“หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง” คำเตือนซ้ำซากเมื่อฤดู ฝุ่นควัน มาถึง

“หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง” คำเตือนซ้ำซากเมื่อฤดู ฝุ่นควัน มาถึง

“หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง” เป็นประโยคที่เราได้ยินได้อ่านบ่อยมากเมื่อถึงฤดู ฝุ่นควัน

“ถ้าทำได้ก็คงทำไปแล้ว” ก็อาจจะเป็นประโยคที่หลายคนคิดในใจเมื่อได้ยินคำแนะนำทำนองนี้

ปัญหา ฝุ่นควัน เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2550 เหตุที่ผมจำได้แม่นยำเพราะเป็นปีที่ลูกชายคนโตจากไปเรียนกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นอีก 3-4 ปี พี่น้องของผมก็ขอให้ย้ายกลับบ้านที่กรุงเทพฯ เพราะปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการแก้ไขเวลานั้นผมตอบใคร ๆ ว่าเรื่องเผาใบไม้และฝุ่นควันเป็นเรื่องธรรมดาของหน้าแล้ง ชาวบ้านทำเช่นนี้มาตั้งนานแล้ว

ในตอนนั้น ตัวผมเองเป็นหนึ่งในคนที่ไม่ “รู้สึก” ว่านี่คือปัญหา สาเหตุสำคัญคือเพราะไม่มี “ความรู้”

เมื่อถึง พ.ศ. 2553 ปัญหา ฝุ่นควัน รุนแรงขึ้นอีกจนกระทั่งตนเองปฏิเสธมิได้ว่าเป็นภัยพิบัติจริง เพราะเป็นที่ประจักษ์ว่าบางช่วงเวลาท้องฟ้ามืดมิดมองไม่เห็นภูเขาที่ควรจะอยู่ตรงหน้า หรือต้นไม้สีเขียวที่ยืนต้นอยู่ห่างจากหน้าบ้านไปเพียงแค่หนึ่งบล็อกก็ดูมัวซัวอย่างเห็นได้ชัด ปัญหาฝุ่นควันมิได้กินเวลาเพียงรอบละหนึ่งถึงสองวันแต่ยาวนานขึ้นเป็นห้าถึงเจ็ดวัน

ต้นปี พ.ศ. 2563 ฝุ่นควันปกคลุมภาคเหนือตอนบนอย่างหนัก ค่า AQI (Air Quality Index หรือดัชนีคุณภาพอากาศของ IQAir) ที่เชียงใหม่สูงลอยถึงระดับสีม่วงนานหลายสิบวัน ในขณะที่ตัวเลข AQI ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย สูงลอยทะลุตัวเลข 900 หลายวันเช่นกัน ส่วนที่ตัวเมืองเชียงรายเองก็ไม่ดีกว่ากันมากนัก ค่าตัวเลขพุ่งสูงถึงระดับสีม่วงสลับสีแดงและเป็นอยู่อย่างนั้นนานแรมเดือน จนแสงอาทิตย์ส่องมาไม่ถึงพื้นโลกบ้านเมืองของเราเหมือนอยู่ในนิยายวิทยาศาสตร์สักเรื่องคำที่เราคุ้นเคยคือคำว่า hazardous (มีผลกระทบต่อทุกคนอย่างรุนแรง)

ในเวลานั้นเองที่กรุงเทพฯ เพิ่งจะเริ่มพบปัญหาฝุ่นควันมาได้สองสามปี เสียงบ่นว่าและก่นด่ามีให้อ่านจากหลายเพจในเฟซบุ๊กเสมือนเพิ่งตื่นจากความฝัน แต่ไม่ว่าจะเขียนอย่างไรหรือเรียกร้องอย่างไร เรามาจบที่ประโยคว่า “หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง” ทุกครั้ง การให้ความรู้เรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 และอันตรายของฝุ่นควันต่อสุขภาพมีให้อ่านเป็นประจำทุกปีเหมือนงานเทศกาล กล่าวเฉพาะหน่วยงานราชการ ผู้บริหารระดับสูงของหลายกรมที่เกี่ยวข้องซึ่งเปลี่ยนหน้ามาแล้วหลายคนในรอบ 14 ปีที่ผ่านมา ต่างออกมาแถลงด้วยข้อความเดิมและคำแนะนำเดิม ๆ

ถึงตอนนี้กลายเป็นตัวผมเองที่เป็นห่วงลูกชายและพี่น้องซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เพราะปัญหาที่กรุงเทพฯ แม้ว่าจะเบากว่าต่างจังหวัดมาก แต่ก็มีระดับความรุนแรงจริงวันที่เขียนบทความชิ้นนี้ มี 56 พื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่ได้รับคำเตือนว่า “หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง” อีกทั้งโดยทฤษฎีแล้ว ปัญหาที่กรุงเทพฯ น่าจะแก้ไขได้ยากกว่า เพราะมีสาเหตุของปัญหามากกว่า กลไกการแก้ปัญหามีความยุ่งยากซับซ้อนมากกว่า

