ปารีสทุ่มงบมหาศาลบำบัดแม่น้ำแซน ไม่เพียงเพื่อโอลิมปิก 2024 แต่คืนชีวิตและลมหายใจแก่แม่น้ำอันเป็นที่รัก

ปารีสทุ่มงบมหาศาลบำบัดแม่น้ำแซน ไม่เพียงเพื่อโอลิมปิก 2024 แต่คืนชีวิตและลมหายใจแก่แม่น้ำอันเป็นที่รัก

รัฐบาลฝรั่งเศสทุ่มงบหลักพันล้านดอลลาร์ ฟื้นฟูแม่น้ำแซน ให้สะอาดพอที่จะสามารถลงไปว่ายน้ำได้อีกครั้ง

แม่น้ำแซน เป็นแหล่งรวมขยะและสิ่งปฏิกูลของปารีสมานานร่วมศตวรรษ รัฐบาลฝรั่งเศสจึงทุ่มงบประมาณมากถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ไปกับแผนการทำความสะอาดและปรับปรุงคุณภาพน้ำ เพื่อให้แม่น้ำแซนมีบทบาทสำคัญในทั้งมหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูร้อนปี 2024 ที่กำลังจะมาถึง 

แม่น้ำสายสำคัญประจำกรุงปารีสสายนี้จะถูกใช้เป็นสถานที่ในการจัดพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิก และหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน แม่น้ำแซนจะถูกใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาว่ายน้ำ 3 ประเภทด้วยกัน

แม่น้ำแซน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่ชาวปารีสมักจะไปนอนอาบแดด เล่นน้ำ รวมไปถึงจัดโชว์เดินแบบชุดว่ายน้ำในสระที่ลอยอยู่บนแม่น้ำสายนี้อย่าง เดอลิญนี (Deligny pool) ถูกรัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้มีการใช้สอยหรือลงว่ายน้ำมานานกว่าร้อยปี เนื่องจากปริมาณการสัญจรและมลพิษที่เพิ่มมากขึ้น ทว่าในปัจจุบัน สิ่งเหล่านั้นกำลังจะเปลี่ยนไป

อาสนวิหารนอตเทรอดามบนเกาะอีลเดอลาซิเต (Île de la Cité) ตั้งตระหง่านอยู่เหนือกรุงปารีส น้ำจากแม่น้ำแซนถูกนำไปใช้ดับไฟที่ไหม้วิหารแห่งนี้เมื่อปี 2019 และยังถูกใช้เป็นเส้นทางในการขนส่งวัสดุก่อสร้างที่ใช้ในการบูรณะ รวมไปถึงการสร้างยอดแหลมของอาสนวิหารแห่งนี้ขึ้นใหม่

แอนน์ อีดัลโก (Anne Hidalgo) นายกเทศมนตรีของกรุงปารีสตั้งใจจะว่ายน้ำในแม่น้ำแซนก่อนจัดพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าแม่น้ำสายนี้ปลอดภัย ทว่ากำหนดการว่ายในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนของเธอกลับถูกเลื่อนออกไป โดยอีดัลโกได้ให้เหตุผลไว้ในงานแถลงข่าวว่า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติของฝรั่งเศสที่กำลังจะเกิดขึ้น นอกจากนั้น ผลการตรวจสอบแม่น้ำแซนครั้งล่าสุดยังชี้ว่า แม่น้ำสายนี้ยังคงมีแบคทีเรียอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัย แผนการลงว่ายน้ำของนายกเทศมนตรีหญิงจึงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการจัดงานรวมไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานโอลิมปิกปี 2024 ยังคงเชื่อว่า การทำความสะอาดและปรับปรุงคุณภาพน้ำของแม่น้ำแซนจะสำเร็จลุล่วงก่อนที่การแข่งขันกีฬาครั้งใหญ่จะเริ่มขึ้น

