กฏหมายเยาวชนไทย ยกเลิกดีไหม? หลังจากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงมากมายที่เยาวชนเป็นผู้ก่อเหตุ ทำให้สังคมเกิดคำถามว่า กฎหมายเยาวชนของไทยนั้นกำหนดการลงโทษที่เหมาะสมแล้วหรือไม่?
กฏหมายเยาวชนไทย – ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยมีเยาวชนหรือวัยรุ่นก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดย 2 กรณีเด่นที่สุดคือเหตุการณ์ กราดยิงพารากอน กรุงเทพฯ ที่กระทำโดยเด็กชายอายุเพียง 14 ปี และอีกครั้งล่าสุดคือกรณี “ ป้าบัวผัน ” ที่ก่อเหตูโดยกลุ่มวัยรุ่นอายุ 13-16 ปีหลายคน
คำถามนี้ก็เกิดขึ้นในทั่วโลกด้วยเช่นกัน
แต่ทำไมเด็กบางคนถึงก่อความรุนแรง?
คำตอบของเรื่องนี้นั้นเป็นไปได้หลายอย่างซึ่งต้องมีการวิเคราะห์และวิจัยทางจิตวิทยาเพิ่มเติม แต่ในหลายอย่างนั้น บางปัจจัยก็มีผลมากอย่างเห็นได้ชัด โจเซฟ จิอาคาโลน (Joseph Giacalone) ผู้ช่วยศาสตราจารย์และอดึตผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานในตำรวจนิวยอร์กกล่าวว่า
“น่าเสียดายที่บทลงโทษไม่ได้ทำให้เด็กเหล่านี้รู้สึกกลัว” โจเซฟ จิอาคาโลน บอกกับช่องข่าวฟ็อกซ์ (Fox News) เขาเสริมว่า การขาดวินัยในโรงเรียน และการเปลี่ยนแปลงทางครอบครัวในด้านต่าง ๆ ก็อาจมีผลเช่นกัน
“พ่อแม่ไม่ได้ดูแลสิ่งต่าง ๆ ให้ดี” เขาเสริม “โรงเรียนก็ไม่ได้ใส่ใจเรื่องต่าง ๆ แล้วตำรวจก็มาจัดการพวกเขา ในขณะเดียวกัน พวกเขา (พ่อแม่) ก็ไม่มีการเลี้ยงลูกที่บ้านให้ดี ไม่มีระเบียบวินัยทั้งที่บ้านและโรงเรียน และพวกเขาก็อยากรู้ว่าทำไมเด็กถึงทำพฤติกรรมเช่นนี้”
มุมมองนี้สอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่ระบุว่า การละเลยความสนใจหรือใส่ใจต่อพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเด็กภายในบ้าน อาจนำไปสู่ความรุนแรงที่คาดไม่ถึงได้ เด็กหลายคนพยายามส่งสัญญาณถึงปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ให้กับพ่อแม่หรือโรงเรียน แต่น่าเศร้าที่ไม่มีใครสนใจ พวกเขาจึงหันไปหาคนอื่น ๆ ที่เป็นตัวการแก้ไขปัญหาได้ เช่นเพื่อนหรือรุ่นพี่
เมื่อรุ่นพี่หรือกลุ่มเพื่อนแนะนำแนวทางแก้ไข (และหลายครั้งมักจะเป็นแนวทางผิด ๆ) เด็กจะยึดคนเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง โดยไม่ได้คิดว่าสิ่งที่ตนเองกระทำนั้นเป็นความผิด ในบางกรณีเด็กมักให้เหตุผลว่า ‘เห็นคนอื่นทำ เลยทำตาม’ และพ่อแม่ก็ไม่ได้สนใจในจุดนี้
ในส่วนมุมจากนักจิตวิทยานั้นมองว่า พฤติกรรมความรุนแรงอาจเกิดจากความผิดปกติของสมองได้ด้วยเช่นกัน ดร. เมก เพอร์กินส์ (Dr. Meg Perkins) นักจิตวิทยาผู้เขียนบทความเรื่องอาชกรรมในเด็กให้กับแอมเนสตีออสเตรเลีย (Amnesty International Australia) กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ในโลกเห็นพ้องต้องกันว่าเด็กอายุ 10 ขวบนั้นยังเด็กเกินไปที่จะถูกดำเนินคดี เนื่องจากสมองยังอยู่ในช่วงพัฒนาอยู่
