“ไม่มีใครรู้จักที่นี่” ต้นกำเนิดอันห่างไกลของแม่น้ำเซกูเรในโบลิเวีย

“ไม่มีใครรู้จักที่นี่” ต้นกำเนิดอันห่างไกลของแม่น้ำเซกูเรในโบลิเวีย

‘ไม่มีใครรู้จักที่นี่’ ต้นกำเนิดอันห่างไกลของแม่น้ำเซกูเรในโบลิเวีย โอบอุ้มสรวงสวรรค์ทางธรรมชาติ

สิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในอุทยานแห่งชาติอิซิโบโรเซกูเรและดินแดนชนพื้นเมือง ตรงบริเวณที่เชิงเทือกเขาแอนดีสบรรจบกับป่าฝนที่ต่ำในโบลิเวีย คือสถานที่ที่เข้าถึงได้ยากยิ่ง จนมีมนุษย์ไม่กี่คนเคยย่างกรายเข้าไปจวบกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มชาติพันธุ์จีมาเน, โมเฆโน-ตรินิตาริโอ และยูรากาเร ล่าสัตว์จับปลาในที่ลุ่มนี้มาหลายพันปีแล้ว แต่คนท้องถิ่นบอกว่า เท่าที่คนยังมีชีวิตอยู่จดจำกันได้ ไม่มีใครกล้าเสี่ยงขึ้นไปยังต้นน้ำของแม่น้ำเซกูเร แควสาขาสายหนึ่งของแม่น้ำแอมะซอน “ไม่มีใคร ไม่มีใครรู้จักที่นี่”  รอยเซอร์ เฮอร์บี สมาชิกชนเผ่ายูรากาเร กล่าวและเสริมว่า “คุณไปที่นั่นโดยเรือแคนูไม่ได้ มันเสี่ยงมาก แล้วน้ำก็เชี่ยวมากด้วย”

“ป่าดงตรงนั้นปกป้องตัวเองด้วยเสียงฟ้าคำราม ด้วยสายฝนกระหน่ำ ด้วยสายลม และด้วยสายฟ้า” เฟลิกซ์ เฮอร์บี โมซา ลูกพี่ลูกน้องของรอยเซอร์ และนายกเทศมนตรีเมืองลาอาซุนตา ชุมชนชาวจีมาเนที่อยู่ใกล้ต้นน้ำนี้มากที่สุด เห็นพ้องและบอกว่า “แล้วยังมีความกลัวสัตว์อันตรายต่างๆ อยู่ตลอดด้วยครับ นี่เป็นเหตุผลที่บรรพบุรุษของเราไม่เคยย่างกรายไปยังสถานที่เหล่านี้”

ซอกมุมหลีกเร้นนี้อุดมไปด้วยสัตว์ป่ามากมายอย่างน่าทึ่ง นากหางยาวแหวกว่ายไปตามแม่น้ำที่อุดมไปด้วยปลาน้อยใหญ่ แนวรอยเท้าเสือจากัวร์พาดไขว้ไปมาตามตลิ่งแม่น้ำ ส่ำสัตว์อย่างสมเสร็จอเมริกาใต้ที่ขึ้นชื่อว่าพบตัวได้ยากมาก แสดงพฤติกรรมไร้เดียงสาขณะอยู่ใกล้ผู้คน “คุณรู้สึกเหมือนอยู่ในสถานที่ไม่เหมือนที่อื่นใด” กีโด มิแรนดา  นักชีววิทยาสังกัดสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าหรือดับเบิลยูซีเอส (Wildlife Conservation Society: WCS) กล่าว “ไม่มีหลักฐานใดเลยที่บ่งชี้ถึงการเข้าไปยุ่มย่ามของมนุษย์”

เขตที่สูงในอิซิโบโรเซกูเรแทบไม่สามารถเข้าถึงได้โดยทางเท้าหรือทางเรือ กระทั่งชุมชนใกล้เคียงก็ยังเชื่อกันว่า บรรพบุรุษของพวกเขาไม่เคยไปล่าสัตว์หรือจับปลาที่นั่น “ระดับความพิสุทธิ์คือน่าประทับมากครับ” กีโด มิแรนดา นักชีววิทยาชาวโบลิเวียจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าว
ปลาจาอูท่องย่านน้ำตื้นของแม่น้ำสายหนึ่งในอุทยานแห่งชาติอิซิโบโรเซกูเรและดินแดนชนพื้นเมือง ที่นี่ ต้นน้ำที่เข้าถึงได้ยากของแม่น้ำเซกูเร เป็นถิ่นอาศัยในน้ำที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคแอมะซอน
ด้วยการทำงานร่วมกับชุมชนพื้นเมือง ผู้ให้บริการจัดทริปตกปลาแบบฟลายชื่อ อันเทมด์แองก์ลิงก์ นำเสนอทริป“ตกแล้วปล่อย” แบบจำกัดจำนวนในฤดูแล้ง เป้าหมายยอดนิยมรวมถึงปลาโดราโดสีทองที่กำลังถูกวัดขนาดก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