“เป้าหมายของพวกเราคือสิ่งที่จะยังคงอยู่หลังโอลิมปิก”  ปิแอร์ ราบาดอง (Pierre Rabadan) รองนายกเทศมนตรีกรุงปารีส ผู้รับผิดชอบด้านกีฬา การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก รวมไปถึงความสะอาดของแม่น้ำแซนกล่าว และเสริมว่า “ที่ทำให้ทั้งคุณและผม หรือใครก็ตามที่อยู่ในปารีสสามารถว่ายน้ำในแม่น้ำแซนได้ครับ”

แม่น้ำแซนนั้นเป็นแหล่งทิ้งน้ำเสียจากการซักล้าง สิ่งปฏิกูลจากมนุษย์ และเศษชิ้นส่วนสัตว์จำนวนมากจากคนขายเนื้อสัตว์ในยุคกลางมายาวนานหลายศตวรรษ

ในศตวรรษที่ 19 น้ำเสียจากโรงงานและมนุษย์มักจะถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำแซนโดยตรง นวัตกรรมระบบท่อระบายน้ำทิ้งของปารีสซึ่งถูกพัฒนาขึ้นในระหว่างแผนการปรับผังเมืองครั้งใหญ่ของบารอน ออสสมาน (Baron Haussmann) ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ถือเป็นความสำเร็จด้านวิศวกรรมครั้งสำคัญของชาวปารีส แต่นวัตกรรมนี้กลับเป็นสิ่งที่ทำให้สุขภาพของแม่น้ำแซนเสื่อมโทรมลงจากมลพิษที่ถูกปล่อยออกมาตามท่อระบาย

ในปัจจุบัน มีการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางวิศวกรรมเข้ามาใช้เพื่อฟื้นฟูแม่น้ำสายสำคัญของกรุงปารีส ภายในฤดูร้อนของปี 2025 ปารีสตั้งใจที่จะเปิดสถานที่ว่ายน้ำสาธารณะ 3 แห่งริมแม่น้ำแซน โดยจะเปลี่ยนแม่น้ำซึ่งเดิมเป็นแหล่งระบายของเสียให้กลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมือง

การฟื้นฟูแม่น้ำตลอดหลายสิบปี

ความเปลี่ยนแปลงเริ่มเกิดขึ้นกับคุณภาพน้ำของแม่น้ำแซนในปี ค.ศ. 1991 เมื่อสหภาพยุโรปออกกฎหมายควบคุมและจัดการแหล่งกำเนิดหลักของมลพิษทางน้ำ ซึ่งก็คือน้ำเสียที่ถูกปล่อยออกจากเขตเมือง หน่วยงานสุขาภิบาลของมหานครปารีสได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการปรับปรุงเครือข่ายสุขาภิบาลให้ทันสมัยและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างโรงงานบำบัดน้ำเสียแซนอาวาล (Seine Aval treatment plant) ซึ่งรับผิดชอบปริมาณน้ำเสีย 3 ใน 4 ส่วนที่มาจากพื้นที่เมือง ต่อมาในปี 2015 ปารีสได้ริเริ่มแผน “Plan Baignade” หรือแผนการว่ายน้ำในแม่น้ำขึ้นพร้อมกับมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการทำความสะอาดแม่น้ำแซนรวมไปถึงแม่น้ำมาร์นซึ่งเป็นแม่น้ำสายย่อย และปรับปรุงคุณภาพน้ำของแม่น้ำแซนให้ปลอดภัยพอที่จะสามารถลงว่ายน้ำได้ก่อนโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2024 จะเริ่มต้นขึ้น แผนการดังกล่าวถือเป็นเป้าหมายสำคัญของฝรั่งเศสในฐานะประเทศที่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน

แผนการว่ายน้ำในแม่น้ำแซนเริ่มจากการขอความร่วมมือให้ประชาชนมากกว่า 23,000 หลังคาเรือน ทั้งที่อาศัยในที่พักอาศัยทั่วไปและเรือบ้านติดตั้งระบบท่อระบายน้ำแบบใหม่ของทางเทศบาล เนื่องจากก่อนหน้านี้บ้านเรือนเหล่านั้นปล่อยน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดลงสู่แม่น้ำโดยตรง

