แนว ปะการัง ตระการตาที่สุดในโลกจํานวนหนึ่ง ได้รับการคุ้มครองโดยฟิลิปปินส์ แต่แห่งอื่นๆ ในประเทศกําลังเสียหายจากการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศและการประมงทําลายล้าง
ผมกำลังท่องทะเลทราย แต่ไม่ใช่ที่กอปรด้วยทราย ผมกำลังแหวกว่ายผ่านดินแดนรกร้างที่มีแต่เศษหิน และซากป่นสลายของแนว ปะการัง แห่งหนึ่ง
ณ ที่อื่นๆในฟิลิปปินส์ ผมเคยตื่นตะลึงกับ ปะการัง เรืองรองราวกล่องเพชรพลอย พื้นที่ตรงนี้ในภูมิภาค อินโด-แปซิฟิกที่เรียกกันว่า สามเหลี่ยมปะการัง (Coral Triangle) เป็นขุมทรัพย์ความหลากหลายทางทะเลที่ รุ่มรวยที่สุดในโลก
ที่นี่มีปะการังอยู่มากกว่า 500 ชนิด หรือสามในสี่ของทั้งหมดที่เรารู้จัก แนวปะการังที่พวกมันสร้างขึ้นครอบคลุมพื้นที่ถึงราว 73,000 ตารางกิโลเมตร สรรพชีวิตที่อาศัยอยู่ตามเมืองใต้ทะเลเหล่านี้มีจำนวนเกินคณานับ เฉพาะในฟิลิปปินส์ซึ่งอยู่ในส่วนยอดของสามเหลี่ยมปะการัง ก็มีปลาในแนวปะการังอยู่เกือบ 1,800 ชนิดแล้ว
กระนั้น สุสานปะการังที่ผมกำลังสำรวจนี้มีแต่ผู้ลี้ภัย ผมเห็นปลาที่เรียกกันว่าปลาพยาบาลตัวหนึ่ง แล้วพลันรู้สึกเศร้าใจ บทบาทของมันในระบบนิเวศแนวปะการังคือทำความสะอาดให้ปลาอื่นๆ โดยเก็บกินปรสิตตามร่างกายปลาเหล่านั้น แต่พนักงานทำความสะอาดตัวนี้ไม่เหลือใครให้ทำความสะอาด มันแหวกว่ายอยู่อย่างโดดเดี่ยวอ้างว้าง
ปะการังรอบตัวมันล้มระเนระนาดเหมือนต้นไม้หลังพายุเฮอร์ริเคน ท่ามกลางตอปะการังไร้ชีวิต อะไรบางอย่างสะท้อนวาบในแสงอาทิตย์ แล้วผมก็หยิบส่วนก้นของขวดแก้วแตกขึ้นมา ผมเคยเห็นขวดแบบเดียวกันนี้ มีปุ๋ยไนเตรตบรรจุอยู่ และอุดปากขวดด้วยเชื้อปะทุกับสายชนวน แค่จุดสายชนวน แล้วโยนขวดลงไปในทะเล แรงระเบิดทำให้ปลาสลบหรือตายทันที พวกมันจะลอยขึ้นมาบนผิวน้ำให้ชาวประมงกอบโกยไป
การระเบิดปลาเป็นภัยร้ายถึงตายสำหรับปลาและอันตรายต่อชาวประมงเอง หากขวดไหนระเบิดเร็วไป คุณอาจมือขาด แขนขาด หรือชะตาขาดไปเลย ชาวประมงคนหนึ่งเสียชีวิตแบบนี้สองวันก่อนหน้าที่ผมจะมาถึงที่นี่ คือที่ดานาฮอนแบงก์ ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะเซบูไปทางตะวันออก 30 กิโลเมตร ในภูมิภาคหนึ่งของฟิลิปปินส์ที่มีประวัติยาวนานในเรื่องกิจกรรมประมงทำลายล้าง ทั้งการใช้วัตถุระเบิด ไซยาไนด์ และอวนตาถี่ยิบ
ทุกวิธีข้างต้นล้วนผิดกฎหมาย แต่ยังใช้กันอยู่ เป็นภัยพิบัติทบทวีสำหรับแนวปะการัง ส่งผลให้สิ่งมีชีวิต ในทะเลร่อยหรอลงฉับพลันยิ่งกว่าโศกนาฏกรรมจากการลดลงของปริมาณสัตว์น้ำ มลพิษ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุกคืบเชื่องช้ากว่า
ผมเห็นร่างร่างหนึ่งอยู่ไกลๆ กำลังเก็บสัตว์น้ำตกหล่นท่ามกลางซากเสียหายจากระเบิดไดนาไมต์ จึงว่ายเข้าไปหา เขาใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว มีแว่นตาดำน้ำครอบตา ใช้แผ่นไม้อัดมัดไว้กับเท้าแทนตีนกบ
