ขยะพลาสติกกำลังเดินทางสู่มหาสมุทรผ่านแม่น้ำมากกว่า 1,000 สาย

ขยะพลาสติกกำลังเดินทางสู่มหาสมุทรผ่านแม่น้ำมากกว่า 1,000 สาย

นักวิทยาศาสตร์เคยคิดว่ามีแม่น้ำแค่ไม่เกิน 20 สายเท่านั้นที่นำพาขยะพลาสติกออกสู่มหาสมุทร แต่ในปัจจุบันเหล่านักวิทยาศาตร์ได้เรียนรู้ว่ามันมีแม่น้ำจำนวนมากกว่านั้นมาก และทำให้การหาหนทางแก้ไขปัญหานี้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ขยะพลาสติกในแม่น้ำ

ปัญหาเรื่องขยะพลาสติกมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับความพยายามยับยั้งขยะพลาสติกที่ไหลจากแม่น้ำไปสู่มหาสมุทรทั่วโลก ขยะพลาสติกในแม่น้ำ

แม่น้ำคือช่องทางหลักที่ส่งขยะพลาสติกออกสู่ทะเล ในปี 2017 นักวิทยาศาสตร์สองกลุ่มได้ข้อสรุปตรงกันว่า ร้อยละ 90 ของขยะพลาสติกที่ลอยไปกับสายน้ำ ซึ่งมีปลายทางสู่มหาสมุทร ได้ถูกลำเลียงจากแม่น้ำสายหลักบนภาคพื้นทวีปเพียงไม่กี่สาย ประกอบด้วย แม่น้ำไนล์ แม่น้ำแอมะซอน และแม่น้ำแยงซี แม่น้ำสามสายที่ยาวที่สุดในโลก งานวิจัยแรกได้อ้างอิงถึงแม่น้ำจำนวน 10 สาย และงานวิจัยที่สองได้อ้างอิงถึงแม่น้ำจำนวน 20 สาย ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่า การทำความสะอาดแม่น้ำเหล่านั้น สามารถส่งผลระยะยาวต่อการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่กำลังเคลื่อนออกสู่ทะเล

แต่งานวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ในวารสาร Science Advances ได้เปลี่ยนความคิดข้างต้นจากหน้ามือเป็นหลังมือ นักวิทยาศาสตร์พบว่าร้อยละ 80 ของขยะพลาสติกที่เคลื่อนตัวออกสู่ทะเลมีที่มาจากแม่น้ำมากกว่า 1000 สาย ไม่ใช่แค่เพียง 10 หรือ 20 สายอย่างที่เคยคิดไว้ และพวกเขาได้ค้นพบว่า ขยะพลาสติกส่วนใหญ่ถูกพัดพาจากแม่น้ำสายย่อยมากมายที่ไหลผ่านพื้นที่เขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่น ไม่ใช่จากแม่น้ำสายใหญ่
ดังนั้น แม่น้ำแยงซีที่ลัดเลาะผ่านประเทศจีนและไหลออกไปสู่ทะเลจีนใต้ และมีความยาวกว่า 63,007 กิโลเมตร ซึ่งถูกจัดอันดับให้เป็นแม่น้ำที่มีมลภาวะจากขยะพลาสติกมากที่สุด ยังถูกล้มแชมป์ด้วยแม่น้ำปาซิกที่มีความยาวเพียง 25.75 กิโลเมตร ที่ไหลผ่านกรุงมะนิลา เมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีประชากรกว่า 14 ล้านคน

มะนิลา เมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์ หนึ่งในเมืองที่มีประชากรหนาแน่นแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ / ภาพถ่าย Wander Fleur

นั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ และมันสื่อถึงกุญแจสำคัญสองข้อ ที่ใช้ทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก งานวิจัยเน้นย้ำถึงความจริงของการกระจายตัวของขยะพลาสติกในแทบทุกขอบทวีปของโลกเรา และยังช่วยเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องหาทางแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนในการดำเนินการมากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าโครงการรณรงค์คำขวัญเรื่องขยะพลาสติก งานวิจัยนี้ยังสนับสนุนสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและเหล่าผู้เชี่ยวชาญถกเถียงกันว่า วิธีที่ดีที่สุดที่จะปกป้องมหาสมุทรและแหล่งน้ำจืด คือการจำกัดให้ขยะพลาสติกอยู่บนแผ่นดินซึ่งพลาสติกถูกสร้างขึ้น

