National Geographic รอดอย่างไร ในยุคสื่อขาลง – บทเรียนจาก บก. 5 ประเทศ
“ความท้าทายที่เราพบเจอในตอนนี้ คือการเผยแพร่เนื้อหาที่ดีเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ทำให้เราอยู่รอดอีกต่อไป”
นี่คือประโยคที่ Mr. Yungshih Lee บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับไต้หวัน กล่าวขึ้นในการประชุม National Geographic Media APAC Best Practices & Brainstorm ที่จัดขึ้นเพื่อให้บรรณาธิการบริหารของประเทศในเอเชียแปซิฟิกมาแบ่งปันวิธีการบริหารนิตยสารและแบรนด์ของ National Geographicใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และ ไทย อันเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน Sustainability Expo 2023 (SX2023) นิทรรศการเพื่อความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนจาก National Geographic Asia ภายใต้ บ. The Walt Disney Company เข้าร่วมรับฟังและสังเกตการณ์ในฐานะตัวแทนของภูมิภาค
ซึ่งประโยคในตอนต้นเรื่องถือเป็นการสรุป “สถานการณ์” ที่นิตยสาร National Geographic ทุกประเทศที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ต้องพบเจอ นั่นคือ การพึ่งพา “นิตยสาร” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นสินค้าเรือธงชิ้นแรกของ National Geographic ซึ่งมีประวัติความเป็นมาเริ่มต้นในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ยาวนานกว่า 135 ปี ไม่อาจให้ “ผลตอบแทนที่ดีดังเดิม” ได้อีกต่อไป ในยุคที่สื่อดั้งเดิมจากยุคแอนะล็อกอย่างนิตยสาร นั้นเริ่มอับแสง ทดแทนด้วยสื่อใหม่ในโลกดิจิทัล ที่เปลี่ยนพฤติกรรมการรับสื่อของผู้คนไปโดยสิ้นเชิง
ในการประชุมครั้งนี้ เหล่าบรรณาธิการบริหารทั้ง 5 ประเทศ ได้ออกมาแชร์ “Best Practices” หรือแนวทางการดำเนินกิจการนิตยสารที่ดีที่สุดในแต่ละประเทศ เพื่อแบ่งปันความคิด และเริ่มต้นโครงการเพื่อความร่วมมือใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างความอยู่รอดของนิตยสารที่นำเสนอเรื่องราวธรรมชาติ ความเป็นไปของโลก วิทยาการความรู้ใหม่ๆ บนโลก (หรืออาจรวมไปถึงนอกโลก) แบ่งปันให้กับบรรดาผู้อ่านและสังคมที่ต้องการการเปิดโลกกว้างใหม่ๆ
ไต้หวัน – นิตยสาร คือจุดเริ่มต้นรูปแบบนำเสนอ (ขาย) เนื้อหาที่หลากหลาย
Mr. Yungshih Lee บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับไต้หวัน กล่าวถึงภาพรวมยอดจำหน่ายนิตยสาร และยอดสมัครสมาชิก National Geographic ในไต้หวันว่า “ลดลง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ” รวมถึงยอดลงโฆษณาในนิตยสารก็ลดลงด้วย แม้จะมีความพยายามในการสร้างสรรค์เนื้อหาสารคดีในท้องถิ่น ซึ่งก็ทำให้ยอดขายกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่มากพอที่จะเรียกได้ว่า “น่าพอใจ” เขาจึงหาหนทางในการนำพาแบรนด์นิตยสารนี้ไปโดยวิธีอื่น ๆ ควบคู่กันไป
