“บ้าน” ของคนสร้างบ้าน เมื่อคุณภาพชีวิตในแคมป์คนงานก่อสร้าง กำลังถูกพัฒนาให้สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“บ้าน” ของคนสร้างบ้าน เมื่อคุณภาพชีวิตในแคมป์คนงานก่อสร้าง กำลังถูกพัฒนาให้สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ในเมืองใหญ่ที่เราใช้ชีวิตอยู่ มีทั้งตึกสูงและอาคารในแนวราบ มีแรงงานที่ทำหน้าที่ก่อร่างสร้างขึ้นมา ตามกฎหมายแล้ว แคมป์คนงานก่อสร้างต้องอยู่ไม่ไกลจากที่ตั้งโครงการราว 200 เมตร แล้วเราเคยสงสัยไหมว่า พวกเขาไปอยู่ที่ไหนกัน แล้วชีวิตนับร้อยและหลายร้อยเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร

จินตนาการได้ไม่ยาก เมื่อต้นทุนของที่พักคนงานถูกคำนวณอยู่ในต้นทุนของการประมูลงานก่อสร้าง ต้นทุนจึงจำต้องไม่สูงเกินไป แม้ที่จริงจะเกณฑ์ด้านคุณภาพชีวิตแรงงานเกณฑ์ในการเลือกบริษัทก่อสร้างก็ตาม แต่ราคาประมูลที่ต่ำที่สุดอาจกลายเป็นสิ่งที่ถูกพิจารณาอันดับต้นๆ เพื่อควบคุมต้นทุน ที่อยู่อาศัยของเหล่าคนงานก่อสร้างจึงต้องจำกัด และหลายครั้งก็จำเขี่ย เพิงสังกะสีที่ไร้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน คนงานที่ไม่อาจเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ จึงเป็นภาพจำของคนทั่วไป ไม่ใช่แค่ภาพจำหรอก เป็นภาพจริงของแคมป์คนงานกว่า 70%

ถ้าต้องการเปลี่ยนภาพจำ ต้องทำอย่างไร

ตอนนี้กำลังมีบริษัทก่อสร้างหลายแห่งที่ไม่ต้องการให้ชีวิตของคนงานก่อสร้างยังคงติดอยู่กับภาพเหล่านั้น พวกเขาลงมือปรับปรุงคุณภาพชีวิตในแคมป์คนงานก่อสร้างให้มีมาตรฐานสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

หลังกำแพงชั่วคราวแต่แข็งแรงกั้นเป็นสัดส่วนจากชุมชนใกล้เคียงย่านเจริญกรุง คือแคมป์คนงานก่อสร้าง ที่พักอาศัยของแรงงานทั้งไทย เมียนมา และกัมพูชา ของบริษัท วิศวภัทร์ จำกัด ที่มีระบบการรักษาความปลอดภัยเคร่งครัด ผู้ที่จะเข้าไปในเขตที่พักอาศัยของพวกเขาได้ต้องสแกนใบหน้า ลายนิ้วมือ หรือบัตรผ่านประจำตัวของบริษัท และไม่อนุญาตให้นำบุคคลภายนอกเข้าก่อนได้รับอนุญาตจากทางบริษัท

เมื่อเดินผ่านประตูรักษาความปลอดภัยเข้าไปในแคมป์ เป็นช่วงบ่ายที่คนงานส่วนใหญ่ยังไม่กลับจากการทำงาน แต่ก็มีบางส่วนที่นั่งเล่น นั่งคุย นั่งดูเด็กๆ ที่เล่นสนุกอยู่แถวนั้น เพราะทางบริษัทอนุญาตให้มีผู้ติดตามมาพักอาศัยเพื่ออยู่ดูแลลูกหลานของเขาได้

แคมป์คนงานก่อสร้าง
“การลงทุนสร้างแคมป์ที่ดีใช้เงินลงทุนสูง แต่วัสดุเหล่านี้นำไปใช้ซ้ำได้ ลดการซื้อของใหม่ โครงสร้างทั้งหมดมีระบบจัดการ มีรหัสทุกชิ้น สามารถตรวจสอบบริหารจัดการการใช้งานได้ แม้จะลงทุนสูงกว่า แต่เราให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้พักอาศัย” ดลชากร กล่าว

“บ้าน” ของคนงานก่อสร้างที่นี่ปลูกขึ้น 2 ชั้นด้วยวัสดุที่สามารถรื้อประกอบใหม่ใช้ต่อได้หลายครั้ง สร้างบนพื้นเทคอนกรีตเรียบร้อย โดยรอบสะอาดสะอ้าน มีถังขยะแยกประเภท  มีห้องน้ำแยกชาย – หญิง ลานซักล้าง ร้านขายของชำ ซึ่งเปิดให้ครอบครัวแรงงาน หรือผู้รับเหมาที่พักภายในแคมป์ได้เปิดร้าน เป็นการคืนประโยชน์ให้กับแรงงาน มีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ระบบไฟฟ้า ประปา ระบบป้องกันอัคคีภัย กล้องวงจรปิด และพื้นที่เล่นของเด็กๆ ต่างจากภาพจำภาพจริงของแคมป์สังกะสีโดยสิ้นเชิง

