สีผิวของอิโมจิช่วยส่งเสริมความหลากหลายได้อย่างไร

สีผิวของอิโมจิช่วยส่งเสริมความหลากหลายได้อย่างไร

สีผิวของอิโมจิช่วยส่งเสริมความหลากหลายได้อย่างไร

ในตอนที่อิโมจิได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจาก Unicode Consortium เมื่อปี 2010 พวกเขาแทนภาพของผู้คนด้วยโทนผิวสีเหลือง แต่ในปี 2015 สีผิวก็เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากผิวสีเหลืองแล้ว ทุกวันนี้อิโมจิมีสีผิวห้าโทนด้วยกันตั้งแต่ผิวสีขาวไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม

แต่เดิมเคยมีการถกเถียงกันว่าอิโมจิไม่ควรจะถูกผลิตออกมาให้มีสีผิวหลากหลาย บางคนเชื่อกันว่าไอคอนที่มีสีผิวแตกต่างจะยิ่งกระตุ้นความรู้สึกแตกต่างทางเชื้อชาติให้มากยิ่งขึ้นในโลกโซเชียลมิเดีย ในขณะที่หลายคนก็เชื่อว่าไอคอนที่ดีควรจะมีโทนสีผิวที่สะท้อนถึงตัวตนของผู้ใช้งาน

ล่าสุดผลการศึกษาใหม่ชี้ว่าผู้ใช้งานโซเชียลมิเดียไม่ได้ใช้อิโมจิเหล่านี้สำหรับการเหยียดสีผิว รวมถึงตัวไอคอนเองก็ไม่ได้มีส่วนช่วยเพิ่มความเกลียดชังในสังคมออนไลน์แต่อย่างใด

“อิโมจิที่หลากหลายช่วยให้บรรดาผู้ใช้งานรู้สึกว่ามีภาพแทนของพวกเขา” Debra Adams Simmons บรรณาธิการด้านวัฒนธรรมของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกกล่าว ในฐานะของทีมผลิตสารคดีที่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติและวัฒนธรรมมานาน

 

การศึกษาว่าด้วยสีผิว

หลังการสำรวจทวิตเป็นพันล้านทวิต ในทวิตเตอร์ สังคมออนไลน์รูปแบบหนึ่ง ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินบาระพบว่าผู้คนส่วนใหญ่เลือกใช้อิโมจิที่ใกล้เคียงกับสีผิวของตัวเอง และผู้ใช้งานที่มีผิวสีเข้มเองต้องการอิโมจิที่มีความหลากหลายทางอารมณ์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากทุกวันนี้เกือบครึ่งหนึ่งของอิโมจิทั้งหมดยังคงมีผิวสีขาว

สำหรับทวิตที่เลือกใช้อิโมจิแตกต่างจากสีผิวของตัวเองนั้น ส่วนใหญ่แล้วเนื้อหาที่ทวิตก็เป็นไปในทางบวก นอกจากนั้นผลการศึกษายังค้นพบอีกว่า แม้จะมีอิโมจิที่มีผิวขาวมากกว่า แต่ผู้ใช้งานอิโมจิมักเป็นผู้ใช้งานที่มีผิวสีเข้ม ในขณะที่สัดส่วนการใช้งานทั่วโลก อิโมจิที่มีผิวสีเข้มถูกใช้งานน้อยที่สุด อย่างไรก็ตามทีมนักวิจัยชี้ว่าผลลัพธ์นี้อาจเป็นผลมาจากการไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในหลายพื้นที่ของประเทศที่กำลังพัฒนา

“การที่อิโมจิมีตัวเลือกให้ผู้ใช้งานนี้ถือว่าประสบความสำเร็จในด้านความหลากหลาย และปริมาณการใช้งานที่กว้างขวางจากผลสำรวจแสดงให้เห็นอีกว่าอิโมจิสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ได้จริง” Walid Magdy จาก School of Informatics กล่าว

 

โลกที่มีหลายสีผิว

ในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ประจำเดือนเมษายน 2018 นี้ว่าด้วยเรื่องของเชื้อชาติและสีผิว พร้อมนำเสนอภาพถ่ายจากโปรเจค Humanae ซึ่งถ่ายทอดสีผิวของผู้คน 4,000 คนใน 18 ประเทศ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงแล้วสีผิวของมนุษย์เรานั้นหลากหลายมากแค่ไหน

ด้าน Simmon กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่ได้จากโปรเจคนี้ไม่ได้น่าประหลาดใจ อีกทั้ง “การที่ใครสักคนจะเลือกใช้อิโมจิแบบไหนก็เป็นการแสดงออกซึ่งตัวตนของพวกเขาเอง”

เรื่อง Elania Zachos

 

อ่านเพิ่มเติม

เช็คๆ อิโมจิสัตว์เหล่านี้ผิดไปจากความเป็นจริง

Recommend