“จักรกริช สังขมณี” มานุษยวิทยามหาสมุทร ถอดรหัสมนุษย์ในระบบนิเวศใต้ทะเล

“จักรกริช สังขมณี” มานุษยวิทยามหาสมุทร ถอดรหัสมนุษย์ในระบบนิเวศใต้ทะเล

บันทึกประสบการณ์ภาคสนามใต้มหาสมุทร ของนักมานุษยวิทยาซึ่งท้าทายและพ้นข้ามกรอบความคิดเรื่องสาขาวิชาแบบดั้งเดิม

หลายสิบปีก่อน ในวันที่ “การสร้างเขื่อน” เป็นทั้งแนวทางพัฒนาจากภาครัฐ และสาเหตุของการลุกฮือต่อต้านจากภาคประชาสังคม เวลาเดียวกันนี้ จักรกริช สังขมณี นักมานุษยวิทยาเลือกศึกษาวิธีคิดของ “วิศวกรสร้างเขื่อน” เพื่อถอดรหัสว่า คนกลุ่มนี้มีการผลิตสร้างทางความรู้และความคิดอย่างไร ถึงตัดสินใจเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญสำหรับการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้

“เมื่อพูดถึงการสร้างเขื่อน แน่นอนว่าชาวบ้าน หรือภาคประชาสังคมส่วนใหญ่ก็จะไม่เห็นด้วย เพราะการเกิดขึ้นของเขื่อนสักแห่งหนึ่งมักสร้างผลกระทบมากมาย ทั้งต่อระบบนิเวศ การตัดไม้ทำลายป่า และต่อสภาพความเป็นอยู่ของชุมชน ฯลฯ แต่ถึงเช่นนั้น ในอีกมุมก็ยังมีคนบางกลุ่มที่เชื่อว่าผลประโยชน์ในด้านบวกมีมากกว่ากว่าด้านลบ และยังมีคนเชื่อว่าการมีเขื่อนเป็นเครื่องมือสำคัญเป้นความจำเป็นในการจัดการทรัพยากรน้ำ ผมเลยเลือกที่จะศึกษาฝั่งที่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน เนื่องจากเราไม่ค่อยได้ยินเสียงจากข้างในชุมชนคนเหล่านี้นัก” นักมานุษยวิทยาคนเดิม อธิบายถึงงานวิจัยในระดับปริญญาเอกเมื่อหลายปีก่อน

“ไม่มีองค์ความรู้ใดที่แยกออกจากความเป็นสังคม แม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์” คือส่วนหนึ่งของเนื้อหาโดยสรุปจากงานชิ้นนั้น ยกตัวอย่างกับคำถามที่ว่า “สร้างเขื่อนตรงนี้ดีมั้ย หรือได้ไหม?” ยังคลุมด้วยนัยทางสังคม การเมือง และการจัดสรรผลประโยชน์ พอๆ กับหลักวิศวกรรม

ปัจจุบัน รศ.ดร.จักรกริช สังขมณี เป็นอาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และพล็อตเรื่องของบันทึกภาคสนามของนักมานุษยวิทยาก็น่าจะจบลงเพียงเท่านี้ ถ้าไม่ใช่เมื่อไม่นานมานี้ รศ.ดร.จักรกริช ได้ผลิตผลงานอีกชิ้นโดยการเลือกพื้นที่ใต้สมุทรอันปราศจากมนุษย์เป็นพื้นที่สำรวจทางความคิด ก่อนตีพิมพ์เป็นหนังสือที่ชื่อ มานุษยวิทยามหาสมุทร : ชาติพันธุ์วรรณาว่าด้วยเทคโนโลยี สปีชีส์ วัตถุ และเรื่องเล่าใต้ท้องทะเล

นี่คือบันทึกประสบการณ์ภาคสนามใต้มหาสมุทร และนำเสนอแนวคิดภววิทยาสนามและชาติพันธุ์วรรณามหาสมุทรผ่านการนำตัวเองเข้าไปทำงานกับสนามที่ใต้ท้องทะเล ซึ่งท้าทายและพ้นข้ามกรอบความคิดเรื่องสาขาวิชาแบบดั้งเดิม

จุดเริ่มต้นของการศึกษามานุษยวิทยาในมหาสมุทรคืออะไร?

