การพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางไกลจากทางเดี่ยวให้เป็นทางคู่ เป็นนโยบายที่สำคัญที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเพื่อยกระดับการเดินทางและขนส่งสินค้าของไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญรุดหน้าได้อย่างมั่นคง
ปัจจุบันโครงข่ายรถไฟทางไกลของไทย มีระยะทางรวม 4,044 กิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นรถไฟทางเดี่ยว 91% เป็นทางคู่ 6% และทางสาม 3% แม้การเดินทางด้วยระบบรางจะเป็นการคมนาคมที่ประหยัดต้นทุนและประหยัดพลังงานกว่าการเดินทางประเภทอื่นๆ มาก แต่ด้วยข้อจำกัดของรถไฟทางเดี่ยว ซึ่งใช้เดินรถทั้งสองทิศทางบนทางเดียว วิ่งสวนกันได้เฉพาะที่สถานีหรือจุดที่กำหนดไว้ ทำให้ต้องรอหลีกบนจุดที่กำหนดให้เป็นระยะๆ จึงเป็นการเดินทางที่ต้องใช้เวลา
แต่การพัฒนาประเทศเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ เศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วต้องอาศัยโครงสร้างการคมนาคมที่มีประสิทธิภาพเป็นรากฐาน กระทรวงคมนาคมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงได้ตอบรับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม และกำหนดให้ระบบรางเป็นแกนกลางในการเดินทางขนส่งของประเทศ ด้วยเป็นรูปแบบการเดินทางที่สามารถขนส่งผู้โดยสารและสินค้าได้ในปริมาณมาก และมีต้นทุนการขนส่งต่ำกว่าทางถนนและอากาศ
การพัฒนารถไฟทางคู่ สามารถเพิ่มความจุทางทำให้เดินรถได้มากขึ้นรถไฟไม่ต้องรอหลีก ทำให้เดินทางได้ตรงเวลา เพิ่มศักยภาพของการคมนาคมจากรถไฟทางเดี่ยวเป็นรถไฟทางคู่ ที่สามารถเดินรถไฟทั้ง 2 ทาง วิ่งสวนกันได้ โดยไม่ต้องรอหลีก ทำให้รถไฟสามารถทำความเร็วเฉลี่ยของขบวนรถจากเดิม 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 100 – 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (สำหรับการขนส่งประชาชน) สามารถลดเวลาการเดินทางโดยเฉลี่ยได้ถึง 30%
ปัจจุบัน การรถไฟฯ ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะเร่งด่วน จำนวน 7 เส้นทาง มีระยะทางรวม 993 กิโลเมตร ทั้งในสายใต้ สายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะนี้เปิดให้บริการแล้ว 2 เส้นทาง และอีก 5 เส้นทาง กำลังดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งตามกำหนดจะสามารถเปิดให้บริการได้ครบภายในปี พ.ศ. 2568 นอกจากนี้ ในระยะเร่งด่วน ทางคู่ระยะที่ 2 การรถไฟฯ วางแผนสำหรับทางคู่สายใหม่ และทางคู่สายใหม่ระยะต่อไป ซึ่งเชื่อมสู่ประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย ทางเดี่ยวที่ก่อสร้างใหม่เป็นทางคู่ จะทำให้การเข้าถึงสถานที่ต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะกลายเป็นการเดินทางแกนหลักของประเทศ และในภูมิภาค
สร้างทางคู่ควบคู่อนุรักษ์สถาปัตยกรรมดั้งเดิมกับการออกแบบเพื่ออนาคต