ที่นี่ยังเป็นสถานที่เพียงแห่งเดียวในลุ่มน้ำแอมะซอน ที่ช่างภาพ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ทอมัส เพสแชกพบน้ำที่ใสกระจ่าง การค้นหายาวนอนสองปีที่ครอบคลุมแปดประเทศ นำพาเขาไปพบนักตกปลาแบบฟลาย ชาวอาเจนตินาชื่อ มาร์เซโล เปเรซ เจ้าของบริษัททัวร์ อันเทมด์แองก์ลิงก์ (Untamed Angling) ผู้ให้บริการเฉพาะทางรายนี้จัดทริปตกแล้วปล่อยในบริเวณตอนล่างของแม่น้ำสายต่างๆ ในอุทยานอิซิโบโรเซกูเร โดยได้รับอนุญาตเป็นพิเศษจากทางการโบลิเวีย และจัดการความร่วมมือในรูปแบบแบ่งปันผลกำไรกับชนเผ่าจีมาเน, โมเฆโน-ตรินิตาริโอ และ ยูรากาเร เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ ในปี 2021 เปเรซเริ่มขับเฮลิคอปเตอร์ไปยังพื้นที่ต้นน้ำหลีกเร้นเป็นครั้งแรก ต่อมาในปี 2022 เขาชวนเพสแชกเข้าร่วมด้วย

ต้นน้ำเหล่านั้นไม่ทำให้ผิดหวัง ความใสของน้ำเอื้อให้เพสแชกเก็บภาพใต้น้ำภาพแรกๆ ของสถานที่สุดพิเศษแห่งนี้ ปลา เปคู ยักษ์ ซึ่งเป็นญาติกับปลาปิรันยา นับร้อยๆ ตัวรวมฝูงรอบตัวเขา เขาแหวกว่ายเคียงคู่ปลากดตัวเท่าคน และปลาโดราโดสีทองที่งามชวนตะลึง แพสแชกถึงกับออกปากว่า “ผมไม่เคยเจออะไรเทียบได้กับที่นี่ไม่เคยเลย เมื่อคุณกระโดดลงน้ำที่นั่น คุณจะรู้สึกเหมือนอยู่ในมหาสมุทร… คุณจะแทบไม่อยากเชื่อว่า คุณอยู่ในแม่น้ำสายหนึ่งในแอมะซอน”

ปลาซาบาโลเล็มสาหร่ายในท้องน้ำใสแจ๋วของธารน้ำสายหนึ่งในอิซิโบโรเซกูเร นักชีววิทยาบอกว่า การสร้างรายการชนิดพันธุ์อย่างเป็นทางการขึ้นมา จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจที่ดีขึ้นต่อระบบนิเวศห่างไกลเหล่านี้
ภาพถ่ายที่เปิดหน้ากล้องเป็นเวลานานจับภาพเส้นทางการบินของจักจั่น มอท และแมลงชีปะขาวที่ออกมาตอนกลางคืนในอิซิโบโรเซกูเร นักวิทยาศาสตร์หวังว่า การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแมลงเหล่านี้ ตลอดจนพืชพรรณ ส่ำสัตว์และเห็ดราต่างๆ ที่มีอยู่ในและรอบภูมิภาคนี้ จะนำไปสู่การกำหนดทรัพยากรของชาติที่ต้องสวงนไว้เพื่อการอนุรักษ์
ปลา ปิราปิติงกา ฝูงหนึ่ง ซึ่งเป็นปลา เปคู ขนาดใหญ่และเป็นญาติกับปลาปิรันยา แหวกว่ายในวังธารแห่งหนึ่ง ปลาซึ่งมีอีกชื่อว่า เปคูแดง เหล่านี้ อาจเติบโตจนมีความยาวถึง 90 เซนติเมตร และหนัก 25 กิโลกรัมเมื่อโตเต็มวัย “ฝูงปลาเปคูอาจหนาแน่นมากจนบดบังแสงอาทิตย์ได้เลยครับ” ทอมัส เพสแชก ช่างภาพ กล่าว

แม้ทุกวันนี้ บริษัทของเปเรซจะจัดทริปเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปยังบริเวณดังกล่าวเป็นประจำในช่วงฤดูแล้ง แต่ต้นน้ำซ่อนเร้นแห่งอิซิโบโรเซกูเรก็ยังไม่ได้รับการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ และเหล่านักชีววิทยาก็กระตือรือร้นอยากเริ่มเต็มที “ไม่ต้องสงสัยเลยครับ ที่นั่นคงมีชนิดพันธุ์ใหม่ๆ เพียบ” มิแรนดาบอก คนที่ไปเห็นสถานที่นี้มาแล้วกับตาล้วนหวังว่า มันจะกลายเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติสำหรับชาวโบลิเวีย และได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์ในอนาคต “ผมภูมิใจที่ชุมชนของผมมีภูมิประเทศแบบนี้” รอยเซอร์ เฮอร์บี บอก ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “มันควรได้รับการรักษาไว้อย่างที่มันเป็นทุกอย่างครับ”

สารคดีเรื่องนี้นำเสนอโดยสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ร่วมกับโรเล็กซ์ ภายใต้โครงการสำรวจแอมะซอนเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์และเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

เรื่อง จอร์แดน ซาลามา

ภาพถ่าย  ทอมัส เพสแชก

แปล อัครมุนี วรรณประไพ  


โลมาสีชมพู สัญลักษณ์แห่งลุ่มน้ำแอมะซอน

Recommend