ผมเริ่มต้นศึกษามนุษย์เหมือนนักมานุษยวิทยาอื่นๆ ทั่วไป แต่โดยความสนใจเน้นไปที่มานุษยวิทยาที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งแวดล้อมนั้นกำกับความเป็นมนุษย์ กำกับการมีอยู่ และเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของเราเป็นอย่างมาก เช่น เรามีภาษา มีพิธีกรรม รูปแบบความรู้ที่อิงกับระบบนิเวศวิทยาที่เราอาศัยอยู่ ยกตัวอย่างชุมชนเอสกิโม (Eskimo) ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองแถบขั้วโลกก็จะมีวิถีชีวิตและคำศัพท์ของการใช้ภาษาที่เกี่ยวกับน้ำแข็งเยอะเลย หรือผู้คนที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำโขงก็จะมองธรรมชาติของแม่น้ำโขงต่างจากนักวิทยาศาสตร์ นักชีววิทยา หรือนักอุทกศาสตร์ที่มองเรื่องน้ำ

ผมมองความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและเชื่อมโยงกับความเป็นมนุษย์ โดยตั้งคำถามว่ามนุษย์สร้างความรู้ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างไร  ซึ่งในช่วงที่ผมเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเป็นช่วงที่มีข่าวความขัดแย้งในด้านการสร้างเขื่อนหลายที่ พอพูดถึงเรื่องการสร้างเขื่อนทีไร ก็อดไม่ได้ที่จะพูดถึงผลกระทบต่อผู้คน และระบบนิเวศ ทั้งในทางบวกและลบ ซึ่งนักมานุษยวิทยาจำนวนไม่น้อยก็ศึกษาในเรื่องนี้ เช่น มองผลกระทบกับชาวบ้านในเรื่องวัฒนธรรม วิถีชีวิต บริบทสิ่งแวดล้อม

แต่ถึงเช่นนั้น การจะมองถึงผู้ที่ถูกกระทบฝ่ายเดียวก็คงได้ภาพเพียงด้านเดียว เพราะอีกมุมการสร้างเขื่อนก็ไม่หายไปจากแนวคิดการพัฒนากระแสหลัก นั่นเพราะยังมีคนที่มองว่าการมีเขื่อนยังมีความจำเป็น ผมจึงเลือกศึกษาวิศวกรผู้สร้างเขื่อน หรือคนที่ออกแบบสร้างเขื่อน ในฐานะ “ชนเผ่า” แบบหนึ่งซึ่งมีความรู้ความคิดเฉพาะด้าน และมีอำนาจในสังคมจากการศึกษาและกลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผมศึกษาวิศวกรในแง่ของการเป็นกลุ่มทางสังคม มองพวกเขาว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เชิงความรู้แบบหนึ่ง นั่นเพราะวิศวกรเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่มีการสร้างความรู้ วิธีคิด ภาษา โลกทัศน์ และมีความสัมพันธ์กับสังคม การประกอบสร้างชุมชนวิศวกรที่จำเพาะนี้คือปัจจัยที่ทำให้เขามองว่าการสร้างเขื่อนมีประโยชน์มากกว่าด้านลบ

งานภาคสนามการจัดการน้ำในชนบทของลาว

การศึกษาครั้งนั้น ผมใช้วิธีการเข้าไปฝังตัวในกลุ่มวิศวกร เข้าไปอยู่ในกระบวนการสร้างความรู้ ทำงานวิจัยกับเขาเป็นเวลา 8 เดือน มันทำให้เราภาพเห็นอีกด้านหนึ่งของการสร้างเขื่อน เพราะท้ายที่สุดการประกอบสร้างความรู้เกี่ยวกับน้ำนั้นมันมีหลายโลกทัศน์มาก และโลกทัศน์ของวิศวกรที่มองเห็นแม่น้ำ กับโลกทัศน์ของชาวบ้านที่อยู่อาศัยกับแม่น้ำมันคนละโลกกัน กล่าวคือมันเป็นโลกที่มาจากการจินตนาการและตรรกะที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