แกรี เบนช์กิบ ผู้นำกลุ่มกิจกรรมทำความสะอาดแม่น้ำ SUNGAI WATCH ซึ่งจนถึงปัจจุบันทำความสะอาดแม่น้ำไปกว่า 45 สายบนเกาะบาหลี กล่าวว่า งานวิจัยในปี 2017 ไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลสำหรับเขา

“งานวิจัยที่กล่าวถึงแม่น้ำเพียง 10 สายหลัก ทำให้เขาประหลาดใจมากกว่าสิ่งอื่นใดเมื่อเห็นการเผยแพร่ออกมา” เขากล่าวและเสริมว่า “มันไม่ได้สนับสนุนสิ่งที่เราพบเจอในพื้นที่จริงของแม่น้ำสายย่อยต่างๆ ในประเทศอินโดนีเชีย เราอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตร้อนที่เต็มไปด้วยภูเขาไฟ ซึ่งมีแม่น้ำในทุกๆ 500 เมตร และแม่น้ำเหล่านั้นเต็มไปด้วยขยะพลาสติก

ขยะพลาสติกในแม่น้ำ, ขยะพลาสติก
ภาพถ่าย Juliaj Joppien

ข้อมูลที่ดีกว่านำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่

มนุษย์เราได้ใช้แม่น้ำสำหรับการทิ้งสิ่งปฏิกูลตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มของอารยธรรม แต่ปัญหาขยะพลาสติกได้เกิดขึ้นเพียงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา งานวิจัยส่วนมากมุ่งเน้นไปที่การศึกษาขยะพลาสติกในทะเล ทำให้การวิเคราะห์ระบบน้ำจืดและแม่น้ำกลายเป็นเรื่องที่ตามมาทีหลัง เช่น การศึกษาขยะพลาสติกในแม่น้ำคงคาอย่างเต็มรูปแบบ ที่กระทำโดยสมาคม เนชั่นแนล จีโอกราฟิก พึ่งได้ข้อสรุปเมื่อ 18 เดือน ที่ผ่านมา และในแม่น้ำมิซซิสซิปปีเริ่มมีการวิเคราะห์ที่คล้ายเคียงกันในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา หลังจากที่นายกเทศมนตรีของแต่ละเมืองที่แม่น้ำไหลผ่าน 100 คน ร่วมมือกันสนับสนุนการศึกษาครั้งนี้ เพื่อเป็นก้าวแรกในการลดจำนวนของขยะพลาสติก นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นกำลังมีการสำรวจเพื่อติดตามจำนวนขยะพลาสติกในน้ำคงคาและแม่น้ำโขงเช่นกัน

งานวิจัยชิ้นใหม่ใช้วิธีการศึกษาโดยสร้างแบบจำลองรูปแบบใหม่ และมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยจากทีมวิจัยที่เคยศึกษาเกี่ยวกับแม่น้ำเมื่อปี 2017 พวกเขากล่าวว่า ข้อมูลที่มีเมื่อสี่ปีที่แล้วนั้นมีจำกัด ทำให้ความสนใจส่วนใหญ่ไปอยู่กับขนาดของลุ่มน้ำ และความหนาแน่นของประชากร

ในงานวิจัยชิ้นใหม่ นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ขยะพลาสติกจากแม่น้ำ 1656 สาย

แบบจำลองใหม่ได้นำกิจกรรมในลุ่มน้ำเหล่านั้นมาศึกษา เช่น ระยะห่างของแม่น้ำจากชายฝั่ง ผลกระทบจากฝน ลม กระแสน้ำ และลักษณะภูมิประเทศ รวมไปถึงความชันที่ช่วยขับเคลื่อนพลาสติกไปกับกระแสน้ำ ยกตัวอย่างเช่น ขยะพลาสติกจากพื้นที่ชุมชนเมืองสามารถไหลเข้าไปในแม่น้ำได้ง่ายกว่าพื้นที่ป่า และในช่วงฤดูฝน ขยะพลาสติกสามารถเคลื่อนที่ไปได้ไกลกว่าฤดูอื่นๆ นอกจากนี้ นักวิจัยได้นำข้อมูลของระยะห่างของที่ทิ้งขยะ และหลุมฝังกลบขยะจากริมฝั่งแม่น้ำ มาประกอบในการวิเคราะห์ และได้ข้อสรุปว่า สถานที่ทิ้งขยะและหลุมฝังกลบขยะที่มีระยะห่างจากแม่น้ำไม่เกิน 10 กิโลเมตร สามารถทำให้แม่น้ำปนเปื้อนได้