เพื่อหาอาหารให้ได้มากพอสำหรับเลี้ยงครอบครัว ชายผู้นี้บอกผมว่า เขามักต้องอยู่ในทะเลกลางแดดแผดเผาอยู่ถึงครึ่งวัน เพื่อค้นหาตามซอกแนวปะการัง เขาลากกล่องโฟมมาด้วยใบหนึ่งเพื่อใส่อะไรก็แล้วแต่ที่จับได้ ไม่ว่าจะเป็นทากทะเล หอยเป๋าฮื้อ เม่นทะเล ปู หรืออาจเป็นปลาสักตัวหากโชคดี เขาใช้ตะขอในมือข้างหนึ่ง กับฉมวกในมืออีกข้าง จิ้มแทง กระทุ้ง งัดแงะ และสับฟันที่กอปะการัง ผมเห็นหมึกสีดำฟุ้งขึ้นมาอย่างฉับพลัน เมื่อเขาแทงโดนหมึกกระดองตัวหนึ่งเข้า
การค้นหาอาหารอย่างอุตสาหะของคนเก็บสัตว์น้ำตกหล่นผู้นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วฟิลิปปินส์และทั่วทั้งเขตสามเหลี่ยมปะการัง เมื่อคนจับสัตว์น้ำมีจำนวนเพิ่มขึ้นตลอดเวลา สวนทางกับปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลงเรื่อยๆ สำหรับชาวฟิลิปปินส์หลายล้านคน ทะเลเป็นปัจจัยจำเป็นต่อการอยู่รอด สามในสี่ของครัวเรือนในภูมิภาคดานาฮอนพึ่งพาการประมงเพื่อเป็นแหล่งอาหารและหาเลี้ยงชีพ พวกเขาเห็นปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้โดยเฉลี่ยลดลงมากถึง 10 เท่าในคนชั่วรุ่นเดียว
หนึ่งในสี่ของสัตว์น้ำที่จับได้ในดานาฮอนมาจากกิจกรรมประมงทำลายล้างและผิดกฎหมาย ชาวประมงเพื่อยังชีพซึ่งมีชีวิตอยู่คาบเส้นหรือใต้เส้นแบ่งระดับความยากจน ถูกความสิ้นหวังผลักให้ใช้วิธีเหล่านี้
ในบางเดือนของปี คนเก็บสัตว์น้ำตกหล่นรวบรวมอาหารได้น้อยนิดจากแนวปะการังที่เสื่อมโทรม
ผมหวังจะได้เรียนรู้วิธีที่อาจช่วยสงวนแนวปะการังไว้ได้ ในช่วงเวลาที่ไม่เพียงมีการแสวงประโยชน์สูงขึ้น แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่ขับเคลื่อนโดยมนุษย์เกิดขึ้นในมหาสมุทรโดยตรง นั่นคือทะเลที่อุ่นขึ้น ทะเลที่เป็นกรดมากขึ้น และระดับทะเลสูงขึ้น เหล่านี้เป็นเงามืดหม่นยิ่งกว่าที่ปกคลุมแนวปะการังทั่วโลก
นอกชายฝั่งปาลาวัน ผมบังเอิญเห็นหนังตัวอย่างของสิ่งที่กำลังมาถึง ผมดำน้ำอยู่ท่ามกลางสุสานปะการังฟอกขาว อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นจนเลยระดับวิกฤติไปแล้ว หรือระดับที่โพลิปของปะการังเลิกอยู่ร่วมกับสาหร่ายชนิดพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งมอบสีสันละลานตาให้แก่ปะการัง ปะการังที่นั่นเป็นสีขาวโพลนเหมือนน้ำแข็ง เมือกเป็นสายกระพือไหวจากหัวปะการังที่กำลังจะตาย
นักวิทยาศาสตร์ด้านปะการังบางคนบอกว่า ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างกว้างขวาง ซึ่งแต่ก่อนเกิดขึ้นทุกๆหลายสิบปี อาจเกิดขึ้นได้ทุกปีในไม่ช้า หากความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศยังเพิ่มสูงขึ้น อะไรก็ตามที่ยังไม่ตายเพราะอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น จะตายเพราะทะเลเป็นกรดมากขึ้น แนวปะการังจะถึงจุดพลิกผัน คือเมื่อโครงสร้างหินปูนของปะการังมีอัตราการละลายสูงกว่าอัตราการงอกเพิ่ม เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น ปะการังจะเริ่มสลายตัว แล้วระบบนิเวศที่มีความหลากหลายสูงสุดในมหาสมุทรก็จะเริ่มสูญหายไป
