จาก ตรุษจีน ถึง เช็งเม้ง : แนวคิดชีวิตหลังความตายของชาวจีน

จาก ตรุษจีน ถึง เช็งเม้ง : แนวคิดชีวิตหลังความตายของชาวจีน

สุสานทหารดินเผาซึ่งจิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกของจีนมีพระบรมราชโองการให้สร้างขึ้น ประกอบด้วยรูปปั้นทหารขนาดเท่าคนจริงจำนวนประมาณ 8,000 รูป สร้างขึ้นเพื่อให้ติดตามไปรับใช้องค์จักรพรรดิในโลกหน้า

ราชวงศ์ถัดมาคือราชวงศ์ฮั่น ได้ทิ้งมรดกไว้เป็นเครื่องเซ่นสังเวยซึ่งสำแดงแสนยานุภาพน้อยกว่า สุสานของจักรพรรดิฮั่นจิ่งตี้ซึ่งครองราชย์ระหว่าง 157 ถึง 141 ปีก่อนคริสตกาล บรรจุเครื่องเซ่นมากมายมหาศาลที่สะท้อนให้เห็นความจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น รูปปั้นจำลองของหมู แกะ สุนัข รถม้า พลั่ว เลื่อย ขวานถากไม้ สิ่ว เตาไฟ และเครื่องชั่งตวงวัด ไม่เว้นแม้กระทั่งสัญลักษณ์ประจำตำแหน่งหรือตราประทับไว้ให้เหล่าอำมาตย์ในโลกหน้าได้ใช้งาน

ในวัฒนธรรมที่รุ่มรวยและเก่าแก่อย่างจีน ความต่อเนื่องเชื่อมโยงจากอดีตสู่ปัจจุบันนั้นไม่เคยเป็นเส้นตรง อีกทั้งอิทธิพลจากภายนอกนับไม่ถ้วนล้วนมีส่วนหล่อหลอมและเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์เกี่ยวกับชีวิตหลังความตายของชาวจีน เมธีลัทธิเต๋าบางคนไม่เชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย ขณะที่พุทธศาสนาซึ่งเริ่มมีอิทธิพลต่อความคิดของชาวจีนมาตั้งแต่ศตวรรษที่สองได้นำแนวคิดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเข้ามาเผยแพร่ ส่วนความคิดเรื่องวิบากกรรมและชีวิตนิรันดร์ก็ซึมผ่านเข้ามาทางพุทธศาสนาและคริสต์ศาสนาเช่นกัน

กระนั้น อิทธิพลหรือร่องรอยหลายอย่างจากวัฒนธรรมยุคต้น เช่น ราชวงศ์ชางและราชวงศ์โจว ยังปรากฏให้เห็นตลอดระยะเวลาหลายพันปีที่ผ่านมา ชาวจีนยังคงบูชาบรรพบุรุษและจินตนาการถึงชีวิตหลังความตายในเชิงวัตถุนิยมและระบบชนชั้น ประสบการณ์เฉียดตายก่อให้เกิดตำนานยอดนิยมเรื่องเสมียนปลายแถวในปรโลกลงรายชื่อในบัญชีผู้วายชนม์ผิดพลาด จนเกือบเป็นสาเหตุของการตายก่อนเวลาอันควร หากไม่มีผู้พบความผิดพลาดเข้า

ชีวิตหลังความตาย
จากตุ๊กตาไม้ถึงกองทหารดินเผา ปัจจุบันลูกหลานผู้ตายจะเผาหุ่นกระดาษเพื่อให้สายสัมพันธ์ยังคงอยู่ต่อไป

เดวิด ไคต์ลีย์ นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเบิร์กลีย์ บอกผมว่า โลกทัศน์เรื่องความตายของชาวจีนนั้นน่าสนใจตรงที่เป็นการมองโลกในแง่ดี โลกนี้ไม่ใช่โลกที่บกพร่องร้ายแรง หากเป็นต้นแบบที่ดีพอสำหรับโลกหน้า เขากล่าวต่อว่า “ในตะวันตก ทุกอย่างเป็นเรื่องของการเกิดใหม่ การไถ่บาป และการช่วยให้รอด แต่ในประเพณีจีน พอตายไปแล้ว คุณก็ยังเป็นเหมือนที่เป็นอยู่นี่ละครับ”

ไคต์ลีย์เชื่อว่าโลกทัศน์แบบนี้สร้างเสถียรภาพให้สังคมจีน เขาบอกว่า “วัฒนธรรมที่มีการบูชาบรรพบุรุษย่อมเป็นวัฒนธรรมแบบอนุรักษนิยม เราจะไม่ชอบสิ่งใหม่ๆ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการท้าทายบรรพบุรุษ”

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศจีนทุกวันนี้ ไม่มีอะไรที่เรียกว่าอนุรักษนิยมได้เลย แถมยังไม่ดูดำดูดีกับคนตายเสียด้วย บ่อยครั้งที่สุสานต้องหลีกทางให้โครงการก่อสร้างใหม่ๆ และชาวจีนชนบทจำนวนมากก็อพยพเข้ามาอยู่ในเมือง ทำให้ไม่สามารถกลับบ้านในช่วงเทศกาลเช็งเม้งได้ บางคนพยายามดูแลฮวงซุ้ยด้วยวิธีอื่น เช่น มีเว็บไซต์ให้ลูกหลานเข้าไปดูแล “ฮวงซุ้ยเสมือนจริง” แต่ในประเทศที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ การนึกถึงอดีตดูจะเป็นเรื่องยากเต็มที และขนบธรรมเนียมประเพณีหลายอย่างก็ค่อยๆสูญหายไป

เรื่อง ปีเตอร์ เฮสเลอร์ • ภาพถ่าย ไอรา บล็อก

 

อ่านเพิ่มเติม

ปฏิวัติเกษตรจีนเลี้ยงมังกรหิว

Recommend