“เราพยายามทำให้ที่นี่เป็นเหมือนเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ ที่มีระบบดูแลความปลอดภัยไม่ให้คนภายนอกเข้าออกได้ ก็เมื่อเขาฝากชีวิตไว้กับเรา เราก็ต้องดูแลเขา ให้ความปลอดภัยกับเด็กๆ กับผู้ติดตามที่เป็นครอบครัวของเขา” ดลชากร วงค์อิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ของวิศวภัทร์ เล่าให้ฟัง

ห้องน้ำแยกชาย – หญิง ตอนนี้ดูเหมือนเป็นมาตรฐานที่แคมป์คนงานยุคใหม่ต้องมี จากการล้อมวงตักอาบรอบบ่อด้วยกัน นี่เคยเป็นเรื่องยากมากในการเปลี่ยน เพราะวัฒนธรรมที่แตกต่าง สามีภรรยาต้องอาบน้ำด้วยกัน กว่าจะสื่อสารให้เข้าใจถึงเรื่องสิทธิต้องใช้เวลา ในมุมหนึ่งก็ชวนคิดว่าระหว่างวัฒนธรรมกับสิทธิมนุษยชนที่มาทีหลังอะไรจะสำคัญกว่า แต่ภายใต้การอยู่ร่วมกันของผู้คนต่างชาติต่างวัฒนธรรม การเลือกใช้บรรทัดฐานเพียงหนึ่งก็เป็นสิ่งที่จำเป็น

วิศวภัทร์คือหนึ่งในบริษัทที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสให้เด็กๆ ที่เติบโตในแคมป์คนงานก่อสร้าง โดยเฉพาะลูกหลานของแรงงานพิสูจน์สัญชาติ หรือแรงงานข้ามชาติ หรือแรงงานต่างด้าวที่เรียกกันทั่วไป เพราะแรงงานในภาคก่อสร้างไทย ตอนนี้ไปอยู่ที่แรงงานชาวเมียนมาและกัมพูชามากกว่าแรงงานไทยเกินครึ่ง

แคมป์คนงานก่อสร้างทั่วไป มักมีปัญหาเรื่องการจัดการขยะ เพราะมีคนอาศัยอยู่จำนวนมาก เมื่อมีระบบการจัดการ ขยะและของเสียที่ดี สามารถดูแลสุขลักษณะได้ตั้งแต่ในแคมป์ และไม่สร้างปัญหาให้ชุมชนข้างเคียง

มูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็กเร่ิมต้นงานที่เชียงใหม่ แล้วขยายมาสู่กรุงเทพฯ จากจุดตั้งต้นที่เน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ทางมูลนิธิเห็นว่าการจะคลี่คลายปัญหาหลายอย่างในแคมป์คนงานก่อสร้างต้องแก้ที่ระบบ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนมากกว่าการแก้ปัญหาทีละจุดผ่านทีละโครงการแล้วจบไป หากมีเครื่องมือที่เข้ามาช่วยเป็นแนวทางให้แก่บริษัทก่อสร้างซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลชีวิตของคนงานโดยตรงจะยั่งยืนยิ่งกว่า

ทางมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็กจึงได้พัฒนาเครื่องมือที่ชื่อว่า Self Assessment Tool (SAT) โดย Building Social Impact Initiative โครงการสร้างเสริมผลลัพธ์ที่ดีทางสังคม สำหรับพัฒนาแคมป์ที่พักของคนงานก่อสร้าง ร่วมกับบริษัทก่อสร้างที่เห็นปัญหาและมีเป้าหมายในทิศทางเดียวกัน จัดทำเป็นแนวทางปฏิบัติ 4 ด้านหลักคือ โครงสร้างพื้นฐาน สวัสดิการและบริการ สุขภาพ และการศึกษา

วิศวภัทร์มาเจอกับเครื่องมือ BSI ในจังหวะที่ทางบริษัทกำลังคิดจะเปลี่ยนที่อยู่อาศัยของคนงานให้มีคุณภาพในแบบที่ควรเป็น แล้วจะเป็นอะไรได้บ้างล่ะ จากที่มูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็กติดต่อมาขอทำกิจกรรมสำหรับเด็กๆ ในแคมป์ การสนทนาก็ขยายต่อมาถึงการพัฒนาแคมป์ให้ได้มาตรฐานซึ่งเป็นเป้าหมายที่ตรงกัน พวกเขาจึงร่วมกันพัฒนาเครื่องมือนี้ด้วยกันมาตั้งแต่ต้น

“วิศวภัทร์มีความรู้เรื่องวัสดุและการก่อสร้าง ด้านโครงสร้างพื้นฐานต้องให้เขาแนะนำ ส่วนบ้านเด็ก เรามีองค์ความรู้เรื่องสุขภาพ สิทธิขั้นพื้นฐาน และการศึกษา ก็นำมาคิดร่วมกัน ว่าอะไรทำได้ อะไรที่ต้องปรับ ถึงตอนนี้ BSI ก็มีเวอร์ชั่น 2 แล้ว” ธนดล ฉันทะธาดาวงศ์ ผู้จัดการอาวุโสด้านการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน มูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก บอกว่าการทำงานของ BSI เป็นแบบ Co-Design คือออกแบบร่วมกันกับแต่ละบริษัท “สิ่งที่มีอยู่ในแต่ละแคมป์ต่างกัน เราไม่สามารถนำมาตรฐานเดียวไปวัดได้ และทุกเครื่องมือต้องมีการพัฒนาเวอร์ชั่นไปเรื่อยๆ หยุดเมื่อไหร่ก็ไม่สามารถนำไปใช้กับโลกที่เปลี่ยนไปได้”

