เดชรัต สุขกำเนิด : สิ่งแวดล้อมกับเศรษฐกิจคือเรื่องเดียวกัน มองนโยบายสิ่งแวดล้อมของก้าวไกลในการ เลือกตั้ง 2566

เดชรัต สุขกำเนิด : สิ่งแวดล้อมกับเศรษฐกิจคือเรื่องเดียวกัน มองนโยบายสิ่งแวดล้อมของก้าวไกลในการ เลือกตั้ง 2566

สนทนากับ เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center ถึงความคิดด้านสิ่งแวดล้อมของพรรคก้าวไกล อะไรอยู่เบื้องหลังนโยบายในการ เลือกตั้ง 2566

ในระหว่างที่ความหวังครั้งใหม่จากการเลือกตั้ง 2566 กำลังก่อตัวขึ้น เวลาเดียวกันนี้ฝุ่น PM2.5 ก็ยังยึดครอง ล่องลอยอยู่ในอากาศจนเกิดค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะจังหวัดภาคเหนือที่รายงานสภาพอากาศทั้งไทยและต่างประเทศชี้ชัดว่าเป็นสถานการณ์ “ไม่ปกติ” เป็นเวลานานนับเดือน

เผาป่า,โลกร้อน, สภาพอากาศที่แปรปรวน, ฝนตกหนักและนานมากขึ้น,น้ำเสีย,มลภาวะในอากาศ และอีก ฯลฯ คือปัญหาร่วมสมัยที่ทั้งโลกให้ความสำคัญ และแน่นอนว่าเมื่อการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของไทยมาถึง นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจึงเป็นอีกจุดขายที่แต่ละพรรคหวังใช้เป็นฐานคะแนน

ท่ามกลางข้อเสนอมากมาย พรรคก้าวไกลคืออีกพรรคที่มองว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นภัยความมั่นคงของยุคปัจจุบัน โดยที่หนึ่งในนั้นมีการออกชุดนโยบาย “สิ่งแวดล้อมไทยก้าวหน้า” ซึ่งแสดงถึงการเอาจริงกับปัญหาโลกร้อน ผ่านนโยบายเชิงรุกและเชิงรับ อาทิ การเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) การป้องกันการเผา เปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกเป็นรายได้

เบื้องหลังวิธีคิดของนโยบายเหล่านั้นคืออะไร และแนวทางของก้าวไกลว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นแบบไหน? National Geographic Thailand สนทนากับ ‘เดชรัต สุขกำเนิด’ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเพื่ออนาคต หรือ Think Forward Center

ในภาพรวม อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่พรรคก้าวไกลอยากนำเสนอในการเลือกตั้งครั้งนี้?

ก่อนจะโฟกัสไปที่สิ่งแวดล้อม ต้องอธิบายพรรคก้าวไกลอธิบายและนำเสนอนโยบาย โดยมีแกนหลัก 3 เรื่อง คือ 1.การสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจให้มั่นคงให้กับประเทศ ซึ่งเราเรียว่า Firm Ground 2. การสร้างกลไกภาครัฐและกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรม  หรือ Fair Game และ 3. การผลักดันเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ๆ ที่ทำให้ประเทศไทยเติบโตไปข้างหน้า ที่เราเรียกว่า (ฃFast Forward Growth  และ 3 แกนหลักนี้ จะเป็นหลักคิดที่จะสื่อสารออกมาเป็นแนวทางของพรรค

ตัวอย่างเช่น Firm Ground ซึ่งเป็นการทำให้รากฐานมั่นคง ในรูปธรรมก็เช่น เรื่องสวัสดิการ สิทธิ เสรีภาพ ความมั่นคงในเรื่องทรัพยากรที่ดิน การมีสวัสดิการในกลุ่มอาชีพ เช่น สวัสดิการตำรวจ ทหาร เกษตรกร ซึ่งการมีสวัสดิการนี้หมายถึงทำให้ทุกคนมีรากฐานที่มั่นคง  ส่วนการมี Fair Game คือการมีกฎกติกาที่เป็นธรรม การทำให้ธุรกิจรายเล็ก รายย่อย คนเล็กคนน้อยไม่ถูกเอาเปรียบ สิ่งเหล่านี้รูปธรรม เช่น การมีกฎหมายสุราก้าวหน้า สมรสมเท่าเทียม การยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร และสุดท้ายคือประเทศต้องเติบโตในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งเราเรียกว่า Fast Forward Growth คือการมองว่าหากจะให้ประเทศต้องจะประกอบไปด้วยไรบ้าง