ขยะพลาสติกในแม่น้ำ, ขยะพลาสติก
บ่อขยะ หรือพื้นที่ฟังกลบ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำ เป็นอีกหนึ่งสาดเหตุที่ขยะหลุดรอดลงสู่แม่น้ำ / ภาพถ่าย Hermes Rivera

ข้อแตกต่างหลักของงานวิจัยนี้จากงานวิจัยเมื่อหลายปีก่อน คือเราไม่ได้มองแม่น้ำเป็นเพียงแค่สายพานในการขนส่งขยะพลาสติก” เลาเรนซ์ เจ.เจ. เมเออร์ ผู้นำการวิจัย กล่าวและเสริมว่า “ถ้าคุณทิ้งขยะพลาสติกลงไปในแม่น้ำหลายร้อยกิโลเมตรห่างจากปากแม่น้ำ มันไม่ได้แปลว่าขยะพลาสติกนั้นจะเดินทางไปสู่มหาสมุทร

ยิ่งขยะพลาสติกลอยอยู่ในแม่น้ำได้ไกลเท่าไร นั่นยิ่งทำให้ขยะพลาสติกมีโอกาสไปถึงมหาสมุทรได้น้อยลง ตัวอย่างเช่น ในแม่น้ำแซนของประเทศฝรั่งเศส ขวดน้ำพลาสติกที่ติดฉลากผลิตช่วงในทศวรรษที่ 1970 จำนวนมาก ถูกพัดขึ้นฝั่งตามริมแม่น้ำ

หนึ่งในความประหลาดใจ” เมเออร์กล่าว “คือแม่น้ำสายย่อยทั้งหลายในหมู่เกาะเขตร้อน อย่างประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศอินโดนีเชีย และสาธารณรัฐโดมินิกัน นำพาขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลออกสู่ทะเล” เช่นเดียวกับแม่น้ำในประเทศมาเลเซีย และประเทศแถบอเมริกากลาง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ แต่กลับปล่อยขยะพลาสติกจำนวนมากออกสู่ทะเลเช่นกัน

ไม่ใช่ผู้ต้องสงสัยหลักจะต้องเป็นแม่น้ำคงคาหรือแม่น้ำแยงซีเสมอไป” เมเออร์กล่าว

อีกหนึ่งการค้นพบคือสภาพอากาศมีผลต่อการไหลของขยะพลาสติก โดยในพื้นที่เขตร้อน แม่น้ำได้นำพาขยะพลาสติกออกสู่ทะเลอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่พื้นที่เขตอบอุ่นสามารถนำพาขยะพลาสติกจำนวนมากออกสู่ทะเลได้ในช่วงหนึ่งเดือน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเดือนสิงหาคมในหน้าฝน หรือช่วงที่มีน้ำท่วมฉับพลัน

ขยะพลาสติกในแม่น้ำ, ขยะพลาสติก
ภาพถ่าย Alexander Schimmeck

เรื่องราวหนึ่งที่ยังคงสภาพจากงานวิจัยเมื่อปี 2017 คือ แม่น้ำที่นำพาขยะพลาสติกออกสู่ทะเลมากที่สุดอยู่ในทวีปเอเชีย ในรายชื่อแม่น้ำ 50 สายที่นำพาขยะพลาสติกออกสู่ทะเลมากที่สุดของงานวิจัยใหม่ มีแม่น้ำ 44 สาย อยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความหนาแน่นของประชากร นักวิจัยกล่าว

พื้นที่ในทวีปเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่หลักในตอนนี้ แต่มันสามารถเปลี่ยนแปลงได้” โลฆองต์ เลอเบฆ์ต็อง ผู้ร่วมงานวิจัย กล่าว “ฉันกำลังกังวลถึงทวีปแอฟริกา เพราะเป็นทวีปใหม่ที่จำนวนประชากรกำลังเติบโต และสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะทำให้ผู้คนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

