จากการทบทวนงานวิจัยที่เผยแพร่แล้ว พบว่า เสียงรบกวนในทะเล จากเรือขนส่ง และเสียงอื่นๆ จากกิจกรรมของมนุษย์ ที่เกิดขึ้นในมหาสมุทร เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลจำนวนมาก
กลุ่มนักวิจัยกว่าวว่า พวกเขารวบรวมและทบทวนวรรณกรรมวิจัยมากว่า 500 ผลงาน ที่เกี่ยวข้องกับ เสียงรบกวนในทะเล เพื่อเป็นหลักฐานสนับสนุนนโยบายและการเปลี่ยนแปลงข้อปฏิบัติในอุตสาหกรรมเดินเรือ ในการปรับความดังเสียงที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรทั่วโลก รวมถึงคนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง
ในการศึกษาครั้งนี้ยังเสนอแนวทางปฏิบัติอื่นๆ เช่น การลดเสียงรบกวนจากฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง การสำรวจแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้คลื่นแรงดันต่ำ การออกแบบใบพัดเพื่อลดเสียง แต่อาจมีราคาแพง และไม่ได้รับการสนับสนุนเพื่อนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ในขณะเดียวกันได้เสนอการชะลอความเร็วในการเดินเรือ และเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือจากพื้นที่ที่มีความเปราะบางทางระบบนิเวศ
เสียงเป็นตัวกระตุ้นการรับรู้ที่สำคัญเมื่ออยู่ใต้น้ำ ซึ่งมันเดินทางไปได้ไกลกว่าเสียงที่เดินทางผ่านอากาศ สัตว์ทะเลหลายชนิด ตั้งแต่วาฬไปจนถึงตัวอ่อนของลูกปลาในแนวปะการัง และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง อาศัยคลื่นเสียงในการนำทาง หาอาหาร และผสมพันธุ์ เสียงรบกวนจากมนุษย์ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมเหล่านี้ และมีผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อพฤติกรรมของสัตว์ การได้ยินและระบบต่างๆ ของร่างกายสัตว์ แต่เสียงจะไม่คงอยู่ในสภาพแวดล้อมทางทะเล ซึ่งแตกต่างจากมลภาวะอื่นๆ เช่น สารเคมีที่เป็นอันตราย และไมโครพลาสติก
นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมผู้กำหนดนโยบายต้องคำนึงวิธีการแก้ไขเสียงรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลต่อสุขภาพของสัตว์ทะเล คาร์ลอส เอ็ม. ดูอาร์เต นักสมุทรศาสตร์ชีวภาพและนักนิเวศวิทยาทางทะเล มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคิงอับดุลลาห์ ในซาอุดิอาระเบีย กล่าว
“บางครั้ง ในขณะที่เรานั่งอยู่ในห้องรอตรวจของโรงพยาบาล เรายังได้ยินเสียงเรือเดินสมุทรจากทะเล” เขากล่าวและเสริมว่า “แล้วสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใกล้กว่านั้นจะได้ยินเสียงดังมากกว่าเราแค่ไหน”
เราอาจจะเริ่มที่เรือขนส่งสินค้า ซึ่งเป็นเสียงรบกวนจากมนุษย์ที่แพร่หลายที่สุดในมหาสมุทร นาธาน เมอร์ชันต์ นักวิทยาศาสตร์ด้านเสียงและชีวเคมี ศูนย์สิ่งแวดล้อมประมงและวิทยาศาสตร์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งสหราชอาณาจักร กล่าว
ประมาณร้อยละ 85 ของเสียงที่เกิดจากเรือขนส่งมาจากใบพัด เคที เม็ตคัลฟ์ ประธานหอการค้าและการขนส่งอเมริกา กล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงที่เกิดขึ้นจากการโพรงอากาศเหนือใบพัด ซึ่งเป็นเรื่องของการออกแบบเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