ฝุ่นควัน

ผมเรียนจบแพทย์ที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2526 แล้วขึ้นรถทัวร์มาทำงานที่จังหวัดเชียงรายตั้งแต่นั้น หลายปีที่ทำงานที่นี่ เมื่อถึงฤดูแล้งคือประมาณต้นเดือนเมษายนจะมีเพียงตอนเย็นของบางวันที่บรรยากาศเป็นสีเหลือง บางครั้งมีกลิ่นควันไฟจาง ๆ และมีแผ่นขี้เถ้า มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าลอยลงมาบ้าง แผ่นขี้เถ้าที่ใหญ่ที่สุดนั้น ผมจำได้ว่ามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกินหนึ่งเซนติเมตร แต่โดยไม่รู้ตัวเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี เราไม่เห็นแผ่นขี้เถ้าลักษณะนี้อีก เพราะลักษณะของฝุ่นควันเปลี่ยนไปเป็นคอลลอยด์ (อนุภาคของสารขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าแขวนลอยอยู่ในตัวกลางโดยไม่ละลาย) ซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะ และหลังจากนั้นอีกสักพักหนึ่ง ราชการและโซเชียลมีเดียจึงเริ่มให้ความรู้เรื่องอนุภาคพีเอ็ม 10 ตามด้วยพีเอ็ม 2.5

ด้วยประสบการณ์ตรงเช่นนี้เอง ผมจึงมักพูดแทนคนท้องถิ่นเสมอว่าการเผาใบไม้หน้าบ้านเป็นวิถี การเผาวัสดุทางการเกษตรเพื่อเตรียมเพาะปลูกฤดูกาลใหม่เป็นอาชีพ และการเผาป่าเพื่อหาเห็ดหรือสัตว์ป่าเป็นเรื่องที่ทำกันมานานแสนนาน ดังนั้นปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้นวันนี้ควรจะมีสาเหตุสมทบจากเหตุอื่นด้วย มิใช่ว่าเราควรจะโยนความผิดทั้งหมดมาที่ชาวบ้านหรือกลุ่มชาติพันธุ์แต่ฝ่ายเดียว

สาเหตุสมทบที่เห็นได้ชัดด้วยตาเปล่าและเชื่อได้ว่ามีเอกสารอ้างอิงอยู่มากแล้วคือเรื่องการจราจร การก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม และการเผาวัสดุจากเกษตรกรรมพันธสัญญา กล่าวเฉพาะเรื่องหลัง เวลาผมขับรถไปจังหวัดอื่น ๆ ในเขตภาคเหนือตอนบนตามทางหลวงในชนบท ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ ลำปาง พะเยา แพร่ หรือน่าน ผมได้เห็นสิ่งที่เรียกว่าเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวที่ใช้พื้นที่กว้างขวางเต็มภูเขาเรียงรายต่อเนื่องกันไป

ในเชียงใหม่ ปัญหาการจราจร การก่อสร้าง และโรงงานอุตสาหกรรมอาจจะมีมาก แต่ขนาดของปัญหา(volume) น่าจะน้อยกว่ากรุงเทพฯ มาก ในทำนองเดียวกันสาเหตุเหล่านั้นก็เป็นปัญหาของจังหวัดเชียงรายด้วย แต่น่าจะน้อยกว่าเชียงใหม่มาก ในที่สุดแล้ว ภาคเหนือตอนบนและกรุงเทพมหานครก็มีค่า AQI ระดับสีม่วงได้เป็นระยะเวลานานเหมือน ๆ กันไปหมด ถ้าเช่นนั้นการเผาทางการเกษตรและการเผาป่าย่อมมิใช่สาเหตุเดียว แม้ว่าจะเป็นไปได้ว่าเป็นสาเหตุหลักของภาคเหนือตอนบน แต่ย่อมมิใช่สาเหตุหลักของกรุงเทพฯ แม้ว่าฝุ่นควันจะลอยมาได้จากที่ห่างไกลกรุงเทพฯ ดังที่รู้กันก็ตาม

กล่าวเฉพาะเรื่องการทำไร่เลื่อนลอยของชาติพันธุ์ที่สูงของภาคเหนือตอนบน ถึงวันนี้ลูกหลานของชาติพันธุ์เป็นคนรุ่นใหม่แล้ว มีการศึกษา เรียนจบสูง เปลี่ยนชื่อและนามสกุลเป็นสมัยใหม่ไม่ต่างจากที่ลูกคนจีนในกรุงเทพฯเคยทำมาก่อน พวกเขาได้ออกมาให้ความรู้แก่สังคมอย่างชัดเจนซํ้าหลายครั้งว่าที่บรรพบุรุษและคนรุ่นพ่อแม่ของ