ในเรื่องการทำให้ประเทศเติบโตได้ เมื่อมาวิเคราะห์ เราพบว่า มีส่วนประกอบ 4 อย่างที่น่าสนใจที่สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน เช่น การนำปัญหาเรื่องการดูแลผู้สูงอายุให้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ การนำเอาสิ่งแวดล้อมมาเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี การมีเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งต้องชดเชยส่วนที่เราพลาดไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สะท้อนจากสถานการณ์ปัจจุบันเช่น ในอุตสาหกรรมการโทรศัพท์มือถือที่เป็นอุปกรณ์ที่ใครๆก็มี แต่แทบไม่มีชิ้นส่วนใดเลยถูกประกอบขึ้นในไทยเลย ทั้งๆ ที่เรามีความชำนาญในการผลิตชิ้นส่วน ประเด็นทั้งหมดคือสิ่งที่เราอยากจะคนไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้

แนวทางด้านสิ่งแวดล้อมแบบไหนที่พรรคก้าวไกลนำเสนอ?

เรามีมาตรการในหลายระยะ ที่ทำได้ทันทีในเรื่องสิ่งแวดล้อม และแนวคิดหลักมาจาก 3 ประเด็น แต่เวลาเรานำเสนอ เราใช้คำนี้ไม่ได้เลยทีเดียว เพราะผู้รับฟังต้องการสิ่งที่มันเชื่อมโยงโดยตรงกับเขาได้มากกว่า ต้องการรับฟังแบบเฉพาะเจาะจงเลยว่าปัญหา หรือ Pain point ของเขาต้องแก้อย่างไร

อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม เราโฟกัส อยู่ 3 เรื่อง คือปัญหาเร่งด่วน ทำทันที เช่น  PM2.5 โลกร้อน การจัดการขยะ เรามีมาตรการ 7 ข้อที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2567 หรือวันเริ่มต้นฤดูที่อาจจะเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กรอบหน้า หากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น การมีร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด และร่างพระราชบัญญัติการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือ PRTR เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

PM 2.5 ยังเชื่อมโยงกับเรื่องการเผาป่าเราเสนอที่จะมีงบประมาณแก้ปัญหาไฟป่าลงสู่พื้นที่ระดับตำบล ตำบลละ 3 ล้านบาท เพื่อการป้องกันไฟป่า การจัดการเชื้อเพลิง การเตรียมทีมอาสา พร้อมทั้งสวัสดิการของทีมอาสา และการปรับระบบการเกษตรแบบไม่เผา นอกจากนี้เรายังเสนอการประกาศใช้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (หรือ GAP) เพื่อไม่ให้นำเข้าสินค้าเกษตรที่มีที่มาจากการเผาทุกประเภท เข้าสู่ประเทศไทย ทำลายวงจรธุรกิจการเผาเพื่อการเกษตร

แกนสำคัญในนโยบายดังกล่าวนี้คือการสร้างทางเลือก เป็นการสร้างทางเลือกว่าแม้การเผาจะเป็นวิธีหนึ่งที่ทำกันมายาวนาน แต่ถ้าไม่เอา สิ่งที่เราเอามาทดแทนคืออะไร เราเสนอประกาศทางเลือกให้พี่น้องเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด อ้อย และข้าว โดยนำเศษวัสดุเหลือใช้ เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย ต้นข้าวโพด มาขายในราคา 1,000 บาท/ตัน โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณผ่านผู้ประกอบการหรือผู้รวบรวมรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตร-ซื้อเครื่องจักรในการเก็บเกี่ยว รวมถึงการเปิดให้ตรวจสภาพรถยนต์ฟรีในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี

สิ่งเหล่านี้ถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลสามารถทำได้ทันที?