“โอลิมปิกทำหน้าที่เป็นตัวเร่งครับ หากเราไม่ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน แผนการเช่นนี้อาจจะต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี” ราบาดองกล่าว

ผลลัพธ์จากการทำความสะอาดแม่น้ำแซนและแม่น้ำมาร์น ปรากฏให้เห็นได้ตามบริเวณบางส่วนของพื้นที่ปลายน้ำที่มีการอยู่อาศัยหนาแน่นที่สุดในฝรั่งเศส

น้ำในแม่น้ำแซนขณะไหลผ่านบ่อเติมอากาศ ณ โรงงานบำบัดน้ำเสียแซนอาวาล บ่อเติมอากาศเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้แม่น้ำสายนี้มีคุณภาพน้ำที่ดีพอที่จะลงไปว่ายน้ำได้

“มีคนจำนวนไม่น้อยในปารีสที่ไม่ทราบว่า ในขณะนี้คุณภาพน้ำในแม่น้ำแซนดีขึ้นแล้ว ฉันไม่ได้จะบอกว่ามันสะอาด แต่มันก็ดีขึ้นจนปลอดภัยสำหรับสิ่งมีชีวิตในน้ำแล้วค่ะ” ซานดรีน อาร์มีราย (Sandrine Armirail) ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้ทางธรรมชาติ Maison de la Pêche et de la Nature กล่าว “เราพิจารณาคุณภาพของแม่น้ำจากสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในนั้นค่ะ ยิ่งมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่หลายสายพันธุ์ สิ่งแวดล้อมก็ยิ่งดีเท่านั้น”

ตอนที่อาร์มีรายเป็นเด็ก เธอเติบโตขึ้นในเมืองที่อยู่นอกปารีส เธอพบว่ามีปลาเพียง 4 สายพันธุ์เท่านั้นที่ทนต่อมลภาวะและมีชีวิตอยู่รอดได้ แท้จริงแล้ว ในช่วงทศวรรษ 1970 พื้นที่ปลายน้ำของแม่น้ำแซนในปารีสนั้นแทบจะไม่มีสิ่งมีชีวิตชนิดใดอาศัยอยู่ได้เลย แต่ปัจจุบัน พื้นที่บริเวณดังกล่าวกลับมีปลาอาศัยอยู่มากถึง 36 สายพันธุ์

“นี่หมายความว่า คุณภาพของน้ำดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดค่ะ” อาร์มีรายกล่าว

พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในศูนย์การเรียนรู้ทางธรรมชาติ Maison de la Pêche et de la Nature จัดแสดงสัตว์นานาชนิดที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำแซนในปัจจุบันเอาไว้ ซึ่งหนึ่งในสัตว์เหล่านั้นมีปลาสายพันธุ์โดดเด่นอย่างปลาไพค์ ปลานักล่าที่มีฟัน 700 ซี่ ซึ่งอาร์มีรายขนานนามให้พวกมันว่า “ฉลามแห่งแม่น้ำแซน” ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้กำลังฟื้นฟูพื้นที่ทุ่งหญ้าริมแม่น้ำซึ่งมักจะถูกน้ำท่วมให้กลายเป็นแหล่งปลาวางไข่ นอกจากนั้น ใต้ท่าเรือในบริเวณศูนย์ฯ ยังมีนกกระเต็นน้อยธรรมดาคู่หนึ่งมาอาศัยทำรัง นกคู่นั้นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของนกนานาชนิดที่ถูกความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำแซนดึงดูดให้มาอยู่อาศัย

