อยู่ร่วมและอยู่รอด พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาวเล มอแกลน

อยู่ร่วมและอยู่รอด พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาวเล มอแกลน

การฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล มอแกลน ในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ การพัฒนาแนวใหม่ที่ไม่แยกคนออกจากธรรมชาติ

ลุงตะวัน ชาวมอแกลนแห่งบ้านบางสักหรือที่ปัจจุบันเรียกว่าบ้านทับตะวัน-บนไร่ในจังหวัดพังงา กำลังขนลอบจับหมึกขึ้นเรือประมงที่ทอดสมออยู่ริมชายหาดบางสักซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชน เขายังชีพด้วยการทำประมงพื้นบ้านและมีความรู้เรื่องกระแสน้ำและคลื่นลมเป็นอย่างดี

ผมเดินตามหลังป้าลาภ ป้าหนึ่ง และป้ากล้วยเข้าไปใน “ขุมเขียว” พื้นที่ธรรมชาติริมชายฝั่งทะเลอันดามัน
แม้ว่าผมเคยมาที่นี่หลายครั้งแล้ว แต่ก็อยู่แค่บริเวณบึงน้ำที่ชาวประมงนำเรือมาจอดหลบคลื่นลมมรสุม ครั้งนี้เราเดินลึกเข้าไปตามทางเดินเท้าเล็ก ๆ ลุยไปตามร่องน้ำ ฝ่าดงหญ้าสูงท่วมหัวจนมาถึงเขตป่า จุดหมายของเรา คือดงต้นเตยพรุ วันนี้ป้าจะมาตัดเตยเพื่อนำไปสานเป็นตะกร้าตามที่ลูกค้าโรงแรมสั่งมาและใช้เองที่บ้าน แม้ทั้งสามจะตัวเล็กและอยู่ในวัย 60 ปีแล้ว แต่ก็ตัดต้นเตยขนาดสูง 4-5 เมตรได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่อตัดได้จำนวนมากพอแล้ว ทั้งสามก็ขนเตยที่มัดรวมกันด้วยเถาวัลย์กลับไปที่บ้านในชุมชนบางสัก บ้านเกิดของพวกเขา

ขุมเขียวเป็นพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลอันดามันที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นพื้นที่ทำมาหากินและใช้ประโยชน์ที่สำคัญ
ของชาวมอแกลนบางสัก ในภาพ ป้าลาภ ป้าหนึ่ง และป้ากล้วยกำลังแบกต้นเตยพรุ (“ชืแกห์พลู๋ห์”) กลับไปที่หมู่บ้าน
เพื่อทำงานหัตถกรรม

บ้านบางสักหรือที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “บ้านทับตะวัน-บนไร่” ตั้งอยู่ที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกลน หนึ่งในสามกลุ่มชาวเลที่ประกอบด้วยชาวมอแกลน มอแกน และอูรักราโว้ย
ซึ่งกระจายตัวอยู่ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน ชาวมอแกลนอาศัยอยู่บริเวณนี้มานานหลายร้อยปีแล้ว มีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ และมีภาษาเป็นของตนเอง  เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 บ้านทับตะวัน-บนไร่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ถือเป็นพื้นที่คุ้มครองฯ แห่งแรกของชาวเล

พื้นที่คุ้มครองฯ : เมื่อวัฒนธรรมไม่อาจแยกจากธรรมชาติ

“พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” เป็นแนวทางการอนุรักษ์ที่เปลี่ยนวิธีการมองใหม่โดยไม่แยก “คน” และ “วัฒนธรรม” ออกจาก “ธรรมชาติ” ต่างจากนโยบายแบบเดิมที่มุ่งรักษาธรรมชาติให้บริสุทธิ์ มองว่าวัฒนธรรมคือวิถีชีวิตที่เข้าไปทำลายธรรมชาติ และแฝงอคติว่ากลุ่มชาติพันธุ์คือผู้ทำลาย  ที่ผ่านมานโยบายแยกคนออกจากธรรมชาติได้สร้างความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชุมชนชาติพันธุ์ที่อาศัยมาก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์ จึงได้มีการพัฒนาแนวทางใหม่ที่รักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมและธรรมชาติไปพร้อมกัน

คุณอภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ผู้ร่วมขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตลอด อธิบายว่าหัวใจของพื้นที่คุ้มครองฯ คือชุมชนต้องเห็นความสำคัญและคุณค่าของวัฒนธรรมตัวเอง  การประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ เป็นการยอมรับสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เปิดโอกาสให้ชุมชนจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรของตนเองอย่างยั่งยืน ใช้วิถีชีวิตดั้งเดิมเลี้ยงชีพตัวเองได้ ช่วยพัฒนาศักยภาพชุมชนให้เข้มแข็งและดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือแบบการสงเคราะห์ พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต และสร้างความมั่นใจว่าพวกเขาจะสามารถดำรงวัฒนธรรมของตนต่อไป

ดอกของต้นถั่วคล้าทะเล (“ชืตักตืเอา”) ซึ่งพบบริเวณหน้าชายหาดบางสัก ชาวมอแกลนนิยมนำดอกมายำหรือชุบแป้งทอด 
เป็นอาหารพิเศษที่ทุกคนรอคอยเพราะต้นถั่วทะเลจะออกดอกเพียงปีละครั้งในช่วงปลายปี

ชุมชนทับตะวัน-บนไร่มีความคิดที่จะจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2556 แต่กว่าจะสำเร็จ พวกเขาต้องเตรียมความพร้อมมายาวนาน พวกเขาต้องรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ระดมความคิดหาจุดเด่นในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตัวเอง ระบุปัญหาและความเสี่ยงของชุมชน วางแผนแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต  ชุมชนได้ร่วมกันกำหนดขอบเขตพื้นที่คุ้มครองฯ ส่วนต่าง ๆ ซึ่งเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของพวกเขาและประกอบกันเป็นโลกของชาวมอแกลนบางสัก

พื้นที่อยู่อาศัย : ชาวเลที่อยู่บนเขา

บ้านทับตะวัน-บนไร่มีประชากรประมาณ 400 คน ประกอบด้วยสองชุมชนย่อยที่มีสภาพภูมิประเทศต่างกัน บ้านทับตะวันอยู่ติดชายฝั่งทะเล บ้านบนไร่อยู่บนภูเขา คั่นกลางด้วยถนนเพชรเกษม แต่คนทั้งสองฝั่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นญาติกันก็ยังคงข้ามไปมาหาสู่กันเป็นประจำ

การที่ชุมชนแบ่งออกเป็นสองส่วนสะท้อนประวัติศาสตร์มอแกลนและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่พวกเขาตั้งบ้านเรือนอยู่ไม่ไกลจากทะเล ใช้ชีวิตพึ่งตนเองตามธรรมชาติ เมื่ออุตสาหกรรมเหมืองแร่เข้ามา เริ่มมีการติดต่อกับคนภายนอกและมีกลุ่มทุนเข้ามาจับจองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่งผลให้คนในชุมชนบางส่วนต้องย้ายขึ้นไปอยู่บนเขาและเริ่มทำไร่ทำสวน จึงเป็นที่มาของชื่อ “บนไร่”  ในขณะที่ชื่อ “ทับตะวัน” มีที่มาจากชื่อบังกะโลของคนไทยที่เข้ามาเปิดกิจการเมื่อ พ.ศ. 2537 ในช่วงที่การท่องเที่ยวขยายตัวช่วงแรก คนมอแกลนวัยหนุ่มสาวเริ่มออกไปทำงานรับจ้างในโรงแรมและร้านอาหาร ถือเป็นจุดเปลี่ยนในวิถีอาชีพของคนมอแกลนที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน

ปลาแห้ง (“กานแชลาห์”) เป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจากภูมิปัญญาของชาวมอแกลนและสร้างรายได้ให้กับชุมชนทับตะวัน-บนไร่ ในภาพ ป้านอบกำลังตากปลาแห้งในโรงอบที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อยกระดับการแปรรูปอาหารทะเลของชุมชน

พื้นที่ทำมาหากินและใช้ประโยชน์ : ภูมิปัญญาที่ผูกพันกับธรรมชาติ

วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวมอแกลนคือทำมาหากินตามชายฝั่ง ทำประมง เก็บปูกุ้งหอย หาของป่า เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติบนหลักของการแบ่งปันและใช้แต่พอดี พวกเขาเชื่อว่าธรรมชาติเป็นของส่วนรวม ถ้าเก็บของป่าหรือจับสัตว์น้ำมามากเกินไป วิญญาณในธรรมชาติจะลงโทษทำให้เจ็บป่วย