การมุ่งเป้าไปที่การหาทางออก

งานวิจัยชิ้นใหม่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญเป็นระยะเวลากว่าสองปีก่อนจะได้รับการตีพิมพ์ และได้รับทุนวิจัยจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร The Ocean Cleanup ที่ก่อตั้งโดย โบแยน สแลต  ผู้ประกอบการชาวดัตช์ที่โด่งดังไปทั่วโลกจากการทุ่มทุนกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปกับความพยายามการทำความสะอาดขยะพลาสติกในมหาสมุทรแปซิฟิก

โดยเมเออร์และเลอเบฆ์ต็องก็ทำงานให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเช่นกัน

ทีมของสแล็ตได้พัฒนาเครื่องจักรสำหรับการเก็บกวาดขยะที่เรียกว่า “อินเทอร์เซปเทอร์” หรือเครื่องดักขยะ (https://ngthai.com/sustainability/34237/the-ocean-cleanup/) เพื่อเก็บขยะจากแม่น้ำ มันเป็นนวัตกรรมที่ประยุกต์มาจาก มิสเตอร์ แทรช วีลล์ เรือเก็บขยะที่ขับเคลื่อนด้วยกังหันน้ำที่หน้าตาเหมือนดวงตาขนาดใหญ่ ที่เก็บขยะในบริเวณอินเนอร์ฮาเบอร์ของเมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ ตั้งแต่ปี 2008 และในปัจจุบันกำลังทำหน้าที่เป็นเรือนำกองเรือเก็บขยะ 4 ลำ ในบริเวณดังกล่าว

สิ่งที่คุณสามารถทำได้

  • เลือกใช้หลอดที่ใช้ซ้ำได้แทนหลอดพลาสติก
  • พกขวดน้ำที่ใช้ซ้ำได้ติดมือไว้เสมอ
  • ซื้อของอุปโภคบริโภคในปริมาณมากที่สุดที่เป็นไปได้ในแต่ละครั้ง
  • เข้าร่วมโครงการรีไซเคิลต่างๆ
  • แยกฟิล์มพลาสติกและขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ออกจากถังขยะรีไซเคิลของคุณ
  • เข้าร่วมโครงการทำความสะอาดชายหาดในชุมชนของคุณ

ในปี 2019 สแลตได้ประกาศแผนที่จะผลิตเครื่อง “อินเทอร์เซปเทอร์” กว่า 1000 เครื่อง และติดตั้งพวกมันลงในพื้นที่ต่างๆ ภายในระยะเวลา 5 ปี (รวมถึงประเทศไทย) แต่โรคระบาดทำให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความล่าช้า อย่างไรก็ตามมีเครื่องจักรหลายชิ้นที่ปฏิบัติงานอยู่บนแม่น้ำหลายสายในประเทศอินโดนีเชีย ประเทศมาเลเชีย ประเทศเวียดนาม และสาธารณรัฐโดมินิกัน สแลตกล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายคือการขยายขนาดโครงการเพื่อตอบสนองเป้าหมายที่ทะเยอทะยานนี้ “มันไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะดำเนินการในแม่น้ำหนึ่งสาย” เขากล่าวและเสริมว่า “แต่มันเป็นเรื่องยากมากที่จะดำเนินการในแม่น้ำหลายสิบสาย หรือหนึ่งร้อยสาย หรือหนึ่งพันสาย

จอร์จ เลียวเนาร์ด หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์กร Ocean Conservancy ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า ความท้าทายในการทำความสะอาดแม่น้ำ 1,000 สาย แม้จะมีความก้าวหน้าในอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อจัดการกับงานดังกล่าว แต่เขาก็เรียกร้องให้หันมาลองพิจารณาข้อความที่กำหนดโดยองค์กรของเขามาเป็นเวลานาน “เราเคยพูดเสมอว่า เราจำเป็นต้องเก็บพลาสติกออกจากมหาสมุทรตั้งแต่ต้นทาง แทนที่จะพึ่งพาการทำความสะอาดเป็นวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งนั่นหมายความว่า อย่าให้ขยะพลาสติกหลุดรอดลงไปในแม่น้ำด้วย

เรื่อง ลอรา พาร์กเกอร์
แปลและเรียบเรียง นายจอมพล ละมูนกิจ
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษไทย


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : The Ocean Cleanup สตาร์ตอัปที่สร้างเรือดักเก็บขยะโซลาร์เซลล์ในเจ้าพระยาและทั่วโลก

Recommend