แม้ยอดขายนิตยสารจะลดลง แต่ในไต้หวัน ชื่อของ National Geographic ก็ไม่ได้เสื่อมความนิยม เห็นได้จากการที่เขานำเนื้อหาสารคดีไปลงต่อยอดในเว็บไซต์ของนิตยสาร ซึ่งในแต่ละเดือนมียอดผู้ใช้งานเฉลี่ยราวนับล้านคน ทำให้ทางไต้หวันได้มีการแบ่งเนื้อหาที่สามารถอ่านได้ฟรี และ Premium Content ที่สามารถอ่านได้ ฟรี 5 บทความ/เดือน ถ้าจะอ่านมากกว่านี้ต้องจ่ายเงินเพื่อเป็นสมาชิก ก็พอมีรายได้เข้ามาเพิ่มเติมอยู่บ้าง
นอกจากนี้ Social Media ของ National Geographic Taiwan นับว่ามียอดผลตอบรับรวมที่ทำได้ดีอย่างยิ่ง เช่น Facebook ที่มีผู้ติดตามและยอดการเข้าถึงในแต่ละเดือนอยู่ที่หลักล้านคน เช่นเดียวกับ Youtube ในด้าน Instagram ก็มีผู้ติดตามในระดับหลักแสน ซึ่ง Mr. Lee ก็ได้กล่าวว่ามีทีมงานที่ทำเนื้อหาลงใน Social Media โดยเฉพาะอีกด้วย
กรณีที่น่าสนใจของไต้หวันคือการต่อยอด National Geographic ไปสู่การจัดงานอีเวนท์ต่างๆ เช่นการจัดนิทรรศการ ภาพถ่าย New Age of Exploration ซึ่งแสดงเนื้อหาและภาพถ่ายจากนิตยสารในรอบร้อยปี ทั้งในไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ กว่า 20 เมืองในรอบ 5 ปี ซึ่งสร้างรายได้ที่ดีมาก รวมไปถึงการจัด “งานวิ่ง” 2 ครั้ง/ปี ภายใต้ชื่อ National Geographic World Ocean Day Run และ National Geographic Wildlife Run ซึ่งมีนักวิ่งเข้าร่วมอยู่ที่ราว 4,000-7,000 คน และมีการจัดประกวดการถ่ายภาพ ที่เปิดรับภาพถ่ายจากทั้งไต้หวันและฮ่องกง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมหลักพันในแต่ละปี ซึ่งก็สามารถสร้างรายได้จากการหาผู้สนับสนุนได้อีกทาง
นอกจากนี้ ไต้หวันยังมีการ “ต่อยอดการผลิตสินค้า” โดยใช้เนื้อหาจากภาพสัตว์ป่า ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของ National Geographic ทั้งการระดมทุนจัดทำ “ปฏิทินภาพสัตว์ป่า” จากโครงการ Photo Ark ที่รวบรวมภาพถ่ายของสัตว์ป่าทั่วโลกก่อนที่จะสูญพันธุ์ รวมไปถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Nat Geo Science Box ที่นำเอาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จาก National Geographic มาออกแบบเป็นโมเดลและของเล่นเพื่อการเรียนรู้ได้อีกด้วย
อินโดนีเซีย – เรื่องราวที่ไม่มีวันจบของดินแดนหมื่นหมู่เกาะ สู่การรับรู้ในระดับประเทศ
Mr. Didi Kaspi Kasim บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับอินโดนีเซีย นำเสนอวิธีการดำเนินงานของ National Geographic ในประเทศของตนในแนวความคิดที่ชื่อว่า Local Perspective. National Impact. How Our Hyperlocal stories capture nationwide attention. (มุมมองจากท้องถิ่น สู่ผลลัพธ์ในระดับประเทศ เรื่องราวในระดับท้องถิ่นแบบเจาะลึกสร้างความสนใจในระดับประเทศได้อย่างไร)
Mr. Didi Kaspi Kasim ตั้งต้นด้วยการที่นำเอาจุดแข็งในประเทศอินโดนีเซียที่มีเกาะกว่า 18,000 แห่ง ภาษาพูดกว่า 800 ภาษา ชนเผ่าท้องถิ่นกว่า 1,340 กลุ่ม และกลุ่มวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ได้รับการบันทึกอย่างเป็นทางการกว่า 300 วัฒนธรรม เข้ามาสร้างสรรค์เรื่องราวสารคดีภายในประเทศ ผ่านนิตยสาร การทำสื่อการเรียนรู้ รวมไปถึงเผยแพร่ในเนื้อหาออนไลน์ ซึ่ง Mr. Didi ได้กล่าวในที่ประชุมว่า “คนอินโดนีเซียสนใจเรื่องความหลากหลายของประเทศตัวเองมากกว่าเนื้อหาจากต่างประเทศพอสมควร”
