พูดคุยกับ บาส-ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา นักอนุรักษ์ และทำการตลาดเพื่อธรรมชาติ ถึงประสบการณ์และสิ่งที่ได้เห็นระหว่างทางในโปรเจค Mekong walk – เดินโขง
ระหว่างที่เรากำลังนั่งมองผู้คนสาดน้ำคลายร้อนในเทศกาลสงกรานต์ บาส-ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา กำลังเดินลัดเลาะเลียบแม่น้ำโขง ตลอด 7 จังหวัดในภาคอีสาน ซึ่งหากคำนวณระยะทางแล้วคิดได้ราว 1,000 กิโลเมตร
“ผมอยากเรียนรู้กับแม่น้ำสายนี้ ถ้าถามว่าทำไมต้องเป็นแม่น้ำโขง คงต้องเล่า 2 มุม อย่างแรกคือความรู้สึกส่วนตัว จำได้ว่า เมื่อ 2-3 ปีก่อน เราติดตามปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศอยู่แล้วก็ไปมาหลายที่ แต่ภูมิภาคที่เราไม่เคยไปเลยคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเราก็คิดว่าหากเราอยากสัมผัสและใช้เวลาเพื่อสำรวจ และศึกษาสุขภาพระบบนิเวศในภูมิภาคนี้ก็ต้องเป็นแม่น้ำโขง”
“กับอีกมุม มันก็มีหลายปัจจัยที่เป็นเหตุผล เพราะแม้ว่าเราจะเคยได้ยินเรื่องแม่น้ำโขงมามาก เช่น การสร้างเขื่อน ปลาใกล้สูญพันธุ์ ฯลฯ แต่ เรากลับไม่รู้จักมันเลย ยิ่งแม่น้ำโขงถือเป็นแม่น้ำนานาชาติ เชื่อมโยงกับหลายประเทศ ซึ่งผมสนใจกลไกการจัดการแม่น้ำที่เป็นประชาชาติเช่นนี้ เพื่อให้คนจำนวนหลายร้อยล้านคนได้รับความเป็นธรรม และชอบธรรม” บาส ปรมินทร์ บอกกับ National Geographic ภาษาไทย เมื่อปลายเดือนมีนาคม
นับตั้งแต่ต้นปี โปรเจคการเดินเลียบแม่น้ำโขงได้สื่อสารแฟนเพจ Mekong walk – เดินโขง อย่างต่อเนื่อง และก็เป็น บาสเองที่ทำหน้าที่บรรยายผ่านภาพถ่ายนับสิบนับร้อยภาพ และทำเอาผู้ชมทางบ้านต่างเอาใจช่วยไปกับภารกิจดังกล่าวนี้
ในฐานะสมาชิกประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราคุ้นชื่อกับแม่น้ำโขงเป็นอย่างี เพราะนี่คือสายน้ำที่หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตนับล้านชีวิต หากแต่วันนี้แม่น้ำโขงเป็นอย่างไรบ้าง และประสบการณ์ใดที่นักธรรมชาติวิทยาผู้นี้อยากบอกต่อ
ช่วยเล่าให้ฟังถึงการเดินเลียบโขง การเดินนี้บอก หรือสอนอะไรกับคุณบ้าง?
