สังคม ชายเป็นใหญ่ อาจเป็นบรรทัดฐานปกติในยุคปัจจุบัน แต่ชีววิทยาไม่ได้กำกับให้เป็นไปเช่นนั้น และประวัติศาสตร์ก็แสดงให้เราเห็นว่ามีทางเลือกอื่นๆ
ความี แอนโทนี แอปเพียห์ นักปรัชญา เคยตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดบางคนถึงอยากเชื่อว่า เราเคยมีอดีตที่เสมอภาคกัน เพื่อที่จะคิดจินตนาการถึงอนาคตอันเท่าเทียม
พวกเราหลายคนใคร่ครวญถึงเรื่องที่การกดขี่ทางเพศสภาพคอยบงการสังคมของเรา และนึกสงสัยว่า เคยมีสักครั้งไหมที่พวกผู้ชายไม่มีอำนาจมากขนาดนี้
ปิตาธิปไตยซึ่งมีนัยถึงการมอบอำนาจและการบังคับควบคุมทั้งหมดแก่ฝ่ายบิดา บางครั้งดูเหมือนการสมคบคิดที่ทอดยาวลึกลงไปในกาลเวลา แม้แต่คำเรียกที่ว่านี้ก็กลายเป็นเหมือนโครงสร้างใหญ่โตครอบงำทุกอย่างที่บรรดาผู้หญิง เด็กหญิง และชาวนอนไบนารี [nonbinary – สำนึกทางเพศที่ไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ชาย – หญิง] ทั้งหลายในโลกถูกล่วงละเมิด และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม จากความรุนแรงในครัวเรือนและการข่มขืน ไปจนถึงช่องว่างด้านรายได้ที่มีเหตุจากเพศสภาพและสองมาตรฐานด้านศีลธรรม ความใหญ่โตนี้ช่างเกินควบคุม
แต่มันมีมาเนิ่นนานขนาดไหน และเป็นสากลมากน้อยเพียงใด
ที่ผ่านมา นักประวัติศาสตร์ นักมานุษยวิทยา นักโบราณคดี และเฟมินิสต์หรือนักสตรีนิยม ล้วนพิศวงกับคำถามนี้ เมื่อปี 1973 สตีเวน โกลด์เบิร์ก นักสังคมวิทยาตีพิมพ์หนังสือชื่อ The Inevitability of Patriarchy ที่เสนอว่าความแตกต่างขั้นพื้นฐานทางชีววิทยาระหว่างชายกับหญิงนั้นลึกลํ้าถึงขนาดที่ว่า ระบบปิตาธิปไตยมักชนะขาดลอยในสังคมมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย
ปัญหาของเรื่องนี้คือ ความเป็นใหญ่ของชายไม่ใช่เรื่องสากล ยังมีสังคมที่สืบสายจากฝั่งมารดาอยู่มากมายทั่วโลก สังคมเหล่านี้จัดระเบียบผ่านทางฝ่ายมารดาแทนที่จะเป็นบิดา โดยชื่อเสียงเรียงนามและทรัพย์สินถูกส่งต่อจากแม่สู่ลูกสาวในบางภูมิภาค ประเพณีนี้ก็สืบย้อนกลับไปได้หลายพันปี
นักวิชาการฝั่งตะวันตกคิดค้นทฤษฎีมาหลายสิบปีเพื่ออธิบายว่า เหตุใดสังคมเหล่านี้จึงปรากฏขึ้นมาได้ บ้างอ้างว่าการสืบทอดจากฝ่ายแม่อยู่รอดได้ก็แต่ในสังคมเก็บของป่าล่าสัตว์หรือทำเกษตรพื้นฐานเท่านั้น แต่ไม่ใช่ในสังคมขนาดใหญ่ ขณะที่คนอื่น ๆ บอกว่า สังคมรูปแบบนี้ใช้การได้ดีที่สุดเมื่อผู้ชายมักต้องออกไปรบ เหลือแต่พวกผู้หญิงจัดการบ้านเรือน กระนั้นหลายคนก็แย้งว่า การสืบทอดจากฝั่งแม่สิ้นสุดลงทันทีที่ผู้คนเริ่มเลี้ยงปศุสัตว์ เพราะพวกผู้ชายต้องการควบคุมทรัพยากรเหล่านี้โดยเชื่อมโยงปิตาธิปไตยเข้ากับทรัพย์สินและที่ดิน
