ศรรวริศา เมฆไพบูลย์
ติดตามสารคดี ทวงคืนสมบัติแผ่นดิน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือน มีนาคม 2566
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/571854