พบกับบรุษผู้ยังคงอาศัยอยู่ในนครหินโบราณ

พบกับบรุษผู้ยังคงอาศัยอยู่ในนครหินโบราณ

ปัจจุบันยังคงมีชาวเบดูอินจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ในนครเพตรา มรดกโลก
ภาพถ่ายโดย Michael Melford

พบกับบรุษผู้ยังคงอาศัยอยู่ในนครหินโบราณ

Mofleh Bdoul เติบโตขึ้นใน นครหินโบราณ ที่มีชื่อว่าเพตรา ตัวเขาปีนป่ายก้อนหิน นำพาฝูงแพะไปยังเนินเขาท่ามกลางสุสานและวิหารโบราณ

ชายวัย 73 ปีผู้นี้ ยังคงอาศัยอยู่ในนครหินแห่งนี้ สถานที่ที่เรียกว่าบ้าน ตลอดหลายปีที่ผ่านมาตัวเขาเห็นความเปลี่ยนแปลงของบ้านหลังนี้จากสถานที่ลึกลับอันห่างไกลไปสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีนักท่องเที่ยวมาชมความงามจำนวนหลายแสนคนทุกปี

ทุกวันนี้ Mofleh เป็นชาวเบดูอินคนเดียวที่ยังคงอาศัยอยู่ในเมืองมรดกโลกนี้

องค์การยูเนสโกพยายามโน้มน้าวให้ Mofleh Bdoul ไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน แต่เขาปฏิเสธ
ภาพถ่ายโดย Dominika Ozynska

แม้ว่าถ้ำที่เขาอาศัยอยู่ทางด้านหลังของภูเขา Jebal Habis จะใช้เวลาในการเดินทางจากจุดท่องเที่ยวยอดนิยมเพียง 5 นาทีเท่านั้น แต่เขาก็ยังรู้สึกห่างไกล ที่ด้านนอกของถ้ำเต็มไปด้วยอาคารที่สร้างจากก้อนหิน Mofleh สร้างกำแพงที่ประดับประดาไปด้วยพุ่มไม้และดอกไม้เพื่อต้อนรับบรรดาผู้มาเยือนให้นั่งจิบชาทอดอารมณ์ ต้นไม้เหล่านี้ถูกรดด้วยน้ำฝน แต่ในฤดูร้อนตัวเขาต้องไปเอาน้ำจากบรรดาร้านอาหารในหุบเขาเบื้องล่างเพื่อมารดพวกมัน

“สถานที่ที่สวยที่สุดในโลก” Mofleh กล่าวถึงบ้านของตนเอง “ที่นี่เป็นดั่งยาวิเศษ ไม่ว่าคุณมีปัญหาอะไรอยู่ก็ตาม คุณจะลืมมันหมดสิ้น”

นครเพตราเป็นเมืองที่สร้างขึ้นจากการแกะสลักก้อนหิน บนหน้าผาทรายกลางทะเลทรายในจอร์แดน สถานที่แห่งนี้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรแนบาเทีย เมื่อ 400 ปีก่อนคริสตกาล ไปจนถึงคริสต์ศักราชที่ 106 จากประวัติศาสตร์ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าชนเผ่าเบดูอินเข้ามาอาศัยอยู่ในนครแห่งนี้เมื่อไหร่ แต่เชื่อกันว่าชาวเผ่าเร่ร่อนเหล่านี้อาศัยอยู่ที่นี่มานานกว่า 1,500 ปีแล้ว ข้อมูลจาก  Steven Simms ศาสตราจารย์นักโบราณคดีวัยเกษียณ จากมหาวิทยาลัยยูทาห์ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับชาวเบดูอิน ชนเผ่า Bdoul ในช่วงทศวรรษ 80 – 90

วิถีชีวิตของชาวเบดูอินเป็นไปอย่างเรียบง่าย ด้วยการเลี้ยงแพะและทำการเกษตรขนาดเล็ก เช่นเดียวกับ Mofleh นอกจากนั้นตัวเขายังมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานขุดค้นทางโบราณคดีและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

เพตรากลายเป็นที่สนใจของผู้คนทั่วโลก หลัง John Lewis Burckhardt นักสำรวจชาวสวิสเซอร์แลนด์ “ค้นพบ” ที่นี่ในปี 1812 “ในตอนที่ผมยังเป็นเด็ก ผู้คนจำนวนหนึ่งจะมาที่นี่และมาอาศัยอยุ่กับชาวเบดูอินเป็นเดือน” Mofleh กล่าว เขาชี้ไปที่เนินเขาที่ตั้งอยู่ตรงข้ามหุบเขาลึก “เคยมีผู้หญิงชาวแคนาดาอาศัยอยู่ในถ้ำนั้นเพียงลำพัง นานหนึ่งเดือน”

บางครั้งการท่องเที่ยวก็แปรเปลี่ยนเป็นความโรแมนติก สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับ Mofleh เช่นกัน ตัวเขาแต่งงานกับหญิงชาวสวิสเซอร์แลนด์คนหนึ่ง ทั้งคู่มีลูกสาวด้วยกัน และเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างสวิสเซอร์แลนด์และนครเพตรา แต่เมื่อชีวิตหลังแต่งงานไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนัก ตัวเขาก็ย้ายกลับมาอาศัยอยู่ที่ถ้ำตามเดิม ในตอนแรกเมื่อถามว่าตัวเขาแต่งงานมาแล้วกี่ครั้ง เขาตอบว่าสี่ แต่เมื่อถามอีกครั้งและเขายกนิ้วขึ้นนับ ปรากฏว่านับได้แปด

หลังนครเพตราถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 1985 องค์การยูเนสโกและรัฐบาลจอร์แดนตัดสินใจย้ายชาวเบดูอินที่อาศัยอยู่ในสถานที่แห่งนี้ไปยังหมู่บ้าน Um Sayhoun ที่สร้างขึ้นใหม่ใกล้ๆ

บ้านภายในถ้ำของ Mofleh
ภาพถ่ายโดย Dominika Ozynska

ปฏิกิริยาของการย้ายถิ่นฐานเป็นไปอย่างผสม หลายครอบครัวโดยเฉพาะเด็กๆ ชอบที่อยู่ใหม่ เพราะใกล้โรงเรียนและโรงพยาบาล แต่ก็มีหลายคนเช่น Mofleh ที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั้งเดิมของตน และในบางกรณีข้าวของที่รัฐบาลเตรียมไว้ให้ในบ้านหลังใหม่นั้นก็ไม่ได้เอื้อต่อการขยายครอบครัว เช่นในที่อยู่เดิม รายงานจาก Allision Mickel ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านโบราณคดี จากมหาวิทยาลัยลีไฮกล่าว

Mofleh เล่าให้ฟังว่าก่อนที่หมู่บ้าน Um Sayhoun จะถูกสร้างขึ้น มีครอบครัวประมาณ 150 ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในนครเพตรา ปัจจุบันเหลือเพียง 10 ครอบครัว และตัวเขาเป็นคนเดียวที่อาศัยอยู่ยังศูนย์กลางของมรดกโลก องค์การยูเนสโกพยายามโน้มน้าวตัวเขาให้ย้ายออกไปอยู่ในหมู่บ้านใหม่ แต่ตัวเขาปฏิเสธ

“ผมชอบที่นี่ มันดีกว่า” เขากล่าว “ถ้าคุณอาศัยอยู่ในเมือง คุณจะไม่อยากเดินไปไหนเลยทั้งวัน”

Mofleh Bdoul อาศัยธุรกิจท่องเที่ยวช่วยให้ตัวเขายังคงมีรายได้
ภาพถ่ายโดย Dominika Ozynska

Nada Al Hassan ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโกในภูมิภาคอาหรับ กล่าวว่าทางหน่วยงานกำลังทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่จอร์แดนและชาวบ้านท้องถิ่นในการบริหารมรดกโลกแห่งนี้ “สถานที่แห่งนี้จำเป็นต้องอนุรักษ์ ในขณะเดียวกันก็ต้องตอบสนองความต้องการของชาวบ้านท้องถิ่น ไปจนถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนในฐานะมรดกโลกและสถานที่ท่องเที่ยว”

เช่นเดียวกับชาวเผ่า Bdoul ส่วนใหญ่ Mofleh ต้องพึ่งพาธุรกิจการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนนครเพตราเพิ่มมากขึ้น หลังสถานที่แห่งนี้ถูกประกาศให้เป็นมรดกโลก และยิ่งเพิ่มสูงขึ้นทบทวีเมื่ออิสราเอลและจอร์แดนลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพร่วมกันในปี 1994

จากปี 1994 ถึงปี 1995 จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 138,577 เป็น 337,221 คน และยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็น 918,136 ในปี 2010 อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีมานี้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในซีเรียเพื่อนบ้าน และคาดการณ์กันว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจำนวนจะยิ่งลดลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง

ชาว Bdoul มากยึดอาชีพขายของที่ระลึกและขี่ลารับส่งนักท่องเที่ยว ด้าน Mofleh เสิร์ฟชาและอาหารกลางวันให้แก่ผู้มาเยือน และขายก้อนหินแกะสลักโดยฝีมือของเขา

Shannon Mouillesseaux นักท่องเที่ยวจากนิวยอร์ก ผู้เคยเดินทางไปยังถ้ำของ Mofleh ระหว่างการท่องเที่ยวในเพตรา เมื่อฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาเล่าให้ฟังว่า หลังจากการสนทนาพูดคุย Mofleh ใช้เวลา 2 ชั่วโมงพาเธอและเพื่อนๆ เยื่ยมชมความงามของเส้นทางกลับจากเพตรา และตัวเขาปฏิเสธที่จะรับเงินหรือมื้อกลางวันเป็นของตอบแทนในน้ำใจ  “เมื่อเขาเริ่มพูดคุยด้วย คุณจะรู้เลยว่าเขาเป็นคนที่มีเรื่องราวเยอะมาก และต้องการให้ผู้คนที่มาเยือนได้เข้าใจถึงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของสถานที่แห่งนี้” เธอกล่าว “มันน่าทึ่งมากที่เขายังอาศัยอยู่ในสถานที่แห่งนี้ และถ้าคุณถามฉัน ฉันว่ามันเป็นประโยชน์กับเพตรานะ”

เรื่อง แอบบี้ เซเวล

 

อ่านเพิ่มเติม

ผู้คนเหล่านี้ยังคงใช้ ชีวิตในถ้ำ ของสเปน

 

Recommend