โลกร้อนที่สุด เท่าที่เคยวัด – ฤดูร้อน 2023 อุณหภูมิสูงสุดรอบ 2,000 ปี! 

โลกร้อนที่สุด เท่าที่เคยวัด – ฤดูร้อน 2023 อุณหภูมิสูงสุดรอบ 2,000 ปี! 

โลกร้อนที่สุด เท่าที่เคยตรวจวัดมา – ฤดูร้อนปี 2023 มีอุณหภูมิสูงสุดรอบ 2,000 ปี 

ปีที่แล้ว โลกได้เผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงทำลายสถิติ ปกคลุมไปทั่วซีกโลกเหนือในฤดูร้อนที่ผ่านมา ทำให้เกิดเดือน วัน และสัปดาห์ที่ โลกร้อนที่สุด เท่าที่เคยมีมาในรอบศตวรรษที่ได้ ‘ตรวจวัดโดยตรง’ 

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นเหล่านี้ไม่ได้แค่ ‘ร้อนผิดปกติ’ ในรอบร้อยปี แต่มันย้อนไปไกลกว่านั้น

การค้นพบนี้เผยแพร่ในวารสาร Nature เมื่อวานนี้ (14 พ.ค.) โดยอาศัยข้อมูลจากแบบจำลองอุณหภูมิโบราณที่บันทึกในวงแหวนต้นไม้ วิธีดังกล่าวเริ่มขึ้นในช่วงปี 1850 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนเริ่มตรวจวัดและบันทึกอุณหภูมิอย่างเป็นระบบ พร้อมกับรายงานที่สืบย้อนกลับไปได้ถึงค.ศ.ที่ 1

บันทึกดังกล่าวเผยให้เห็นว่า ก่อนที่จะถึงปี 2023 โลกมีฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดในปี 2016 ซึ่งร้อนกว่าอุณหภูมิฤดูร้อนเฉลี่ยระหว่างปีที่คริตศักราชที่ 1 ถึงค.ศ. 1890 อยู่ถึง 2.20 องศาเซลเซียส ขณะที่ฤดูร้อนของปี 2023 ร้อนกว่าฤดูร้อนระหว่างปี 1850 ถึง 1900 ถึง 2.07 องศาเซลเซีย และร้อนกว่าปี 2016 ถึง 0.5 องศาเซลเซียส

“ต้นไม้บอกเราว่าปี 2023 นั้นมีอากาศที่ ‘อบอุ่น’ เป็นพิเศษ” ศาสตราจารย์ แจน เอสเปอร์ (Jan Esper) นักอุตุนิยมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโยฮันเนส กูเทนแบร์ก ในเมืองไมนซ์ ประเทศเยอรมนี และผู้เขียนรายงานฉบับนี้ กล่าว “และผมไม่แปลกใจเลย นี่เป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” 

ความร้อนดังกล่าวเป็นผลมาจากก๊าซเรือนกระจกส่วนเกินในชั้นบรรยากาศ ซึ่งมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์ รายงานระบุว่าสาเหตุดังกล่าวเป็นปัจจัยหลัก ขณะเดียวกันก็เสริมด้วยปัจจัยอื่น ๆ เช่นภาวะเอลนีโญ การปะทุของภูเขาไฟใต้ทะเล และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่มาจากเรือคอนเทนเนอร์ ก็มีส่วนทำให้เกิดฤดูร้อนที่อบอุ่นที่สุดเมื่อปีที่แล้ว

ในตอนแรก เอสเปอร์และทีมงานตั้งใจที่จะค้นหาข้อมูลด้านสภาพอากาศในระยะยาวเป็นระยะเวลาช่วงแสนปี เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้ความเห็นว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้น่าจะมีแนวโน้มว่าร้อนที่สุดในรอบ 120,000 ปี แต่น่าเสียดายที่บันทึกข้อมูลอย่างละเอียดจากแกนน้ำแข็งและตะกอนสามารถย้อนกลับไปได้ประมาณ 300 ปีเท่านั้น 