ผมคงยังบอกไม่ได้ทั้งหมด เพราะตอนนี้ (มีนาคม) เพิ่งเดินได้ 1 ใน 3 หรือ ราวๆ 300 กว่ากิโลเมตรเอง จริงๆ ความยาวของแม่น้ำโขงในประเทศไทย และในเส้นทางที่ผมวางแผนจะเดิน ถ้านับตามแผนที่จะอยู่ที่ประมาณ 860 กิโลเมตร แต่ด้วยการเดินเท้ามันก็ต้องลัดเลาะไปตามแม่น้ำ อ้อมเนินบ้าง อ้อมหมู่บ้านบ้าง และนั่นทำให้ระยะทางมันมากกว่านั้น โดยอยู่สักราวๆ 1,000 กิโลเมตร
ผมยังไม่ได้สรุปบทเรียนจากการเดิน แต่การเดินก็ได้สังเกต เห็นภูมิประเทศ เห็นสถานการณ์ทางสิ่งแวดล้อม และถ้าถามว่าสุขภาพของแม่น้ำโขงเป็นอย่างไร ก็ต้องบอกกันตามตรงว่าแม่น้ำโขงกำลังป่วยหนัก แต่ถึงเช่นนั้นก็ต้องบอกอีกเหมือนกันว่า อาการป่วยหายได้ เหมือนกับคนถ้าเรารักษาถูกก็หายป่วย ซึ่งในธรรมชาติ อาการป่วยที่เกิดขึ้นของแม่น้ำโขงนี้เพียงแค่ปล่อยแม่น้ำไหลอิสระ มันก็จะฟื้นฟูกลับมาได้เอง
สิ่งแรกที่ผมเห็นจากการสำรวจคือ Biomass (มวลชีวภาพ) จำพวกปริมาณปลาลดน้อยลง มีการสำรวจตัวเลขว่า Biomass ในท้ายน้ำ ลดลงจาก 5 แสนตันในอดีต เหลือ 3 แสนตัน ขณะเดียวกันปริมาณปลาน้ำจืดขนาดใหญ่หายไปหรือก็มีอยู่น้อยมาก เช่น ปลาบึกแม่โขงที่เราเคยเห็นถูกชาวบ้านจับได้ตัวเล็กลง หรือถ้าเรามองแผงขายปลา ไม่มีปลาน้ำโขงขายเลย ร้านอาหารที่เขียนว่าขายปลาน้ำโขงมีแต่ปลาทู แล้วที่มันแย่กว่านั้น ผมเคยไปทานอาหารกับผู้เชี่ยวชาญด้านปลาท่านหนึ่ง ท่านยังบอกว่าปลาคังที่เรากินอยู่ก็ไม่ใช่ปลาคังจริงๆด้วยซ้ำ แต่คือปลาเลี้ยง ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Catfish ประเภทหนึ่ง ซึ่งการหายของปลาท้องถิ่นนี้ มันยังสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตรอบๆ นั่นเพราะปลาที่เป็น ผู้ล่าของห่วงโซ่อาหาร หรือที่เรียกว่า Apex predator หายไป ปริมาณสัตว์ที่สร้างความสมดุลตามธรรมชาติจะหายไปด้วย
จากการเห็นปลาที่หายไปนี้ ผมยังเข้าไปที่หมู่บ้านหนึ่ง ชื่อบ้านเวียงคุก ที่นั่นมีอาชีพหนึ่งของชาวบ้านคือพรานปลา เป็นอาชีพตั้งแต่โบราณ ซึ่งพวกเขาจะมีเครื่องจับปลาที่ใช้ในพื้นที่ และถ้าบ้านไหนมีปลาหลากชนิด เครื่องจับปลาก็จะเยอะมากขึ้นตาม ในอดีตที่บ้านเวียงคุกก็จะมีเครื่องมือตกปลาอยู่ 3 แบบ นี่คือนวัตกรรมที่มาจากธรรมชาติและวิถีชีวิตล้วนๆ แต่วันนี้อุปกรณ์หาปลาที่ว่าถูกใช้น้อยลงมาก เพราะปลาหายไป ภูมิปัญญาของเบ็ด 3 แบบก็หายไปตาม และเครื่องมือจับปลาอื่นๆหลากหลายประเภท ก็หายไป เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรต่อไป แต่เมื่อทรัพยากรน้อยลง คนก็ถูกบังคับให้ปรับ เช่น การออกจากพื้นที่เพื่อไปทำงาน หรือไม่ก็เลือกทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวเพื่อส่งให้กับอุตสาหกรรม คนต้องออกจากที่ที่เคยอยู่เพื่อไปทำงานในระบบเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว หรือไม่ก็เลือกจะทำเกษตรกรรมเพื่อส่งให้กับอุตสาหกรรม
