พลังแห่งการคุ้มครอง

พลังแห่งการคุ้มครอง

โครงการเพื่ออนุรักษ์ พื้นที่มหาสมุทร ขยายพันธกิจเพื่อช่วยเพิ่มประชากรปลาในท้องทะเลและรักษาสมดุลของสภาพภูมิอากาศ

พื้นที่มหาสมุทร, มหาสมุทร, อนุรักษ์มหาสมุทร, แมงกะพรุน
ปลากะมงวัยเยาว์ในน่านน้ำใกล้กับประเทศกาบองเข้าไปหลบภัยท่ามกลางหนวดยาวสองเมตรของแมงกะพรุน

เอนริก ซาลา ลาออกจากงานในตำแหน่งศาสตราจารย์ที่สถาบันสมุทรศาสตร์สคริปส์เมื่อปี 2007 เพราะเหนื่อยหน่ายกับการเขียนข่าวมรณกรรมของชนิดพันธุ์ต่างๆ  ‘ผมรู้สึกว่าตัวเองเขียนคำไว้อาลัยให้มหาสมุทร ได้แม่นยำมากขึ้นทุกที’ เขาบอก แทนที่จะเสียเวลาของชีวิตไปกับการบันทึกสิ่งที่กำลังจะล้มหายตายจากไปอีกนั้น ซาลาตัดสินใจลองพิทักษ์สิ่งที่ยังมีชีวิตอยู่ใน พื้นที่มหาสมุทร ที่ยังเหลืออยู่ไม่กี่แห่ง

พื้นที่ที่ยังเหลืออยู่กระจัดกระจายเหล่านี้  คือแดนธรรมชาติพิสุทธิ์แห่งท้ายๆ ของท้องทะเล หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่รกร้างห่างไกลที่สุดของผืนป่าดึกดำบรรพ์ในแอมะซอนภาคพื้นทะเล ซึ่งยังไม่เสียหายเพราะการทำประมงเกินขนาด มลพิษ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  “เป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องไปเยือนพื้นที่ต่างๆ ที่ยังมีสภาพเหมือนมหาสมุทรเมื่อ 500 ปีก่อน”  ซาลาอธิบายและเสริมว่า “เพื่อจะได้ย้อนกลับไปยังบรรทัดฐานที่ดีที่สุดที่เรามีอยู่เพื่อดูว่ามหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์เคยมีหน้าตาอย่างไร… เราอาจไม่สามารถทำให้มหาสมุทรฟื้นคืนสู่สภาพที่ว่านี้ได้ทั้งหมด แต่พื้นที่เหล่านี้แสดงให้เราเห็นถึงศักยภาพที่เป็นไปได้ เป็นพื้นที่ที่ทำให้เรามีความหวังครับ”

เพื่อปกป้องท้องทะเลเหล่านี้ ซาลาร่วมกับสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เริ่มดำเนินโครงการทะเลพิสุทธิ์ (Pristine Seas Project) เมื่อปี 2008  ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวช่วยผลักดันให้มีการจัดตั้งเขตสงวนทางทะเล ตั้งแต่ป่าสาหร่ายเคลป์ผืนมหึมาทางตอนใต้ของแหลมฮอร์น ไปจนถึงเขตอนุบาลวาฬหลังค่อมวัยอ่อน ในประเทศกาบอง รวมแล้ว 22 แห่ง หรือเท่ากับสองในสามของพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเต็มรูปแบบทั้งหมดในโลก  ครอบคลุมพื้นที่รวมกว่า 5.5 ล้านตารางกิโลเมตร  ปัจจุบัน ซาลากับทีมงานตั้งเป้าหมายทะเยอทะยานมากกว่าเดิมเพิ่มอีกข้อหนึ่ง นั่นคือผลักดันให้พื้นที่มากกว่าหนึ่งในสามของมหาสมุทรของโลกได้รับการสงวนรักษาไว้เพื่อจุดประสงค์ที่ไม่เพียงคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ แต่เพื่อคืนมวลปลาให้ท้องทะเล และเพื่อกักเก็บคาร์บอนด้วย

สำหรับซาลา แง่มุมน่าอิ่มใจมากที่สุดแง่มุมหนึ่งในงานของเขา คือการได้ทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในที่ต่างๆ ที่เขากับทีมมุ่งหมายอนุรักษ์ไว้  ที่เกาะพิตแคร์น ดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักรในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ทีมทะเลพิสุทธิ์ทำงานใกล้ชิดกับผู้อยู่อาศัยบนเกาะที่มีอยู่ราว 50 คน

“เราให้พวกเขาดูภาพโลกใต้น้ำที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน” ซาลาเล่าและเสริมว่า “ภาพปลาสากฝูงมหึมา กลุ่มหอยมือเสือ ฉลามแนวปะการังแหวกว่ายอยู่ในน่านน้ำใสสะอาดที่สุดแห่งหนึ่งเท่าที่เคยวัดได้ในมหาสมุทรแปซิฟิก  เราบอกพวกเขาว่า ‘นี่คือพื้นที่บริสุทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และที่ตรงนี้เป็นของคุณ แต่มันกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะเรือประมงต่างชาติที่ทำประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำของคุณ’”

พื้นที่มหาสมุทร, มหาสมุทร, อนุรักษ์มหาสมุทร, เต่าตนุ
เต่าตนุ, เกาะโคโคส ประเทศคอสตาริกา

