จาก”พงไพร”ถึง ” ไพรสาร ” เว็บรวม ” เสียงธรรมชาติ ทั่วไทย” ให้คนเข้าถึงง่ายขึ้น
ไพรสาร – พุ่มไม้บนเรือนยอดของต้นไม้ใหญ่ตรงหน้าไหวเอนเป็นจังหวะต่อเนื่องมาพักใหญ่ เจ้าของเสียงร้องยังส่งเสียงดังก้องเหมือนไม่รับรู้ถึงตัวเราที่กำลังย่องเข้าไปใกล้ ใบไม้ไหวพร้อมกันสามสี่จุดบนยอดไม้นั้นแสดงอาการของสิ่งมีชีวิตตัวใหญ่หลายตัวกำลังเคลื่อนที่อย่างสบายใจ
เราค่อยๆ จรดปลายเท้าเพื่อพยายามขยับตัวเข้าไปใกล้อีกหน่อย ในมือเต็มไปด้วยอุปกรณ์ชิ้นใหญ่พะรุงพะรัง “อีกนิดเดียว ขอใกล้อีกนิดเดียว” เรากระซิบเบาในใจ
จู่ ๆ เสียงร้องที่ดังต่อเนื่องนานหลายนาทีตั้งแต่ตอนสายก็เงียบไปกระทันหัน เสียงพุ่มไม้ขยับหยุดลง ป่าเหมือนกลั้นหายใจ แล้วฉับพลันนั้นเสียงโครมครามก็ดังขึ้นมาทันใด กิ่งไม้ไหวโอนเอน ใบไม้ร่วงกราวใหญ่ บนยอดไม้สูงนั้นชะนีมงกุฎฝูงหนึ่งกระโจนออกจากยอดไม้ที่ส่งเสียงร้องมาได้ซักพัก ตัวเมียผู้เป็นจ่าฝูงโหนนำสมาชิกไต่เดียะไปตามยอดไม้ ทิ้งไว้เพียงป่าที่เงียบสงัด และเรา-ผู้หวังบันทึกเสียงประกาศอาณาเขตของชะนีฝูงนี้เก็บไว้ในการ์ดและความทรงจำ
นั่นคือหนึ่งในความล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง ของการพยายามบันทึกเสียงธรรมชาติของเรา
เสียงธรรมชาติกับชีวิตในเมืองใหญ่
วันนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการได้กลับไปหาธรรมชาติบ้าง เป็นสิ่งดีที่จำเป็นกับชีวิตมนุษย์เมืองอย่างเรา เมื่อเราได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ความเครียดเราหายไป ความดันเราลดลง ทุกครั้งที่เราสูดหายใจ เราหายใจรับเอาจุลินทรีย์ดี ๆ สูดกลิ่นสารหอมระเหยจากต้นไม้ และเก็บเอาประจุลบจากธรรมชาติไว้ในตัว พอกลับมาเรานอนหลับดีขึ้น สมาธิดีขึ้น ยิ้มแย้มแจ่มใสและเห็นโลกในแง่บวกเพิ่มขึ้นมากมาย ถ้าเลือกได้ เราคงอยากใช้ชีวิตอยู่กลางป่าใหญ่ในทุก ๆ วัน
แต่ในความเป็นจริง หน้าที่การงาน ภาระรับผิดชอบต่างๆ ตรึงเราไว้ท่ามกลางตึกรามบ้านช่องและผู้คนมากมาย เราอยู่กันอย่างแออัดเพราะความจำเป็น บางครั้งต้องขังตัวอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมด้วยสาเหตุหลากหลาย ไม่ว่าจะสถานการณ์โรคระบาด หรือ pm 2.5 ที่ผ่านมาและกำลังจะมาถึงในอีกไม่นาน การได้หนีไปจากภาวะกดดันนี้ ได้กลับไปหาธรรมชาติบ้างแม้เพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก็ค่ามากเหลือเกินสำหรับใครหลายคน
แต่เมื่อทางเลือกมีไม่มากนัก เราอาจจะต้องหาทางออกอื่น
เหตุนี้ เว็บไซต์ไพรสาร Praisan.org จึงเกิดขึ้น เพื่อรวมรวมเสียงธรรมชาติจาก 12 พื้นที่ทั่วประเทศไทย ภูมิทัศน์ทางเสียง (soundscape) จากที่เหล่านั้นถูกบันทึกไว้ นำมาจัดเรียงตบแต่ง แล้ววางไว้ในพื้นที่ของเว็บไซต์เล็ก ๆ นี้ รอคอยให้คนแวะเวียนผ่านมารับฟังในวันที่ต้องการธรรมชาติเยียวยา บนฐานที่อยากจะให้ทุกคนได้ผ่อนคลาย ได้รู้จักและรักในระบบนิเวศอันเฉพาะตัวและหลายหลายผ่านเสียง
