ผู้ประท้วงจากองค์กรสมัชชาประชาคมแห่งประชาชนและองค์กรชนพื้นเมือง (COPINH) ตั้งแคมป์ในริโอบลังโค ฮอนดูรัส เพื่อประท้วงการก่อสร้างเขื่อนที่จะทำให้น้ำท่วมบ้านเกิดเมืองนอนของเขา ผู้ประท้วงกลายเป็นเป้าที่ถูกโจมตีอย่างรุนแรงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ภาพ Giles Clarke
1 ปีกับ 200 ชีวิต นักสิ่งแวดล้อม ที่ถูกฆาตกรรม
ปีที่ผ่านมามีผู้ถูกสังหารเนื่องจากปกป้องผืนดิน น้ำ และพืชสัตว์ในชุมชนของตนเองอย่างน้อย 200 คน รวมทั้งผู้พิทักษ์ป่าในอุทยานแห่งชาติวิรุงกาในแอฟริกา ถิ่นอาศัยของกอริลลาภูเขาแห่งสุดท้ายในโลก ฆาตกรรมที่แทบไม่มีการดำเนินคดีเหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นจากปี 2015 จาก 16 ประเทศ เป็น 24 ประเทศเมื่อปี 2016 นอกจากนี้ยังมีการ “ทำให้กลายเป็นอาชญากร” และการดำเนินคดีกับผู้ประท้วงอย่างแข็งกร้าวขึ้นเพื่อปราบปราม นักสิ่งแวดล้อม เพิ่มขึ้นด้วย
บิลลี ไคต์ ผู้ร่วมเขียนรายงานและนักรณรงค์ของ Global Witness องคก์รไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานด้านความขัดแย้งระหว่างการดึงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้กับสิทธิมนุษยชน กล่าวว่ายังมีฆาตกรรมผู้ที่ปกป้องผืนดินและแม่น้ำอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกรายงานอีกมาก “รายงานของเราเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น” ไคต์บอกกับ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก นอกจากนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับชะตากรรมของประชาชนที่พยายามรักษาธรรมชาติของพวกเขาในตะวันออกกลาง เอเชีย ยุโรปตะวันออก และแอฟริกา ยังมีอยู่น้อยมาก
ในสหรัฐอเมริกา การทำให้ผู้ประท้วงกลายเป็นอาชญากรและเป็นปีศาจมีเพิ่มมากขึ้น เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่เขตสงวนอินเดียนสแตนดิงร็อกในนอร์ทดาโกตา ผู้ประท้วงถูกทำร้ายและได้รับบาดเจ็บ บางคนขนาดสูญเสียแขนไป เพราะปะทะกับกองกำลังตำรวจและผู้พิทักษ์อุทยานจากการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันใต้ทะเลสาบโอฮี ซึ่งคนท้องถิ่นถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ประท้วง 800 คนถูกดำเนินคดี ในขณะเดียวกันนักการเมืองของนอร์ทดาโกตาก็กำลังจะผ่านกฎหมายที่อนุญาตให้คนขับรถชนและฆาตรกรรมผู้ประท้วงได้โดยไม่ต้องติดคุก เช่นเดียวกับที่นอร์ทแคโรไลนา รายงานดังกล่าวระบุว่านับแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง มีอีก 18 รัฐที่กำลังเตรียมออกกฎหมายใหม่ที่ต่อต้านการประท้วงเช่นนี้ ไคต์บอกว่าแม้สหรัฐอเมริกาจะไม่มีคดีฆาตกรรมนักสิ่งแวดล้อมในปีที่ผ่านมา แต่รัฐก็ใช้กฎหมายจัดการและปิดปากผู้ต่อสู้เพื่อปกป้กรักษาธรรมชาติ
บรรษัทและผู้นำทางการเมืองทั่วโลกมักทำให้ผู้ประท้วงกลายเป็นผู้ร้าย บางครั้งถึงขั้นกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านี้เป็นเล่ห์กลที่กีดกันไม่ให้คนทั่วไปเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เจมี นีน ผู้ประสานงานเฝ้าระวังเหมืองแคนาดา องค์กรที่สนับสนุนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทั่วโลกกล่าว “สื่อเสนอภาพผู้ประท้วงให้ดูรุนแรง แม้ตำรวจหรือกองกำลังรักษาความมั่นคงจะเป็นฝ่ายเข้าปะทะขบวนที่เดินอย่างสันติก็ตาม” นีนให้สัมภาษณ์ว่าบางประเทศถึงขนาดประกาศกฎอัยการศึกเพื่อยุติการประท้วง เช่น ฟิลิปปินส์ และไทย
ผู้ประท้วงถูกหาว่าขัดขวางความเจริญและการจ้างงานอยู่บ่อยๆ ทั้งที่คนส่วนใหญ่ต้องการทำงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ก่อมลพิษอากาศหรือน้ำ ในประเทศที่มีรัฐบาลที่เข้าข้างธุรกิจ ฆาตกรรมผู้ประท้วงกลายเป็นเรื่องธรรมดา ดังเช่นการสังหารผู้ปกป้องป่าในบราซิลที่กระทำกันอย่างไร้ยางอายในรัฐบาลของมิเชล ทีเมอร์ รายงานของ Global Witness ระบุว่าปีที่แล้วมีผู้ถูกสังหารโดยนายทุนที่ดินและคนตัดไม้ถึง 49 ราย แม้แต่อุทยานแห่งชาติก็ยังไม่ปลอดภัยเสมอไป ผู้พิทักษ์ป่าอย่างน้อย 20 คนถูกฆ่าในคองโกและประเทศอื่นในปีที่ผ่านมา พรานลักสัตว์ กลุ่มติดอาวุธ การสำรวจน้ำมัน และคอรัปชัน ล้วนแต่เป็นภัยคุกคามกอริลลา พืชและสัตว์ และผู้พิทักษ์ป่าในอุทยานแห่งชาติวิรุงกาของคองโก