ในขณะเดียวกันช่วงพัฒนาการนี้ หากมีการแทรกแซงปัจจัยอะไรบางอย่างที่ไม่ถูกต้องเข้าไปเช่น ตัวอย่างของพ่อแม่ ตัวอย่างจากเพื่อน การขาดความอบอุ่น ไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ หรืออื่น ๆ อาจนำไปสู่พฤติกรรมต่อต้านสังคมในอนาคตได้ ซึ่งเกิดจากมุมมองความที่ได้รับมาอย่างไม่ถูกต้องในวัยเด็กหรือวัยรุ่น รวมถึงการให้ท้ายแบบผิด ๆ
“ความสับสนวุ่นวายได้เข้าครอบงำ เด็กกระทำการตามอำเภอใจและแรงกระตุ้น ไม่สามารถคำนึงถึงผลที่ตามมาจากการกระทำของตนได้ และพยายามดิ้นรนเพื่อทำความเข้าใจเหตุและผล โดยสมองส่วนหน้ายังไม่ได้พัฒนาฟังก์ชั่นการควบคุมที่มีประสิทธิภาพจนกว่าจะอายุ 25 ปี” ดร. เพอร์กินส์ กล่าว
แล้วเรื่องบทลงโทษล่ะ?
สำหรับประเทศไทยนั้นมีกฎหมายเกี่ยวกับเยาวชนอยู่ด้วยเช่นกัน ตามข้อมูลของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73 มาตรา 74 มาตรา 75 ที่เผยแพร่โดยกระทรงยุติธรรมผ่านเฟซบุ๊คนั้นระบุว่า เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปีจะไม่ต้องรับโทษ ส่วนผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กอายุระหว่าง 10-15 ปีอาจไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลอาจแค่ว่ากล่าวตักเตือน หรือส่งตัวไปยังสถานฝึกอบรวมหรือองค์กรที่ศาลเห็นสมควร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความผิดที่กระทำและดุลพินิจของศาล
ขณะที่บุคคุลที่มีอายุเกิน 15 แต่ต่ำกว่า 18 ปีนั้น ศาลอาจลดโทษให้กึ่งหนึ่ง หรืออาจใช้วิธีเดียวกับเด็กที่อายุ 10-15 ปี ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของคดีและดุลพินิจของศาล โดยประเด็นเหล่านี้กำลังเป็นที่ถกเถึยงในสังคมไทย จนทำให้เกิดคำถามว่า ‘ยกเลิกกฎหมายเยาวชนไทยดีไหม?’
เนื่องจากหากดูไปที่ 2 กรณีโด่งดังที่ผ่านมานั้นมีความรุนแรงและสะเทือนขวัญ อีกทั้งดูเหมือนว่าเยาวชนไม่มีท่าทีเกรงกลัวกฎหมายเลย แล้วเทียบกับบทลงโทษที่มีอยู่ทำให้หลายคนมองว่าเด็กเหล่านั้นไม่ได้รับการลงโทษที่เหมาะสม และอาจใช้ช่องว่างทางกฎหมายนี้ในการก่ออาชญากรรมครั้งต่อ ๆ หรือในกรณีอื่น ๆ
ไม่เพียงเท่านั้น ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) ได้รายงานว่า นายสิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ที่ติดตามปัญหาคนไร้บ้าน ได้เผยว่าคนไร้บ้านและผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวชมักตกเป็นเป้าหมายของการทำร้าย ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าอาจมีเหยื่ออีกมาที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบ
พร้อมกันนั้น ไทยพีบีเอสยังให้ข้อมูลว่าคดีที่เกิดขึ้นในปี 2022 นั้นมีเด็กและเยาวชนทำผิดถึง 12,203 คดี เป็นคดียาเสพติด 4,300 คดี รองลงมาเป็นลักทรัพย์ 2,200 คดี และความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 2,000 คดี โดยกว่า 51.5% นั้นยังอยู่ในช่วงมัธยมศึกษาตอนต้นเท่านั้น และกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีการกระทำผิดสูงสุด
ตามข้อมูลสถิติและบทลงโทษแล้วทำให้สังคมเกิดคำถามว่า เยาวชนได้รับบทลงโทษที่เหมาะสมแล้วหรือ?