ตอนเด็กๆ เราเคยได้ยินที่ว่า “โขงสีปูน มูลสีคราม” ใช่ไหม ตอนนี้กลับกันคือ คือแม่น้ำโขงเป็นสีครามแทน ซึ่งการที่น้ำเป็นสีครามหมายความว่าปริมาณตะกอนแม่น้ำมันลดน้อยลง ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าสวย แต่อีกด้านมันคือการที่ระบบนิเวศ เสื่อมลง เพราะตะกอนของน้ำหาย น้ำก็เลยใสขึ้น และการนำพาธาตุอาหารมาเลี้ยงระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกับแม่น้ำก็หายไปด้วย
อย่าลืมว่าการมีตะกอนนี้ยังทำให้เกิดการอิ่มตัวของน้ำด้วย เพราะเมื่อน้ำมีแร่ธาตุก็จะส่งผลถึงมวลน้ำและการอิ่มตัวของน้ำ เมื่อเวลาน้ำไหลก็เปรียบและนึกภาพได้กับน้ำที่มีน้ำหนักจากตะกอนกับน้ำที่ไม่มี ซึ่งก็เป็นธรรมดาว่าน้ำที่ไม่มีตะกอนจะไหลหรือเคลื่อนที่ได้เร็วกว่า อัตราการกัดเซาะชายฝั่งจึงสูง พออัตราการกัดเซาะมากกว่าปกตินำไปสู่โครงการสร้างกั้นตลิ่งพังราคา 50-80 ล้านบาทต่อกิโลเมตรแทบตลอดลำน้ำ เข้าใจว่าถ้าพังก็ต้องแก้ สิ่งที่ผมกำลังเชื่อมโยงไปสู่ปัจจัยตั้งต้น ผมอยากให้มีการบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่แก้แบบงูกินหาง นี่คือภาพที่เราเห็นจากการเดินในช่วงแรก และนอกจากสิ่งที่มันเป็นอยู่แล้ว การที่แม่น้ำโขงสุขภาพไม่ดีมันยังมีปัจจัยซ้ำเติม เช่น การปล่อยปลาจากปลาต่างถิ่น ซึ่งจากการสำรวจผมเห็นว่านี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่ผมประจักษ์ว่าต้นทุนทางธรรมชาติ มีผลทางตรงจนเกิดการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตผู้คนจริงๆ
สุขภาพของแม่น้ำโขง ยังโยงได้กับปริมาณน้ำ คือโดยปกติแล้วระดับน้ำในแม่น้ำจะขึ้นกับปริมาณน้ำฝน ซึ่งหมายความว่า ในฤดูแล้ง น้ำจะแห้ง กลับกันในฤดูฝนน้ำก็จะมาก มันเป็นแบบนี้ แต่ว่าวันที่ผมไปถึงเชียงคานประมาณวันที่ 16 มกราคม น้ำกำลังแห้งเพราะมันก็ใกล้จะหน้าแล้ง และผมก็เห็นบรรดาโขดหินที่พ้นน้ำ การลงไปเล่นของเด็กในละแวกเมื่อน้ำลง แต่พอมาอีกทีวันที่ 20 มกราคม พื้นที่ที่เคยแห้ง น้ำมันกลับขึ้น ซึ่งมันผิดปกติจากอัตราระดับปริมาณน้ำโดยเฉลี่ยหรือที่เรียกว่า Hydrograph กล่าวคือมันมีความผันผวนผิดฤดูสูง ซึ่งมันน่าจะเชื่อมโยงได้กับความผิดปกติ จากการมีเขื่อนขวางแม่น้ำโขง
ทั้งหมดคือความจริงที่ผมเห็น แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้พูดให้ทุกคนหมดหวัง เพราะอย่างที่เราเข้าใจกันว่าธรรมชาตินั้นฟื้นฟูตัวเองได้ และเมื่อปัญหาเหล่านี้เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ มนุษย์ย่อมแก้ไขได้ แค่จะร่วมกันหาทางออกอย่างไรให้ทันการณ์ ก่อนสังคมหนึ่งๆ หรือระบบนิเวศใดๆจะล่มสลายไปเสียก่อน
ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ช่วยเล่าถึงเบื้องหลังการตัดสินใจ ทำไมถึงต้องเป็นแม่น้ำโขง ที่มาที่ไปคืออะไร?