การตอบสนองต่อทรัพยากรที่กำลังร่อยหรอมีอยู่สองทาง คือใช้ให้น้อยลง หรือตักตวงต่อเป็นทวีคูณ ชาวฟิลิปปินส์ทำทั้งสองแบบ พื้นที่โล่งเป็นหลุมบ่อจากการระเบิดเหมือนผิวดวงจันทร์ที่ผมเห็นในดานาฮอนแบงก์ เป็นผลลัพธ์ของวิธีการหนึ่ง นั่นคือการจับสัตว์น้ำเชิงทำลายจนเกินขนาดจากระบบนิเวศแนวปะการัง แต่ที่เทศบาลเมืองเดาอินบนเกาะเนโกรส ผมได้เห็นมรดกตกทอดที่ต่างออกไป คือการคุ้มครองแนวปะการังที่ช่วยคลาย แรงกดดันต่อสัตว์ทะเล และค้ำจุนวิถีดำรงชีพให้ชุมชนชายฝั่งได้
วิธีการข้างต้นบุกเบิกโดยอันเฮล อัลกาลา นักชีววิทยาชาวฟิลิปปินส์ ผู้สนับสนุนการสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเล หรือเอ็มพีเอ (marine protected area: MPA) ขนาดย่อมที่บริหารจัดการโดยชุมชน บ่อยครั้งเหตุผลหลักของการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์เหล่านี้ คือเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ แต่สำหรับอัลกาลา จุดเน้นหลักคือเพื่อยังประโยชน์แก่การประมง “คนฟิลิปปินส์เป็นชนชาติกินปลาครับ” อัลกาลาบอกผมที่มหาวิทยาลัยซิลลีมัน ติดกับทางเหนือของเดาอิน “เพื่อเกื้อกูลสิ่งนี้ จำเป็นจะต้องมีเขตสงวนทางทะเลครับ”
อัลกาลาเริ่มจากเขตสงวนต้นแบบสองแห่งในช่วงต้นทศวรรษ 1970 แห่งหนึ่งอยู่ใกล้เกาะที่มีคนอาศัยอยู่ (เกาะอาโป นอกชายฝั่งเดาอิน) อีกแห่งอยู่ใกล้เกาะไม่มีคนอาศัย (เกาะซูมีลอน ใกล้เกาะเซบู) ทั้งสองแห่งมีกฎห้ามจับสัตว์น้ำทุกรูปแบบ
ผลลัพธ์นั้นน่าทึ่ง ในช่วง 10 ปี มวลชีวภาพของปลาหลายชนิดในเขตรักษาพันธุ์เพิ่มขึ้นหกเท่าเป็นอย่างน้อย เมื่อปลาในเขตสงวนมีความหนาแน่นมากขึ้น ชาวประมงจะได้ประโยชน์จากปรากฏการณ์ล้นทะลัก กล่าวคือ มีปลา “ล้นทะลัก” จากพื้นที่สงวนเข้าสู่น่านน้ำที่สามารถจับปลาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
ความสำเร็จของเกาะอาโปดึงดูดความสนใจของโรดริโก อาลานาโน ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีของเดาอินเมื่อปี 2001 อาลานาโนตัดสินใจเพิ่มจำนวนพื้นที่คุ้มครองทางทะเลตลอดแนวชายฝั่งเดาอิน
ผมถามเขาว่ามีวิธีเกลี้ยกล่อมอย่างไร เหล่าชาวประมงเพื่อยังชีพจึงยอมสละส่วนหนึ่งของแหล่งจับปลาดั้งเดิมของตน “ผมบอกพวกเขาว่า เราจำเป็นต้องมีแหล่งขยายพันธุ์ควบคู่กับแหล่งจับปลาครับ” เขาตอบ “ผมบอกพวกเขาว่า ‘ถ้าคุณมีเขตรักษาพันธุ์ ประชากรปลาจะเพิ่มขึ้น แล้วปลาจำนวนหนึ่งจะล้นออกจากเขตรักษาพันธุ์ ปลาพวกนั้นจะเป็นของคุณ เขตสงวนจะเป็นแหล่งขยายพันธุ์สำหรับปลาในตอนนี้และตลอดไป เพื่อคุณและเพื่ออนาคต’ แล้วต่อมาผมก็บอกพวกเขาว่า มันจะกลายเป็นจุดดำน้ำ แล้วรายได้จะเกิดขึ้นจากสิ่งนี้”
เรื่อง เคนเนดี วอร์น
ภาพถ่าย เดวิด ดูบิเลต์ และเจนนิเฟอร์ เฮย์ส
ติดตามสารคดี โลกสีครามมหัศจรรย์ใค้ภัยคุกคาม ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2565
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/547936