บ้านบางสักมีระบบนิเวศที่หลากหลายตั้งแต่แนวปะการัง ไม้พุ่มชายหาด ป่าไม้ชายหาด ป่าละเมาะชายฝั่ง ป่าพรุ พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าชายเลน ไปจนถึงป่าดิบแล้งบนภูเขา ชาวมอแกลนบางสักรู้จักพื้นที่อันซับซ้อนของพวกเขาเป็นอย่างดี รู้ว่าต้องไปหาอะไรที่ไหนฤดูใด   

พื้นที่ขุมเขียวหรือ “ปาดั๋งกอมาห์เฒ่านึ่ง” ในภาษามอแกลนที่ครูภูมิปัญญาทั้งสามเข้าไปเก็บเตยนั้นเป็นดินทรายที่ดูแห้งแล้งแต่กลับมีต้นไม้ขึ้นอุดมสมบูรณ์เพราะมีแหล่งน้ำจืดใต้ดิน ขุมเขียวถือเป็นทุกอย่างสำหรับชุมชนบางสัก เป็นทั้งตลาดสดที่มีพืชผักและอาหารนานาชนิดตามฤดูกาล เป็นตู้ยารักษาโรคที่มีสมุนไพรจากธรรมชาติ ตลอดจนเป็นร้านวัสดุภัณฑ์ที่มีวัสดุนานาชนิดจากธรรมชาติ  ทั้งหมดนี้พวกเขาสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องซื้อ

พื้นที่เหล่านี้ผูกพันแนบแน่นกับภูมิปัญญาเชิงนิเวศและวัฒนธรรมของชาวมอแกลน เป็นความรู้ที่เกิดภายในระบบนิเวศของบ้านบางสัก ได้มาจากการสังเกตและทดลองใช้จริงในการดำรงชีวิต สั่งสมและสืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน และมีคุณค่าไม่น้อยกว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

ป้าเยาะและลุงเริญกำลังขนแบบจำลองศาลพ่อตาสามพันและเสาไม้ประจำตระกูลที่ทำขึ้นใหม่สำหรับจัดแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมของชุมชนบ้านทับตะวัน-บนไร่ หลังการประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ คนในชุมชนเรียนรู้ที่จะนำเสนอวัฒนธรรมมอแกลนกับ
คนภายนอกและเล่าเรื่องของชุมชนตัวเองด้วยความภูมิใจ

พื้นที่ทางจิตวิญญาณ : เชื่อมโลกปัจจุบันกับวิญญาณบรรพบุรุษ

ชาวมอแกลนเชื่อเรื่องวิญญาณในธรรมชาติและนับถือบรรพบุรุษ บ้านบางสักมีความผูกพันกับประวัติศาสตร์ของพวกเขา โดยเฉพาะชายหาดบางสักซึ่งเป็นที่ตั้งของศาล “พ่อตาสามพัน” ตำนานเล่าว่าบรรพบุรุษของคน
มอแกลนบางสักผู้นี้เป็นผู้นำชาวมอแกลนอพยพหนีภัยคุกคามจากถิ่นที่อยู่เดิมมาขึ้นฝั่งที่ชายหาดบางสักเป็นจุดแรก ก่อนที่จะโยกย้ายกระจายไปตามพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน  ชาวมอแกลนบางสักจะจัดพิธีไหว้พ่อตา
สามพันทุกปีในเดือน 4 ตามปฏิทินจันทรคติโดยมีพ่อหมอประจำหมู่บ้านประกอบพิธีสื่อสารกับวิญญาณ
บรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์  นอกจากศาลบรรพชนแล้ว สุสานยังเป็นพื้นที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในเชิงจิตวิญญาณ ในป่าริมชายหาดปากวีปเป็นที่ฝังร่างของชาวมอแกลนที่มีพื้นเพเป็นคนบางสักและชุมชนใกล้เคียงมาหลายชั่วอายุคน

เราจะเห็นได้ว่าทุกพื้นที่มีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์เรื่องเล่า ผูกพันกับประเพณี วิถีชีวิต และภูมิปัญญาของชาวมอแกลนอย่างที่ไม่อาจแยกจากกันได้ หากไม่มีพื้นที่ให้พวกเขาได้ประกอบพิธีกรรมหรือพื้นที่ทำมาหากินของพวกเขาถูกแทนที่ด้วยรีสอร์ต สิ่งที่จะหายไปคงไม่ใช่แค่วิถีชีวิตของพวกเขา แต่รวมถึงความรู้ที่สอดแทรกอยู่ด้วย พื้นที่คุ้มครองฯ จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของพวกเขาต่อไป