“คนท้องถิ่นในแต่ละส่วนของอินโดนีเซียต่างมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง พวกเขาอยากให้เรื่องราวของตัวเองเป็นที่รับรู้ แต่ก็มีสื่อในระดับประเทศเพียงไม่กี่เจ้าที่สนใจเรื่องราวของพวกเขา” เขาจึงมองเห็นถึงความน่าสนใจในการเล่าเรื่องนี้วัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านี้ ผ่าน National Geographic อินโดนีเซีย
นับตั้งแต่การอนุรักษ์ป่าในปาปัว ไปจนถึงการอนุรักษ์ช้างบนเกาะสุมาตรา และสารคดีแห่งธรรมชาติ สัตว์ป่า และการอนุรักษ์ สารคดีที่เริ่มต้นจากเรื่องราวภายในประเทศ นำเสนอไปในสื่อออนไลน์ของ National Geographic Indonesia ซึ่งสารคดีแต่ละเรื่องมียอดผู้ชมในระดับหลักล้านวิว
นอกจากนี้ ทางอินโดนีเซียได้นำจุดแข็งของ National Geographic คือ “การทำแผนที่” เข้ามานำร่วมกับองค์ความรู้และเรื่องราวในระดับท้องถิ่น จัดทำแผนที่ส่วนต่างๆ ของอินโดนีเซียลงในนิตยสาร รวมไปถึงการออกแบบแผ่นพับสื่อความรู้เพื่อเสริมเรื่องชนิดพันธุ์สัตว์ต่างๆ ในแต่ละท้องที่ ซึ่งสร้างความน่าสนใจให้กับบรรดาผู้อ่าน จึงมีผู้สนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ที่มีความสนใจในพื้นที่นั้นๆ ร่วมไปถึงร่วมงานกับเอ็นจีโอที่ทำงานเพื่อการอนุรักษ์ในพื้นที่ให้การสนับสนุนทั้งในเรื่องรายได้และแนวทางการอนุรักษ์ในพื้นที่
ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากการเป็นสื่อนิตยสาร ทางอินโดนีเซียได้ออกแบบแคมเปญการอนุรักษ์ของตัวเองที่ชื่อว่า SISIR PESISIR 2024 อันเป็นโครงการการป้องกันภัยพิบัติทางระบบนิเวศ โดยการทำแผนที่อุณหภูมิของท้องทะเลและสภาพของแนวปะการังในพื้นที่ชายฝั่งต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซีย โดยร่วมมือกับผู้นำทางในท้องถิ่น ชาวบ้าน และชาวประมง ซึ่งในขณะนี้ได้มีการเก็บข้อมูลในเรื่องของปะการังเพื่อการอนุรักษ์แล้วกว่า 1,000 แห่ง
ญี่ปุ่น – สารคดีในความสนใจของผู้คน สู่แหล่งความรู้เพื่อนักเรียนและนักศึกษา
Mr. Shigeo Otsuka บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับญี่ปุ่น กล่าวถึงยอดจำหน่ายนิตยสารภายในประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แต่ในยอดที่ลดลงนั้นก็มีฉบับที่มียอดขายที่ดีมากเป็นพิเศษ นั่นคือนิตยสารฉบับพิเศษ 100 ปี การค้นพบตุตันคามุน (ในประเทศไทยคือฉบับเดือนพฤศจิกายน 2565) รวมไปถึงการออกฉบับพิเศษแยกออกมาอีก 1 เล่ม เกี่ยวกับกษัตริย์ตุตันคามุน มาจำหน่ายเพิ่มเติม
ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของทางนิตยสาร กับ Mr. Yukinori KAWAE นักวิชาการด้านไอยคุปต์วิทยาชาวญี่ปุ่น และนักสำรวจของ National Geographic ซึ่งเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ชื่อดังในด้านอียิปต์ในประเทศญี่ปุ่น มาช่วยทำเนื้อหา เขียนบทความมุมมองเรื่องประวัติศาสตร์อียิปต์โดยชาวญี่ปุ่น และเผยแพร่สารคดีเก่าๆ ในเรื่องการค้นพบมัมมี่และวัฒนธรรมอียิปต์โบราณเพิ่มเติม