มีทั้งที่ทำได้ทันที และต้องหากลไกที่ทำให้สำเร็จเช่น ถ้ามีอำนาจรัฐ การให้งบประมาณในการให้ตำบล ดูแลดับไฟป่า อันที่คือส่วนแรกที่สามารถทำได้เลย

ถ้าอะไรที่ยังไม่ได้ เราจะร่วมหาจิ๊กซอว์เป็นกลไกที่จะดำเนินการให้มันสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า มันมาจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน มาตรการที่ใช้จะคืออะไร เราต้องดูว่า มาตรการที่เหมาะที่สุด โดยที่มาตรการเหล่านั้นต้องไม่ใช่กีดกันในเชิงการค้า และยังเป็นลักษณะ Fair Game ซึ่งเป็น 1ใน 3 ของหลักคิดในการทำนโยบายอยู่

นั่นจึงเป็นที่มาของการใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรที่เรียกว่า GAP ที่ระบุว่า ข้าวโพด อ้อย ที่จะเข้ามาในประเทศไทยต้องไม่ใช้การเผาในกระบวนการผลิต ซึ่งหมายความว่าสินค้าที่คุณจะนำเข้ามาประเทศไทย คุณก็ต้องได้มาตรฐาน GAP ซึ่งสามารถสืบย้อนหลังว่าเป็นไปตามมาตรฐานไหม ซึ่งสิ่งที่เราจะสามารถติดตามที่มาที่ไปเหล่านั้นได้คือการมีเทคโนโลยี หรือ mechanism (ระบบกลไก) ว่า อะไรที่สามาถติดตามประวัติย้อนหลังได้

ส่วนในบางประเด็นที่ต้องใช้เวลา เช่น การสนับสนุนในเรื่องพลังงานสะอาด พรรคก้าวไกลนำเสนอการปลดล็อกให้ประชาชนทุกบ้านติดแผงโซลาร์ ด้วยระบบ net metering (หักลบหน่วยขาย/ซื้อ) เพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้า และเปิดโอกาสให้ขายไฟฟ้าที่ผลิตเกินใช้ กลับคืนให้รัฐในราคาตลาด ทั้งนี้เพื่อจูงใจให้ประชาชนผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยการสนับสนุนให้เกิดการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน (จากระบบ net metering) จากโซลาร์เซลล์และพลังงานหมุนเวียนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย ในราคาที่สูงกว่าตลาด และประกันราคารับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำ

มีโครงสร้างกติกาที่ไม่เป็นธรรมในเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่?

มันมีความเกี่ยวเนื่องกัน เราดูว่าอันไหนที่สามารถทำได้ อันไหนทำได้ทันที อันไหนต้องผ่านการพิจารณาในเวทีสภาผู้แทนราษฎร์ แต่สำหรับบางกลไกมันเป็นหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องเข้ามาเป็นเจ้าภาพ เช่น ขนส่งสาธารณะ ซึ่งนอกจากกรุงเทพแล้ว เราจะพบว่าจังหวัดอื่นแทบไม่มีการลงทุนในเรื่องระบบรถไฟฟ้าสาธารณะเลย ซึ่งก้าวไกลมองว่า หากจะทำให้ขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพในแต่ละจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำคัญมาก

นโยบายสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่หลายพรรคนำเสนอ บางนโยบายเราคุ้นชินกันมานาน แต่ทำไมยังทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมไม่ได้?

