ปลาเก๋าหยก Alien Species สัตว์น้ำต่างถิ่นกับการมีอนาคตเป็น ‘สัตว์เศรษฐกิจ’ ?

ปลาเก๋าหยก Alien Species สัตว์น้ำต่างถิ่นกับการมีอนาคตเป็น ‘สัตว์เศรษฐกิจ’ ?

ปลาต่างถิ่นที่เป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) ถูกพูดถึงมากอีกครั้ง ภายหลังการเปิดตัวสินค้า ปลาเก๋าหยก (Jade Perch) ที่ชูความเป็นอาหารที่มีโภชนาการสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางการตั้งข้อสงสัยว่า สัตว์น้ำต่างถิ่นที่อยู่ในบัญชีห้ามเพาะเลี้ยงตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 ถูกนำมาประชาสัมพันธ์ได้หรือไม่

แม้เรื่องนี้จะยุติไป เพราะทางบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ยกเลิกการประชาสัมพันธ์พร้อมยืนยันว่า การเพาะเลี้ยงดังกล่าวเป็นการเลี้ยงในระบบปิด แต่นั่นก็ทำให้ผู้คนหันมาสนใจสัตว์น้ำต่างถิ่น ด้วยตั้งข้อสงสัยว่า มันคืออะไร? และสิ่งนี้ทำลายระบบนิเวศในภาพรวมได้มากน้อยขนาดไหน?

กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นิยาม “สัตว์น้ำต่างถิ่น” หรือ “เอเลียนสปีชีส์” ว่า เป็นคำเรียกของสิ่งมีชีวิตที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในถิ่นใดถิ่นหนึ่ง แต่ถูกนำเข้ามาจากถิ่นอื่น ซึ่งอาจจะสามารถดำรงชีวิตอยู่และสืบพันธุ์ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของปัจจัยแวดล้อมและการปรับตัวของชนิดพันธุ์นั้นๆ

ปลาหยก” หรือ “ปลาเก๋าหยก” ก็มีรายชื่ออยู่ตามประกาศนี้ โดยปลาชนิดนี้มีชื่อเดิมว่า Jade Perch มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scortum barcoo เป็นปลาน้ำจืด มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปแอฟริกา แต่ต่อมามีการแพร่พันธุ์ไปที่ออสเตรเลีย ก่อนจะถูก เปลี่ยนชื่อเป็น “เจดเพิร์ช” หรือปลาเพิร์ชหยก เนื่องจากมันมีลำตัวที่มีสีเหลือบเขียว จากนั้นเมื่อนำเข้ามาทดลองเลี้ยงในประเทศไทยก็มีการเปลี่ยนเป็นชื่อเป็น “ปลาเก๋าหยก” เพื่อให้คนไทยเรียกได้ง่ายขึ้น

(อ่านเพิ่มเติม: เอเลี่ยนสปีชีส์เดินทางข้ามมหาสมุทรด้วยขยะพลาสติก)

ตามบทบาทที่มีต่อระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมแล้ว ปลาต่างถิ่นที่เป็นเอเลียนสปีชีส์ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ไม่รุกราน (Non invasive) ซึ่งกลุ่มนี้เป็นพันธุ์ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ หรือระบบนิเวศโดยตรง หรือชัดเจนนัก เพราะใช้ชีวิตแบบไม่แข่งขันหรือขัดต่อการดำรงชีพของสัตว์ชนิดอื่นหรือสมดุลของระบบนิเวศ มักเป็นชนิดพันธุ์ที่พบน้อยหรือไม่แพร่พันธุ์ในธรรมชาติ  สัตว์น้ำในประเภทนี้ เช่น ปลานิล ปลาไน และปลาจีน รวมถึงปลาเศรษฐกิจต่างๆ ที่ถูกปล่อยลงแหล่งน้ำทั่วไป

กับอีกประเภทที่มีโอกาสรุกรานสัตว์ประจำถิ่น  (Invasive alien species, IAS)  ซึ่งในกลุ่มนี้มักเป็นสัตว์ชนิดที่แพร่พันธุ์ได้เร็วและมีความสามารถในการปรับตัวแข่งขันแทนที่ชนิดพันธุ์พื้นเมืองได้ดี  แถมยังมีการดำรงชีวิตที่ขัดขวางหรือกระทบต่อสมดุลนิเวศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบชนิดพันธุ์พื้นเมือง หรืออาจเป็นศัตรูต่อผลผลิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำการเกษตรได้ ตัวอย่างเช่น ปลากดเกราะ ปลาดุกอัฟริกัน (ดุกรัสเซีย) และลูกผสม