และใช้บทบาทของการเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ ของคุณ Mr. Yukinori KAWAE มาช่วยส่งเสริมการขาย ทำให้นิตยสารมียอดจำหน่ายในระดับต้นๆ ของประเทศญี่ปุ่นในรอบ 2-3 ปีเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ทางประเทศญี่ปุ่นได้ใช้จุดแข็งและชื่อเสียงของ National Geographic อย่างการทำแผนที่และแผ่นพับความรู้เพิ่มเติมภายในเล่ม ทั้งในเรื่องสารคดีและแผนที่ “ประเทศยูเครน” ซึ่งเป็นที่สนใจของชาวญี่ปุ่นหลังเกิดสงครามกับรัสเซีย, การรวบรวมคลังแผนที่โบราณในส่วนต่างๆ ของโลกมานำเสนอ คลังภาพถ่ายสัตว์ป่า Photo Ark ของ National Geographic มานำเสนอภายในเล่ม
อีกหนึ่งทางไปของฝั่งญี่ปุ่นคือการร่วมเป็น Partner กับทั้งบรรดาสื่อออนไลน์ เช่นร่วมมือกับ Yahoo เว็บไซต์ search engine ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในญี่ปุ่นในการเผยแพร่เนื้อหาในเว็บไซต์ สร้างการรับรู้แบรนด์ในวงกว้างมากขึ้น ร่วมจัดงานเสวนาทางออนไลน์โดยเก็บค่าธรรมเนียมผู้เข้าร่วม และร่วมมือกับโรงเรียน Seiritsu Gakuen Junior High & High Schools โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาของญี่ปุ่นเพื่อให้นิตยสาร National Geographic เป็นแหล่งการเรียนรู้ในวิชาค้นคว้าและวิจัยอิสระ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในโรงเรียนของญี่ปุ่น สร้างยอดสมัครสมชิกหลักพันในทุกปีนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา และร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่าง Teikyo University เพื่อร่วมกันนำเสนอมหาวิทยาลัยโดยใช้ความน่าเชื่อถือทางด้านความรู้และวิทยาการของ National Geographic เสริมภาพลักษณ์ให้กับมหาวิทยาลัย ซึ่งจะส่งผลดีให้กับนิตยสารทั้งภาพลักษณ์และรายได้อีกด้วย
เกาหลีใต้ – นำภาพถ่ายสู่สารคดีอันเลื่องชื่อสู่ดินแดนแห่งนิทรรศการ – งานศิลปะ
เกาหลีใต้ เป็นดินแดนที่มีความความเลื่องชื่อและเฟื่องฟูในด้านงานนิทรรศการและการจัดแสดงศิลปะ ทำให้ Mr. June Mo Kim บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเกาหลีใต้ ที่นอกจากจะดูแลและบริหารเนื้อหาสารคดีในรูปแบบนิตยสารแล้ว ยังเล็งเห็นช่องทางในการนำเรื่องราวและภาพถ่ายของนิตยสารที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกไปจัดแสดงในฐานะนิทรรศการงานศิลปะ ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2010 ซึ่งถือว่าเป็นชาติแรกๆ ในเอเชียแปซิฟิกที่ริเริ่มการสร้างนิทรรศการ ก่อนที่ชาติอื่นๆ จะเริ่มจัดนิทรรศการของตัวเองในเวลาต่อมา
นิทรรศการที่นำมาแบ่งปันประสบการณ์มีทั้ง Life and Nature (season 1) เรื่องราวภาพถ่ายของธรรมชาติและผู้คน ที่จัดขึ้นตั้งแต่ ตุลาคม – ธันวาคม 2010 มียอดผู้เข้าชมกว่า 120,000 คน, The Beautiful Days (season 2) เรื่องราวของสัตว์นานาชาติตั้งแต่ป่าไม้จนถึงขั้วโลกใต้ ในปี 2012 จัดขึ้นใน 7 เมืองใหญ่ทั่วเกาหลีใต้, World of Mystery (season 3) นิทรรศการที่นำเสนอเรื่องราว “การสำรวจ” ตั้งแต่บนพื้นโลกไปจนถึงพื้นมหาสมุทรลึกล้ำในปี 2017, Nature’ s Odyssey (season 4) เรื่องราวการผจญภัยในสถานที่อันสวยงามในธรรมชาติในปี 2019 ซึ่งในแต่ละนิทรรศการที่ได้กล่าวมามีผู้มาร่วมชมยอดรวมเกือบ 100,000 คนในทุกงาน ทำให้สามารถสร้างรายได้จากการเก็บค่าเข้าชมนิทรรศการ รวมถึงผู้สนับสนุนหลักทั้งจากเอกชนและภาครัฐ สร้างรายได้มาเสริมกับการจำหน่ายนิตยสารได้พอสมควร