อย่างที่พูดไปในตอนแรก มันมีทั้ง 2 มุม ทั้งมุมความรู้สึกส่วนตัว ซึ่งเราอยากสัมผัสและใช้เวลากับระบบนิเวศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการเอาตัวเองไปสัมผัสมันในความหมายของผมคือไม่ได้จำกัดเรื่องของระยะเวลา แต่คือการเอาตัวเองไปรับรู้ ทำความเข้าใจ สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนในเชิงเหตุผลนี่ต้องเป็นแม่โขงคือคือแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนในระดับนานาชาติ มีคนหลายสิบล้านคนเกี่ยวข้อง ความนานาชาติเนี่ยะล่ะที่ผมสนใจกลไกและข้อตกลงร่วมในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
แม่น้ำโขงยังเป็นแม่น้ำที่ให้นิเวศบริการขนาดใหญ่ ซึ่งถ้าว่ากันตามหลักการก็ประกอบไปด้วย 4 ประเภท ทั้งบริการด้านการเป็นแหล่งผลิต (provisioning services) บริการด้านการควบคุม (regulating services) บริการด้านวัฒนธรรม (cultural services) และบริการด้านการสนับสนุน (supporting services) ยกข้อมูลได้ว่า มีตัวเลข Biomass (ปลา) วัดจากท้ายน้ำ ปีละประมาณ 5 แสนตัน ซึ่งเยอะมาก ขณะที่ยังช่วยเรื่องของตะกอนแม่น้ำซึ่งเป็นทรัพยากรเอื้อให้เกิดพื้นที่เกษตรกรรม จนทำให้เวียดนามเติบโตในด้านเศรษฐกิจ และแม่โขงยังเชื่อมกับเรื่องวัฒนธรรม โดยแม่น้ำโขงถือว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เชื่อมโยงกับตำนานท้องถิ่นย่างพญานาค และการที่เราไปเดินก็เพื่ออยากจะเรียนรู้ในสิ่งนี้ เป็นการเรียนรู้และสื่อสาร และยังเป็นการกระตุ้น ดึงให้คนออกมาใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ ผมเคยให้สัมภาษณ์ว่าอยากให้เป็นเส้นทางจาริก ในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเมื่อมีเส้นทางที่โอเคแล้ว มันก็จะมีคนเดินตาม ให้คนออกมามีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติในเชิงคุณภาพได้มากขึ้น
จากวันที่ตัดสินใจจนถึงเดินจริงนานเท่าไร?
ประมาณ 2 ปี จากตอนเริ่มคิดจะทำ ผมเคยขับรถจาก จ. นครพนมไปเชียงคาน จ.เลย เพื่อดูความเป็นไปได้ ซึ่งระหว่างที่ดูก็พบว่ามันน่าเดินมาก แต่บางช่วงก็ยาก อย่างช่วงที่น่าเดินคือตั้งแต่เชียงคานมาที่ อ. ศรีเชียงใหม่ จ. หนองคาย เรามองว่าคล้ายๆเส้นทางเดินป่าในญี่ปุ่น มีหมู่บ้านริมโขงให้แวะได้ตลอดทาง มีเวลาเสพธรรมชาติและมีจุดพัก
แต่ละวันในทริป วางแผนอย่างไร?