ปลาหยกหรือปลาเก๋าหยก

ผลกระทบที่ทำให้สัตว์น้ำต่างถิ่น ต้องกลายเป็นข้อห้ามนั้น เป็นเพราะลักษณะอย่างหนึ่งของมัน คือเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือสมดุลนิเวศ สัตว์น้ำชนิดนั้นก็อาจเป็นปัจจัยซ้ำเติมหรือปรับตัวเจริญขึ้นแทนที่สัตว์น้ำพื้นเมืองได้ และทำให้ระบบนิเวศไม่อาจพื้นตัวกลับสภาพเดิมได้อีก

อย่างไรก็ดี แม้จะถูกเรียกว่าเป็น เอเลี่ยนสปีชีส์ แต่อีกด้านสถานะของสัตว์น้ำต่างถิ่นประเภทนี้ ก็ถูกขนานนามว่าเป็น สัตว์เศรษฐกิจ ซึ่งเหมาะสมกับการเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นแหล่งอาหาร

ยิ่งเฉพาะกับ ปลาเก๋าหยก ซึ่งมีโอกาสเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของไทย นั่นเพราะได้รับความนิยมในทวีปเอเชีย และมีเริ่มมีการเพาะเลี้ยงไปแล้วในบางประเทศ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย จีน ไต้หวัน ฮ่องกง โดยมีรายงานว่าเป็นปลาที่มีโปรตีนสูง มีคอลลาเจน ดีเอชเอ และโอเมก้า 3

เปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้จัดการสูงสุดด้านงานวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จาก CPF ให้สัมภาษณ์ กรุงเทพธุรกิจว่า ปลาเก๋าหยกเป็นปลาที่ใหม่ในแง่ของเศรษฐกิจ ทำให้มองเห็นโอกาสในการทำตลาด โดยขั้นแรกมีการนำเข้ามาเพื่อทดลองเพาะเลี้ยงในบ่อที่เป็นระบบปิดและไม่มีการปล่อยน้ำออกไปข้างนอก เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาหลุดออกไปสู่ธรรมชาติ

อย่างไรก็ดีในกระบวนการทดลองเพาะพันธุ์พบว่า ตัวปลายังมีปัญหาอยู่ เช่น อ่อนแอ ป่วยง่าย ไม่แข็งแรง ทำให้เพาะพันธุ์ยาก แต่ถ้าหากสามารถศึกษาวิธีการเพาะพันธุ์ได้อย่างละเอียดแล้วก็เชื่อว่าจะเป็นสัตว์น้ำอีกหนึ่งชนิดที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไทย

ส่วนรายงานเรื่องการส่งผลต่อระบบนิเวศนั้น ขณะนี้ยังไม่พบข้อมูลที่ชัดเจนว่า หากหลุดไปสู่ธรรมชาติจะสร้างผลเสียแก่สิ่งแวดล้อมตามที่หลายฝ่ายกังวลหรือไม่ เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงเฉพาะในฟาร์มแบบปิดเท่านั้น จึงไม่สามารถหาตัวอย่างปลาที่อยู่ตามธรรมชาติมาทำการศึกษาเพื่อผ่าท้องดูสัตว์ที่กินเป็นอาหาร

ปลาเก๋าหยก

เฟสบุ๊คกรมประมง ชี้แจงกรณีเดียวกันนี้ว่า จากการตรวจสอบข้อมูล การออกข่าวประชาสัมพันธ์ของบริษัทฯ ดังกล่าว ได้ดำเนินการนอกเหนือจากกรอบโครงการวิจัยที่บริษัทเสนอต่อกรมประมงเพื่อขอรับอนุญาต และมีการทำประชาสัมพันธ์รวมถึงทำการตลาดโดยจำหน่ายปลาเก๋าหยกในเชิงพาณิชย์ก่อนที่จะรายงานให้กรมประมงทราบ  โดยขณะนี้กรมประมงได้แจ้งให้บริษัทฯ ระงับการประชาสัมพันธ์ มิฉะนั้นกรมประมงจะดำเนินการพักใช้ใบอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดนี้ ซึ่งหมายความว่า บริษัทฯ จะไม่สามารถดำเนินการในทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับปลาเก๋าหยกได้ต่อไป

อนาคตปลาเก๋าหยก ในฐานะแหล่งอาหารและสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่จึงต้องติดตามกันต่อไป

ภาพจาก : เรื่องเล่าข่าวเกษตร

_____________________________

อ่านเพิ่มเติม: ศาลแคลิฟอร์เนียอนุมัติจัดประเภทสิ่งมีชีวิตใหม่ นับจากนี้ไป ผึ้งคือปลา

Recommend