บรรยากาศบนศาลพ่อตาสามพันขณะที่ตาเนือง พ่อหมอประจำชุมชน กำลังประกอบพิธีรับเครื่องเซ่นไหว้ที่คนนำมาถวาย
และส่งต่อให้กับวิญญาณบรรพบุรุษในพิธีไหว้พ่อตาสามพัน

ความเปลี่ยนแปลงหลังประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ

เมื่อหลายปีก่อนตอนที่ผมเริ่มทำสารคดีเรื่องภาษาและวัฒนธรรมมอแกลน ภาพที่คุ้นตาผมเวลาลงพื้นที่ชุมชนทับตะวัน-บนไร่คือปลาแห้งที่ตากแดดอยู่หน้าบ้าน ต่อมาผมได้เห็นคนในชุมชนรวมตัวกันทำปลาเค็มปลาแห้งตากบนตะแกรงตาข่ายเรียงรายริมถนนในหมู่บ้าน  ล่าสุด ชุมชนได้ยกระดับกิจการแปรรูปอาหารทะเลของพวกเขาโดยสร้างโรงตากปลาแห้งที่ควบคุมคุณภาพได้ดีขึ้น ปลาแห้งบางสักกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อของชุมชนและได้รับการสนับสนุนจากกรมประมงให้พัฒนาผลิตภัณฑ์

นี่คือตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นว่าวิถีชีวิตมอแกลนสามารถช่วยให้ชาวมอแกลนยุคปัจจุบันเลี้ยงตัวเองได้ ถ้ารู้จักจัดการทรัพยากรและประยุกต์ความรู้ดั้งเดิมเข้ากับความรู้สมัยใหม่ เป็นการใช้ภูมิปัญญาของตนพัฒนาศักยภาพตัวเองและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

ด้านการจัดการวัฒนธรรม ชุมชนได้รวมกลุ่มครูภูมิปัญญาท้องถิ่นแขนงต่าง ๆ จัดการแสดงศิลปวัฒนธรรม พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมร่วมกับนักวิชาการ ตัวอย่างความสำเร็จคือเครือข่าย “มอแกลนพาเที่ยว” ที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2558 ร่วมกับชุมชนมอแกลนอื่น ๆ ในจังหวัดพังงา จัดกิจกรรมการเรียนรู้วัฒนธรรมมอแกลน โครงการนี้สร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนมอแกลนที่มานำเที่ยวในช่วงหลังเลิกเรียนและวันหยุด และฝึกฝนพวกเขาให้รู้จักสื่อสารเรื่องราวของตนเองกับคนภายนอก  หลังการประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ โครงการนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งในกลุ่มชาวไทยและชาวต่างชาติ และได้ขยายเป็นบริการโฮมสเตย์ “อยู่กับยาย” ใช้ชีวิตกินอยู่กับป้าลาภเพื่อเรียนรู้วิถีมอแกลน

ป้าลาภกำลังพยายามนึกคำศัพท์ภาษามอแกลนที่เริ่มเลือนหายไปจากความทรงจำ ปัจจุบันมีเพียงผู้สูงอายุเท่านั้นที่ยังสามารถพูดภาษามอแกลนได้ ดร.พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ นักภาษาศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะนักวิจัยจึงต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อบันทึกภาษานี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

คุณอรวรรณ หาญทะเลและคุณวิทวัส เทพสง สองแกนนำแห่งชุมชนบ้านทับตะวัน-บนไร่ เล่าว่า หลังการประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ หน่วยงานท้องถิ่นหันมาให้ความสำคัญกับชุมชนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยได้เชิญไปร่วมงานระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคนมอแกลนซึ่งแม้แต่คนท้องถิ่นเองก็ยังรู้จักกันน้อย  นอกจากนั้น โรงเรียนและมหาวิทยาลัยในพื้นที่ยังวางแผนจัดทำหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้ภาษาและภูมิปัญญามอแกลนจากผู้อาวุโส เป็นการส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้สู่คนรุ่นใหม่เพื่อให้พวกเขานำไปประยุกต์ใช้กับโลกปัจจุบัน