ถึงอย่างนั้น บรรดาสังคมที่สืบสายจากฝั่งแม่มักถูกมองว่าเป็นกรณีผิดปกติวิสัยเสมอ ดังที่ลินดา สโตน นักมานุษยวิทยา กล่าวไว้ว่า “รุมเร้าด้วยแรงกดดันสารพัด ทั้งเปราะบางและหายาก อาจถึงขั้นสูญสิ้นไปในไม่ช้าด้วยซํ้า” ปัญหาดังกล่าวรู้จักกันดีในแวดวงวิชาการว่า ปริศนาการสืบทอดฝ่ายมารดา ในทางกลับกัน การสืบทอดทางฝ่ายบิดาถูกมองว่าไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบายใด ๆ มันก็แค่เป็นเช่นนั้น
เมื่อปี 2019 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์พยายามไขปริศนาดังกล่าว โดยวิเคราะห์ชุมชนต่าง ๆ ที่สืบสายทางแม่เพื่อดูว่ามีสิ่งใดเหมือนกันบ้าง คณะวิจัยทดสอบทฤษฎียอดฮิตต่าง ๆเกี่ยวกับการสืบสายฝ่ายมารดาเช่นที่พูดถึงข้างต้นและพบว่าไม่เป็นความจริงเลยในทุกกรณี
นิโคล ครีแอนซา ซึ่งทำงานวิจัยดังกล่าว บอกว่า ปัจจัยหนึ่งที่ดูเหมือนจะส่งผลต่อการที่สังคมหนึ่งเคลื่อนไปจากการสืบสายทางฝ่ายแม่ก็คือ “เมื่อประชากรมีทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายและส่งทอดกันได้ พอลูกหลานได้รับมรดกที่เป็นสมบัติของเราพวกเขาก็อาจมีฐานะตั้งตัวได้” แต่เหตุผลนี้ยังไม่เข้าเค้านัก แต่ละสังคมซับซ้อนเกินกว่าจะลดทอนให้เหลือเพียงปัจจัยธรรมดา ๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางชีวภาพหรือสิ่งแวดล้อม หรือเหตุผลอื่น ๆ
ในหนังสือ Patriarcha ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1680 เซอร์โรเบิร์ต ฟิลเมอร์ นักทฤษฎีการเมืองชาวอังกฤษ นิยามปิตาธิปไตยว่าเป็นการปกครองตามธรรมชาติของบิดาเหนือครอบครัว และกษัตริย์เหนือรัฐของตน แต่สิ่งที่เรามักเห็นในสังคมที่สืบสายทางแม่ก็คือ ผู้หญิงและผู้ชายแบ่งสรรอำนาจกัน หรือต่อให้การสั่งการสำคัญ ๆ ตกอยู่ในมือของบรรดาพี่น้องหรือญาติฝ่ายชาย ก็มักเป็นการสั่งการตามสถานการณ์ หรือเป็นการกระจายอำนาจมากกว่าเบ็ดเสร็จ
คุณลักษณะที่กำหนดสังคมสืบทอดทางฝ่ายมารดา ตามที่สโตนเขียนไว้ก็คือ “การแปรผันเป็นอย่างมาก” ใน “การสั่งการ อำนาจ และอิทธิพล ทั้งในหมู่เพศชายและเพศหญิง” ซึ่งในอดีตอาจมีความผันแปรมากกว่านี้ด้วยซํ้า ในยุคก่อนประวัติ-ศาสตร์ บรรทัดฐานทางสังคมเคลื่อนที่อยู่เสมอ ครีแอนซาอธิบายว่า สิ่งที่มุมมองหนึ่งเห็นว่าเป็นความไร้เสถียรภาพที่แก้ไขตัวเอง เช่น เปลี่ยนจากการสืบทอดทางสายแม่เป็นทางสายพ่อ อีกมุมมองหนึ่งอาจเห็นว่าเป็นการเคลื่อนจากภาวะที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพหนึ่งสู่อีกภาวะที่มีเสถียรภาพเช่นกันก็ได้