บริษัท Maersk บริษัทขนส่งชื่อดังสัญชาติเดนมาร์ก ลงทุนมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2017 เพื่อลดการใช้น้ำมัน โดยการติดตั้งตัวถังเรือและติดตั้งใบพัดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นบนเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ 11 ลำ ในจำนวนนี้มีเรือห้าลำได้รับการทดสอบทางเสียง พบว่ามีเสียงดังลดลงโดยประมาณหกถึงแปดเดซิเบล (dB) นั่นหมายความว่าพลังงานที่เป็นคลื่นเสียงลดลงร้อยละ 75 เทียบได้กับการลดลงของเสียงรบกวนทางทะเลใน Bay of Fundy ของแคนาดา เนื่องจากกิจกรรมการค้าที่ลดลงหลังจากการโจมตี 9/11 ตามการศึกษาในปี 2012 ที่เผยแพร่ในวารสาร Proceedings of the Royal Society B
มิเชล แซนเดอร์ นักนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม จาก Transport Canada ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลาง กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของการออกแบบเพื่อลดเสียงรบกวนเหล่านี้คือเรื่องต้นทุน บริษัทใหญ่ๆ จึงไม่พยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
การสำรวจทางธรณีเพื่อสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่พยายามหาวิธีการลดเสียงรบกวนจากเครื่องมือสำรวจ ในปี 2011 บริษัทเอ็กซอนโมบิล บริษัทเชลล์ และบริษัทพลังงานของฝรั่งเศส Total ได้ร่วมมือกันออกแบบสร้างและทดสอบเครื่องมือ Vibroseis ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสำรวจแหล่งน้ำมันที่ลดเสียงกระแทก และปัจจุบันได้รับการยอมรับสำหรับการสำรวจบนบกแล้ว
หนึ่งในพื้นที่ที่พยายามลดเสียงรบกวนคือฟาร์มกังหันลมตามแนวชายฝั่ง แผ่นฟองน้ำดูดซับเสียงถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย โดยการติดตั้งไว้รอบเสาที่จมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งช่วยลดความดังของเสียงได้มากถึง 15 เดซิเบล Jennifer Miksis-Olds นักวิจัยด้านสมุทรศาสตร์ ศูนย์การวิจัยและการศึกษาด้านเสียงของมหาวิทยาลัยนิวแฮมป์เชียร์ กล่าว
นักวิจัยชี้ให้เห็นว่า เสียงรบกวนทางทะเลสามารถลดลงได้ด้วยการจัดการจราจรทางน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ โครงการแบบสมัครใจที่พัฒนาโดย Vancouver Fraser Port Authority ในบริติชโคลัมเบีย โดยขอให้เรือและเรือลากจูง เปลี่ยนเส้นทางออกจากพื้นที่หาอาหารของวาฬเพชฌฆาตประจำถิ่นทางตอนใต้ที่ใกล้สูญพันธุ์ และแนะนำให้ใช้ความเร็วที่ช้าลงสำหรับเรือขนาดใหญ่ในน่านน้ำทางตะวันตกเฉียงใต้ของบริติชโคลัมเบีย เพื่อลดเสียงรบกวนใต้น้ำ
การเปลี่ยนแปลงเรื่องของการส่งเสียงรบกวนในทะเลอาจยังไม่เห็นผลลัพธ์ได้ในเร็ววันนี้ และงานทบทวนวรรณกรรมวิจัยชิ้นนี้ก็เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือสร้างความตระหนัก และบอกเล่าเรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้น แต่ก็นับเป็นจุดตั้งต้นให้เราสนใจแก้ไขปัญหานี้ แซนเดอร์กล่าวปิดท้าย
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.scientificamerican.com/article/a-few-fixes-could-cut-noise-pollution-that-hurts-ocean-animals/
https://www.arctictoday.com/noise-pollution-is-harming-sea-life-needs-to-be-prioritized-scientists-say/
https://www.theguardian.com/environment/2021/feb/04/cacophony-human-noise-hurting-marine-life-scientists-warn
https://www.voanews.com/science-health/noise-pollution-threatens-sea-life-scientists-say
https://www.biologicaldiversity.org/campaigns/ocean_noise/index.html