และที่สำคัญ มันไม่ได้เผยให้เห็นข้อมูลในช่วงระยะเวลาวัน สัปดาห์ หรือเดือนได้ ดังนั้นพวกเขาจึงหันไปหาวงแหวนต้นไม้ ที่แม้จะไม่ได้ละเอียดเหมือนกับการวัดโดยตรงในปัจจุบัน แต่ก็สามารถให้ข้อมูลย้อนกลับไปในระดับพันปีได้ เมื่อต้นไม้เติบโตในสภาพอากาศต่าง ๆ พวกมันจะผลิตวงแหวนที่มองเห็นได้แตกต่างกันไป ซึ่งสัมพันธ์กับอุณหภูมิตามฤดูกาลที่พวกมันประสบ

“นั่นทำให้เรามองเห็นภาพรวมของความแปรปรวนของสภาพอากาศตามธรรมชาติ” ศาสตราจารย์ เอสเปอร์ กล่าว 

ทว่าบันทึกดังกล่าวนี้ก็ยังมีข้อจำกัดซึ่งก็คือ วงแหวนต้นไม้ที่เติบโตในซีกโลกเหนือจะแสดงออกมาไม่เหมือนกับต้นไม้ที่โตในซีกโลกใต้ ดังนั้นพวกเขาจึงจำกัดขอบเขตการวิเคราะห์ไว้ในเฉพาะพื้นที่ซีกโลกเหนือที่อยู่ระหว่างละติจูด 30 ถึง 90 องศาเหนือ 

จากบันทึกเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าฤดูร้อนของซีกโลกเหนือปี 2023 เป็นช่วงที่ร้อนที่สุดในรอบ 2,000 ปี และนั่นทำให้เรามีมหาสมุทรร้อนจัดอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกันตามข้อมูลของสำนักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโคเปอร์นิคัสแห่งสหภาพยุโรป 

“มันชัดเจนว่าสิ่งที่เราควรทำ ควรทำมันให้เร็วมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” ศาสตราจารย์ เอสเปอร์ กล่าว “ผมหวังว่าอย่างแท้จริงว่าเราจะจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเรา” 

การค้นพบเหล่านี้สอดคล้องกับงานวิจัยอื่น ๆ อีกหลายชิ้นเช่นเดียวกับรายงานล่าสุดขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ที่ยืนยันว่าปี 2023 ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ และคาดว่าน่าจะร้อนที่สุดในรอบ 100,000 ปี ทั้งหมดชี้ไปในทางเดียวกันว่าต้องลดก๊าซเรือนกระจกในทันทีทันใด

ศาสตราจารย์ เอสเปอร์ ยังคงต้องการรวบรวมข้อมูลวงแหวนต้นไม้เพิ่มเติม เพื่อสร้างแบบแผนอุณหภูมิให้ชัดเจน ครอบคลุม และมีหลักฐานที่หนักแน่นต่อสภาพอากาศโลก โดยเขาจะทำการศึกษาวงแหวนต้นไม้ในสหรัฐอเมริกาเสริมภายในปีนี้ 

“แม้ตัวเลขล่าสุดจะดูไม่มีแนวโน้ม (ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ) แต่ผมเห็นการเปลี่ยนแปลง” ศาสตราจารย์ เอสเปอร์ บอก

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nature.com/articles/s41586-024-07512-y

https://www.scientificamerican.com/article/the-summer-of-2023-was-the-hottest-in-2-000-years/

https://www.nytimes.com/2024/05/14/climate/summer-2023-hottest-2000-years.html

https://e360.yale.edu/digest/summer-2023-hottest

https://www.space.com/earth-hottest-summer-2023-last-2000-years


อ่านเพิ่มเติม เผย ทวีปเอเชียถูก ” ภัยภูมิอากาศ ” ร้อน-แล้ง-ท่วม เล่นงานมากที่สุด

ภัยภูมิอากาศ

Recommend