จริงๆมีแผนมันดีนะ แต่ผมไม่ได้มีกรอบขนาดนั้น (หัวเราะ) จะรู้เช้าวันนั้นเลย คือไม่ได้กะเกณฑ์อะไรที่มันเคร่งครัดมาก สไตล์เราเป็นแบบนี้ เราถือว่าเป็นการเดินเพื่อการเรียนรู้ พอถึงวันเดินจริงเราก็ดูทุกเช้า ว่ามีหมู่บ้านอยู่ที่ไหน ประเมินว่าวันนี้จะเดินอย่างไร มีอาหารไหม แล้วเราก็เลือกเดินในเส้นทางนั้น หัวใจสำคัญคือการสัมผัสธรรมชาติ ซึ่งอย่างที่บอกสักครู่นี้ว่ามันไม่ได้หมายถึงระยะเวลาว่าจะอยู่นานเท่าไร แต่มันหมายถึงการสังเกตอย่างตั้งใจว่ารอบนอกเป็นอย่างไร เช่นตอนนี้ (ชี้ไปนอกหน้าต่าง) คุณเห็นลมผัดใบไม้ไหม ดูสิมันเคลื่อนไหวอย่างไร ใบแบบไหนที่จะร่วง ใบแบบไหนที่จะไม่ นี่คือตัวอย่างของการสัมผัสธรรมชาติที่เราอยากจะทำ
สิ่งนี้มันก็เชื่อมโยงกับคำถามแรกที่ถามถึงบทเรียนที่ได้จากการเดินทาง เมื่อเราใช้เวลาที่จะทำความรู้จักกับธรรมชาติจริงๆ มันก็จะรู้เลยว่า ธรรมชาติมีทั้งด้านที่สวยงามและก็ด้านที่ไม่ได้เป็นดั่งใจเรา เวลาที่เราเดินโขง แม้ว่าอยากจะตั้งเต็นท์ริมน้ำตรงนี้ แต่ถ้าน้ำขึ้นก็คงทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องยกเลิก หรือถ้าเราจะนอน เราอาจจะเจอริ้นน้ำจืดจำนวนมาก เมื่อเราทนไม่ได้ก็ต้องยกเลิก มันเป็นความจริงที่ไม่ได้เป็นอย่างที่ใจเราหวัง นี่คงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เราได้เจอกับตัวเอง
กลับมาที่ตัวคุณเอง นอกจากโปรเจคเดินโขงแล้ว ยังมีอะไรอีกบ้าง และคุณนิยามตัวเองว่าอะไร?
ผมมองว่าผมทำงานการตลาดเพื่อธรรมชาตินะ Marketing for nature แต่มันเป็นการตลาดในเชิง Strategic marketing ซึ่งเป็นการตลาดในเชิงกลยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นโปรเจคอารีย์ (Ari Eco walk) งานโปรเจคอื่นๆ หรือรวมถึงธุรกิจที่บ้าน สิ่งเหล่านี้ก็มาจากการที่ผมอินกับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ ซึ่งเมื่อข้างในผมอยากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เรารู้ว่าสิ่งแวดล้อมมีผลกับจิตใจ และร่างกาย เมื่อเราตระหนักเรื่องนี้ พอเราไปทำอะไรเราก็จะใส่มันไปตลอด เวลาเราคิดผลิตภัณฑ์เราก็ต้องล้อไปกับ เป้าหมายความยั่งยืนแบบไหน ทั้ง SDG หรือ ESG ทั้งในมาตรฐานโลก และในระดับของธุรกิจ
ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของพี่นณณ์ (ผาณิตวงศ์) พี่เขาบอกได้ทำและมีความสุขกับงานทั้งสองด้านได้ ทั้งความสุขจากการทำธุรกิจและการทำงานด้านนิเวศวิทยา ธรรมชาติวิทยา แต่สำหรับผม ผมเป็นพวกที่อยากทำงานด้านธรรมชาติอย่างเดียว มันก็ถือว่าตัวเองต้องพยายามและปากกัดตีนถีบเหมือนกันนะ เพราะว่าในเชิงโครงสร้างของงานด้านนี้มันก็ยากหน่อย ตอนที่ผมอายุเข้าวัยรุ่น จำอายุไม่ได้ ผมเคยบอกที่บ้านว่าอยากเป็นเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ แล้วถูกที่บ้านตั้งคำถามถึงรายได้ นี่คือเหตุการณ์ราวๆ 25 ปีที่แล้ว มาถึงตอนนี้ผมก็รู้สึกเหมือนเดิม คือเรารู้ตัวเองว่าอยากทำอะไร ก็คือทำงานด้านธรรมชาติวิทยาแบบนี้ แล้วทำอย่างไรที่เราจะอยู่ได้ และมีชีวิตอย่างที่ต้องการ
