100 ปีของการตามล่าอุปราคา (eclipse) เผยให้เห็นในภาพถ่ายแปลกประหลาด

100 ปีของการตามล่าอุปราคา (eclipse) เผยให้เห็นในภาพถ่ายแปลกประหลาด

เรื่อง เรเชล บราวน์

ความมืดกลืนกินกลางวัน ทันใดนั้นอากาศก็หนาวเย็น ดวงอาทิตย์หายไปจากท้องฟ้า ไม่ต้องสงสัยเลยว่า บรรพบุรุษของเราจะต้องตื่นตระหนกต่อปรากฏการณ์สุริยุปราคา

หลายวัฒนธรรมเชื่อว่า สุริยุปราคาและจันทรุปราคาเกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ถูกพลังเหนือธรรมชาติกลืนกิน เช่น สุนัขเพลิงของวัฒนธรรมเกาหลี หมาป่าแห่งท้องฟ้าของชาวไวกิ้ง หรือพระราหูที่มีแต่ร่างกายท่อนบน

ทว่าในที่สุดนักดาราศาสตร์ก็ได้คำตอบว่า สุริยุปราคาเกิดจากดวงจันทร์โคจรผ่านมาอยู่ในแนวเดียวกันระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ และจันทรุปราคาเกิดจากโลกโคจรผ่านระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์

จากการสังเกตการณ์อย่างละเอียด นักดาราศาสตร์ยุคแรกๆจึงเรียนรู้ที่จะทำนายวันเวลาในการเกิดอุปราคา ชาวแคลเดียในเมืองบาบิโลนบันทึกการเกิดวัฏจักรซารอส (Saros cycle) หรือช่วงเวลา 18 ปี 11.3 วัน ที่จะเกิดอุปราคาซ้ำ เป็นครั้งแรกในสมัยศตวรรษที่เจ็ดก่อนคริสตกาล อย่างไรก็ตาม เราต้องใช้เวลาอีกนานมากกว่าจะคิดหาวิธีปกป้องลูกตาของเราจากการมองดูอุปราคาได้อย่างแท้จริง

ในปี 1896 นักดาราศาสตร์อาชีพและมือสมัครเล่นจากทั่วโลก 165 คนลงเรือเดินทางนานหนึ่งเดือนไปยังเมือง Vadsø ประเทศนอร์เวย์ เพื่อเฝ้าสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 9 สิงหาคม ที่นี่ โจเซฟ ลันต์ จาก British Astronomical Association ปรับเปลี่ยนกล้องถ่ายภาพที่ออกแบบเป็นพิเศษซึ่งต้องใช้ผู้ปฏิบัติงานสี่คน

Photograph by ALINARY, GETTY IMAGES

สมาชิกของ British Astronomical Association มาถึงเมือง Vadsø ประเทศนอร์เวย์ หนึ่งสัปดาห์ก่อนเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาในปี 1896 เพื่อให้มีเวลาพอที่จะติดตั้งอุปกรณ์ รวมถึงกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ แม้ว่าภารกิจนี้จะล้มเหลว เพราะเมฆปกคลุมบดบังตลอด 106 วินาทีที่สุริยุปราคาเต็มดวง แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่มีค่าสำหรับการสำรวจครั้งต่อๆมา

Photograph by ALINARY, GETTY IMAGES

กลุ่มนักดาราศาสตร์ชาวรัสเซียเตรียมตัวเฝ้าสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 14 มกราคม ปี 1907 สถานที่นี้อยู่สูงขึ้นไปบนเทือกเขาเทียนชานในเอเชียกลาง เป็นที่สังเกตการณ์ซึ่งเหมาะสมที่สุด

Photograph by UIG, GETTY IMAGES

สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ ซึ่งมองเห็นได้ในซีกโลกใต้เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ปี 1919 ได้รับคุณูปการอย่างใหญ่หลวงจากฟิสิกส์สมัยใหม่ กล่าวคือในการทดสอบทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ครั้งแรก เซอร์อาร์เทอร์ เอดดิงตัน นักดาราศาสตร์ วัดตำแหน่งของดาวบางดวงก่อนและระหว่างการเกิดอุปราคา เขาพบว่า ตำแหน่งของดาวแตกต่างกันไปในวิถีทางที่อธิบายได้ด้วยการที่แรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์หักเหแสงของดาวเหมือนกับเลนส์เท่านั้น ด้วยผลลัพธ์นี้ เอดดิงตันช่วยปูทางให้ทฤษฎีสัมพัทธภาพได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

Photograph by SSPL, GETTY IMAGES

เซอร์อาร์เทอร์ เอดดิงตัน ทดสอบทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์จากเกาะปรินซิปี นอกชายฝั่งตะวันตกของแอฟริกา ระหว่างการเกิดอุปราคาเมื่อปี 1919 ในกรณีที่เมฆปกคลุมทำให้การทดลองล้มเหลว เอดดิงตันยังได้จัดเตรียมให้นักดาราศาสตร์ทำการสังเกตแบบเดียวกันจากเมืองซูบราล ประเทศบราซิล ซึ่งติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ตัวนี้ไว้ ความสำเร็จจากการสังเกตการณ์ทั้งสองแห่งเริ่มทำให้ทฤษฎีของไอน์สไตน์เป็นที่สนใจ

Photograph by SSPL, GETTY IMAGES

เมื่อวันที่ 10 กันยายน ปี 1923 สุริยุปราคาที่เกิดนานสามชั่วโมงบดบังแสงอาทิตย์ร้อยละ 90 ในนครลอสแอนเจลิส ฝูงชนที่ชมดูปรากฏการณ์สวมแว่นตาป้องกัน แต่ยังคงอันตรายต่อสายตา เพราะสีหรือฟิล์มเอกซเรย์กรองแสงที่มองเห็น แต่ไม่ได้ป้องกันรังสีอินฟราเรดและอัลตราไวโอเลต ซึ่งอาจเผาไหม้ประสาทจอตาอย่างถาวร

Photograph by CORBIS, GETTY IMAGES

Recommend