เมื่อดูจากแนวปฏิบัติดังกล่าว บริษัทต้องดูแลมากกว่าที่พักอาศัย แต่รวมถึงการสนับสนุนความรู้และบริการต่างๆ โดยมีแคมป์บอสหรือผู้จัดการแคมป์ และพ่อบ้าน ตำแหน่งของผู้ดูแลแคมป์ ซึ่งได้รับการอบรมความรู้ด้านต่างๆ ให้สามารถช่วยเหลือคนงานและเด็กๆ ในเรื่องเหล่านี้ได้

คนหลายคน ล้อมวง กินหมูกระทะ
มื้อเย็นของครอบครัวเริ่มต้นขึ้นเมื่อพ่อแม่กลับมาจากการทำงาน แคมป์นี้ไม่อนุญาตให้ดื่มเหล้า และงดส่งเสียงดังหลัง 2 ทุ่ม เพื่อให้อยู่ร่วมกับชุมชนรอบข้างได้สบายใจ

อย่างการศึกษาของเด็กๆ พ่อบ้านแคมป์ก็สามารถพาเด็กเข้าโรงเรียนได้ แรงงานที่นี่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย ลูกๆ ของพวกเขาซึ่งเป็นผู้ติดตามก็ได้สิทธิเรียนฟรีจนถึง ม.3 ตามนโยบาย Education for All หรือการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน ที่ไทยดำเนินตามหลักสากลตั้งแต่ปี 2533 แต่ที่ผ่านมาพ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ได้อยากให้ลูกไปโรงเรียน เพราะคิดว่าจะเรียนทำไม โตมาก็เป็นแรงงานเหมือนกัน บางส่วนไม่อยากให้ไปโรงเรียน เพราะกลัวลูกจะถูกล้อ ถูกกลั่นแกล้ง แต่ทางบริษัทพยายามผลักดันเรื่องนี้ผ่านพ่อบ้าน และสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนเริ่มต้นให้ รวมถึงจัดรถรับ-ส่งเด็กไปโรงเรียนด้วย

พี่พล พ่อบ้านแคมป์ (คนกลาง เสื้อเขียว) ตำแหน่งงานที่ต้องอาศัยคนอยู่มานาน มีประสบการณ์ รู้เรื่องความเป็นอยู่ในแคมป์ดี ที่สำคัญคือต้องมีทักษะในการสื่อสารกับผู้คน เปิดกว้างต่อการเรียนรู้ เพราะหน้าที่หลักนอกจากการดูแลความเป็นอยู่ทั่วไป คือส่งต่อความรู้เรื่องสิทธิ และส่งเสริมคนงานให้เข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้

พี่พล พ่อบ้านของแคมป์ที่เจริญกรุง ทำงานที่วิศวภัทร์มา 17 ปีแล้ว เขารู้จักแรงงานที่หมุนเวียนเปลี่ยนแคมป์ใน 10 แคมป์ในกรุงเทพฯ ของวิศวภัทร์เกือบทั้งหมด งานหนึ่งที่พี่พลทำอย่างเต็มใจคือการหว่านล้อมพ่อแม่ด้วยเหตุผลต่างๆ ท้ายที่สุด เมื่อบรรดาพ่อแม่เห็นเด็กๆ ที่ไปโรงเรียนมีพัฒนาการที่ดี อ่านออกเขียนได้ เข้าสังคมได้ดีขึ้น ก็อยากให้ลูกเข้าโรงเรียนบ้าง และหลังๆ ก็เป็นเด็กๆ เองที่มาเล่าสู่กันฟังถึงความสนุกที่ได้ไปโรงเรียน ทำให้เด็กรุ่นเล็กอยากไปเรียนบ้าง หลังจากผลักดันเรื่องนี้มาปีกว่า ที่นี่ 80% ของเด็กๆ ราว 50 คนที่นี่ก็ได้เข้าเรียนกันแล้ว

เด็กๆ เข้าประเทศไทยในฐานะผู้ติดตามของพ่อแม่ พวกเขาผ่านการพิสูจน์สัญชาติ และมีบัตรประจำตัวสีชมพู เมื่อถึงอายุ 15 เขาก็หมดสถานะของผู้ติดตาม ต้องไปทำพาสปอร์ตของตัวเอง และขอวีซ่าอยู่ต่อ ตามทางเลือกและโอกาสของพวกเขา

“ผมอยากให้ลูกเรียนที่นี่ยาวๆ ส่งเขาเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้ แล้วหลังจากนั้นเขาอยากจะทำงานอะไรให้เขาเลือกเอง” ดีน่า ชาวเมียนมา พูดถึงลูกชาย ฮอง วัย 8 ขวบ เขาเข้ามาทำงานในไทย 10 ปีกว่าปีแล้ว มีทักษะการก่อสร้างทุกรูปแบบ จนพัฒนาเป็นหัวหน้าชุด คือผู้ที่ทำงานได้ดีและมีลูกน้องในทีมทำงาน ซึ่งไม่ได้เกิดจากการแต่งตั้งใดๆ แต่เป็นการดูแลกันระหว่างพวกพ้อง ทั้งในเรื่องงานและการดูแลทั่วไป