ลองคิดดูว่า ถ้าคนอยากทำงานด้านนี้เต็มตัว ผมว่ามีไม่กี่รูปแบบ อย่างแรกคือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สองคือ ทำองค์กรอิสระ หรือ NGO แต่ถ้าลองไปสำรวจในเว็ปไซต์สมัครงานตำแหน่งในนโยบายเมือง หรือจังหวัด ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม นี่แทบไม่มีเลยนะ นักนิเวศวิทยาแทบไม่ใช่อาชีพที่ตลาดงานเปิดกว้างเลย นี่ขนาดเราพูดถึงเฉพาะ Pure Science นะ แต่ยังไม่พูดถึงอาชีพที่มัน Applied กับงานด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม นั่นเพราะโครงสร้างงานในองค์กร ไม่ได้เอื้อให้นักธรรมชาติวิทยาจากหลายสาขาเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การทำงานในองค์กรได้ สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นอุปสรรค ถึงเช่นนั้น แต่สำหรับผม ผมก็ยังอยากทำและปรับลดไลฟ์สไตล์ให้เข้ากับสิ่งที่ทำได้ ก็ทู่ซี้ทำเรื่อยมามา และสิ่งที่เราทำได้ก็คือพัฒนาความรู้และทักษะของตัวเอง ที่จะทำให้เราสร้างผลงาน ผลิตผล ให้กับผู้คนหรือนโยบายที่เหมาะสมในด้านนี้จริงๆ
พอสิ่งที่ตั้งใจทำบวกกับการเริ่มเป็นที่รู้จักเริ่มออกกอกออกผล สิ่งที่ตามมาคือผมก็เริ่มได้รับทุนในสิ่งที่ผมอยากได้ อยากทำ อย่างปีที่แล้วก็ได้รับทุนสนับสนุนจากธนาคารจิตอาสา และ สสส. จาก Ari Eco walk ที่สำรวจความหลากหลายในธรรมชาติเมือง แต่ทั้งหมดก็ถือว่าเป็นเงินทุนก้อนเล็ก มันเพียงพอที่จะทำงาน แต่ก็ไม่พอกับการใช้ชีวิต เลยจำเป็นต้องมีโปรเจคย่อยๆมาช่วย
คุณเติบโตแบบไหน ถึงอินกับเรื่องสิ่งแวดล้อมแบบนี้?
เติบโตแบบมีความสุขกับธรรมชาติ เวลาเข้าไปพื้นที่ธรรมชาติทำให้เราเรียนรู้ได้อย่างอิสระ และอย่างแรกเรามีความสุขกับที่สัมผัส ขณะเดียวกันพอเรามีความรู้มากขึ้น เราเริ่มรู้แล้วว่า ธรรมชาติไม่มีโอกาสที่จะส่งเสียง ไม่มีโอกาสจะสื่อสาร อย่างคางคก ตะขาบ ตุ๊กแก ที่คนกลัว แล้วก็อยากจะฆ่ามัน การคิดแบบนี้ผมมองว่ามันไม่เป็นธรรมกับชีวิตอื่นเลย ทั้งที่เราสามารถแชร์พื้นที่ร่วมกันได้
ในฐานะคนทำงานด้านธรรมชาติวิทยา นักสำรวจ นักอนุรักษ์ ทักษะและความรู้ของผู้ที่จะทำงานด้านนี้ควรประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