ชาวเกาะพิตแคร์นเริ่มมองเห็นตนเองเป็นพระเอกในเรื่องราวของพวกเขาเอง ซาลาอธิบาย และต่อมาในปี 2015 ตามการร้องขอของชาวเกาะ รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศจัดตั้งเขตสงวนทางทะเลครอบคลุมพื้นที่ 834,000 ตารางกิโลเมตรรอบเกาะพิตแคร์นและเกาะเพื่อนบ้านที่ไม่มีคนอาศัยอยู่อีกสามเกาะ ได้แก่ เกาะดูซี, โอเอโน และเฮนเดอร์สัน

ไกลออกไปทางตะวันตกของเกาะพิตแคร์น ในภูมิภาคไมโครนีเซีย โครงการทะเลพิสุทธิ์ทำงานร่วมกับชาวปาเลาพื้นเมือง  เพื่อปรับปรุงประเพณีการอนุรักษ์แบบดั้งเดิมของพวกเขาให้ทันสมัยขึ้น หลายศตวรรษมาแล้วที่ชาวปาเลาใช้ประเพณีปิดน่านน้ำชั่วคราวเพื่องดทำการประมงที่เรียกกันว่า บูล เพื่อสงวนรักษาและฟื้นคืนมวลปลาในแนวปะการังให้กลับมา หลายปีผ่านไป พวกเขาจัดตั้งเขตสงวนขึ้น 35 แห่งที่ปกป้องคุ้มครองสัตว์ทะเลรอบๆ หมู่เกาะของตน บางแห่งห้ามทำประมงอย่างถาวร  ตอมมี เรเมงเกเซา ประธานาธิบดีของปาเลา ขอให้ทีมของซาลาเปรียบเทียบความชุกชุมของปลาภายในและภายนอกเขตสงวนประเภทที่ห้ามจับปลาเด็ดขาด พวกเขาพบว่า มีชนิดพันธุ์ต่างๆที่เป็นเป้าหมายของชาวประมงอุดมสมบูรณ์กว่าเกือบสองเท่าในเขตห้ามจับปลา

พื้นที่มหาสมุทร, มหาสมุทร, อนุรักษ์มหาสมุทร, ปะการังอ่อน
ปลาบู่แส้ทะเลบนปะการังอ่อน, ประเทศปาเลา
พื้นที่มหาสมุทร, มหาสมุทร, อนุรักษ์มหาสมุทร, ทะเลสาบ, แมงกะพรุน
แมงกะพรุนสีทอง, ทะเลสาบแมงกะพรุน (Jellyfish Lake) ประเทศปาเลา

ทีมทะเลพิสุทธิ์ถ่ายทำการดำน้ำสำรวจของพวกเขาแล้วนำไปฉายทั่วหมู่เกาะปาเลา “เราอยากให้ชาวปาเลาเห็นว่า การบริหารจัดการตามประเพณีดั้งเดิมของพวกเขาได้ผลดีขนาดไหน และนอกจากช่วยปกป้องแนวปะการังแล้ว  วิธีนี้ยังส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวด้วยครับ” ซาลากล่าว เมื่อปี 2015 รัฐสภาปาเลาจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ทะเลประเภทพื้นที่ห้ามจับปลาเด็ดขาด  ครอบคลุมพื้นที่ถึงร้อยละ 80 ของเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศ ถือเป็นความมุ่งมั่นแน่วแน่ในการทำตามแนวคิดที่ว่า เศรษฐกิจจะรุ่งเรืองได้ต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์

ความจริงดังกล่าวหาได้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป  ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก การอนุรักษ์ทางทะเลถูกขัดขวางและต่อต้านจากฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากการทำประมง การขุดเจาะน้ำมัน และการทำเหมือง พื้นที่มหาสมุทรทั้งโลกมีเพียงร้อยละเจ็ดที่ได้รับการคุ้มครองเพียงเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกฎระเบียบหละหลวม ควบคู่กับข้อยกเว้นหลากหลาย และมีเพียงร้อยละ 2.5 ที่ได้รับการคุ้มครองในระดับสูงจากการแสวงประโยชน์  พ้นจากเขตเหล่านี้ไปแล้ว เรื่องของมหาสมุทรเป็นเรื่องราวของความสูญสิ้นอย่างต่อเนื่อง

มหาสมุทร, อนุรักษ์มหาสมุทร, ปลาไหลมอเรย์
ปลาไหลมอเรย์รวงผึ้งบนผืนปะการังถ้วยส้ม, ประเทศกาบอง

ความสูญเสียดังกล่าวเป็นผลจากการรบกวนหรือทำลายถิ่นอาศัย การทำประมงเกินขนาด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้มหาสมุทรทั้งอุ่นขึ้นและมีความเป็นกรดสูงขึ้น  เวลานี้ทีมทะเลพิสุทธิ์กำลังปรับเปลี่ยนพันธกิจใหม่เพื่อจัดการกับปัญหาภัยคุกคามทั้งสามประการ  ซาลาเชื่อว่า การจัดตั้งเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองทางทะเลประเภทพื้นที่ห้ามจับปลาเด็ดขาดจะเป็นประโยชน์ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และต่อสภาพภูมิอากาศไปพร้อมๆ กัน

เรื่อง เคนเนดี วอร์น
ภาพถ่าย เอนริก ซาลา


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : อุทยานแห่งชาติทางทะเล ณ ดินแดนสุดขอบโลก

ติดตามเรื่องราวคุณภาพกจาก เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับ ภาษาไทย เพิ่มเติม ได้ที่ https://www.facebook.com/NationalGeographicThailand


สามารถติดตามเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2563 

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2

Recommend