แคนยอนเร้นลึกแห่งออสเตรเลีย

แคนยอนเร้นลึกแห่งออสเตรเลีย

แคนยอน เร้นลึกแห่งออสเตรเลีย

ชาวสวิสมีเทือกเขา พวกเขาจึงออกไปปีนป่าย ชาวแคนาดามีทะเลสาบ พวกเขาจึงออกไปพายเรือแคนู ส่วนชาวออสเตรเลียมีแคนยอนหรือหุบผาชัน พวกเขาจึงออกไปปีนหุบผา (canyoneering) นี่คือความกล้าบ้าบิ่นอันเป็นลูกผสมระหว่างการไต่เขากับการสำรวจถ้ำ เพียงแต่งานนี้คุณต้องไต่ลงแทนที่จะไต่ขึ้น และบ่อยครั้งที่ต้องปีนป่ายไปตามอุโมงค์ชุ่มโชกและซอกเขาแคบ ๆ ออสเตรเลียต่างจากส่วนอื่น ๆ ของโลกที่มีหุบผาแคบลึกอย่างจอร์แดนหรือคอร์ซิกา ตรงที่มีการสืบสานวัฒนธรรมการปีนหุบผามายาวนานและล้ำลึก จะว่าไปแล้ว นี่อาจเรียกได้ว่าเป็นการเดินป่าชนิดสุดโต่งรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ชาวพื้นเมืองอะบอริจินปฏิบัติมานับหมื่น ๆ ปีก่อนที่ชาวยุโรปจะมาถึงดินแดนแถบนี้ทุกวันนี้ อาจมีชาวออสเตรเลียหลายพันคนนิยมการปีนหุบผา หลายร้อยคนใช้เชือกโรยตัวลงสู่หุบผา แต่คงมีเพียงแค่หยิบมือที่ได้สำรวจหุบผาใหม่ ๆ

แคนยอน
เดวิด ฟอร์บส์ นักปีนหุบผา สอดส่ายสายตาระวังงูใหญ่ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหุบผาแห่งนี้

นักสำรวจไฟแรงเหล่านี้มักจะมีท่อนขาแข็งแรงแบบนักรักบี้ หัวเข่าเต็มไปด้วยรอยแผลเป็นนับไม่ถ้วน ความอึดต่อน้ำเย็นเยือกราวกับนกเพนกวิน  ลีลากระโดดข้ามโขดหินอย่างแคล่วคล่องราวตัววอลลาบี และเต็มใจที่จะคืบคลานเข้าหลุมมืดชื้นแฉะราวกับตัวตุ่น พวกเขาโปรดปรานรองเท้าผ้าใบพื้นยางกางเกงขาสั้นขาด ๆ สนับแข้งเก่า ๆ ขาดวิ่น และเสื้อแจ็กเก็ตผ้าหนาราคาถูก แถมยังนิยมตั้งแคมป์ข้างกองไฟเล็ก ๆ และทำ “แจฟเฟิล” กินทั้งมื้อเช้า กลางวัน และเย็น แจฟเฟิลเป็นแซนด์วิชที่ใส่เครื่องได้สารพัด ปิ้งด้วยแม่พิมพ์เหล็กเหนือกองไฟ เหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาออกค้นหาแคนยอนที่ห่างไกลและเข้าถึงยากสุด ๆ เดฟ โนเบิล นักสำรวจหุบผาผู้มากประสบการณ์ของออสเตรเลียบอกว่า “ยิ่งมืด ยิ่งแคบ ยิ่งลดเลี้ยวเคี้ยวคดเท่าไหร่ก็ยิ่งดีครับ”

แคนยอน
นักปีนหุบผาไต่เชือกลงจากน้ำตกหนึ่งในสามแห่งที่สูง 45 เมตรของคานันกราเมนแคนยอน

ในช่วง 38 ปีที่ผ่านมา โนเบิลได้ “เปิดประเดิม” หุบผาราว 70 แห่งในทิวเขาบลูเมาน์เทนส์ ซึ่งอยู่ห่างจากนครซิดนีย์ไปทางตะวันตกเพียงไม่กี่ชั่วโมงทางรถยนต์ พื้นที่ขรุขระทุรกันดารเกินบรรยายในแถบนี้เต็มไปด้วยหุบผาลึกนับร้อย ที่จริงแล้ว “บลูอีย์ส” (Blueys — ภาษาสแลงที่ชาวออสซีใช้เรียกบลูเมาน์เทนส์) หาใช่ทิวเขา หากแต่เป็นที่ราบดึกดำบรรพ์ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอน ผ่านการกัดกร่อนจากสายน้ำจนเว้าลึก และปกคลุมไปด้วยดงยูคาลิปตัสหนาทึบ

แคนยอน
กอเฟินขนาดมหึมาที่งอกงามในอากาศชื้นทิ้งตัวลดหลั่นลงมาตามผนังผาแคบๆ ของคลอสตรัลแคนยอน

โนเบิล วัย 57 ปี เป็นคนแหวกแนว เขาไม่เคยขับรถยนต์ และขี่จักรยานวันละเกือบ 30 กิโลเมตรผ่านเขตชานเมืองของซิดนีย์เพื่อไปสอนวิชาฟิสิกส์ในโรงเรียนมัธยม แม้ว่าเขาจะทำแผนที่ภูมิประเทศของแคนยอนต่าง ๆ ที่ได้สำรวจพร้อมคำอธิบายไว้อย่างละเอียด รวมทั้งตั้งชื่อให้ด้วยเช่น แคนนิบอล แบล็กคริปต์ ครูซิฟิกชัน และรีเซอร์เร็กชัน ทั้งยังได้นำภาพถ่ายขึ้นเว็บไซต์ของตนเอง แต่ไม่ยอมบอกใครว่าแคนยอนเหล่านั้นอยู่ที่ไหนบ้าง เขาไม่ยอมแม้แต่จะให้ผมดูแผนที่เหล่านั้น ด้วยเหตุผลว่า “นี่เป็นจรรยาบรรณของพวกเราครับ แคนยอนที่เข้าไม่ถึงเหล่านี้สมควรถูกปล่อยไว้เพื่อให้คงความบริสุทธิ์ และเป็นความท้าทายให้นักสำรวจอื่น ๆ ได้ออกค้นหาด้วยตนเอง”

คู่ปรับคนสำคัญของโนเบิลคือนักปีนหุบผานาม ริก เจมีสัน ผู้ที่เมื่อหลายปีก่อนโนเบิลแสดงความไม่พอใจกับการเขียนหนังสือนำเที่ยวที่เผยความลับบางอย่างของภูมิทัศน์แคนยอน เป็นเวลากว่าสิบปีมาแล้วที่เจมีสันซึ่งเป็นครูสอนวิชาฟิสิกส์เช่นกัน ได้พาผมไต่ลงจนสุดหุบผาใหญ่สองแห่งในทิวเขาบลูเมาน์เทนส์เป็นครั้งแรก ทั้งเบนเนตต์ กัลลีและโอรองโก ชายร่างกำยำ นิสัยดี วัย 70 ปีผู้นี้ ยังคงปีนหุบผาและหัวเราะร่วน

 

Recommend