นอกเหนือจากคอรัปชันที่ทำให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว แรงผลักดันให้เกิดความรุนแรงกับนักอนุรักษ์ธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งคือการที่ผู้มีอำนาจกล่าวอ้างซ้ำๆ ว่าการปกป้องสิ่งแวดล้อมจะทำลายการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ทินา เลน หัวหน้าโครงการอาชญากรรมเกี่ยวกับสัตว์ป่าขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN International Union for Conservation of Nature) กล่าว
ปีที่ผ่านการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจทำให้ประเทศอย่างนิคารากัวกลายเป็นสถานที่อันตรายที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับผู้ประท้วง เมื่อบริษัทจากประเทศจีนสัญญาจะลงทุน 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสร้างคลองที่มีขนาดใหญ่กว่าคลองปานามา 3 เท่า ผ่ากลางประเทศเพื่อเชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิก ชาวพื้นเมืองกว่า 120,000 คนที่จะถูกบังคับให้อพยพออกเพิ่งทราบข่าวนี้เมื่อรัฐบาลประกาศต่อสาธารณะในปี 2013 พอคนท้องถิ่นเดินขบวนประท้วงเพื่อขอให้รัฐบาลเคารพสิทธิของเขา คำตอบที่ได้รับคือลูกปืน รายงานล่าสุดระบุว่าแม้คลองดังกล่าวอาจไม่ได้สร้างแล้ว แต่รัฐบาลจีนก็ยังสิทธิ์พิเศษหลายประการจากนิคารากัวอยู่ดี
ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างฮอนดูรัส เบอร์ตา กัสซีเรส นักสิ่งแวดล้อมชาวพื้นถิ่นเจ้าของรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมโกลแมนไพรซ์ ถูกสังหารในบ้านตัวเอง เนื่องจากต่อต้านการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ และเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ลูกสาวของเธอก็ต้องหนีชายที่ใช้มีดไล่ฟันเธอบนถนน หลังจากเพิ่งได้รับเลือกตั้งให้เป็นหัวหน้าองค์กรปกป้องสิทธิ์ในที่ดินที่แม่ของเธอเคยเป็นผู้นำ หนึ่งสัปดาห์ถัดมา แหล่งทุนจากยุโรปก็ถอนตัวจากการสนับสนุนการสร้างเขื่อน ไคต์จาก Global Witness กล่าวว่า “ผู้ลงทุนมีหน้าที่ต้องเปิดปากพูดเมื่อนักกิจกรรมที่ต่อต้านโครงการของตนถูกคุกคาม พวกเขาจำเป็นต้องมีนโยบายที่เหมาะสมเพื่อปกป้องคนที่ต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและยุติการลงทุน หากคนในท้องถิ่นถูกคุกคามหรือถูกทำร้าย กัสซีเรสต้องทนถูกคุกคามนานหลายปี แต่ผู้ลงทุนกลับไม่พูดไม่ทำอะไรเลย”
กัสซีเรสเป็นนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมที่ปกป้องผืนดินที่ถูกฆาตกรรมในฮอนดูรัสในปี 2016 แรงกดดันจากนานาชาติทำให้ฆาตกรถูกดำเนินคดีซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดไม่บ่อยนัก ไคต์กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเผยให้เห็นว่า “รัฐทำงานร่วมกับริษัทที่สังหารนักกิจกรรม”
บทสรุปของรายงานกล่าวว่า การยุติความรุนแรงเริ่มต้นจากการรับประกันว่าชุมชนต่างๆ จะได้รับข้อมูลและสามารถตัดสินใจอย่างอิสระว่าที่ดินและทรัพยากรของตนจะถูกใช้อย่างไร รัฐบาล ธุรกิจ และนักลงทุนจะต้องผลักดันการดำเนินคดีกับบุคคลที่สั่งหรือลงมือทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งครอบคลุมถึงบุคคลที่ละเลยความรับผิดชอบและไม่ปกป้องผู้คัดค้านโครงการของตนด้วย ท้ายที่สุดนักลงทุนควรเพิกถอนการลงทุนหากสิทธิของผู้ประท้วงและคนท้องถิ่นถูกละเมิด ไคต์กล่าว
เรื่อง สตีเฟน เลห์อี
อ่านเพิ่มเติม
แผนที่ ช่วยปกป้องดินแดนของชนพื้นเมืองได้อย่างไร?