เราได้เดินทางไปยังเส้นทางสายใต้ ช่วงนครปฐม – หัวหิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน ในเส้นทางการก่อสร้างมีสถานีรถไฟที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การรถไฟฯ จึงมีการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมของอาคารสถานีเอาไว้ตลอดเส้นทาง เช่น สถานีหัวหิน เป็นอาคารสถานีรถไฟที่มีความโดดเด่นอย่างมาก จัดว่าเป็นสถานีรถไฟที่สวยที่สุดในประเทศไทย เป็นอาคารไม้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมยุควิคตอเรียน ซึ่งเป็นพิมพ์นิยมในการก่อสร้างอาคารสถานีรถไฟในยุคนั้น เฉพาะป้ายชื่อ ‘สถานีหัวหิน’ ก็กลายเป็นสัญลักษณ์และเอกลักษณ์ต้นแบบของดีไซน์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของเมืองหัวหินไปทั่วอำเภอ
สถานีหัวหินใหม่ สถานียกระดับที่มีทางเดินใต้สถานีแห่งแรกในประเทศไทย
สถานีหัวหิน นับเป็นสถานีแห่งประวัติศาสตร์และเป็นแลนมาร์กสำคัญของอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่ออาคารใหม่แล้วเสร็จ อาคารสถานีเดิมก็จะยังคงใช้งานอยู่ แต่เน้นรองรับการเดินรถสายที่เน้นการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้นักท่องเที่ยวยังได้รับบรรยากาศเดิมอย่างครบถ้วน
อาคารสถานีรถไฟหัวหินแห่งใหม่ยังคงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมของสถานีเดิมไว้ ไม่ว่าจะเป็นสีขาวครีมตัดด้วยสีแดงหมากสุก รายละเอียดของเส้นสายลวดลายประดับ และตัวอักษรบนป้ายต่างๆ ก็ยังใช้แบบเดิม แต่เป็นสถานีที่ยกระดับขึ้นสูง 14 เมตร อยู่ตรงข้ามเยื้องกับสถานีเดิม รองรับการใช้งานรูปแบบใหม่ ที่จะเพิ่มจำนวนเที่ยวรถไฟและการขนส่งขึ้นอีกมาก รวมถึงเตรียมพร้อมสำหรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคตอีกด้วย
สถานีในเส้นทางนี้อย่างสถานีเขาเต่า และสถานีหนองแก ซึ่งก่อสร้างใช้งานรถไฟทางคู่เรียบร้อยแล้ว ก็ยังคงรักษาอาคารสถานีเดิมไว้ โดยปรับปรุงใหม่ให้สวยงาม พร้อมขยายอาคารสำหรับการใช้งานเพิ่มเติม เช่น มีพื้นที่ร้านค้า ห้องละหมาด และห้องน้ำที่สะอาดสะดวกสบาย ออกแบบและก่อสร้างภูมิทัศน์โดยรอบให้สวยงามสบายตา มาพร้อมการใช้งานทั้งที่จอดรถ ที่จอดรถผู้พิการ ทางเดินเชื่อมต่อที่กว้างขวาง มีทางลาดเหมาะสำหรับผู้ใช้รถเข็น มีราวจับที่แข็งแรง เพื่อการใช้งานที่สะดวกปลอดภัย
การออกแบบสถานีบนเส้นทางสายใต้ยังมีรูปแบบที่สอดคล้องไปกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น อย่างสถานีทางภาคใต้ จากชุมพรจนถึงปาดังเบซาร์ รูปแบบสถาปัตยกรรมของสถานีก็เปลี่ยนไป เป็นกลิ่นอายของอารยะธรรมท้องถิ่นทางภาคใต้ปลายด้ามขวาน
เช่นเดียวกับเส้นทางสายเหนือ และสายอีสาน การก่อสร้างสถานีรถไฟก็จะสะท้อนถึงลักษณะเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสถาปัตยกรรมท้องถิ่นนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น การใช้จั่ว หน้ามุข คานแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมไทยที่ปรับให้เรียบง่าย เหมาะสมกับการดูแลรักษา แต่ยังคงความงดงามด้วยลวดลายที่พบได้จากศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่ผสานเป็นการตกแต่งที่ใช้งานเอนกประสงค์ได้ไปในตัว และออกแบบให้มีความโปร่งโล่งเพื่อระบายอากาศได้ตามหลักของบ้านไทยพื้นถิ่น
สำหรับสถานีหลักประจำจังหวัด เช่น สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี และสถานีนครราชสีมา เป็นต้น การรถไฟฯ มีการออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานขนาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และพร้อมสำหรับการเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงในอนาคต
การเดินทางโดยรถไฟนั้นผสานไปกับการท่องเที่ยวเสมอ หลายสถานีนอกจากเชื่อมการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างจังหวัดและภูมิภาค และเชื่อมโยงการเดินทางสู่สถานที่ท่องเที่ยวต่าง แล้ว ตัวสถานีที่ออกแบบใหม่ยังสามารถเป็น จุดแลนด์มาร์กใหม่ และจุดถ่ายภาพเช็คอินสำหรับนักท่องเที่ยวไปในตัว
การพัฒนาปรับปรุงที่มาพร้อมกับรถไฟทางคู่
ไม่เพียงแต่มีทางเดินรถเพิ่มขึ้นเท่านั้น ในโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ยังเพิ่มจังหวัดที่รถไฟพาดผ่าน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เข้าถึงการเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น และมีการออกแบบปรับปรุงโครงสร้างการใช้งานให้มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ รองรับการใช้งานพื้นที่บริเวณรอบสถานีรถไฟเพิ่มขึ้น
ในส่วนของความสะดวกและความปลอดภัย การรถไฟฯ ได้ปรับปรุงจุดตัดทางรถไฟ-รถยนต์ เพื่อลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัด โดยปรับเปลี่ยนให้เป็นสะพานยกระดับขึ้นมา หรือเป็นทางลอดใต้ทางรถไฟ หรือสะพานข้ามทางรถไฟ เพิ่มความปลอดภัยในการเดินรถ และการใช้รถใช้ถนนของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น สร้างรั้วกั้นตลอดแนวเส้นทาง พร้อมปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณ เพิ่มประสิทธิภาพในการเดินรถ และให้สัญญาณความปลอดภัยที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างพิเศษที่เป็นความท้าทายในการก่อสร้าง เช่น ทางรถไฟลอยฟ้าที่มวกเหล็ก สะพานรถไฟแบบขึงแห่งแรกที่ราชบุรี และอุโมงค์ที่ยาวที่สุด รวมถึงการก่อสร้างทางคู่สายใหม่ที่เป็นการขยายโครงข่ายการขนส่งไปเชื่อมโยงการขนส่งที่ชายแดนสำคัญ อย่างทางคู่สายทางใหม่ เด่นชัย เชียงราย เชียงของ บ้านไผ่ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร และนครพนม
สำหรับอาคารสถานีและการใช้งานโดยรอบ ก็ได้มีการออกแบบเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ใช้งานตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ขยายพื้นที่ลานกองสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า และลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เรียกได้ว่าเป็นโครงการพัฒนาที่คิดถึงประโยชน์ในทุกมิติ
การออกแบบอาคารสถานีใหม่อย่างใส่ใจ ไม่หลงลืมของเก่า
การออกแบบอาคารสถานีรถไฟ เป็นจุดเด่นอีกอย่างของโครงการรถไฟทางคู่ เนื่องจากต้องมีการออกแบบอาคารใหม่ เพื่อรองรับการใช้งานจำนวนขนส่งและผู้บริการที่มากขึ้น ด้วยการปรับปรุงการใช้งานใหม่ให้เหมาะสม และการออกแบบที่ตอบโจทย์ Universal Design ขณะเดียวกัน อาคารสถานีรถไฟดั้งเดิมนั้น ส่วนหนึ่งก็ได้ถูกอนุรักษ์ไว้เพื่อสืบทอดเรื่องราวของการพัฒนาของรถไฟแต่อดีต บางสถานีอนุรักษ์ไว้ในพื้นที่เดิม บางแห่งทางจังหวัดก็ย้ายอาคารไปอยู่ในสถานที่อื่น เช่น โรงเรียน หรือโรงพยาบาล เปลี่ยนการใช้งานเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก หรือห้องสมุด โดยรักษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไว้ ให้ผู้ที่สนใจได้มาศึกษาหาความรู้กัน