นวัตกรรมทางวิศวกรรมอันยอดเยี่ยม

อุโมงค์เก็บน้ำใต้ดินขนาดยักษ์ที่สามารถรองรับปริมาณน้ำได้เท่ากับสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิกจำนวน 20 สระ ถูกสร้างขึ้นในบริเวณใกล้กับสถานีรถไฟเอาสเทอร์ลิทซ์ในกรุงปารีส (Austerlitz train station)

ตลอดระยะเวลา 3 ปีครึ่งในการสร้าง ผู้ใช้บริการรถไฟได้ร่วมตรวจสอบความคืบหน้าของโครงการผ่านขบวนรถไฟที่แล่นผ่านไซต์งานก่อสร้างของอุโมงค์ขนาดมหึมาแห่งนี้อยู่เรื่อย ๆ อุโมงค์คอนกรีตถูกค้ำยันด้วยเสาที่ถูกฝังลึกลงไปใต้พื้นดินราว 80 เมตร และในอีกไม่นานพื้นที่เหนือบริเวณอุโมงค์จะถูกปรับภูมิทัศน์ใหม่ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว บัสแซ็ง เดอ เอาสเทอร์ลิทซ์ (Bassin d’Austerlitz) หรืออุโมงค์กักเก็บน้ำใต้ดินแห่งนี้ถือเป็นรากฐานสำคัญของแผนการปรับปรุงให้คุณภาพน้ำของแม่น้ำแซนปลอดภัยพอที่จะสามารถว่ายน้ำได้

นักกีฬาหลายพันคนได้เข้าร่วมในการแข่งขันไตรกีฬาการ์มินปารีสประจำปี 2023 ซึ่งมีการแข่งว่ายน้ำในบัสแซ็ง เดอ ลา วิลเล็ต (Bassin de la Villette) ทะเลสาบเทียมซึ่งตั้งอยู่ในเขตปกครองที่ 19 ของปารีสที่เชื่อมคลอง 2 สายเอาไว้ด้วยกัน

ระบบสุขาภิบาลของปารีสโดยส่วนใหญ่ได้ ยูจีน เบลกร็องด์ (Eugène Belgrand) วิศวกรชื่อดังแห่งยุคเป็นผู้ออกแบบและพัฒนาขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ในอดีตทั้งน้ำฝนและน้ำเสียจะไหลรวมลงท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ที่ยาวคดเคี้ยวอยู่ใต้ดิน จากนั้นจะถูกพัดพาไปตามท่อด้วยแรงโน้มถ่วงและไหลไปยังโรงบำบัดน้ำเสียที่ตั้งอยู่นอกปารีส

แต่ในช่วงที่ฝนตกหนัก วาล์วของท่อระบายน้ำทิ้งจะถูกเปิดให้น้ำไหลออกสู่แม่น้ำแซนโดยตรง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำในท่อเอ่อล้นขึ้นมาจนท่วมขังบนถนน การสร้างอุโมงค์เก็บน้ำใต้ดินเพิ่มจะช่วยไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น ด้วยเหตุนี้บัสแซ็ง เดอ เอาสเทอร์ลิทซ์ ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยทีมวิศวกร 40 คน จึงถือเป็นนวัตกรรมทางวิศวกรรมอันยอดเยี่ยมของปารีส

ปารีสเป็นเมืองที่จัดการโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นเหมืองหินเก่า อุโมงค์รถไฟใต้ดิน ท่อระบายน้ำ ท่อก๊าซ หรือสายไฟฟ้าที่มีเครือข่ายซับซ้อน ต่างก็เรียงสลับทับซ้อนกันอยู่ใต้พื้นที่ของเมืองอย่างเป็นระเบียบ ในสภาพแวดล้อมของเมืองที่แน่นขนัดไปด้วยระบบโครงสร้างต่าง ๆ มีการขุดสร้างอุโมงค์เก็บน้ำบัสแซ็งขึ้น และวางท่อผ่านใต้แม่น้ำแซนเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝน ท้ายที่สุดแล้ว น้ำที่อุโมงค์บัสแซ็งกักเก็บเอาไว้จะค่อย ๆ ถูกปล่อยลงสู่ท่อน้ำทิ้ง และไหลเข้าสู่โรงบำบัดน้ำเสีย ก่อนจะถูกปล่อยให้ไหลกลับลงสู่แม่น้ำแซน