ไทย – สร้างการรับรู้แบรนด์นิตยสารให้แข็งแกร่ง สู่การรับรู้ในโลกออนไลน์ ต่อยอดไปในงานอีเวนท์
คุณโกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ บรรณาธิการบริหาร, คุณอาศิรา พนาราม รองบรรณาธิการบริหาร และ คุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจ Media and Event บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จํากัด (มหาชน) ผู้ถือลิขสิทธิ์นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย กล่าวว่า ยอดจำหน่ายตัวนิตยสารอยู่ในระดับที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง และทางนิตยสารได้ให้ความสำคัญกับการสร้างเนื้อหาเพื่อการรับรู้แบรนด์ในสื่อออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ ngthai.com ที่มียอดการอ่านในเว็บไซต์แต่ละเดือนที่หลักล้านครั้งโดยเฉลี่ย และสื่อ Social Media หลักของนิตยสารอย่าง Facebook ก็มีผู้ติดตามกว่า 1,150,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ จึงทำให้รายได้จากการโฆษณาในสื่อออนไลน์เติบโตมากขึ้นในทุกปี อย่างไรก็ตาม รายได้จากการโฆษณาและจัดจำหน่ายนิตยสารก็ยังคงมีมากกว่าสื่อออนไลน์ และยังคงแข็งแกร่ง
คุณโกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ ได้เผยถึงหลักการบริหารเนื้อหาในนิตยสารด้วยวิธีการจัดทำเนื้อหาสารคดีเรื่องราวในประเทศไทย โดยนักเขียนสารคดีคนไทย ควบคู่กับการนำเสนอสารคดีใหญ่จากเนื้อหานิตยสารของฝั่งสหรัฐอเมริกา เช่น สารคดีเรื่องการมีชีวิตยืนยาวในไทย, การทวงคืนทับหลังนารายณ์, ป่าไม้ไทย, ช้างไทย, สังคมผู้สูงอายุในไทย
รวมไปถึงร่วมมือกับกลุ่ม “คิดอย่าง” ที่เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย เข้ามาร่วมสร้างสรรค์เนื้อหาที่ “ตีพิมพ์บนปก” ในนิตยสารที่เป็น “หัวนอก” อย่าง National Geographic อย่างน้อย 1 เล่มในทุกปี (ภูเขาทองที่เราไม่ทันรู้จัก ฉบับเดือนสิงหาคม ปี 2021, บ้านวิชาเยนทร์ ก่อนวาระสุดท้ายของฟัลคอน ฉบับเดือนกันยายน ปี 2022 และ สืบค้นต้นเค้า พระบรมธาตุเมืองนครฯ ฉบับเดือนสิงหาคม ปี 2023) ซึ่งแนวความคิดการเผยแพร่สารคดีไทยในปกของนิตยสารเมืองนอกได้สร้างยอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติพอสมควร จึงทำให้มีความคิดว่าจะเพิ่มการตีพิมพ์สารคดีไทยบนปก National Geographic ให้มากขึ้นในอนาคต
คุณอาศิรา พนาราม รองบรรณาธิการบริหาร ที่ดูแลด้านสื่อออนไลน์โดยตรง พูดถึงการสร้างสรรค์เนื้อหานิตยสารในส่วนของเธอว่า เรามีกลยุทธ์ในการสร้างสรรค์เนื้อหาในเว็บไซต์ให้เป็นแหล่งอ้างอิงในการเรียนรู้ด้านวิชาวิทยาศาสตร์ สังคม และประวัติศาสตร์ในกับเด็กๆ วัยเรียน ซึ่งเป็นผลมาจากการสังเกตตัวเลขผู้มาใช้งานเว็บไซต์ซึ่งจะแปรผันตามช่วงเวลาเปิด-เปิดภาคเรียนของนักเรียน และนำไปสู่การต่อยอดการเปิดเนื้อหาในส่วนของ “การศึกษา” ซึ่งตั้งใจให้เป็นแหล่งแนะนำเนื้อหา หลักสูตร การเรียนรู้ ครู-อาจารย์ที่มีความโดดเด่นในเรื่องการให้การศึกษา นอกเหนือไปจากการนำเสนอเนื้อหาสารคดีปกติ