ในขณะเดียวกัน ก็อยากเป็นกระบอกเสียงให้กับชีวิตในระบบนิเวศเหล่านั้น เป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างโลกเมืองและโลกธรรมชาติ เป็นเส้นทางพาพวกเรากลับไปหาธรรมชาติในวันที่ยากลำบากและต้องการธรรมชาติเป็นที่สุด
มนุษย์เราส่งเสียงดังแค่ไหนกัน
สำหรับคนที่ทำงานบันทึกเสียงแล้ว เมื่อถึงเวลาที่ต้องออกไปตามพื้นที่ต่าง ๆ เราก็ได้พบว่าเสียงธรรมชาติบริสุทธินี้เป็นของหายาก และมนุษย์อย่างเราก็ส่งเสียงดังมากจริง ๆ
อย่างครั้งนึง เราเดินเข้าไปในเส้นทางศึกษาธรรมชาติของเขาใหญ่ลึกหลายกิโลเมตร ตั้งใจจะไปบันทึกเสียงของนกเจี๊ยวจ้าวในงานเลี้ยงใหญ่บนต้นไทรใหญ่ แต่พอไปถึงกลับกลายว่าระยะทางหลายกิโลที่เดินเข้ามานั้นไม่ไกลพอจะกลบเสียงของถนนและรถรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงจากรถบิ๊กไบค์ที่ดังกระหึ่มเข้ามาถึงไมค์ของเรา กลายเป็นว่าวันนั้นต้องกลับบ้านพร้อมการ์ดบันทึกเสียงที่ว่างเปล่า
อีกครั้งหนึ่ง เราตั้งเครื่องบันทึกที่เชิงเขาเขียว กลางดงต้นยางสูงใหญ่ รอบตัวมีเสียงชะนีมือขาวกำลังร้องแข่งกับนกแก๊กอย่างน่าฟัง แต่พอกลับมาถึงกระบวนการตัดต่อ ก็พบว่าท่ามกลางเสียงชะนีและนกมากมายที่เราบันทึกมานั้น มันมีเสียงดนตรีเป็นเบสหนัก ดังตึ๊บๆๆๆ เป็นจังหวะสามช่าดังเป็นเสียงเบื้องหลังติดมาด้วยตลอดเวลา
กลางป่า เสียงดนตรีมาจากไหนกัน?
เมื่อนั่งพิจารณาก็ได้ข้อสันนิษฐานว่าคงมาจากหน่วยงานบนยอดเขา ซึ่งเราเคยเห็นเจ้าหน้าที่เปิดเพลงเสียงดังคึกคักอยู่ ถึงแม้ว่าจะอยู่ห่างออกไปหลายกิโล แต่เสียงเบสที่เป็นย่านความถี่ต่ำก็สามารถลัดเลาะผ่านพุ่มไม้ได้เป็นระยะทางไกล ไกลจนลงมาถึงตีนเขา และมาถึงเครื่องอัดเสียงของเราผู้โชคร้ายมาผิดวัน
แต่ที่โชคร้ายกว่าอาจจะเป็นสรรพสัตว์ผู้ที่มีศักยภาพการได้ยินดีกว่าเราหลายเท่า เพราะเสียงความถี่ต่ำอย่างเสียงเบสนั้น คงเป็นเสียงเสียดแทงแก้วหู กับหูของนก หูของกวาง หูของลิงค่าง และสัตว์อื่นในป่าแห่งนี้
หลังจากเทียวไปเทียวมาขึ้นเขาใหญ่เสียหลายรอบ สุดท้ายเราก็ได้เสียงของป่าผืนนี้อย่างที่ฝัน ในเช้าวันธรรมดาที่เงียบสงบ เราตั้งไมค์ไม่ไกลจากต้นกระบากใหญ่ บนสันเขามีต้นไทรสุกอยู่ดึงดูดนกปรอด นกโพระดก และนกเงือกให้เข้ามากิน รอบตัวในร่องน้ำแห้งนกกางเขนดง นกจับแมลง นกกินแมลงส่งเสียงร้องพร้อมเคลื่อนที่หากินคึกคัก
ครอบครัวชะนีมือขาวที่อาจารย์วรเรณทำวิจัยต่อเนื่องมาหลายปีจนคุ้นเคยกับคนไต่เข้ามาดูเรา แล้วก็ย้ายไปร้องประกาศอาณาเขตบนสันเขาไม่ไกลนัก นกเงือกกรามช้างสามตัวบินตามกันผ่านเหนือหัวเราไป จนได้ยินเสียงปีกกรีดอากาศดังชัดเจน
เช้านั้นเสียงในฝันจากเขาใหญ่ เลยมาอยู่ในไพรสารอย่างที่ตั้งใจ
สถานที่และเวลาทำให้เกิดเสียงมหัศจรรย์