จุดเด่นของชุมชนมอแกลนบ้านทับตะวัน-บนไร่ที่คุณอภินันท์ตั้งข้อสังเกตคือ ชุมชนสามารถเชื่อมเครือข่ายกับภายนอกและก้าวทันโลก ส่งผลให้ชุมชนมีแนวร่วมการทำงานที่กว้างขวาง ทั้งกับหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ นักวิชาการ และเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้

คุณอรวรรณกล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ชุมชนต้องเป็นฝ่ายริเริ่มและลงมือทำ ชุมชนบ้านทับตะวัน-บนไร่ทำงานกับองค์กรภายนอกได้ผลดีเพราะชุมชนรู้ว่าต้องการอะไร เวลาทำโครงการชุมชนจึงกำหนดเป้าหมายได้ชัดเจน  ตัวอย่างเช่นโครงการอนุรักษ์ภาษามอแกลนซึ่งเป็นภาษาที่ไม่มีตัวเขียนและมีแค่คนรุ่นปู่ย่าตายายเท่านั้นที่ยังพูดได้ ชุมชนจึงริเริ่มบันทึกภาษาของตัวเองโดยร่วมมือกับนักภาษาศาสตร์จัดทำพจนานุกรมและพัฒนาระบบตัวเขียนภาษามอแกลน  โครงการนี้ได้ต่อยอดเป็นงานวิจัยเชิงลึกที่อาจไขปริศนาเส้นทางการอพยพของชาวมอแกลน และขยายเป็นโครงการจัดทำคลังข้อมูลภาษาและวัฒนธรรมมอแกลนร่วมกับนักคติชนวิทยาและนักจดหมายเหตุ เป็นการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับความรู้จากภายนอก โดยชุมชนตระหนักดีว่าความรู้นี้จะช่วยให้พวกเขาแก้ปัญหาภาษาและวัฒนธรรมที่กำลังเกิดวิกฤติอยู่

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ มีส่วนช่วยให้ชุมชนทับตะวัน-บนไร่เข้มแข็ง คนในชุมชนภูมิใจในความเป็นมอแกลนเพราะเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมตนเองที่เชื่อมโยงกับโลกปัจจุบัน ต่างจากอดีตที่พวกเขาเคยอับอายเพราะโดนดูถูกว่าล้าหลัง  ด้วยความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการทำงานมายาวนาน ชุมชนบ้านทับตะวัน-บนไร่จึงเป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับชุมชนชาวเลอื่น ๆ ที่อยากจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองฯ

อนาคตแห่งความท้าทาย

การประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีความท้าทายหลายรูปแบบรออยู่ข้างหน้า แม้ว่าชุมชนบ้านทับตะวัน-บนไร่ยังคงมีพื้นที่ให้สืบทอดภูมิปัญญาต่อไป แต่ก็ต้องอาศัยคนรุ่นใหม่ร่วมมือด้วย ผู้นำชุมชนได้ฝึกอบรมเยาวชนมอแกลนมาแล้ว 6 รุ่นเพื่อสานต่อการทำงาน แต่ก็เป็นเรื่องท้าทายมากที่จะจูงใจให้เยาวชนกลุ่มนี้ทำงานต่อเนื่องในระยะยาว คุณอภินันท์ให้ความเห็นว่า “ชาวเลเจอภัยคุกคามมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นเพราะอาศัยอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งงานที่สำคัญ ด้วยค่าตอบแทนมั่นคงและสูงกว่า โอกาสที่จะไปทำงานรับจ้างที่อื่นจึงมีสูงมาก และมีความเสี่ยงสูงที่พวกเขาจะละทิ้งวิถีชีวิตมอแกลน”

ยิ่งไปกว่านั้น ชาวเลยังมีข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับเอกชน ไม่ใช่แค่ขัดแย้งกับหน่วยงานรัฐ การประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ เป็นการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่ แต่ไม่ใช่การให้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน เป็นเพียงมติของคณะรัฐมนตรีชุดหนึ่งที่ไม่ได้มีผลบังคับใช้เหมือนพระราชบัญญัติ