พวกเขาทำมิใช่ไร่เลื่อนลอยที่แผ้วถางขยายพื้นที่ไปเรื่อย ๆ แต่เป็นไร่หมุนเวียนซึ่งจะเวียนกลับมาที่เดิมทุกระยะเวลาประมาณ 10 ปี เป็นกลไกการทำการเกษตรที่สูงพร้อมกับการฟื้นฟูธรรมชาติด้วยวิธีธรรมชาติ กระบวนการนี้มีการเผาพื้นที่ด้วยจริง แต่อยู่ภายใต้การควบคุมเพราะทั้งหมดคือที่ทำกิน วิถี อาชีพ และชีวิตของพวกเขา

สำหรับตัวผมนั้น เมื่อมั่นใจว่าจะไม่มีใครแก้ปัญหานี้ได้แน่ จึงเริ่มซื้อหนังสือเรื่องมลพิษทางอากาศมาอ่านเพื่อหาความรู้เรื่องฝุ่นควัน แล้วเขียนขึ้นเพจของตนเองทุกวัน ตั้งแต่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 โดยตั้งใจว่าจะเขียนจนกระทั่งปัญหาฝุ่นควันลดลงเมื่อฝนตก จนกว่าฝุ่นควันจะมาเยือนกรุงเทพฯ อีกในเดือนธันวาคม เมื่อนั้นทุกคนรวมทั้งทุกหน่วยราชการก็จะออกมาเขียนข่าวกันใหม่ แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ หลังจากเขียนไป 300 ตอน ฝุ่นควันก็มา ใคร ๆ ก็พูดถึงเรื่องนี้ เนื้อหาที่พูดยังเหมือนเดิม

ปี พ.ศ. 2564 ประชาชนในท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ได้รวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง เป็นปีแรกที่เราได้ยินกลไกใหม่ในการแก้ปัญหาไฟป่า นั่นคือนโยบายการจัดการเชื้อเพลิงแทนการห้ามเผาอย่างเด็ดขาด ซึ่งล้มเหลวมาโดยตลอด แม้ว่าเรื่องนี้เป็นข่าวดี แต่คนที่เคยทำงานจริงทุกคนทำนายได้ว่าผลลัพธ์ย่อมไม่อาจจะดีที่สุดในปีที่หนึ่งของการดำเนินงาน

ทำนายได้ต่อไปว่าจะมีใครบางคนออกมาตำหนินโยบายจัดการเชื้อเพลิงว่าล้มเหลว แล้วกลับไปที่การจัดการจากส่วนกลางเช่นเดิม ซึ่งหากส่วนท้องถิ่นไม่เข้มแข็งพอ ก็จะไม่มีเวลานานพอที่จะพิสูจน์สมมุติฐานของกลไกใหม่ ทุกอย่างจะกลับไปที่จุดเดิม คือทำเรื่องที่รู้อยู่ว่าไม่ได้ผล เขียนตัวชี้วัดเดิม แล้วทำรายงานสรุปก่อนปิดประชุม

ตัวชี้วัดเป็นเรื่องทำได้ตามความเป็นจริง ตัวอย่างง่ายที่สุดคือตัวชี้วัดสามมิติ ได้แก่ ความถี่ (frequency) ระยะเวลา (duration) และความรุนแรง (severity) หากจะแสดงตัวชี้วัดเรื่องการจัดการเชื้อเพลิงของส่วนท้องถิ่นเราควรดูว่าเมื่อทำแล้ว ความถี่ของค่าตัวเลข AQI ในระดับอันตรายลดลงหรือไม่ ระยะเวลาที่ระดับอันตรายสูงลอยสั้นลงหรือไม่ และค่าเฉลี่ยของตัวเลขในแต่ละสัปดาห์ที่แท้เป็นเท่าไร ตัวชี้วัดทั้งสามตัวน้อยกว่าปีที่ผ่านมาหรือไม่

เราใช้เวลา 14 ปีในการหมักหมมปัญหา ก้มหน้าทำงานที่ไม่ได้ผล และรายงานตัวเลขที่ไม่เป็นจริงต่อต้นสังกัดเราไม่ควรคาดหวังว่ากลไกใหม่ ยุทธศาสตร์ใหม่ หรือการลุกขึ้นช่วยเหลือตนเองของท้องถิ่นหนึ่งจะประสบความสำเร็จในเวลาเพียงปีเดียว งานนี้ต้องการนักวิชาการที่เป็นกลางและมีจริยธรรมที่เข้มแข็งเข้ามาช่วยเหลือมาก

รัฐบาลกลางยังคงมีหน้าที่ทำเรื่องใหญ่ เช่น ฝุ่นควันข้ามชาติ นโยบายเชื้อเพลิง ไปจนถึงนโยบายป้องกันสุขภาพเด็ก กำหนดนโยบายดูแลสุขภาพเด็กยากจนที่ต้องไปโรงเรียนทุกวันโดยไม่มีเครื่องป้องกันฝุ่นควันอะไรเลย

แต่วิธีทำงานและกลไกระดับท้องถิ่นควรเป็นเรื่องของส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

เรื่อง นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ภาพ เอกรัตน์ ปัญญะธารา


อ่านเพิ่มเติม ฝุ่นละออง PM 2.5 ภัยร้ายกลางเมืองที่กำลังคุกคามสุขภาพ

ฝุ่น

Recommend