เขาเล่าว่าก่อนที่แคมป์จะพัฒนา มีระเบียบต่างๆ ก็มีปัญหาบ้างเรื่องเสียงดัง ทะเลาะวิวาท แต่ในระยะหลัง ที่มีการจัดการในแคมป์ดีขึ้น ปัญหาต่างๆ ก็ลดลงมาก

อีกหนึ่งบริษัทที่ทำงานกับ BSI คือ บมจ. ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น ที่ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสวัสดิการต่างๆ ของแคมป์คนงานมาหลายปีแล้ว และกำลังจะต่อยอดในเรื่องระบบและบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น

ผู้ชาย ขี่จักรยาน ในแคมป์ ที่พักของคนงานก่อสร้าง
แคมป์สองชั้นของบมจ. ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น ใช้โครงสร้างประกอบขึ้นจากวัสดุหมุนเวียน ผสมผสานทั้งเก่าและใหม่ “หากกฎหมายเอื้อให้ทำแคมป์ถาวรได้ หรือไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้โครงการ 200 เมตร เราอาจมีที่ทางให้ลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานที่ถาวรและดียิ่งขึ้นกว่านี้” โศจิรัตน์ กล่าว

แคมป์ย่านกำแพงเพชร 7 ของซินเท็คเป็นแคมป์ใหญ่ที่มีพื้นที่ราว 7 ไร่ มีห้องพักกว่า 700 ห้อง รองรับคนงานได้พันต้นๆ กำลังจัดทำฐานข้อมูลคนงาน เพื่อทำระบบสแกนใบหน้าเข้า-ออกขึ้นมา นอกจากเพื่อความปลอดภัยแล้ว ยังแก้ปัญหาเรื่องแรงงานแฝงที่อาจมาพร้อมกับผู้รับเหมาช่วง (Subcontractor)

คนงานของซินเท็คมีอัตราส่วนระหว่างคนไทยและคนต่างชาติครึ่งต่อครึ่ง คนไทยมีอยู่ทั้งหมดราว 3,000 คน แต่คนงานในแคมป์ที่เป็นต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานของผู้รับเหมาช่วง บริษัทก็ดูแลเหมือนกับคนงานของตัวเอง มีการให้ความรู้ข้อมูลเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล สิทธิการเข้าโรงเรียนของเด็กๆ ในภาพ ด.ญ.เตย หลานสาวของพี่เรียม พ่อบ้านแคมป์ ที่เป็นคนจังหวัดน่าน เมื่อถึงวัยเข้าเรียน พี่เรียมอาจจะพาน้องเตยกลับบ้านไปเรียนหนังสือที่จังหวัดบ้านเกิด

“พอที่พักเราดี บางทีก็มีการพาคนงานแฝงเข้ามาเป็นจุดพักคนงาน บางทีก็มีคนมาถ่ายรูปเอาไปอ้างในการพาคนงานเข้ามา” โศจิรัตน์ พรมจิตร Camp Manager / Board Advisor ของ บมจ. ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น เล่าให้ฟังระหว่างพาเดินดูในแคมป์

มุมล้างจานที่ลาดเอียงลงไปให้น้ำไหลระบายอย่างสะดวก มีตะแกรงรองเศษอาหารที่แม่บ้านแคมป์จะคอยตักไปทิ้ง รักษาความสะอาดไม่หมักหมม

โครงสร้างของที่พักที่นี่เป็นระบบน็อกดาวน์มี 2 ชั้น วัสดุต่างๆ สามารถรื้อประกอบนำไปใช้ซ้ำได้ 5 – 6 ปี สาธารณูปโภคพื้นฐานมีครบ เช่น แท็งก์น้ำที่รองรับการใช้งานของคนหลายร้อยคน ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำแยกชายหญิงแบ่งเป็นช่องกั้น ตู้กดน้ำ เครื่องซักผ้าแบบหยอดเหรียญ เครื่องฉีดล้างมอเตอร์ไซค์ ร้านขายของชำ ร้านก๋วยเตี๋ยว เป็นเหมือนหมู่บ้านที่มีส่วนกลางครบทุกอย่าง

ร้านค้า ร้านขายของชำ
ร้านขายของชำในแคมป์ของบมจ. ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น แหล่งจับจ่ายใกล้ตัวที่แคมป์ใหญ่ๆ มักมีให้ เด็กๆ ในแคมป์สามารถมาซื้อขนมและเซ็นไว้ในช่วงกลางวัน แล้วพ่อแม่ตามมาชำระให้ภายหลัง

“ที่พักที่นี่อยู่ได้สบายขึ้นเยอะเลย” เอเวียงและแนงเวง คู่รักชาวเมียนมา ที่พากันมาทำงานในไทยบอกว่า ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยทำงานกับบริษัทผู้รับเหมารายเล็ก ใช้ชีวิตในแคมป์สังกะสีแคบๆ ร้อนๆ ความเป็นอยู่ไม่ค่อยดี รายได้น้อย จ่ายไม่ตรง ทำงานไม่มีโอที ป่วยเป็นไข้ ก็ไม่ให้ไปหาหมอ มีแต่เพื่อนร่วมงานชาติเดียวกันที่ช่วยดูแลจนหายดี เมื่อได้มาทำงานที่นี่รายได้ดีขึ้น การจ่ายเงินตรงเวลา ตอนนี้พวกเขาอยากทำงานเก็บเงินไปเรื่อยๆ และยังไม่อยากมีลูก