การรถไฟแห่งประเทศไทยมีแนวคิดในการออกแบบแต่ละสถานีโดยอิงจากสถาปัตยกรรมท้องถิ่นให้กลมกลืนไปกับชุมชน สะท้อนศิลปวัฒนธรรมของแต่ละท้องที่ ไม่ใช้รูปแบบโมเดิร์นที่แหวกแนวขัดแย้งกับพื้นที่โดยรอบ แต่เป็นแบบร่วมสมัยที่ผสานการใช้งานตามมาตรฐานสากล ที่คิดถึงการใช้งานของคนทั้งมวล ตอบโจทย์ความสะดวกสบายของทั้งผู้พิการ ผู้สูงอายุ และบุคคลทั่วไป พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบให้สวยงาม มีทางเชื่อมกับการเดินทางรูปแบบอื่น อีกทั้งยังคำนึงถึงการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและการบำรุงรักษาที่ง่ายไปในตัว
รถไฟทางคู่ไปถึงที่ใด สร้างประโยชน์ที่นั่น
เราอยากจะขอยกตัวเลขประสิทธิภาพการขนส่งของรถไฟทางคู่ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2555 อย่างช่วงสถานีฉะเชิงเทรา ที่ต่อมาการรถไฟฯ ได้ขยายเส้นทางจากสถานีฉะเชิงเทราไปยังสถานีชุมทางคลองสิบเก้าและสถานีชุมทางแก่งคอย ซึ่งแล้วเสร็จในปี 2562 ทางรถไฟช่วงนี้เป็นรถไฟทางคู่เลี่ยงเมือง ซึ่งมีความสำคัญต่อการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สู่ท่าเรือแหลมฉบังโดยไม่ต้องผ่านเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ คาดการณ์ว่าจะสามารถช่วยขนส่งผู้โดยสารได้ถึง 7.17 ล้านคนต่อวัน และคาดการณ์ปริมาณขนส่งสินค้าได้ถึง 17.18 ล้านตันต่อปีในปี 2569
และอีกเส้นทางที่แล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2563 คือช่วงสถานีชุมทางถนนจิระ จ.นครราชสีมา – สถานีขอนแก่น คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร 46,350 คนต่อวัน และคาดการณ์ปริมาณขนส่งสินค้าต่อวัน ในปี 2577
อีกทั้งความจุเส้นทางที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้คนเดินทางได้ตรงเวลา จากความเร็วเฉลี่ย 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะเพิ่มเป็น 100 – 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนรถไฟขนส่งสินค้านั้นจะเพิ่มจาก 29 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถือว่าเป็นการเรียกคืนเวลาเดินรถที่สามารถเดินรถได้ตรงเวลามากขึ้น จากการเปิดให้บริการจากทางคู่ที่แล้วเสร็จ และเป็นการคืนเวลาให้กับผู้โดยสาร สร้างความเชื่อมั่นจากผู้เดินทาง และผู้ประกอบการได้มากขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการใช้ชีวิตและการพัฒนาเศรษฐกิจ
รถไฟทางคู่ 2 เส้นทางที่แล้วเสร็จให้บริการแล้วนั้นเพิ่มจำนวนขนส่งผู้โดยสารและสินค้าได้มาก และยังส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ทำให้เราพอนึกภาพออกได้ว่า หากโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วนที่กำลังทยอยแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อม จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการขนส่งและการเดินทางให้ประชาชนได้มากขึ้นขนาดไหน
รถไฟทางคู่ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศจะเปลี่ยนภาพจำที่มีต่อรถไฟไทย ด้วยการปรับปรุงขนานใหญ่ กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นแกนสำคัญของประเทศ ช่วยยกระดับคุณภาพการเดินทางของประชาชน การขนส่งระหว่างพื้นที่ชนบท เมือง จังหวัด และระหว่างประเทศ เป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจเติบโตได้อีกมหาศาล