สิ่งที่ผมค้นพบจากการศึกษาในครั้งนั้นคือการมองความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กับสังคม เป็นจุดเริ่มที่ทำให้ผมสนใจมานุษยวิทยาที่ไม่ได้ศึกษาเฉพาะชาวบ้าน แต่ศึกษาคนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี และทำให้เชื่อว่า ไม่มีกระบวนการสร้างความรู้ใดที่แยกขาดจากสังคม ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณจะสร้างเขื่อนสักเขื่อน และถามคำถามว่า “เขื่อนนี้สร้างได้ไหม” หรือ “โปรเจคนี้ยากไหม” นี่ไม่ใช่คำถามในเชิงวิศวกรรมอย่างเดียว แต่คำตอบที่ได้จะมีเรื่องสังคม การเมือง และการคิดคำนวณทางเศรษฐกิจเข้ามาปนอยู่ด้วยเสมอ

คำถามที่มาจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จึงไม่ได้เป็นกระบวนการที่เที่ยงตรง ปราศจากอคติเสมอไป แต่เป็นกระบวนการทางสังคมแบบหนึ่ง ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ไม่ได้ลอยอยู่เหนือบริบทความเป็นสังคม บริบททางการเมือง และข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ แม้ว่าภาษาคำพูดที่ใช้จะแสดงออกถึงการเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นคำเชิงเทคนิค แต่ความเชี่ยวชาญก็เป็นความรู้หรือโลกทัศน์แบบหนึ่งเท่านั้นในกระบวนทัศน์หลายๆ แบบที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและโลกที่เราอาศัยอยู่

พอศึกษาเรื่องเขื่อน ผมก็ขยับมาสนใจศึกษาเรื่องการจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำ และไหลตามน้ำมาเรื่อยๆ จนมาถึงความสนใจในมหาสมุทร ความสำคัญของการทำงานในมหาสมุทรก็คือความพยายามในการชี้ให้เห็นว่า หากพื้นที่มหาสมุทรครอบคลุมอาณาบริเวณ 70% ของโลกใบนี้แล้ว งานวิจัยมานุษยวิทยาที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็มุ่งอธิบายโลกเพียงแค่ 30% ซึ่งเป็นพื้นที่บนบกที่มนุษย์อยู่อาศัยเท่านั้น ซึ่งจำกัดมาก มานุษยวิทยามหาสมุทรเป็นการพยายามอธิบายพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ขาดหายไปในการทำความเข้าใจโลกใบนี้ที่เชื่อมโยงกับความเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน

การศึกษาภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อมของโลก อธิบายและเชื่อมโยงกับหน้าที่ของนักมานุษยวิทยาอย่างไร?

การศึกษามนุษย์ในเชิงมานุษยวิทยาแบบดั้งเดิม คือการเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางของการศึกษา และเอาพื้นที่ซึ่งมนุษย์อยู่อาศัยเป็นตัวตั้ง วิธีการคิดแบบนี้อิงอยู่กับพื้นพิภพ ทำให้เวลาเรามองความสัมพันธ์หรือปัญหาต่างๆ ของโลกใบนี้ เช่น สภาวะโลกร้อน น้ำท่วม ฝุ่นควัน ความร้อนในเมือง ทั้งหมดวางอยู่บนฐานการคิดแบบบนบกทั้งสิ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าจะเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของมนุษย์บนโลกใบนี้อย่างครอบคลุม ต้องไม่ลืมพื้นน้ำซึ่งไม่ได้เป็นที่ที่เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยของมนุษย์ด้วย เราต้องขยายขอบเขตการมองโลก โดยศึกษาระบบนิเวศอีกด้านที่มนุษย์อาจไม่เหมาะสมในการเข้าไปอยู่อาศัยนักด้วย รวมไปถึงตัวแสดงอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์หากแต่ก็มีความสัมพันธ์กับมนุษย์ไม่มากก็น้อย การศึกษาแบบนี้เป็นการศึกษาที่เรียกว่ามานุษวิทยาพ้นมนุษย์ (Posthuman Anthropology)  คือไปไกลกว่าการศึกษาเฉพาะมนุษย์เท่านั้น ก้าวข้ามการทำให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง และทำให้มนุษย์รู้สึกถึงข้อจำกัดของตัวเองท่ามกลางสรรพสิ่งต่างๆ