ส่องกฎหมายเยาวชนต่างประเทศ
ประเด็นนี้ไม่ได้เป็นปัญหาแค่ในประเทศไทย แต่ยังเกิดขึ้นในทั่วโลกที่เด็กอายุน้อยไม่ถึง 15 ปีลุกขึ้นมาก่ออาชญากรรม แม้แต่ในประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีความสุขที่สุดในโลกอย่างฟินแลนด์เองก็มีเยาวชนทำผิดเพิ่มขึ้น
ในฟินแลนด์ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคล้ายประเทศไทย แต่เนื่องด้วยมีเยาวชนทำผิดเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นลักขโมย ทำร้ายร่างกาย เมาและขับ ทำให้รัฐบาลมองว่าเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนกฎหมายดังกล่าวด้วยการลดอายุที่ไม่ต้องรับโทษ
ในสหรัฐอเมริกา นั้นมีข้อเรียกร้องแตกต่างไปในแต่ละรัฐ บางรัฐต้องการให้ปรับกฎหมายกำหนดอายุให้ชัดเจน ขณะที่บางรัฐก็เรียกร้องให้เพิ่มกฎหมายคุ้มครองเด็ก แต่โดยส่วนใหญ่แล้วตำรวจสามารถตั้งข้อหาหรือควบคุมตัวเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีได้
ฝรั่งเศส มีข้อยกเว้นสำหรับเยาวชนเช่นเดียวกัน แต่หากเป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรงมาก ๆ เด็กเหล่านั้นจะไม่ได้รับการคุ้มครองพิเศษ เช่นเด็กที่อายุ 16-18 ปีที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงจะถูกลงโทษเช่นเดียวกันผู้ใหญ่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล
แคนาดา เยาวชนที่ก่อความผิดร้ายแรงจำคุกตลอดชีวิต เช่น ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน พยายามฆ่า ไม่มีเจตนาฆ่าแต่ทำร้ายผู้อื่นจนเสียชีวิต หรือข่มขืนผู้อื่นจนได้รับอันตรายรุนแรง ยังไงก็ตามการพิจารณาจะอยู่ที่ศาลเด็กและเยาวชน จะไม่ได้เป็นการตัดสินตามแบบศาลผู้ใหญ่
ท้ายที่สุดแล้วการแก้ไขเด็กก่ออาชญากรรมที่ดีที่สุดอาจเป็น การป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ มีพฤติกรรมเช่นนี้ตั้งแต่แรกด้วยการดูแลและเสริมสร้างปัจจัยต่าง ๆ อย่างเหมาะสมกับเด็ก เนื่องจากเด็กหลายคนต่างเผชิญปัญหาแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว สุขภาพจิต โรงเรียน เพื่อน ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน หรืออื่น ๆ อีกมากมาย ทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงระดับครอบครัวจึงสามารถช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้เด็ก ๆ ได้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
“เด็ก ๆ จะไม่แสดงท่าทีโดยไม่มีเหตุผล เราจำเป็นต้องระบุปัจจัยเชิงสาเหตุเบื้องหลังพฤติกรรมของพวกเขา เพื่อที่เราจะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กได้เติบโต” ดร. เพอร์กินส์ กล่าว
ที่มา
.
https://www.amnesty.org.au/science-raising-age-criminal-responsibility/
https://www.foxnews.com/us/crimes-committed-kids-rise-expert-warns-harsher-consequences-needed
https://news.vcu.edu/article/what_is_the_psychology_behind_violence_and_aggression_a_new_vcu
https://www.psychologytoday.com/intl/blog/the-new-brain/201604/the-science-of-violence
https://childmind.org/article/aggression-in-children-causes/
https://www.thaipbs.or.th/news/content/332413
https://www.thaipbs.or.th/news/content/336039
https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/104136
https://www.posttoday.com/politics/413838