ปัญหาขยะติดเชื้อท่ามกลางวิกฤติการระบาดใหญ่ในประเทศไทย

ปัญหาขยะติดเชื้อท่ามกลางวิกฤติการระบาดใหญ่ในประเทศไทย

ปัญหาด้านขยะมูลฝอยที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่คือ ขยะติดเชื้อ จากสถานประกอบการพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และภาคครัวเรือน

ท่ามกลางช่วงเวลาแห่งการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นอกจากการเตรียมพร้อม ป้องกัน และรับมือ กับการแพร่ระบาดของไวรัสแล้ว สิ่งหนึ่งที่ควรตระหนัก และหันมาให้ความสนใจคือ การเพิ่มขึ้นของปริมาณ ขยะติดเชื้อ ในประเทศไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นี่คือเรื่องราวของขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และแนวทางที่คุณสามารถเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาเหล่านี้

ขยะติดเชื้อ, หน้ากากอนามัย, การทิ้งหน้ากากอนามัย, อย่างถูกวิธี

การเพิ่มขึ้นของขยะติดเชื้อ

ข้อมูลจากกรมอนามัย ปี 2019 รายงานว่า โดยปกติ ประเทศไทยมีสถานพยาบาล เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข และสถานีอนามัยคลินิก ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนจำนวนมากกว่า 37,000 แห่ง และมีจำนวนเตียงผู้ป่วยประมาณ 140,000 เตียง ซึ่งสร้างปริมาณขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นจากสถานพยาบาลทั้งหมดประมาณ 65 ตันต่อวัน โดยแบ่งเป็นขยะมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เฉลี่ยประมาณ 20 ตันต่อวัน และสถานพยาบาลในส่วนภูมิภาคอีกประมาณ 45 ตันต่อวัน ตัวเลขนี้ยังไม่รวมปริมาณขยะติดเชื้อจากภาคครัวเรือนและสถานที่กักตัว ปริมาณขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลสนาม ซึ่งในปัจจุบันคาดว่าจะเพิ่มปริมาณขยะติดเชื้อมากขึ้นอีก 20 ตันต่อวัน

หน้ากากอนามัย หนึ่งในขยะติดเชื้อสำคัญจากภาคครัวเรือน

ในปัจจุบัน หน้ากากอนามัยมีบทบาทสำคัญต่อการช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส และอีกทั้งประเทศไทยยังมีกฎหมายจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อบังคับใช้หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะ และขณะโดยสารรถยนต์ส่วนตัวที่มีผู้โดยสารตั้งแต่สองคนขึ้นไปในบางบางพื้นที่ ส่งผลให้หน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยมีกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยอยู่ที่ประมาณสี่ถึงห้าล้านชิ้นต่อวัน อันเป็นผลมาจากความต้องการหน้ากากอนามัยที่มากขึ้น และตัวเลขนี้ยังไม่รวมจำนวนหน้ากากอนามัยที่นำเข้าจากต่างประเทศ นั่นหมายความว่า ประเทศไทยกำลังผลิต”ขยะติดเชื้อ” อย่างน้อย 4-5 ล้านชิ้น ทุกวัน

ขยะติดเชื้อ, หน้ากากอนามัย, การทิ้งหน้ากากอนามัย, อย่างถูกวิธี

การกำจัดขยะติดเชื้อในปัจจุบัน

ขยะติดเชื้อในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และสถานที่กักตัว จะถูกขนส่งไปเผาทำลายที่เตาเผาขยะ และโรงนึ่งฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ

แต่ในปัจจุบัน เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาตัวในที่พักของตนเอง และรอเข้ารับรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งสามารถทำให้เกิดขยะติดเชื้อภายในชุมชน และในบางกรณีที่ขยะติดเชื้อได้ปนเปื้อนไปกับขยะมูลฝอยทั่วไปจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่ขยะติดเชื้อเหล่านี้จะเพิ่มโอกาสการแพร่ระบาดของไวรัสมากขึ้นไปอีก

คุณสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างไร

สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ผู้ที่แยกสังเกตอาการที่บ้าน หรืออยู่ระหว่างกักตัว ให้แยกขยะติดเชื้อเช่น ขยะที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่งอื่นๆ เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษชำระ และนำใส่ถุงขยะสองชั้น มัดปากถุงให้แน่น และทำเครื่องหมายให้ชัดเจนว่าเป็น “ขยะติดเชื้อ” และแจ้งสำนักงานเขต เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าไปดำเนินการอย่างถูกวิธี

สำหรับบุคคลทั่วไป ให้กำจัดหน้ากากอนามัย โดยจับที่สายคล้องหู และนำหน้ากากอนามัยทิ้งลงถังขยะที่มีฝาปิด

ในปัจจุบัน กรุงเทพมหานครได้ติดตั้งถังขยะสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยมากกว่าหนึ่งพันจุด ในสำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาล โรงเรียน ศูนย์กีฬา และศูนย์เยาวชนสังกัดกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สถานีดับเพลิง สวนและสถานที่สาธารณะ โดยถังขยะที่รองรับการทิ้งหน้ากากอนามัยจะมีสีส้มพร้อมถุงขยะสีแดง

การที่คุณช่วยแยกขยะติดเชื้อนั้น นอกจากจะทำให้มั่นใจว่าขยะติดเชื้อเหล่านั้นจะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีแล้ว ยังส่งผลให้กระบวนการแยกขยะและการนำส่งขยะมีความปลอดภัยมากขึ้น และเป็นการช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

นอกจากนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแนวทางการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยเผยแพร่คู่มือสำหรับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการขยะ ผู้ขนส่ง ผู้กำจัดขยะติดเชื้อ สำหรับสถานปฏิบัติการและสถานพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม

โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับแนวทางในการปฏิบัติภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ที่ https://covid19.anamai.moph.go.th/th/manual/

แปลและเรียบเรียง นายจอมพล ละมูนกิจ
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษไทย


ข้อมูลอ้างอิง

คู่มือการดำเนินงานระบบปฏิบัติการอนามัยสิ่งแวดล้อม ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ผลกระทบของโควิด-19 ต่อสิ่งแวดล้อม

Recommend