ผู้ลี้ภัยเด็กนับพันตกค้างอยู่ที่ชายแดนยุโรป
เสียงของพวกเขาบ่งบอกตำแหน่งที่อยู่ ผู้ลี้ภัยเด็กจากอัฟกานิสถานกลุ่มนี้เอาชีวิตรอดจากสถานที่ที่พวกเขาเรียกมันว่าป่าดงดิบ แต่แท้จริงแล้วมันคือแนวป่าที่ไม่ทึบมากนักตามชายแดนของเซอร์เบียและโครเอเชีย เด็กๆ เหล่านี้มีอายุ 12 – 16 ปี พวกเขาอาศัยอยู่ในป่านี้มานานหลายสัปดาห์แล้ว หลับนอนในเต็นท์ที่สร้างขึ้นจากพุ่มไม้ กิ่งของมันโค้งเหนือศีรษะและโอบล้อมพวกเขาไว้ราวกับกำลังสวมกอด
สถานที่ใช้ซ่อนตัวของพวกเขาอยู่ติดกับเส้นทางที่พวกเขาคาดหวังว่าจะใช้เดิน มันคือการเดินไปตามทางรถไฟเก่าขึ้นสนิมจากเซอร์เบีย ประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ในขณะที่โครเอเชียเป็นสมาชิก จริงๆ พวกเขาพยายามข้ามชายแดนมาแล้วหลายครั้ง แต่จำต้องหันหลังกลับเพราะเจ้าหน้าที่รักษาชายแดนชาวโครเอเชียพร้อมที่จะทุบตี และยึดเอาสมบัติติดตัวอันน้อยนิดที่พวกเขามีไป โดยหนึ่งในสิ่งที่เจ้าหน้าที่พวกนั้นต้องการมากที่สุดคือรองเท้า
ในบริเวณที่ใกล้กับฝั่งโครเอเชีย แสงไฟสีแดงถูกสาดส่อง สิ่งนี้เป็นเหมือนข้อความย้ำเตือนว่า: จงหยุดข้ามพรมแดนซะ เพราะยุโรปไม่ต้องการคุณ
ซัดดัม อีมาล เด็กชายวัย 12 ปี ผู้มีดวงตาสีเขียว ยังคงมุ่งมั่นที่จะข้ามพรมแดน ในขณะนั้นเป็นต้นฤดูใบไม้ผลิ ตัวเขาเดินทางรอนแรมมาแล้วนาน 7 เดือน เป็นระยะทางกว่า 3,500 ไมล์ โดยปราศจากความช่วยเหลือจากครอบครัวหรือนายหน้าที่อาสาจะพาเข้ายุโรป
ในช่วงวัยที่หลายคนยังถูกห้ามไม่ให้ข้ามถนนเองด้วยซ้ำ อีมาลหลบหนีสงครามจากจังหวัดนานกาฮาร์ ในอัฟกานิสถานบ้านเกิด ผ่านปากีสถาน, อิหร่าน, และตุรกี เข้าสู่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างบัลแกเรีย ตัวเขาและผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ที่ฉันได้พบบอกเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาถูกขับไล่อย่างรุนแรงให้ออกจากเซอร์เบียไป
อีมาลคือหนึ่งในผู้ลี้ภัยเด็กจำนวน 300,000 คนที่ใช้เส้นทางเดียวกันในการอพยพ เมื่อปี 2015 และ 2016 ที่ผ่านมา จำนวนนี้เพิ่มสูงเป็นห้าเท่าจากเดิมในเวลาเพียงไม่กี่ปี พวกเขากลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤติผู้ลี้ภัยทั่วโลกที่หลบหนีจากความรุนแรงหรือความยากลำบาก ในจำนวนนี้ผู้ลี้ภัยเด็กอย่างน้อย 170,000 คนยื่นคำร้องขอลี้ภัยในยุโรป ส่วนอีมาลเองวาดฝันว่าจะได้เดินทางไปเยอรมนี
แต่ ณ ตอนนี้ เช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ นับพัน เขาติดแหงกอยู่ที่ชายแดนเซอร์เบีย ตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2016 หลังยุโรปมีมาตรการคุมเข้มหลายเส้นทางในคาบสมุทรบอลข่านมากขึ้น เพื่อป้องกันการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัย
รายงานจาก Michel Saint-Lot ผู้แทนจากยูนิเซฟในเซอร์เบีย กล่าว 46% จากผู้ลี้ภัยจำนวน 7,000 คนในเซอร์เบียเป็นเด็ก ส่วนใหญ่พวกเขามาจากอัฟกานิสถาน และในจำนวนนี้ 1 ใน 3 ไม่มีผู้ใหญ่เดินทางมาด้วย เด็กๆ อย่างอีมาลต้องเสี่ยงชีวิตในการเดินทางเอง พวกเขาต้องเผชิญกับการตกเป็นเหยื่อของหัวขโมย, พวกลักลอบค้ามนุษย์ หรือค้าบริการทางเพศ