เราคงเคยได้ยินคำว่า “แอนโธรพอซีน” (Anthropocene) หรือมนุษยสมัยซึ่งเป็นคำเรียกของสภาวะที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ นั่นคือการที่กิจกรรมของมนุษย์ได้รบกวนสภาวะตามธรรมชาติของโลกอย่างมาก โดยเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์การเติบโตของประชากรแบบก้าวกระโดดและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเร่งด่วน ผลกระทบของกิจกรรมเหล่านี้ ได้สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม นี่จึงยุคที่มนุษย์มีผลอย่างมากต่อระบบนิเวศและเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในธรรมชาติในวงกว้าง ผมมองว่าวิธีการคิดแบบที่นำมาสู่มนุษยสมัยนี้คือความคิดแบบมนุษย์อหังการ และตอนนี้โลกใบนี้ก็กำลังแสดงผลลัพธ์และการตอบโต้จากธรรมชาติกลับมา สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ทั้งสภาวะโลกร้อน ฝุ่นควัน ภัยพิบัติ โรคระบาด แสดงให้เห็นว่าผลกระทบบางอย่างในโลกนี้มนุษย์ควบคุมไม่ได้ และการอหังการของมนุษย์ได้กลับมาทำลายระบบนิเวศที่มนุษย์อาศัยอยู่นั่นเอง

ผลกระทบมากมายจากมนุษยสมัยนี้ชี้ว่ามนุษย์ไม่ใช่ศูนย์กลางหรือผู้ที่ควรครอบครองโลก แต่มองว่ามนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโลก การศึกษาทางมานุษยวิทยาแบบนี้จะให้ภาพที่เด่นชัดขึ้นก็มักจะมาจากการทำความเข้าใจบริบทที่ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของความเป็นมนุษย์ของเรา พื้นที่ที่ผมเลือกในการแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นใหญ่ในโลกใบนี้ก็คือพื้นที่มหาสมุทร ดังนั้น มหาสมุทรจึงเป็นที่ที่ผมเข้าไปศึกษามองหาความสัมพันธ์ที่พ้นไปจากการเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ทำการทดลองทางความคิด และศึกษาว่ามหาสมุทรจะบอกอะไรกับเราได้บ้าง สิ่งที่ทำให้งานของนักมานุษยวิทยาต่างจากนักสมุทรศาสตร์ หรือนักชีววิทยาทางทะเล คือเราไม่ได้ศึกษา “เกี่ยวกับ” ทะเล แต่เราศึกษา “จาก” ทะเล นักมานุษยวิทยามองมหาสมุทรแล้วเชื่อมโยงกลับมาตั้งคำถามกับถึงความเป็นมนุษย์ของเราอีกที

ยกตัวอย่างว่าถ้าดำน้ำ แล้วเห็นปะการัง หากถ้าเป็นนักชีวทางทะเล อาจจะศึกษาการทำงานของปะการังเพื่อการมีชีวิตรอดของมัน แต่ผมจะตั้งคำถามว่าปะการังอธิบายให้เราในฐานะมนุษย์เข้าใจอะไรได้บ้าง ปะการังกำลังสอนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ของเรา ซึ่งเมื่อเรามีเลนส์ทางมานุษยวิทยาเราจะมองเรื่องต่างๆ ที่มันต่างจากไปดำน้ำท่องเที่ยว เราเห็นว่าโลกใต้น้ำกว้างใหญ่ มีความสัมพันธ์หรือปรากฏการณ์ต่างๆ มากมายที่มนุษย์สามารถเรียนรู้จากมัน และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมันได้อย่างไร

กระบวนการทำงานทางมานุษยวิทยาในทะเลเป็นอย่างไร?