ในส่วนของกลยุทธ์เนื้อหาใน Social Media ได้ใช้หลักการ Time & Local Sensitive Content คือเน้นการนำเสนอเนื้อหาสารคดีที่อยู่ในกระแสความสนใจของคนไทยในแต่ละช่วง และนำเสนอความรู้สารคดีที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของคนไทย เช่นการนำเสนอเรื่องราวของ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” ที่เพิ่งได้รับการเสนอให้เป็นมรดกโลกโดยยูเนสโก ก็สร้างยอดกับรับรู้แบรนด์ให้กับคนทั่วไปได้เป็นอย่างมาก
ด้าน คุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ กล่าวถึงการบริหารนิตยสารในเชิงธุรกิจว่า เนื่องจากนิตยสาร National Geographic อยู่ภายใต้บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จํากัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทสื่อมวลชน การจัดจำหน่ายหนังสือ และการจัดงานอีเวนท์ที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของประเทศไทย จึงทำให้มีโอกาสนำแบรนด์ของนิตยสารไปต่อยอดในวาระและโอกาสต่างๆ เพื่อพาแบรนด์ของนิตยสารไปยังผู้คนในหลากหลายช่องทาง นอกเหนือจากที่ร้านหนังสือเพียงอย่างเดียว เช่น การจัดประกวดและนิทรรศการภ่าย 10 ภาพเล่าเรื่อง, การเปิดพื้นที่จัดงานและการเสวนาโดยนิตยสาร ในงาน “บ้านและสวนแฟร์” ซึ่งเป็นงานอีเวนท์ขนาดใหญ่ จัด 2-3 ครั้ง/ปี และบรรดางานอีเวนท์อื่นๆ ที่อมรินทร์มีส่วนร่วม เป็นการเปิดโอกาสให้มีการนำเนื้อหาสารคดีไปสู่การนำเสนอผ่านงานอีเวนท์และ การจัดเวที เสวนา นิทรรศการ ที่หลากหลาย ซึ่งเกิดขึ้นได้โดยการใช้ประโยชน์ช่องทางธุรกิจที่หลากหลายของ บมจ. อมรินทร์ฯ ซึ่งส่งผลให้แบรนด์นิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทย เติบโตมากขึ้น
แม้บรรณาธิการจาก 5 ประเทศจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่พึ่งพิงการจัดจำหน่ายนิตยสารเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป” ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อที่ยาวนานพอจนทำให้ “คนทำนิตยสาร” เริ่มปรับตัวกับโมเดลหารายได้ใหม่ๆ ซึ่งแต่ละประเทศก็ประสบความสำเร็จตามบริบทของตัวเองพอสมควร
แต่คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า รากฐานในสิ่งเหล่านี้เกิดจากความตั้งใจในการสร้าง “นิตยสาร” ที่อุทิศตนในการเป็นขุมทรัพย์ข้อมูลที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ การสำรวจโลก เข้าใจโลก การเรียนรู้ที่จะรักและอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ รวมไปถึงบทบาทการเป็นแนวหน้าการอนุรักษ์ธรรมชาติ ท่ามกลางโลกยุคปัจจุบันที่กำลังอยู่ในวิกฤตอันเนื่องมาจาก “ภาวะโลกรวน”
และนั่นคือนิตยสาร National Geographic
เรื่อง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