ตัวอย่างเช่นพื้นที่ขุมเขียวที่คนมอแกลนบางสักใช้ประโยชน์ร่วมกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ต่อมาเอกชนได้เข้ามาทำสัมปทานเหมืองแร่ หลังหมดสัมปทานแล้ว ทั้งชุมชนและเอกชนต่างอ้างสิทธิ์ในพื้นที่นี้ ความขัดแย้งเคยรุนแรงถึงขั้นมีการปิดกั้นไม่ให้ชุมชนเข้ามาใช้พื้นที่  ข้อพิพาทนี้ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่อย่างน้อยการประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ ก็ช่วยให้ชุมชนสามารถต่อรองขอใช้ประโยชน์ขุมเขียวได้  กลุ่มขับเคลื่อนจึงพยายามผลักดันให้พื้นที่คุ้มครองฯ ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่คณะกรรมาธิการกำลังพิจารณาร่างกฎหมายหลังจากสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการแล้ว

ป้าลาภนั่งอยู่บนซากขอนไม้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยยืนต้นแผ่กิ่งก้านให้ร่มเงาอยู่ริมชายหาดบางสัก พื้นที่บริเวณนี้ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชนกำลังถูกคลื่นกัดเซาะอย่างรุนแรงเนื่องจากกระแสน้ำเปลี่ยนทิศ อันเป็นผลจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

เย็นวันหนึ่งป้าลาภชวนผมมาที่ “หัวกรัง” แนวปะการังริมชายหาดบางสัก เราจะมาแทงหมึกสายซึ่งคนมอแกลนเรียกว่า “ดาว๋าก” หรือ “โวยวาย” ในภาษาไทยถิ่นใต้ เพื่อนำไปทำหมึกน้ำดำอาหารโปรดของผม เรามาถึงตอนที่น้ำลงพอดีตามที่ป้าลาภคาดคะเนไว้ ผมทึ่งกับความช่างสังเกตของชาวมอแกลนที่มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติรอบตัว วันนั้นป้าลาภแทงหมึกได้ไม่กี่ตัว บอกว่าน้ำทะเลร้อน หมึกไม่ออกมากินเหยื่อล่อ

เราแวะนั่งพักบนขอนไม้ที่ล้มระเนระนาดอยู่บนชายหาด ผมจำได้ว่าครั้งแรก ๆ ที่มาหัวกรัง ต้นไม้เหล่านี้ยังยืนต้นอยู่ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากระแสน้ำบริเวณหาดบางสักเปลี่ยนทิศ ชายฝั่งทะเลถูกคลื่นกัดเซาะเข้ามาลึกจนต้นไม้โค่น สภาพธรรมชาติบริเวณหัวกรังกำลังเปลี่ยนไปอีกครั้งหลังจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อ พ.ศ. 2547 อุณหภูมิน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นทำให้จับสัตว์น้ำได้น้อยลง ในวันข้างหน้าชาวมอแกลนบางสักผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอาจไม่สามารถดำเนินวิถีชีวิตดังเดิมได้

อนาคตของพื้นที่คุ้มครองฯ บ้านทับตะวัน-บนไร่จะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย บางปัจจัยก็อยู่เหนือการควบคุมของชุมชน แต่อย่างน้อยวันนี้พวกเขาก็ได้ตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมตัวเอง เรียนรู้ที่จะพึ่งตนเองตามวิถีชีวิตมอแกลนโดยนำภูมิปัญญาที่สั่งสมจากอดีตมาประยุกต์ใช้กับชีวิตปัจจุบัน กลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและพร้อมที่จะเผชิญความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

—————————-

สารคดีภาพถ่ายเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยและบันทึกภาษาและวัฒนธรรมมอแกลนในบริบทภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้ชุดโครงการวิจัย สุวรรณภูมิเพื่ออนาคต ซึ่งได้รับทุนจากสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา วิทยาสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปะศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) และดำเนินการโดยหน่วยปฏิบัติการวิจัยภาษาศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (https://www.arts.chula.ac.th/chulaseal/)

ในอนาคตจะมีการเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์มอแกลน ทั้งเรื่องภาษา วัฒนธรรม รวมถึงปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญ

———————————-

เรื่องและภาพ อธิคม แสงไชย

ดูผลงานของช่างภาพได้ที่ instagram: s.athikhom


อ่านเพิ่มเติม เคอร์ดิสถาน (Kurdistan) ดินแดนของ ชาวเคิร์ด ดินแดนไร้ตำแหน่งบนแผนที่โลก

Recommend