ผมทำงานสนามหลายที่ ยกตัวอย่างว่าผมเลือกพื้นที่เกาะโลซิน จังหวัดปัตตานี เพื่อดูความสัมพันธ์ข้ามสปีชีส์ของทุ่งปะการังเขากวาง หรือไปศึกษาวัตถุสภาวะของเรือรบที่จมอยู่ใต้ท้องทะเลที่จังหวัดตราด ผมอธิบายในหนังสือตอนหนึ่งว่า นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลอาจไม่สนใจสัญญะของเรือจม หรือคนทั่วไปอาจมองมันเป็นแค่แหล่งท่องเที่ยว แต่นักมานุษยวิทยามองว่าเรือจมเป็นสิ่งที่บอกบางอย่างเกี่ยวกับชีวิต ทั้งการพิชิตและการดูแล เช่น แม้ว่าเรือที่จมเป็นเพียงวัตถุ แต่ก่อนหน้านั้นมันมีชีวิตแบบหนึ่ง ทั้งในแง่การเป็นภาพสะท้อนภาพการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม การสงคราม หรือบอกถึงการแย่งอำนาจของมนุษย์ และความรุนแรงแบบชายเป็นใหญ่ เรือรบเป็นสัญลักษณ์ของการพิชิตของชีวิตมนุษย์

ขณะเดียวกันเรือจมหรือเรืออับปางก็คือสัญลักษณ์ของการสิ้นอายุขัย คำว่า “อับปาง” เรามักใช้กับการสิ้นสุดของชีวิต หรือหมดพลังอำนาจกระทำการ แต่เรืออับปางเมื่ออยู่ใต้น้ำจะมีพลังและอำนาจกระทำการแบบใหม่ มันได้กลายมาเป็นแหล่งฟูมฟักปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ พูดอีกอย่างคือว่าเมื่อหมดสภาพและจมไปในทะเล มันได้มีชีวิตใหม่หลังการอับปางลง เกิดคุณค่าแบบใหม่ในฐานะแหล่งบ่มเพาะปะการัง แหล่งอยู่อาศัยของปลา ทำให้เราเห็นว่านัยยะของวัตถุสามารถเปลี่ยนแปลงได้ การอับปางของชีวิตไม่ใช่การสิ้นสุดเสมอไป แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่ วิธีคิดแบบนี้สะท้อนว่าชีวิตของวัตถุมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับเราจะจัดวางความสัมพันธ์อย่างไร เป็นผู้พิชิตหรือผู้ร่วมดูแล

ในทางมานุษยวิทยา การทำงานภาคสนามใต้น้ำ เราสนทนากับคนมากๆ ไม่ได้ คุยกับเรือก็ไม่ได้ ใต้น้ำนั้นภาษา วัฒนธรรม และความเป็นศิวิไลซ์ของมนุษย์แทบจะสูญหายไปหมด ยิ่งเมื่อคุณหายใจด้วยตัวเองไม่ได้ เคลื่อนที่แบบเดินบนบกไม่ได้ สื่อสารสิ่งที่ซับซ้อนก็ไม่ได้ ใต้น้ำจึงเป็นพื้นที่ที่ถอดความเป็นมนุษย์ออกแทบทั้งหมด จากที่เราเคยคิดว่าเป็นศูนย์กลาง เป็นเจ้าของโลกใบนี้ เรากลายเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งซึ่งต้องปรับตัวตามระบบนิเวศที่ซับซ้อน สิ่งที่ทำให้เราอยู่ใต้น้ำได้ มันก็คือเทคโนโลยี เราจำต้องกลายมาเป็นไซบอร์กแบบหนึ่งที่ใช้ชีวิตใต้น้ำด้วยการพึ่งพิงเทคโนโลยี และเราต้องเรียนรู้ที่ปรับตัวให้จะสอดคล้องกับเทคโนโลยีและระบบนิเวศ รวมไปถึงการเรียนรู้ที่จะถ่อมตัวและลดทิฐิของความเป็นมนุษย์ลง

เป็นการตีความเพื่อโยงเข้ากับความเป็นมนุษย์?