พื้นยกหน้าห้องมีความสูงกำลังเหมาะสำหรับการนั่งเล่น ข้าวของหน้าห้องต้องระวังไม่วางเกะกะทางเดิน เพื่อประโยชน์ในการอาศัยอยู่ร่วมกัน และเพื่อความปลอดภัยไม่ขวางทางหากเกิดเหตุฉุกเฉิน

นอกจากชานเล็กๆ ที่นั่งเล่นหน้าห้องพักแล้ว ที่นี่ยังมีพื้นที่สำหรับกิจกรรมต่างๆ ซึ่งถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานไปตามบริบท อย่างสนามบาสก็กลายเป็นที่ตั้งเครื่องล้างมอเตอร์ไซค์ตามเสียงเรียกร้องของคนงาน แต่ยังมีที่เหลือให้เตะตะกร้อ ตีแบตกันในยามว่าง

และยังมีพื้นที่เล่นเป็นสัดส่วนสำหรับเด็กด้วย การใช้งานก็ปรับเปลี่ยนไปตามจำนวนเด็กในแคมป์ ซึ่งเพิ่มลดตามการเคลื่อนย้ายของคนงาน จำนวนเด็กสูงสุดก่อนหน้านี้คือราว 50 คน ส่วนตอนนี้มีเด็กอยู่ราว 20 คน พื้นที่เล่นตอนนี้ถูกใช้งาน เด็กๆ ก็เล่นกันเอง ดูแลกันเอง อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ และพ่อบ้านแคมป์

เด็กหลายคนที่นี่ไม่ได้เข้าโรงเรียน แม้จะมีโอกาสและทางบริษัทก็สนับสนุน แต่เพราะเด็กๆ ต้องย้ายตามพ่อแม่ จึงทำให้การเรียนไม่ต่อเนื่อง บางโรงเรียนยินดีรับเด็กที่ย้ายโรงเรียน แต่ไม่สามารถรับเด็กระหว่างเทอมได้ เด็กจึงต้องมีช่วงรอเข้าเรียนจนทำให้อายุเกินเกณฑ์ นี่ก็เป็นช่องว่างหนึ่งที่ทำให้นโยบาย Education for All ไม่อาจเข้าถึงเด็กๆ อย่างถ้วนทั่ว

ด.ญ. ดาว วัย 8 ขวบกำลังเล่นทำอาหารกับน้องชาย และเด็กๆ ในแคมป์ หน้าที่หลักของเธอนอกจากการเล่นแล้ว เธอยังดูแลน้องๆ ตกเย็นก็ช่วยแม่ล้างจาน ทำอาหาร บางครั้งก็ไปช่วยอาทำความสะอาด ได้เงินมาหยอดกระปุก

“พ่อบ้าน” เป็นตำแหน่งของผู้ดูแลแคมป์ ซึ่งจะเป็นผู้หญิงก็ได้ แคมป์แห่งนี้มี พี่เรียม – นภัสสร สุปินะ เป็นหนึ่งในพ่อบ้าน ตำแหน่งนี้คัดเลือกจากคนในแคมป์ที่อยู่กับแคมป์มาหลายปี เป็นตำแหน่งที่ต้องเสียสละ มีความเอาใจใส่ ต้องแก้ปัญหาให้คนในแคมป์ และต่อให้พี่เรียมจะยืนยันว่าเป็นคนไม่ดุ แต่ก็ต้องเสียงดังไว้ก่อน จะได้ดูแลแคมป์ให้อยู่ในระเบียบได้

เล่นขายข้าวขายของ การละเล่นแสนสนุกสำหรับเด็กทุกยุค การที่ต้องย้ายตามพ่อแม่ ทำให้การเรียนไม่ต่อเนื่อง และโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่รับเด็กกลางเทอม เด็กจึงต้องรอเวลา จนบางครั้งก็อายุเกินสิทธิเรียนฟรีของขั้นนั้นๆ

แคมป์แห่งนี้เป็นที่อยู่ของทั้งคนงานของซินเท็คและผู้รับเหมาช่วง ซึ่งบริษัทก็ดูแลทุกคนเท่าเทียมกัน ในช่วงที่เกิดคลัสเตอร์โควิดในแคมป์คนงาน โศจิรัตน์เล่าประสบการณ์อันหนักหนาของการถูกปิดแคมป์ การพยายามแก้ปัญหาด้วยการเดินเรื่องกับหน่วยงานต่างๆ สะท้อนปัญหาช่องว่างระหว่างนโยบายด้านสาธารณสุขที่ดีกับการปฏิบัติจริง พี่เรียมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ดูแลคนงานจนติดโควิดไป 3 รอบ ขนาดที่นอนอยู่โรงพยาบาลยังมีคนมาถามข้อมูลคนงานกับเธอ เพราะเธอรู้ดีกว่าใคร หากเป็นแคมป์ของบริษัทขนาดเล็กกว่านี้ที่ไม่มีการดูแล คนงานก็จะลำบากกว่านี้หลายเท่า