เราไม่มีเจ้าภาพที่จะมารับผิดชอบตรงๆ คอยติดตามว่าไปถึงไหน หรือถึงมีก็ต้องบอกว่าล้มเหลว หากเราตั้งสาระว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเร่งด่วน เป็นวาระของชาติ

เราก็จะไม่พูดไปลอยๆ แต่เราจะพูดได้เลยว่า วันที่ 1 มกราคม 2567 อะไรจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันมีกรอบเวลากำหนดชัดเจน สองคือมันมีต้องกลไกสนับสนุน เช่น อย่างเรื่องการตรวจสภาพรถ แต่เดิมจะไปทีก็แออัด คนจะไปก็ไม่สะดวก แต่ถ้าเราเปิดโอกาสให้นานขึ้นเป็น 3 เดือน แล้วมีรัฐบาลสนับสนุน การประสานงานมันคล่องตัวขึ้น ประชาชนก็จะง่ายขึ้น

ผมยกตัวอย่างว่า ปัญหาด้านวิธีคิดอย่างหนึ่งที่มักมีการเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมคือ เรามักไปมองว่า เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นอีกด้านของเศรษฐกิจ ยกตัวอย่าง เวลาเราพูดเรื่องไม่เผา คนก็จะพูดว่าเดี๋ยวต้นทุนของเกษตรกรจะแพงขึ้น อาหารสัตว์จะหายากมาขึ้น ความคิดแบบนี้มันเหมือนกับว่าเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อมเป็นคู่ตรงข้ามกัน แต่ก้าวไกลมองว่าไม่ใช่ เรามองว่า สิ่งแวดล้อมเป็นกลไกหนึ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจมันโต เพราะฉะนั้นเราจึงมีมุมมองที่ต่างออกไป มองทุกเรื่องให้เป็นโอกาส

การมองเป็นโอกาส เมื่อเข้าไปจับกับปัญหา มันสามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้ อย่างเรื่องการเผาหลังการเก็บเกี่ยว ถ้าอยู่ในประเทศไทย ก้าวไกลมีนโยบาย สนับสนุนงบประมาณผ่านผู้ประกอบการ ผู้รวบรวมรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตร ทั้งฟางข้าว ใบอ้อย และต้นข้าวโพด เพื่อมาใช้ประโยชน์ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ โดยเกษตรกรสามารถได้รับการสนับสนุน และอีกอุตสาหกรรมที่เราจำเป็นต้องทำให้เกิดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรคืออุตสาหกรรมแปรรูปเศษวัสดุการเกษตร (by-product) ทั้งฟางข้าว ใบอ้อย และต้นข้าวโพด ซึ่งไม่ใช่แค่การลดการเผา แต่นี่ถือเป็นโอกาสให้เกิดผู้ประกอบการท้องถิ่น ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่จะใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด

ทุกวันนี้เรื่องสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปเร็วมาก และกติกาของโลกก็มีการปรับเปลี่ยนที่รวดเร็ว เช่น กติกาของสหภาพยุโรป (EU) ต่อการทำประมงผิดกฎหมาย. (IUU fishing)แนวทางของแต่ละประเทศที่มีต่อ  Climate change (การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ) หรือถ้าใครอยู่ในภาคอุตสาหกรรมก็จะคุ้นเคยกับเรื่อง CBAM (มาตรการภาษีที่ EU จะใช้กับสินค้านำเข้าที่ไม่ผ่านเกณฑ์ควบคุมการปล่อยคาร์บอน)  นี่คือทิศทางของกติกาด้านสิ่งแวดล้อมที่ทุกประเทศต้องปรับ ดังนั้นในวันนี้สิ่งแวดล้อม

จึงไม่ใช่แค่เรื่องในประเทศหรือท้องถิ่น มันเป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องการการทูต และการสื่อสารกับประชาคมโลกเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ และไม่ควรเป็นแบบในลักษณะ Passive ว่าคุณมีกติกาอะไร เรามีปัญหาอะไรแล้วแก้ตาม แต่ควรมองอย่างเชิงรุก (Active)  บอกว่าเราทำอะไรบ้าง และเตรียมจะทำอะไรให้กับโลก เช่น จ. กระบี่ จากนี้ไปอาจจะเป็นจังหวัดนำร่องที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ซึ่งหมายความว่า เวลาคุณจัดประชุมใน จ .กระบี่ ไฟฟ้าที่ใช้จะมีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ซึ่งโน้มน้าวให้ใครก็อยากมาจัดประชุม เพื่อเดินตามแนวทางที่เป็นมิตรกับโลกและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร

อาจารย์เห็นด้วยหรือไม่ว่าปัญหาทางสิ่งแวดล้อมมีเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมอยู่เบื้องหลัง เช่น การเผาป่าทุกคนก็รู้ว่าไม่ดีแต่ก็ยังทำ การทำลายป่า รุกแม่น้ำลำคลองก็มาจากการขยายตัวของประชากร?