ในทุกหนแห่ง ไม่ว่าที่ใด ผู้คนมักผลักดันสังคมของตนเองให้มีโครงสร้างต่างออกไปเสมอ เพื่อที่ผู้ถูกกดขี่จะมีเสรีภาพหรืออภิสิทธิ์มากขึ้น แอน ฟิลลิปส์ นักทฤษฎีการเมืองเขียนไว้ว่า “ต่อให้มีโอกาสน้อยขนาดไหน ไม่ว่าใครก็ตามจะเลือกความเสมอภาคและความยุติธรรมมากกว่าความไม่เสมอภาคและความอยุติธรรมเสมอ พูดโดยรวม ๆ แล้ว การยอมจำนนไม่ใช่สิ่งที่คนทั้งหลายโอบรับตามธรรมชาติ”
ข้อโต้แย้งของโกลด์เบิร์กซึ่งเป็นนักสังคมวิทยาก็คือ หากแบบแผนพฤติกรรมหนึ่งเป็นสากลแล้ว มันก็อาจมีพื้นฐานทางชีววิทยารองรับ และไม่ว่าอำนาจทางการเมืองของผู้หญิงจะมีน้อยเพียงใด พวกเธอน่าจะรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าโดยธรรมชาติ แต่อย่างที่ฟิลลิปส์อธิบาย ไม่มีที่ไหนที่พวกผู้หญิงจะยอมตามผู้ชายโดยไม่ดิ้นรนต่อสู้ จากสหรัฐอเมริกาถึงอิหร่าน พวกเธอต่อสู้เพื่อให้มีสิทธิและอภิสิทธิ์มากขึ้นมานานหลายศตวรรษแล้ว เมื่อมองแบบนี้ เราอาจตั้งคำถามว่า ทำไมสังคมที่สืบทอดทางฝ่ายแม่ยังถูกมองว่าไม่มั่นคงอย่างมาก ทั่วโลก ขบวนการเคลื่อนไหวที่ร้อนแรงเพื่อความเสมอภาคทางเพศสภาพ ซึ่งบางครั้งโน้มเอียงไปสู่การประท้วงที่รุนแรง บ่งชี้ว่าปิตาธิปไตยเองก็ไม่มั่นคงหรือมีเสถียรภาพอย่างที่คิดเช่นกัน บางทีปริศนาของการสืบทอดทางฝ่ายแม่ที่แท้จริง หาใช่การมีอยู่ของสังคมที่มุ่งสนใจแต่ฝ่ายหญิง หากเป็นการมีอำนาจสูงสุดแบบพิลึกพิลั่นของสังคมที่มุ่งสนใจแต่ฝ่ายชายต่างหาก
ถ้าเรายอมรับชะตากรรมว่าเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติของเราแล้ว เท่ากับว่าเรายอมจำนนที่จะทำความเข้าใจว่า มันมีความเป็นมาเช่นนี้ได้อย่างไร
ส่วนที่อันตรายที่สุดของการกดขี่มนุษย์รูปแบบต่าง ๆ ก็คือ มันอาจทำให้ผู้คนเชื่อว่าไม่มีทางเลือกอื่น เราเห็นเรื่องนี้ในตรรกะวิบัติเดิม ๆ ว่าด้วยเชื้อชาติ วรรณะ และชนชั้น คำถามสำหรับทฤษฎีใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นใหญ่ของฝ่ายชายก็คือเหตุใดความไม่เสมอภาครูปแบบนี้ควรได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นข้อยกเว้น
เรื่อง แอนเจลา เซอินี
ผู้สื่อข่าววิทยาศาสตร์ เป็นผู้เขียนหนังสือ Superior และ Inferior เกี่ยวกับการเหยียดเพศและการเหยียดเชื้อชาติในวิทยาศาสตร์
บทความชิ้นนี้คัดจากหนังสือเล่มใหม่ของเธอ The Patriarchs: How Men Came to Rule
ติดตามสารคดี ปิตาธิปไตย หาใช่โชคชะตา ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือน เมษายน 2566
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/574217