แม่น้ำของประชาชน

แม้จะมีความคืบหน้า แต่ก็ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่รัฐบาลฝรั่งเศสต้องดำเนินการเพื่อทำให้แม่น้ำสายสำคัญของปารีสสะอาดขึ้น เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2023 ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลฝรั่งเศสและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานโอลิมปิก 2024 จำเป็นต้องยกเลิกการทดสอบการลงว่ายน้ำในแม่น้ำแซนบางรายการไป หลังฝนที่โหมกระหน่ำทำให้ระดับมลพิษในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ พายุฝนฟ้าคะนองอย่างรุนแรงยังอาจส่งผลกระทบต่อการจัดการแข่งขันโอลิมปิก

แต่เมื่อฤดูร้อนที่แล้ว ผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่า คุณภาพน้ำของแม่น้ำแซนอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถลงว่ายน้ำได้อย่างปลอดภัยโดยเฉลี่ย 7 ใน 10 วัน นอกจากนั้น ทางรัฐบาลยังเริ่มเปิดใช้ถังเก็บน้ำขนาดใหญ่และอุโมงค์เก็บน้ำใต้ดินรวม 3 แห่ง เพื่อจัดการกับปริมาณน้ำฝนส่วนเกิน

แม่น้ำแซนอันคดเคี้ยวนั้นไหลผ่านประเทศฝรั่งเศสก่อนจะไหลลงสู่ช่องแคบอังกฤษ บริเวณปากแม่น้ำสายนี้มีการสร้างเขื่อนกั้นเพื่อให้สะดวกต่อการเดินเรือ นอกจากนี้ปากแม่น้ำแซนยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาพันธุ์ นับตั้งแต่แมวน้ำเทาไปจนถึงนกอพยพ

อย่างไรก็ดี เป้าหมายสุดท้ายของการทำความสะอาดและปรับปรุงคุณภาพแม่น้ำแซนคือการคืนแม่น้ำสายนี้ให้แก่ประชาชนชาวปารีส เช่นเดียวกับทางเท้าริมท่าเรือแม่น้ำแซน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกใช้เป็นทางด่วนสำหรับการจราจร

อีกไม่นานเกินรอ แม่น้ำแซนจะกลายเป็นแม่น้ำที่มีบทบาทสำคัญในฐานะสถานที่จัดพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกประจำปี 2024 และสถานที่ว่ายน้ำสาธารณะแห่งใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำได้คลายร้อนในช่วงที่คลื่นความร้อนจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศแผ่ปกคลุมประเทศฝรั่งเศส วัยรุ่นจะออกไปเดินเล่นริมน้ำ นักกีฬาจะลงไปแข่งขันกันในลู่ว่ายน้ำในแม่น้ำ เด็ก ๆ จะกระโดดลงน้ำอย่างอิสระ ในอนาคตฝูงชนที่เพลิดเพลินไปกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ บริเวณแม่น้ำแซนจะเป็นผู้สานต่อการว่ายน้ำในแม่น้ำสายนี้ต่อจากเหล่านักว่ายน้ำที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกในปารีสเมื่อ ค.ศ. 1900 ชาวปารีสที่เปลื้องผ้าลงแม่น้ำในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 และชาวฝรั่งเศสในยุคก่อนปารีสเป็นเมืองหลวงที่พึ่งพาแม่น้ำแซนในการดำเนินวิถีชีวิต

เรื่อง แมรี วินสตัน นิกลิน

ภาพถ่าย โทมาส แวน ฮูทรีฟ

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม นอเทรอดาม : รำลึกอาสนวิหารอันเป็นที่รักของชาวปารีส

Notre Dame Cathedral on fire

Recommend