มันอธิบายไม่ได้ทั้งหมด โอเคปัญหาที่ว่าบางส่วนมันเกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำจริง แต่มลพิษบนโลกใบนี้มันเกิดจากทั้งคนรวยและคนจน การจะมองไปที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมันไม่ครบ แน่นอนว่ามีการรุกล้ำธรรมชาติเพราะความต้องการด้านเศรษฐกิจ แต่คนรวยก็ทำได้ เช่น มลพิษจากขนส่งรถยนต์ มลพิษจากไฟฟ้า

ผมมองว่า ส่วนสำคัญที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำขยายผลจนเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม มาจากการขาดทางเลือก หรือการมีทางเลือกจำกัด เอาง่ายๆเรื่องสูบน้ำ ถ้าทุกครัวเรือนเข้าถึงเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ มีสินเชื่อให้เข้าถึง มันก็ไม่มีเหตุผลอื่นที่จะไปใช้พลังงานที่จะทำลายสิ่งแวดล้อม หรือบางคนมองว่าการปล่อยควันเสียจากรถสภาพเก่ามีผลต่อมลพิษมันก็มองได้ แต่อีกทางหนึ่งมันก็เป็นเพราะเขาไม่มีทางเลือก ถ้ามีขนส่งสาธารณะที่ดี รวดเร็ว ปลอดภัย เขาก็อาจไม่ต้องใช้รถในสภาพนั้นก็ได้

วิถีที่ยังมีปัญหาจึงต้องการทางเลือก เช่น การเผาป่า เผาไร่นาหลังเก็บเกี่ยวถ้ามีทางเลือกที่จะสร้างรายได้ได้ ใครจะไปอยากเผา หรือถ้าคิดว่าถ้าไม่เผายังมีวัชพืช อยากจะใช้เครื่องจักรแต่ไม่มีงบประมาณ เราจะเสนอสินเชื่อปลอดดอกเบี้ย และทางสุดท้ายหากอยากจะปลูกพืชอื่นแล้วไม่มีหลักประกันเรื่องรายได้ ไม่รู้จะขายใคร รัฐบาลก็จะเสนอที่จะปลูกไม้ยืนต้นที่มีมูลค่า แล้วสามารถนำไปชำระหนี้ได้ ปลูกเพื่อเป็นรายได้ประจำก็จะจ่ายในอัตรา 500-1,000 บาทต่อเดือน ต่อไร่ นี่คือตัวอย่างของการสร้างทางเลือกที่ประชาชนจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงในการมองสิ่งแวดล้อมเป็นโอกาส เป็นเรื่องเดียวกับเศรษฐกิจ เราสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนได้ เช่น  การเปิดเสรีโซลาร์เซลล์ครัวเรือน พรรคก้าวไกลไม่ได้มองโซลาร์เซลล์ที่จะลดรายจ่ายในครัวเรือนเท่านั้น แต่ยังพูดถึงการมี Passive Income ซึ่งสามารถสร้างรายได้ และตัดชำระหนี้  ปลดล็อกระเบียบ สร้างตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้าเสรีของประชาชน โดยมีสินเชื่อให้กับประชาชนผู้สนใจเหมือนกับสินเชื่อบ้าน

หรืออย่างเรื่องรถขนส่งสาธารณะ ซึ่งพรรคก้าวไกลมองว่าต้องยกเลิกระบบสัมปทาน ซึ่งทำให้คนที่ได้ไปต้องพยายามทำกำไร และเมื่อต้องทำกำไร การลงทุนเพิ่มเพื่อพัฒนาคุณภาพก็เป็นไปได้ยาก นำมาซึ่งปัญหารถเก่า ควันดำ สิ่งที่รัฐบาลก้าวไกลทำคือให้เอกชนมาทำ แต่ไม่ได้ทำในรูปแบบสัมปทาน แต่จะเป็นรูปแบบรับจ้างวิ่ง รับจ้างเดินรถ

รัฐบาลจะให้เป็นเจ้าภาพไม่ใช่สัมปทานให้เอกชน?