ทว่า การบันทึกเสียงธรรมชาติ ก็ไม่ได้เต็มไปด้วยช่วงเวลาแห่งอุปสรรคเสมอไป บางครั้งธรรมชาติก็ดูเหมือนจะมองเห็นถึงความพยายามของคนบันทึกเสียง และมอบโอกาสสุดพิเศษให้จนกลายเป็นห้วงนาทีที่น่าจดจำ
สำหรับคนบันทึกเสียงในไพรสารแล้ว เสียงที่ให้ความรู้สึกสงบสบายมากที่สุดและยังถ่ายทอดข้อความจากระบบนิเวศได้ดีที่สุดเสียงหนึ่งคือ เสียงฝนกระทบใบไม้จากป่าเมฆของดอยอินทนนท์ ซึ่งเราบังเอิญบันทึกมาได้อย่างเหนือความคาดหวัง
วันนั้นเป็นวันต้นฤดูหนาวที่นักท่องเที่ยวยังไม่มากนัก อากาศแจ่มใส มีหมอกเพิ่มความชื้นให้กับต้นไม้และผืนป่าเกือบทุกวัน เราใช้เวลาหลายวันวนเวียนอยู่ในป่าเมฆที่ความสูงเกินกว่าสองพันของดอยอินทนนท์แห่งนี้ตระเวนเดินดู ออกขับรถวนหาจุดที่คิดว่าน่าจะเหมาะที่สุดที่จะเป็นตัวแทนของธรรมชาติอันชุ่มฉ่ำและเย็นยะเยือกแห่งนี้ หลังจากตระเวนบันทึกเสียงมาหลายวันจนในการ์ดของเราอัดแน่นไปด้วยเสียงหลายเสียงที่น่าพึงพอใจ จนถึงวันใกล้กลับ ใจเราก็คิดว่าคงจบงานได้แบบไม่มีอะไรค้างคาให้กลับมาอีกแล้ว
แต่เย็นสุดท้ายนั้นเอง ขณะกำลังจะลงจากยอดดอยไปหาอาหารร้อนและไออุ่นบนที่นอน ฝนหลงฤดูก็โปรยปรายลงมา
ฝนตก! กับคนทั่วไปคงรีบหลบเข้าร่มกันจ้าละหวั่น แต่กับคนที่บันทึกเสียงธรรมชาติแล้วนี่คือโอกาสดีที่จะได้เสียงที่แสดงถึงต้นกำเนิดของสายน้ำจากป่าเมฆ เราวิ่งตามหาลำธารเล็กๆ เพื่อขยายความหมายของเสียงออกไป จนได้ลำธารสายน้อยใกล้ทางออกของเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน จัดแจงตั้งอุปกรณ์ เหล่านกเริ่มส่งเสียงร้องใสเพื่อเตรียมตัวจะเข้านอน ฝนโปรยปรายลอดผ่านเรือนยอดต้นทะโล้สูง ไกลออกไปฟ้ายังคำรามทุ้มต่ำทอดจังหวะห่าง
เมื่อรวมทั้งหมดเข้าด้วยกัน ห้วงเวลานั้นก็เหมือนภาพฝันถึงเสียงที่ดีเกินกว่าคาดกำลังเกิดขึ้นต่อหน้า เรารีบลนลานบันทึกไว้ก่อนทุกสิ่งจะหายไป และเสียงนั้นก็ได้เป็นเสียงตัวแทนของป่าเมฆในไพรสารนี้เอง
เป็นเสียงที่ไพเราะที่สุดและสุขสงบที่สุดเสียงหนึ่งที่เคยได้ยิน
ทำงานกับความโดดเดี่ยว
มีคนบอกว่า งานบันทึกเสียงธรรมชาติคืองานของความโดดเดี่ยว เสียงย่ำเท้าเพียงแกร๊กเดียวจากความพลั้งเผลอก็ทำให้เสียงจากชีวิตทั้งหลายนั้นหยุดลงเพื่อเงี่ยหูฟังพวกเรา ดังนั้นการทำงานเพียงลำพังคนเดียว ความอดทนที่มากพอ ความใจเย็น ความเข้าในใจกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ คือเครื่องมือที่จะพาผู้บันทึกไปหาเสียงที่เหมาะสม
เมื่อเวลาที่มนุษย์อย่างเรานั้นเงียบเสียงลงจนเวทีว่างเปล่า เหล่านักบรรเลงเพลงจากธรรมชาติที่รออยู่จึงจะก้าวเท้าขึ้นมาใต้แสงไฟสาดส่อง และเริ่มบรรเลงเพลงแห่งชีวิต แห่งความงดงาม ในเวลานั้นจะเหลือเพียงผู้บันทึกกับธรรมชาติ โดยที่มีไมค์และสายไฟระโยงระยางเป็นสื่อกลาง
แต่น่าแปลก ในเวลานั้นเรากลับไม่เคยรู้สึกโดดเดี่ยวเลย
เรื่อง วรพจน์ บุญความดี