หากห้องไหนมีเด็ก หรือเป็นสตรีมีครรภ์ทางแคมป์จะจัดให้อยู่ชั้นล่างเพื่อความปลอดภัย ประเทศไทยมีผู้หญิงอยู่ในภาคแรงงานก่อสร้างถึง 40 % สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ตั้งต้นที่ผู้หญิงและเด็กจึงสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกได้สูง

มูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็กกำลังขยายความร่วมมือกับบริษัทก่อสร้างและบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลายแห่งแม้จะยังไม่ได้ใช้เครื่องมือ BSI หรือยังไม่ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากนัก แต่พวกเขาก็ดูแลคนงานในแบบของตัวเอง

หนึ่งในนั้นก็คือ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวราบรายหนึ่ง ย่านพระสมุทรเจดีย์ ที่อยู่ในช่วงต้นของการหารือกับทางมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก ในการจะนำเครื่องมือ BSI มาปรับใช้ในแคมป์ เป็นจังหวะดีที่พวกเขากำลังจะย้ายแคมป์ไปสร้างที่ใหม่ พวกเขาอยู่ในระหว่างหาจุดลงตัวในการปรับเปลี่ยนร่วมกัน ไม่ใช่แค่ระหว่างบริษัทและมูลนิธิ แต่รวมถึงความต้องการของคนงานด้วย

แคมป์ย่านพระสมุทรเจดีย์แห่งนี้กำลังจะย้ายไปที่ใหม่ เป็นจังหวะดีที่บริษัทจะปรับปรุงพื้นที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้น แม้คนงานหลายคนที่นี่บอกว่าอยู่สบายดี แต่ถ้าได้ย้ายไปที่ใหม่ก็อยากได้พื้นที่หลังบ้านอีกสักหน่อยไว้ตากผ้า วางข้าวของได้มากขึ้น มอเตอร์ไซค์ที่จอดอยู่หน้าห้องพักทุกห้อง ทำให้พวกเขาไม่จำเป็นต้องมีร้านขายของในพื้นที่ แต่สามารถบิดไปซื้อของที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้

แคมป์ชั้นเดียวย่านพระสมุทรเจดีย์แห่งนี้ ยังไม่มีระบบระเบียบเท่าแคมป์บริษัทใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ด้วยบริบทที่ต่างกันทั้งพื้นที่ และกลุ่มความชำนาญด้านก่อสร้างของบริษัทที่เน้นการทำหมู่บ้านจัดสรรในแนวราบซึ่งต่างจากบริษัทที่รับก่อสร้างตึกสูง การหมุนเวียนจัดสรรทักษะแรงงานก็มีผลกับการออกแบบพื้นที่อาศัยเช่นกัน

คนงานส่วนใหญ่ทำงานที่นี่มาเป็นสิบปีแล้ว วิธีหาคนทำงานของพวกเขาต่างออกไปตรงที่ไม่ได้จัดหาคนผ่านนายหน้า แต่เป็นการแนะนำกันในหมู่คนงาน ซึ่งจะทำให้วางใจได้ว่าเป็นแรงงานที่มีฝีมือจริง ไม่ใช่เริ่มจากศูนย์ ซึ่งเป็นเรื่องยากในการฝึกฝน

เด็กๆ เข้าเรียนกันตอน 6 ขวบ บางบ้านก็อยากให้ลูกเรียนที่นี่ แต่บางบ้านก็ส่งลูกกลับไปเรียนที่บ้านเกิด เพื่อให้อ่านออกเขียนภาษาแม่ได้ หากต้องกลับไปใช้ชีวิตที่นั่น

บ้านของคนงานที่นี่ก่ออิฐถือปูนแบบถาวร ทุกห้องมีห้องน้ำในตัว แคมป์นี้ไม่ต้องมีแม่บ้านที่คอยดูแลทำความสะอาดแคมป์ ห้องน้ำในตัวคือการแก้ปัญหาจากห้องน้ำส่วนกลางที่ไม่มีคนดูแล ไม่มีแคมป์บอสและพ่อบ้าน เพราะพวกเขาซึ่งเป็นคนในแวดวงเดียวกันอยู่ด้วยกันเหมือนญาติมิตร ที่นี่ก็เหมือนแคมป์อื่นๆ ที่เคยผ่านยุคสังกะสีมาแล้ว และผู้บริหารฝ่ายก่อสร้าง สมิทธิ วงศ์พรหมมินทร์ บอกว่า “เราอยากปรับปรุงที่พักของพวกเขาให้ดีขึ้น ให้เป็นแบบที่เราเองก็อยู่ได้ให้พวกเขาอยู่”

ภาพเก้าอี้โซฟาที่ทรุดโทรมและบรรยากาศอันไร้ชีวิตชีวาเบื้องหน้าผมในช่วงบ่ายวันหนึ่งกลับมาถูกเติมเต็มด้วยสีสรรค์ของมิตรภาพจากคนทำงานก่อสร้างและครอบครัวของเขาในยามเย็นหลังจากเลิกงาน บ้านหลังนี้กำลังถูกสร้างใหม่ให้มีพื้นที่ที่เหมาะสมกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นิธิรุจน์ สุทธิเมธีโรจน์ ช่างภาพ