ใช่ ไม่มีประเทศใดในโลกที่ขนส่งสาธารณะมีประสิทธิภาพจากวิธีคิดแบบให้สัมปทาน

แต่การบริหารโดยรัฐเป็นเจ้าภาพและให้เอกชนทำหน้าที่วิ่งรถอย่างเดียวก็เสี่ยงต่อการขาดทุน?

ก็เป็นไปได้ แต่ก็กลับมาทบทวนว่าการเลือกเส้นทางเหมาะไหม หรือไม่เหมาะในเรื่องเวลา เส้นทาง เราก็มาปรับ แต่ถ้าเราคิดบนฐานที่ว่าให้เอกชนรับสัมปทานไปเลย ก็จะมีแค่ 2 ทาง คือกำไรและเลิกทำ และถ้าพอเลิกทำก็กลายเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ ไม่มีการเดินรถบริการประชาชน

แนวทางด้านสิ่งแวดล้อมที่กล่าวนี้มานี้ ประเมินว่าจะใช้งบประมาณจำนวนมาก จะหาเงินมาชดเชยในส่วนนโยบายนี้จากไหน?

เป็นคำถามที่ถูกถามอยู่เสมอ แต่ในทางกลับกันเราก็ต้องพิจารณาว่าถ้าเราไม่เปลี่ยนอะไร มันก็จะเป็นแบบเดิมตลอด

งบประมาณของพรรคก้าวไกลในการทำนโยบายสิ่งแวดล้อม เรามองมาจาก 3 ส่วนคือ 1.ส่วนไหนที่ไม่ควรใช้ ก็ต้องเลิกใช้ เช่น การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ลดจำนวนทหารเกณฑ์สัก 50,000 รายต่อปี ซึ่งแนวทางนี้สามารถประหยัดงบประมาณได้ 10,000 ล้านบาทต่อปี เรื่องกำแพงกันคลื่น ที่ดินทหารที่ต้องจัดระบบใหม่ สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้มีเงินกลับมา สิ่งที่ทำอยู่แล้วลดทำได้ ก็จะมีประมาณ 2 แสนล้านบาท

สองคือการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีเดิมๆ คือการทำให้ระบบการเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีคนในระบบมากขึ้น อันนี้ก็ได้อีก 2 แสนล้านบาท  ส่วนที่สามคือภาษีใหม่ และที่พรรคก้าวไกลประกาศ คือการมีภาษีใหม่เกิดขึ้น ที่เรียกว่าภาษีความมั่งคั่ง ที่จะเก็บกับคนที่มีทรัพย์สินสุทธิ 300 ล้านบาทขึ้นไป โดยรวมทุกอย่างที่สามารถพิสูจน์มูลค่าได้

เราน่าจะเป็นพรรคเดียวที่นำเสนอเรื่องภาษีที่ดินแบบรวมแปลง ซึ่งจะเสนอว่า การเก็บภาษีที่จะรวมมูลค่าที่ดินทั้งหมด สำหรับผู้ที่มีมาก เช่น ถ้ามี ที่ดินมูลค่ารวม 10ล้านบาทขึ้นไปก็อาจเสียในระดับปกติ แต่ถ้ามี 80 ล้านบาทขึ้นไป ก็ต้องเสียในอัตราก้าวหน้า ซึ่งแน่นอนว่าเป้าหมายคือเพื่อให้ผู้ถือครองได้ปล่อยออกมาทำประโยชน์ให้กับคนจำนวนมากของประเทศที่ไม่ได้ถือครองที่ดินขนาดนั้น

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

ภาพ : กรานต์ชนก บุญบำรุง

 

อ่านเพิ่มเติม : World Economic Forum กับความยั่งยืน ในวันที่สงครามบดบังความเป็นไปของสิ่งแวดล้อม

Recommend