ต้องใช้การตีความ การสังเกต การเข้าไปซึมซับ ไปมีส่วนร่วม นี่เป็นธรรมชาติของงานมานุษยวิทยาซึ่งศึกษาสิ่งเล็กๆ จากกรณีเล็กๆ เพื่ออธิบายในภาพที่กว้างออกไป อย่างเช่น ที่เกาะโลซิน เราเห็นความสัมพันธ์ของปะการังในแบบสมานชีวิน (symbiosis) กล่าวคือปะการังสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ แร่ธาตุ สาหร่าย จุลินทรีย์ เราเห็นว่าในการมีชีวิตรอดใต้สมุทรมันต้องสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน แบบข้ามสปีชีส์ ข้ามพ้นตัวตนของเส้นแบ่งและการจัดประเภท และสิ่งเหล่านี้เมื่อใครแยกออกจากใครก็จะส่งผลกระทบถึงสิ่งอื่นๆ ข้อคิดแบบนี้น่าสนใจที่บอกอะไรเรา มนุษย์ที่คิดว่าตัวเองอยู่เหนือห่วงโซ่อาหารคงจะผิด จริงๆ แล้วมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของ symbiosis ด้วยเช่นกัน

กรณีที่ยกตัวอย่างมานี้คือการชี้ให้เห็นว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตใด ที่อยู่ได้ด้วยการควบคุมจัดการสิ่งอื่นๆ แต่เพียงอย่างเดียว แต่คือการอยู่ร่วมกันแบบ symbiosis เชื่อมโยงต่อกัน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ผ่านมา วางอยู่บนพื้นฐานคิดว่าทรัพยากรเหล่านั้นจะให้ประโยชน์กับมนุษย์ได้อย่างไรเป็นหลัก มนุษย์ไม่ได้มองที่จะเป็นผู้ให้กลับ หรือคิดบนฐานของการอาศัยอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาซึ่งกันและกัน แบบสมานชีวิน

หนังสือมานุษยวิทยามหาสมุทร

ปลายทางของการทำวิจัยแบบมานุษยวิทยามักนำไปสู่การสร้างความเข้าใจใหม่เพื่อออกเป็นแนวทางต่างๆ เช่น นโยบายสาธารณะ หรือแนวปฏิบัติเพื่อเข้าใจบริบทของสังคมชุมชน การวิจัยในมหาสมุทรนี้ปลายทางคืออะไร?

งานแบบนี้คงเป็นการผลักดันเชิงความคิด และรวมถึงในเชิงทฤษฎีเป็นหลัก คุณค่าของมันคือการผลักดันในแง่ของการคิดระยะยาว มากว่าที่จะตอบนโยบายแบบเร่งด่วน เฉพาะหน้า ผมคิดว่าที่จะต้องทำมากขึ้นคือการสร้างความเป็นไปได้ในเชิงความคิดใหม่ๆ ยกตัวอย่างว่า เมื่อก่อน เราพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมน้อยมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งแวดล้อมคือส่วนหนึ่งของชีวิต คนรุ่นปัจจุบันพร้อมจะสื่อสารเรื่องโลกร้อน การลดการบริโภคพลาสติก ซึ่งต่างจากคนรุ่นก่อน หน้าที่ของผมคือการเสนอความคิด ความเป็นไปได้ ว่าโลกในวันข้างหน้าเป็นแบบไหนได้บ้าง การศึกษาทางมานุษยวิทยาแบบพ้นมนุษย์พยามจะผลักดันให้เห็นว่าเราสามารถจะคิดแบบใหม่ได้ ที่ไม่ได้เอามนุษย์ไปศูนย์กลางของโลกใบนี้ มันอาจเป็นเรื่องยากในตอนนี้ที่จะจินตนาการถึงเรื่องนี้ แต่ว่าไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ในอนาคต

ในฐานะนักมานุษยวิทยามองสิ่งแวดล้อมใต้น้ำเป็นอย่างไรบ้าง?