พื้นที่แคมป์เป็นที่ดินของบริษัทเอง ซึ่งกำลังจะขยายโครงการบ้านมาถึง นอกจากโซนบ้านพักแล้ว พื้นที่โดยรอบยังไม่มีการเทคอนกรีตใดๆ แต่ผู้พักอาศัยก็สามารถเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่เล่น ที่พักผ่อนหย่อนใจได้ แม้ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมสรรพ แต่พวกเขาก็เข้าถึงแหล่งบริการเหล่านั้นด้วยยานพาหนะของตน และเมื่อมีบัตรประกันสุขภาพที่ได้สิทธิรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลดีๆ ในย่านนี้ ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องใด

วอลเล่ย์บอลเป็นกีฬายอดฮิตของชาวแคมป์ย่านพระสมุทรเจดีย์ ฟุตบอลก็เช่นกัน หนุ่มๆ นิยมไปเช่าสนามเตะฟุตบอลกัน ถ้ามีลานกีฬาของตัวเองก็คงดีไม่น้อย

สมชาย นายช่างชาวเมียนมา ทำงานที่บรมา 10 ปีแล้ว เป็นที่ที่ 2 หลังจากเข้ามาทำงานในไทย “ที่นี่โอเคกว่าที่อื่นเป็นไหนๆ เลย” เขาบอก ลูกชายคนเล็กของสมชายอายุ 7 ขวบแล้ว เขาพาไปเข้าโรงเรียนเอง คนงานที่นี่ส่วนใหญ่รู้เรื่องเอกสารต่างๆ ที่ต้องใช้ดีอยู่แล้ว เป็นฝ่ายบอกนายจ้างด้วยซ้ำว่าต้องเตรียมเอกสารรับรองอะไรให้พวกเขาบ้าง

แม้คนงานส่วนใหญ่ที่นี่จะพอใจกับชีวิตรวมๆ แต่เมื่อทางบริษัทจะปรับเปลี่ยนแคมป์ของพวกเขาให้ดีขึ้น และได้สอบถามความต้องการ สิ่งที่ได้รับการโหวตเป็นอันดับ 1 คือ Wi-Fi การโทรหาครอบครัวที่บ้านเกิดคือเรื่องสำคัญของพวกเขา การพักผ่อนหย่อนใจผ่านอินเตอร์เน็ทในมือถือก็เช่นกัน และที่มาเป็นอันดับ 2 คือพื้นที่สันทนาการ ลานกีฬาสำหรับผู้ใหญ่ และสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กๆ น่าติดตามว่าเมื่อบริษัทนำเครื่องมือ BSI มาปรับแล้ว “บ้าน” ของพวกเขาจะหน้าตาเป็นอย่างไร

การลงทุนใน “บ้าน” ที่คนมองข้าม กับผลกระทบเชิงบวก

เพราะอะไรเรื่องทั้งหมดนี้จึงสำคัญกับเราทุกคน

แน่นอนว่าสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณภาพสำคัญสำหรับเรา “ต้องให้เขาหลับสบาย จะได้มีแรงทำงานดีๆ” คำพูดของผู้บริหารของซินเท็คที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยน จากยุคแคมป์เพิงสังกะสีที่ต้องเดินมุดเดินลอดเข้าไป สู่การปรับปรุงคุณภาพที่อยู่อาศัยขึ้นมาที่ละจุดและยังจะไปต่ออีกไกล

สำหรับบริษัทก่อสร้าง ประโยชน์ทางตรงของคุณภาพชีวิตที่ดีของเหล่าคนงาน คือคุณภาพงานที่จะส่งมอบต่อ การลงทุนกับแคมป์คนงานนั้นเป็นการลงทุนที่สูงในระยะเริ่มต้น แต่ระยะยาว นอกจากจะสามารถบริหารต้นทุนด้วยการจัดการโครงสร้างที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างคุมค่าแล้ว การลงทุนกับทรัพยากรบุคคล ที่จะสามารถเป็นกำลังให้แก่บริษัท ก็จะสร้างกำไรในระยะยาวได้

“บริษัทเราไม่ได้จ่ายแพงกว่าบริษัทอื่น แต่คนงานอยู่กับเรานาน เพราะเขามีบ้านที่เขาอยู่แล้วภูมิใจ เวลาเราลำบาก เขาก็อยู่ช่วยเรา อย่างในช่วงโควิดที่อื่นขาดคน แต่เราไม่ขาดคนเลย” ดลชากร บอก

และที่มากไปกว่านั้น อุตสาหกรรมก่อสร้างเชื่อมโยงห่วงโซ่เศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องไว้มากมาย รวมถึงประเด็นสังคม อย่างเรื่องสิทธิมนุษยชน และโอกาสของเด็กๆ ในแคมป์คนงาน ที่พวกเขาจะเติบโตขึ้นเป็นสมาชิกของสังคม

ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติในภาคก่อสร้าง 500,000 กว่าคน เฉพาะในกรุงเทพฯ มีแคมป์คนงานก่อสร้างกว่า 400 แคมป์  มีคนงานก่อสร้างรวมทุกสัญชาติกว่า 60,000 คน เป็นคนไทย ราว 26,000 และแรงงานข้ามชาติ 36,000 คิดเป็น 58% เมืองหลวงของเราตอนนี้ถูกสร้างด้วยมือของแรงงานข้ามชาติกว่าครึ่ง พวกเขาก็คือสมาชิกคนสำคัญของสังคมเรา