อย่างแรกคือเราต้องมีวิธีการเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้ที่ง่ายที่สุดคือการเข้าไปอยู่ในธรรมชาติ ไปสังเกต แล้วก็ทำความเข้าใจมันด้วยเหตุผล ซึ่งมันคือวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ถ้าย้อนกลับไปดูนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบทฤษฎีต่างๆ เริ่มจากสิ่งนี้ เริ่มจากการสังเกตพืช สังเกตสัตว์ แล้วก็เชื่อมโยงสิ่งที่เจอจนพบรูปแบบซ้ำๆ (pattern) เกิดเป็นทฤษฎีเพื่ออธิบายที่มาที่ไปโดยมีหลักการ ดังนั้นเมื่อต้องสื่อสารออกไป เราคงไม่ปล่อยสิ่งที่เรารู้แบบมั่วๆ ซึ่งมันก็เป็นความซับซ้อนของธรรมชาติ ที่เราอาจไม่รู้เรื่องราวทั้งหมด วันนี้เป็นแบบหนึ่งวันข้างหน้าเมื่อค้นพบหรือเข้าใจอะไรมากขึ้น ผลลัพธ์ก็จะเปลี่ยนไป เราก็ต้องหาข้อเท็จจริง และสื่อสารด้วยความระมัดระวัง โดยต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่ตาเราเห็นมันมีข้อจำกัด และมันมีข้อมูลอีกมากที่เรายังไม่ได้สัมผัส
ตอนผมไปสำรวจริมโขง ผมไปดูด้วยตัวเองจริงๆ และความที่เราไม่รู้ เราไปสังเกตจริงๆ ดูต้นไม้ ดูทิศทางลม แล้วผมกลับมาอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ชอบมากเมื่อรู้ว่าสิ่งที่เราคิดอยู่ในหัว มันมีคำเรียกอย่างไร มันเกิดการเชื่อมโยง ระหว่างประสบการณ์จริง การสัมผัส เป็นการค้นพบความสุขแบบที่เรียกว่า Sense of Discovery
ถ้าใครอยากทำแบบนี้ เราต้องให้เวลากับตัวเองที่จะเรียนรู้ ไม่ต้องเร่งรัด แต่มันคือการใช้เวลา เอาตัวไปกับพื้นที่ และสำหรับบางแห่งอาจใช้เวลาเป็นปีถึงจะเข้าใจในสิ่งที่ธรรมชาติเป็น
เมื่อก่อนเวลาเราจะอนุรักษ์ หรือทำโครงการใด เรามักเริ่มจากตั้งธงก่อน และวางเป้าหมาย เช่น จะอนุรักษ์นก ก็ตั้งธงแล้วว่าจะทำอะไรกับเป้าหมาย แต่ตอนหลังผมเรียนรู้ว่า ผมจะอนุรักษ์โดยการเข้าไปสังเกตมันก่อน อย่าเพิ่งตั้งธง เราเข้าไปเรียนรู้ อย่างเคารพ และค่อยๆ Connected หาความสัมพันธ์ไป จากนั้นค่อยสะท้อนแล้วค่อยๆกำหนดว่าเราอยากทำอะไรกับมัน ซึ่งจากการทำงานในอดีต
กระบวนการเรียนรู้แบบนี้ ผมได้รับแรงบันดาลใจ จากหนังสือเรื่อง SAND TALK ซึ่งเล่าวิธีปฏิสัมพันธ์ของชาวอะบอริจินกับโลก แล้วสังเคราะห์ออกมาเป็นแนวทางที่จะอยู่ร่วมกับโลกนี้ได้อย่างกลมกลืนและยั่งยืน เราจะเริ่มจากการเข้าไปด้วยความเคารพ และสร้างสร้างความสัมพันธ์กันก่อน โดยอาจจะยังไม่ได้อะไรเลย แล้วพอเราเข้าใจความสัมพันธ์แล้ว ถึงได้ลองทำ ผมว่ากระบวนการนี้ทำให้ไม่ได้แยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติ แต่เราจะเห็นตัวเราเป็นเนื้อเดียวกับธรรมชาติด้วย อันนี้คือหัวใจของอารอนุรักษ์สมัยใหม่
เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ
ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส
อ่านเพิ่มเติม : ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักเรียนรู้ธรรมชาติวิทยาไร้กรอบ กับความเข้าใจระบบนิเวศในไทยผ่านปลาน้ำจืด