ผมคิดว่าเรากำลังเข้าสู่สภาวะที่โลกมันหายนะมากๆ และระบบนิเวศในหลายๆ รูปแบบกำลังเข้าสู่สภาวะวิกฤต ในฐานะมนุษย์ เราตั้งคำถามว่าเราจะมีส่วนร่วมในกระบวนการของการล่มสลายเหล่านี้แบบไหน เราจะใช้ชีวิตแบบไหน หรือเราจะมีวิถีทางใดๆ ที่จะจัดการความสัมพันธ์แบบใหม่กับสิ่งที่กำลังล่มสลายอยู่นี้ได้ ผมถึงพยามเน้นย้ำว่ามนุษย์จะต้องปรับเปลี่ยนตำแหน่งแห่งแผนที่และวิธีการคิดของตัวเองใหม่ เพื่อให้เราไม่กลายมาเป็นตัวการสำคัญของการก่อให้เกิดการล่มสลายของระบบนิเวศที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นนี้

แนวคิดทางสังคมอันหนึ่งคือเราเชื่อเรื่องการให้สิทธิกับทุกชีวิตและสรรพสิ่ง ซึ่งหลักคิดนี้สะท้อนผ่านแนวทางต่างๆ เช่น ถ้าเราคิดถึงโลกในบริบทที่มากกว่ามนุษย์ ยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัว อย่างเรื่องการจัดการพื้นที่สวนสาธารณะ คำว่า “สาธารณะ” หากเราคิดในมุมของการพ้นความเป็นมนุษย์ มันต้องหมายถึงการให้ทุกสรรพสิ่งอยู่ร่วมกัน หมายถึงว่าสัตว์ พืช และสิ่งต่างๆ อยู่ร่วมกันได้ โดยที่มนุษย์ใช้ประโยชน์ด้วยแต่อย่างจำกัดและอย่างเกรงใจสิ่งอื่น มันอาจจะมีสัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์ที่มนุษย์กลัวอยู่บ้าง แต่นั่นคือธรรมชาติ การจัดการสาธารณะโดยคำนึงถึงสิทธิของสิ่งมีชีวิตนี้คือการไม่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลางอีกต่อไป คำถามคือมนุษย์จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ว่านี้อย่างไร อันนี้คือการผลักดันคำถามใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น

การศึกษาซากเรืออับปางใต้ท้องทะเลอ่าวไทย (ภาพโดย อัณณวิชญ์ ทองจิรัฐิติกาล)

 

ในฐานะนักมานุษยวิทยาการเติบโตในอาชีพเป็นอย่างไร และคุณค่าของการมีอยู่ของนักมานุษยวิทยาคืออะไร?  

ตอบยากเพราะคงอธิบายแทนนักมานุษยวิทยาคนอื่นๆ ไม่ได้ ในเมื่อมนุษยชาติมีความหลากหลายมาก การศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์ก็มีความหลากหลายมากเช่นเดียวกัน สำหรับตัวเองมองว่า เมื่อมนุษย์กำลังเผชิญกับสภาวะที่ท้าทายต่อการมีชีวิตรอดมากขึ้น เช่น โลกที่ร้อนมากขึ้น ทรัพยากรที่ลดน้อยลง มลภาวะที่รุนแรง รวมถึงโรคระบาด ฯลฯ มันเดินทางมาถึงจุดที่มนุษย์กำลังถูกท้าทายกับการมีชีวิตที่ดี สำหรับผม นักมานุษวิทยาคือคนที่กำลังตอบคำถามว่า ท่ามกลางความท้าทายในการมีชีวิตรอดนี้ มนุษย์ต้องทำอย่างไร เราต้องปรับเปลี่ยนความเป็นมนุษย์ของเราไปในรูปแบบไหน

ที่ผ่านมานักมานุษยวิทยามักศึกษาว่า ความเป็นมนุษย์มีที่มาจากอะไร เราสนใจพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรม นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่จึงสนใจอดีตเป็นอย่างมาก แต่ในปัจจุบันนักมานุษวิทยาตั้งคำถามว่ามนุษย์กำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างไรบ้าง และอะไรคือความท้าทายใหม่ๆ ในการมีชีวิตรอด ในที่นี้ จากอดีต นักมานุษยวิทยาจึงต้องหันมาสนใจอนาคตให้มากขึ้น การศึกษาทางสังคมศาสตร์จึงเป็นการหาความสัมพันธ์ของความท้าทายเหล่านั้นเพื่อหาทางออกในบริบทใหม่ๆ