พื้นที่ให้เด็กเล่นในแคมป์ของวิศวภัทร์ อยู่ด้านหน้าพื้นที่ส่วนกลางแคมป์ให้พ่อแม่และทุกคนสามารถดูแลเด็กได้ทั่วถึง เป็นพื้นที่ที่ทางมูลนิธิและบริษัทมาจัดกิจกรรมกับ หลังสี่โมงเย็นที่เด็กๆ กลับมาจากโรงเรียนพร้อมหน้าแล้ว ก็พากันเล่นเสียงดังเจี๊ยวจ๊าว

การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สำคัญจึงอยู่ที่การทำให้เหล่าแรงงานพิสูจน์สัญชาติได้เข้าใจสิทธิของตน เข้าถึงข้อมูล การเรียนรู้พัฒนาทักษะ การศึกษาสำหรับเด็กๆ ที่จะเป็นการเปิดประตูทางเลือกให้พวกเขามากกว่า 1 บาน

“แผนของเราคือการยกระดับการก่อสร้างในประเทศไทย คือการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนงานในแคมป์ก่อสร้าง ในแคมป์มีคนงานต่างด้าว มีเด็กๆ ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลางเป็นพลวัตรของการเคลื่อนย้ายแรงงาน สิ่งที่เราสามารถส่งต่อไปถึงนโยบายด้านแรงงานข้ามชาติ สุขภาพ หรือเรื่องการศึกษาของเด็ก คือการส่งต่อประสบการณ์ที่ทำให้เกิดการแก้ปัญหาเชิงระบบได้” ดลชากร กล่าว

พ่อแม่ในแคมป์ย่านพระสมุทรเจดีย์ โหวตขอสนามเด็กเล่นที่มีเครื่องเล่นสำหรับเด็กๆ ภายในแคมป์ จะได้ไม่ต้องขี่รถพาลูกไปเล่นที่สนามเด็กเล่นข้างนอก

เมื่อโลกธุรกิจหมุนไปที่แนวทางความยั่งยืน บริษัทมากมายประกาศการดำเนินธุรกิจตามแนวทางของ ESG (Environment, Social, Gorvernance) ที่เราคงเคยได้ยินวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมกันมามากแล้ว ในขณะที่ทางด้านสังคม (Social) ยังมีอีกหลายแง่มุมที่ต้องทำ บริษัทก่อสร้างที่เกี่ยวพันกับการดูแลชีวิตคนงานจำนวนมาก ควรพัฒนาด้านนี้อย่างเป็นรูปธรรม แน่นอนไม่ใช่เป็นหน้าที่ของเอกชนฝ่ายเดียว หน่วยงานรัฐก็ควรมีกลไกที่จะเชื่อมกฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่วางไว้ดีอยู่แล้วให้ได้ผลจริงในทางปฏิบัติ และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ เช่น ตลาดหลักทรัพย์ก็ควรมีเกณฑ์การให้คะแนนด้าน Social กับบริษัทที่ทำเรื่องนี้จริงจัง

“นอกจากการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่จะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพงานที่จะออกมาดีแล้ว มันยังส่งผลถึงครอบครัวเขาและลูกของเขาด้วย เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กๆเหล่านี้จะต้องเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองของโลกใบนี้ ไม่ว่าเขาจะโตขึ้นมาทำอาชีพอะไรก็ตาม ผมเชื่อว่าเราทำให้ดีขึ้นได้นะ มันขึ้นอยู่กับวิธีคิด และทัศนคติของเรา” สมิทธิกล่าว

และบางทีความตั้งใจในการปรับปรุงนั้นก็เพื่อเป้าหมายใกล้ตัว อย่างการเปลี่ยนมุมมองของคนรอบข้างว่าแคมป์ก่อสร้างไม่ได้น่ากลัว โศจิรัตน์ มองว่า คนงานก่อสร้างก็คือครอบครัวคนสำคัญของบริษัท หากเราอยากให้เพื่อนบ้านมองครอบครัวเราดี เราก็ต้องพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง “อยากให้สังคมยอมรับว่าเขาก็คือคนคนหนึ่งที่เข้ามาทำงานหาเงิน ต้องการมีชีวิตที่ดี เพื่อครอบครัวของเขา เป็นคนธรรมดาที่มีชีวิตที่ดีได้เหมือนกัน”

บางครั้งการลงทุนลงแรงก็เพื่อเป้าหมายที่เรียบง่ายแบบนี้ และความเรียบง่ายก็สามารถส่งผลกระทบเชิงบวกอย่างกว้างขวางได้เช่นกัน

 

เรื่อง อาศิรา พนาราม

ภาพ นิธิรุจน์ สุทธิเมธีโรจน์

เจ้าของผลงาน สายน้ำแห่งเกลือสมุทร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1

การประกวดภาพถ่ายสารคดี 10 ภาพเล่าเรื่อง 2023


อ่านเพิ่ม ชีวิตที่จำต้องเลือกของแรงงานพม่าในไทย

แรงงานพม่า

Recommend