(ภาพปก) ภัยแล้งและเขื่อนต้นน้ำได้ลดระดับน้ำของแม่น้ำโขงให้ต่ำที่สุดในรอบร้อยปี และส่งผลกระทบต่อการวางไข่ของปลา อันเป็นสัญญาณที่ไม่ดีต่อแหล่งอาหารในภูมิภาคนี้ ภาพถ่ายโดย BEN DAVIES/LIGHTROCKET/GETTY
ภาวะของภัยแล้งหลากหลายรูปแบบ และความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องของต้นน้ำของ แม่น้ำโขง อาจเป็นสาเหตุของภัยพิบัติในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ภัยแล้งอันรุนแรงที่เป็นเหตุให้ระดับน้ำของ แม่น้ำโขง แม่น้ำสายใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีระดับต่ำที่สุดในรอบมากกว่า 100 ปี ครั้งนี้ สามารถส่งผลร้ายต่อบรรดาสัตว์น้ำ เช่นเดียวกับผู้คนนับสิบล้านคนที่อาศัยและทำมาหากินริมแม่น้ำ
วิกฤตครั้งนี้เกิดจากฝนมรสุม (Monsoon Rain) ซึ่งมักเริ่มขึ้นปลายเดือนพฤษภาคมในภูมิภาคลำน้ำโขงไม่ตกต้องตามฤดูกาล ประกอบกับภาวะแห้งแล้งซึ่งมีที่มาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกที่ได้ดำเนินมาจนถึงช่วงกรกฎาคม ทางด้านบรรดานักสังเกตการณ์กล่าวว่า สถานการณ์นี้ได้ย่ำแย่ยิ่งขึ้นเมื่อเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ตั้งอยู่บริเวณต้นน้ำในประเทศจีนและลาวได้กักเก็บน้ำเอาไว้เพื่อกิจการภายในประเทศตัวเอง
บรรดาชาวนาในภูมิภาคนี้ไม่สามารถปลูกข้าวได้ดังเช่นเมื่อก่อน และเกรงว่าผลผลิตจะลดลงในฤดูเก็บเกี่ยว อีกทั้งปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลน้อยลงได้ส่งผลกระทบต่อการขยายพันธุ์ของปลาในลุ่มน้ำโขง เนื่องจากโดยปกติแล้ว บรรดาปลาจะอาศัยระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้เพื่อวางไข่ แต่ในปีนี้ มีการพบร่องรอยของการขยายพันธุ์ของปลาเพียงเล็กน้อย
นอกจากนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญได้เตือนว่า ทั้งภัยแล้งและการขัดขวางกระแสน้ำในแม่น้ำโขงกำลังจะกลายเป็นเรื่องที่ปกติยิ่งมากขึ้น และอาจนำมาสู่การล่มสลายของระบบนิเวศทั้งหมด
วงจรน้ำท่วม (Flood Pulse)
แม่น้ำโขงมีจุดกำเนิดจากที่ราบสูงทิเบต และไหลผ่านประเทศในทวีปเอเชีย 6 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ จีน เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ ที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงเป็นบ้านที่ใหญ่ที่สุดในโลกของบรรดาปลาน้ำจืดที่ และมีผู้คนมากกว่า 60 ล้านคนที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำนี้ในการดำรงชีวิต
มีแม่น้ำ 2-3 สายในโลกที่มีฤดูกาลของการเพิ่มขึ้นและลดลงของระดับน้ำในแม่น้ำเช่นเดียวกับแม่น้ำโขง ในแม่น้ำบางแห่ง ระดับน้ำสามารถลดลงไปได้ถึง 12 เมตร ในช่วงปลายฤดูแล้ง ซึ่งเมื่อถึงคราวที่ฤดูฝนมรสุมมาเยือน ในแม่น้ำเหล่านี้จะเกิดวงจรน้ำท่วมที่พัดพาตะกอนอันจำเป็นต่อการเกษตรเช่นเดียวกับตัวอ่อนและลูกปลา รวมไปถึงสายพันธุ์ปลาที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เช่นปลาบึก ซึ่งจะถูกพัดไปยังโตนเลสาบในกัมพูชาและพื้นน้ำท่วมถึงอื่นๆ ซึ่งเป็นสถานที่ให้สายพันธุ์ปลาเหล่านี้สามารถเติบโตขึ้นได้
ในทุกๆ ปี บรรดานักวิทยาศาสตร์จะเก็บตัวอย่างปลาเล็กๆ และลูกปลาเหล่านี้จากแม่น้ำโขงใกล้กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา แต่อย่างไรก็ตาม มาจนถึงปีนี้ ได้เกิดระดับน้ำที่ต่ำกว่าปกติจนไม่มีปรากฏการณ์วงจรน้ำท่วมในพื้นที่นี้ดังที่เคยเป็น และบรรดานักวิจัยไม่เห็นการกระจายตัวของบรรดาลูกปลาในบริเวณนี้เลย
“ถ้าไม่มีวงจรน้ำท่วม ปลาอาจจะต้องเลื่อนหรือไม่มีการวางไข่เลย” เซ็บ โฮแกน นักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และนักชีววิทยาปลาประจำมหาวิทยาลัยเนวาดา รีโน ผู้นำโครงการของ องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ที่ชื่อว่า “อัศจรรย์แม่น้ำโขง” (Wonders of the Mekong) กล่าวและเสริมว่า “สำหรับสายพันธุ์ปลาที่เสี่ยงสูญพันธุ์ สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลต่อการอยู่รอดของพวกมันได้ รวมไปถึงสายพันธุ์ปลาในเชิงพาณิชย์อื่นๆ เช่นเดียวกับผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านในอนาคต ที่อาจลดลงได้เช่นเดียวกัน”
การเมืองเรื่องเขื่อน
บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าในปีนี้ ภาวะแล้งในแม่น้ำโขงยังคงปรากฏต่อไป เป็นผลจากกระแสน้ำอุ่นแปซิฟิกที่ชื่อว่าปรากฎการณ์เอลนิโญ่ นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเช่นเดียวกัน ทำให้ฤดูมรสุมนั้นสั้นลงอย่างมาก
นอกจากนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เขื่อนหลายแห่งที่อยู่ทางต้นน้ำของแม่น้ำโขงมีส่วนทำให้ระบบนิเวศแหล่งน้ำเสื่อมคุณภาพไปเช่นกัน
“เขื่อนเหล่านี้ดักตะกอนดิน ขวางกั้นการอพยพของปลา และสร้างแหล่งกักน้ำที่ก่อให้เกิดการแตกกระจายของบรรดาปลาเช่นเดียวกับการแตกกระจายของเส้นทางการไหลของน้ำ” ปีเตอร์ โมลย์ ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านชีววิทยาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเดวิส กล่าวและเสริมว่า บรรดาเขื่อนจะส่งผลให้ผลกระทบจากภัยแล้งย่ำแย่ลงไปอีก
ทางด้านประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเขื่อน 11 แห่ง บนเส้นทางน้ำสายหลักของแม่น้ำโขง กำลังตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ว่าวิธีการดำเนินงานด้านเขื่อนอย่างเป็นความลับนั้นไม่ได้คำนึงด้วยการไหลของแม่น้ำไปยังพื้นที่ปลายน้ำเลย
มีการคาดการณ์กันว่า การตัดสินใจของจีนที่หยุดการปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ้งหง (Jinghong Dam) เป็นเวลาสองสัปดาห์เนื่องจาก “การซ่อมบำรุง” นั้นมีส่วนที่ทำให้ระดับน้ำในแม่นน้ำโขงปีนี้ลดลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยคำมั่นของจีนที่ว่าจะปล่อยน้ำจากเขื่อนไปยังแม่น้ำมากขึ้นในอนาคตนั้นทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า นี่เป็นการขยายอิทธิพลของประเทศจีนในการควบคุมการไหลของแม่น้ำโขง
“นี่เป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงสถานะความไม่เท่าเทียมของบรรดาประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง” ซาราห์ นูลล์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ลุ่มน้ำ มหาวิทยาลัยอูทาห์สเตท กล่าวและเสริมว่า “ประเทศที่ร่ำรวยกว่ากวาดเอาผลประโยชน์ของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ รวมไปถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่บรรดาประเทศที่ยากจนกว่าได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมและความมั่นคงทางอาหารที่ลดลง”
แบตเตอรี่แห่งเอเชีย
บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่มีต่อ สปป. ลาวที่วางแผนว่าจะเปลี่ยนตัวเองให้เป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำนับสิ่งแห่งตามแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา และขายพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้าน
สปป.ลาว หนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในภูมิภาคนี้กำลังวางแผนสร้างเขื่อนอีก 50 แห่ง โดยหลายแห่งตั้งอยู่ในลำน้ำสายหลักของแม่น้ำโขง ด้านนักสิ่งแวดล้อมได้ออกโรงเตือนลาวมาอย่างยาวนานว่า โครงการสร้างเขื่อนของลาวนั้นไม่ได้พิจารณาถึงราคาอันเป็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากเพียงพอ
“มีระบบการรวบอำนาจในการเมืองด้านแหล่งน้ำ (hydropolitics) และด้านพลังงานน้ำในภูมิภาคนี้” ไบรอัน ไอย์เลอร์ ผู้อำนวยการด้านโครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศูนย์สติมสัน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในวอชิงตัน ดี.ซี. และผู้เขียนหนังสือ “ช่วงเวลาสุดท้ายแห่งแม่น้ำโขงที่ยิ่งใหญ่” (Last Days of the Mighty Mekong) กล่าวและเสริมว่า “มันไม่มีทัศนะเชิงองค์รวมว่า ‘แบตเตอรี่แห่งเอเชีย’ จะเป็นเช่นไร และไม่มีภาพว่าแบตเตอรี่นี้จะมีการดำเนินการอย่างไร”
เขาชี้ให้เห็นว่าในขณะที่ลุ่มน้ำโขงซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าฟื้นตัวมาเป็นเวลานานหลายปี กำลังพบเจอกับแรงกดดันที่ไม่เคยมีมาก่อน
“การเปลี่ยนแปลงในอัตราเร่ง ประกอบกับผลกระทบสะสมของสิ่งที่ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างเขตแดน และผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่กำลังใกล้เข้ามา ก่อให้เกิดความกลัวว่าแม่น้ำโขงซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะค่อยๆ สูญเสียการใช้งานจนไม่สามารถส่งเสริมความหลากหลายของสัตว์ตามธรรมชาติ และชีวิตมนุษย์นับล้านที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำสายนี้” ไบรอันกล่าวเสริม
อ่านเพิ่มเติม การสร้างเขื่อน ส่งผลกระทบต่อการไหลของแม่น้ำ ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์