นอกจากนี้ ผมคิดว่านักมานุษยวิทยาจะต้องไม่จำกัดการทำงานอยู่แต่ในด้านสังคมศาสตร์ แต่ต้องเข้าใจองค์ความรู้แบบสหวิทยาการ ทำงานร่วมเช่นกับนักวิทยาศาสตร์ เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ในมหาสมุทรนี้ก็ต้องศึกษาข้อมูลทางชีววิทยาทางทะเลเพื่อมองภาพให้รอบด้าน เมื่อเจอปะการัง เจอสิ่งมีชีวิตในทะเล นักวิทยาศาสตร์ก็จะศึกษาสิ่งเหล่านั้นผ่านเครื่องมือ วิธีการ และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ หากแต่นักมานุษยวิทยาเลือกที่จะเล่าเรื่องผ่านแนวคิดและความสัมพันธ์

สำหรับโอกาสและความก้าวหน้าในอาชีพ ถ้าเป็นต่างประเทศนักมานุษยวิทยาทำงานหลากหลาย ในภาครัฐ ในองค์กรเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม ในเมื่อมานุษยวิทยาศึกษาความเป็นมนุษย์ เขาต้องเข้าใจความเหลื่อมล้ำ เข้าใจความขัดแย้ง เข้าใจพฤติกรรมของผู้คนที่เชื่อมโยงกับการบริโภค ดังนั้นในแง่ของการเป็นนักมานุษยวิทยา แม้ไม่ใช่อาชีพโดยตรง แต่เป็นทักษะที่เข้าใจสังคม นักมานุษยวิทยาจึงอยู่ในทุกๆ สายงาน เช่นทำวิจัย ทำกิจกรรมเพื่อสังคม สื่อสารองค์กร รวมไปถึงภาคธุรกิจ อย่างบัณฑิตที่จบออกไปในสาขามานุษยวิทยาก็ทำงานในหลายองค์กร เช่น แผนกทรัพยากรมนุษย์ วิจัยการตลาด กิจกรรมเพื่อสังคม การรณรงค์ หรือสื่อสารองค์กร

นักมานุษยวิทยาต้องมีความรู้และทักษะด้านใดบ้าง?

ในภาพรวมคงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องช่างสังเกต เพราะการมองสังคมต้องมาพร้อมการตั้งคำถาม การมองสังคมก็เหมือนกับการที่เป็นปลาอยู่ในน้ำ เราอาจจะมองไม่เห็นน้ำถ้าเราไม่มีวิธีการสังเกตหรือรับรู้เกี่ยวกับมัน เช่นเดียวกับการอยู่ในสังคม เราอาจจะมองไม่เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ด้วยเพราะความเคยชิน เพื่อให้มองให้เห็นน้ำหรือเห็นความเป็นสังคม นักมานุษยวิทยาจึงต้องตั้งคำถามกับสิ่งรอบๆ ตัว ทำไมคนถึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ ? ทำไมเราบูชาสิ่งนี้? ทำไมถึงมีห้องน้ำแยกชายหญิง? ทำไมถึงมีความเชื่อแบบนี้? โครงสร้างของสังคมคืออะไร? นักมานุษยวิทยาตั้งคำถามถึงสิ่งที่มีอยู่ในสังคมด้วยมุมมองที่แปลกออกไปจากที่เราคุ้นชิน

ที่สำคัญมุมมองเหล่านั้นต้องมาจากมโนทัศน์ทางสังคมที่ปราศจากการเอาอคติหรือมาตรฐานของเราเป็นที่ตั้ง มีสายตาที่มองเห็นในเชิงลึก แต่ต้องไม่ตัดสินอะไรอย่างง่ายๆ เพราะนักมานุษยวิทยาทำหน้าที่ศึกษา ทำความเข้าใจ และสื่อสารกับสังคมเป้าหมายหลักคือการลดอคติ ลดความรุนแรง การสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นมิตร และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ไม่เพียงแต่ระหว่างมนุษย์เท่านั้น แต่รวมไปถึงการอยู่ร่วมกับสรรพสิ่งและสรรพชีวิตในโลกใบนี้ด้วย

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

อ่านเพิ่มเติม : “ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา” บันทึกสีของน้ำ แผงขายปลา และลมหายใจระบบนิเวศริมโขงที่สัมผัสจากการเดินเท้า

 

Recommend