“ผมบอกพวกเขาว่า อย่างน้อยที่นี่ก็ดีกว่าที่ที่เราจากมาไม่ใช่หรือ?” พวกเขาเห็นด้วย อีมาลกล่าว แต่เป้าหมายคือไปในยุโรป ไม่ใช่เซอร์เบีย ขณะนี้ตัวเขาค่อนข้างกังวลว่าข้อมูลจำนวนผู้ลี้ภัยเด็กที่หลั่งไหลเข้าไปในยุโรปมากขึ้นจะยิ่งทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการถูกจับกุม กักขัง หรือส่งกลับบ้านมากขึ้น ข้อมูลจาก Saint-Lot เด็กๆ ส่วนใหญ่ไม่ต้องการอยู่ในเซอร์เบีย และบางคนเมื่อทราบข่าวว่าชายแดนถูกปิดก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อ พวกเขามองไม่เห็นอนาคตที่นี่
อีมาลพยายามและล้มเหลวมาแล้ว 18 ครั้ง กับสิ่งที่เขาและผู้ลี้ภัยเด็กคนอื่นๆ เรียกมันว่าเกม – การข้ามผ่านเจ้าหน้าที่รักษาพรมแดนจำนวนมากของเซอร์เบีย เพื่อเข้าสู่ฮังการีหรือโครเอเชียเพื่อนบ้าน ด้วยความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่ารออยู่ อีมาลเล่าว่าเขาพร้อมสำหรับการเล่นเกมรอบใหม่ แต่ต้องเป็นหลังจากที่เขาสามารถหารองเท้าคู่ใหม่ได้ก่อน “เบอร์ 42” เขากล่าวพร้อมชี้นิ้วไปยังถุงเท้าดำสกปรกที่เท้า
แสงสลัวสุดท้ายของวันสาดผ่านใบไม้ที่เปรียบเสมือนเป็นหลังคาผ้าใบสำหรับเขา อีมาลและไฟซาล ซาลีม เพื่อนวัย 16 ปี กำลังเตรียมอาหารเย็น ตัวเขาใช้คูปองมูลค่า 3,000 ดีนาร์ (ประมาณ 27 ดอลล่าร์สหรัฐ) ซึ่งเอ็นจีโอเข้ามาแจกจ่ายให้แก่บรรดาผู้ลี้ภัยขณะพำนักอยู่ในค่ายพักของเซอร์เบียไปกับการซื้อหาวัตถุดิบและอุปกรณ์ ในจำนวนนี้ข้าวของ 2 ใน 3 จากถุงพลาสติกรอบๆ ตัวเขาถูกใช้ไปแล้ว ที่เหลืออยู่ก็ประกอบด้วยเนื้อไก่จำนวนเล็กน้อย, น้ำมันปรุงอาหาร, ผัก และขนมปังอีก 3 ก้อน
“ผมเหน็ดเหนื่อยกับความยากลำบากนี้” เขากล่าว ขณะหย่อนเนื้อไก่ดิบลงในหม้อดำเขรอะที่ตั้งอยู่บนไฟ “หนีการปราบปรามในบัลแกเรีย, หนีในอิหร่าน แล้วมาติดแหงกในเซอร์เบีย สามอาทิตย์ที่ผ่านมาผมได้อาบน้ำไปครั้งเดียว ตอนอยู่บ้านปกติผมอาบน้ำทุกวัน”
เด็กๆ เหล่านี้ต้องหากินและปกป้องตนเอง, โยกย้ายถิ่นฐานไปตามเส้นทาง, เอาชีวิตรอดจากสงครามและความขัดแย้ง พวกเขากำลังแบกความหวังของครอบครัวไว้บนบ่า ที่ซึ่งในวัยของพวกเขาแล้วภาระอันหนักอึ้งบนบ่านี้ไม่ควรที่จะมีอะไรมากไปกว่ากระเป๋าเรียน แม้ว่ารัฐบาลเซอร์เบียจะจัดหาอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อผู้ลี้ภัย แต่อีมาลและเพื่อนๆ ของเขาพึงใจมากกว่าที่จะได้อยู่ใกล้กับชายแดนให้มากที่สุด เพื่อรอโอกาสเหมาะสมที่พวกเขาจะได้ชนะเกมนี้
เด็กชายเหล่านี้ตระหนักดีถึงอันตรายรอบตัว พวกเขาเล่าเรื่องของเพื่อนคนหนึ่งที่ถูกชาวเซอร์เบียแทงและปล้นเอาของมีค่าไป ในขณะที่เด็กหนุ่มชาวปากีสถานวัย 16 ปีรายหนึ่งถูกฆ่าตายระหว่างที่เขากำลังเดินทางมายังชายแดนด้วยรถไฟ นอกจากนั้นในแต่ละวันพวกเขาต้องอดทนกับความหิวโหย “ในวันนี้พระเจ้ามอบอาหารให้เรา” อีมาลกล่าว “ส่วนในวันข้างหน้า…”
อีมาลโรยเครื่องปรุงใส่ไก่ ตัวเขาเป็นลูกชายคนโตของครอบครัว เขายังไม่มีโอกาสได้คุยกับแม่ของเขาผู้เป็นม่ายอีกเลย นับตั้งแต่โทรศัพท์มือถือของเขาถูกขโมยไปเมื่อ 3 เดือนก่อน ซาลีมเพื่อนของเขามีน้ำใจให้ยืมโทรศัพท์ แต่อีมาลจำเบอร์ติดต่อในอัฟกานิสถานไม่ได้ เขาฝืนยิ้ม “ผมสวดภาวนาให้แม่ ผมคิดถึงท่าน” เขากล่าว “แม่ทำไก่ได้อร่อยที่สุด”