เมืองไทยในอดีต : สีสันย่านนิยม

เมืองไทยในอดีต : สีสันย่านนิยม

เมืองไทยในอดีต
เส้นสายคดเคี้ยวของถนนเยาวราชในย่านสำเพ็งแสดงให้เห็นถึงเขตการค้าเก่าแก่ของชาวจีน ซึ่งคึกคักมาแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ สองฝากฝั่งถนนสายนี้มีร้านทองเรียงรายอยู่มากที่สุดในกรุงเทพฯ จนได้รับการขนานนามว่า “ถนนสายทองคำ” ร้านแรกที่เปิดขายในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ “ตั้งโต๊ะกัง”

ในสมัยสยามเปิดประเทศ ชาวตะวันตกมีส่วนอย่างยิ่งต่อการกำหนดทิศทางของการเมืองและการกำเนิดย่านต่างๆ การตัดถนนเจริญกรุงตามเสียงเรียกร้องขอของฝรั่งชักนำวิถีคมนาคมทางบกมาสู่แผ่นดินกรุงเทพฯ แม้จะยังมีผู้ใช้บริการถนนไม่มากนักและลำคลองยังเป็นเส้นทางสัญจรหลัก แต่ทุกแห่งหนที่ถนนตัดผ่าน วิถีความเป็นเมืองค่อยๆคืบคลานอย่างช้าๆ

การค้าที่กระจุกตัวอยู่ในย่านสำเพ็งขยายตัวออกไปจนเกิดตลาดน้อยและตลาดวัดเกาะ ย่านชาวจีนแห่งนี้มีทวีความเจริญมากขึ้นมีการตัดถนนเจริญกรุง ถนนดังกล่าวทอดขนานไปกับย่านสำเพ็งจนถึงบางคอแหลม ส่งผลให้ย่านสำเพ็งขยายตัวออกไปตั้งแต่บริเวณวัดจักรวรรดิราชาวาส วัดปทุมคงคา วัดสัมพันธวงศ์ เรื่อยไปจนถึงริมถนนเจริญกรุง ต่อมาแผ่ไปยังแถบถนนบำรุงเมือง กระทั่งมีการตัดถนนเยาวราชในสมัยรัชกาลที่ 5

ขณะเดียวกัน การก่อสร้างตึกแถวของพระคลังข้างที่เพื่อเก็บค่าเช่าก็ก่อให้เกิดการกระจุกตัวของย่านค้าขาย ตึกแถวก่อกำเนิดวิถีพาณิชย์ริมถนนกระจายไปตามถนนตัดใหม่เกือบทุกสาย แม้ว่าวิถีชีวิตของชาวสยามบนลำน้ำจะยังปรากฏอยู่ทั่วไปก็ตาม

ตึกแถวส่วนใหญ่มีผู้เช่าเป็นพ่อค้าคหบดีมีฐานะ เจ้าของส่วนใหญ่มักไม่ใช่คนไทย แต่เป็นนายทุนชาวจีนหรือนายห้างฝรั่ง สนธิสัญญาเบาว์ริงชักนำทุกขนาดใหญ่เข้ามา และย่านการค้าที่นายทุนเหล่านี้เลือกก็คือบริเวณที่ถนนตัดผ่าน โยเฉพาะถนนเจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร ราชดำเนิน และถนนสาขา ถนนเหล่านี้เป็นที่ตั้งของห้างร้านมากมาย อาทิ ห้างแบดแมนแอนด์กำปะนี ห้างสรรพสินค้ารุ่นแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 แห้งแกรเลิตที่รับทำทองรูปพรรณ ห้างบางกอกด๊อกรับต่อเรือ ห้างไซแอมอิมปอร์ตและไซแอมมอเตอร์ จำกัด จำหน่ายรถยนต์ และห้างยอนแซมสันรับตัดสูท ห้างเหล่านี้นำสินค้าจากตะวันตกเข้ามาจำหน่าย ขณะเดียวกันก็เผยโฉมวิทยาการใหม่ๆสู่สายตาชาวเมือง

เมืองไทยในอดีต
สะพานนรรัตน์ทอดข้ามคลองบางลำพูซึ่งเรียงรายด้วยเรือพายจำนวนมาก ย่านคลองบางลำพูเป็นย่านสำคัญทางเหนือของพระนครและมีตลาดที่สำคัญตั้งใกล้กันถึง 3 แห่ง คือตลาดนานา ตลาดทุเรียน และตลาดยอด นอกจากนี้ย่านดังกล่าวยังเป็นแหล่งนันทนาการของพระนคร เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโรงมหรสพชั้นนำ อาทิ โรงภาพยนตร์บุศยพรรณ โรงละคร และโรงลิเกอีกหลายแห่ง ปัจจุบัน บางลำพูยังเป็นย่านการค้าเก่าแก่ที่สำคัญของกรุงเทพฯ

หลายย่านแสดงถึงความรุ่งเรืองทางวัตถุและสิ่งใหม่ที่เข้ามาทดแทนตามกาลเวลา เป็นต้นว่าโรงแก๊สบริเวณข้างวัดสุทัศนเทพวรารามถูกทุบทิ้งเมื่อโรงไฟฟ้าแห่งแรกถือกำเนิดขึ้น และแปรมาเป็นตลาดเสาชิงช้า ซึ่งในเวลาต่อมามีอันต้องรื้อลงเช่นกัน ส่วนชื่อย่านหลายแห่งมีที่มาน่าระลึกถึง อาทิ คลองโอ่งอ่าง ตลาดค้าโอ่งและอ่างดินเผาที่ชาวมอญล่องเรือมาขาย เช่นเดียวกับย่าน อีเลิ้ง ที่มีตุ่มอีเลิ้งวางขายเรียงราย ตรรกะของท่านผู้นำในยุคต่อมาเปลี่ยนชื่อย่านดังกล่าวเป็นนางเลิ้ง ให้สมกับความเป็นชนไทยผู้ศิวิไลซ์ ตลาดพลู ตลาดค้าส่งใบพลูขนาดใหญ่ ตรอกโรงเลี้ยงเด็กที่ตั้งสถานสงเคราะห์รับเลี้ยงเด็กแห่งแรกของสยาม สะพานช้างโรงสี สะพานข้ามคลองสำหรับช้างที่อยู่ใกล้โรงสีหลวง และตรอกกัปตันบุช ที่ตั้งบริษัทบางกอกด๊อกของชาวอังกฤษชื่อจอห์น บุช หรืออีกนามหนึ่งคือ พระยาวิสูตรสาครดิษฐ์แห่งกรมเจ้าท่า

จากเมืองไทยในอดีตถึงกรุงเทพฯ ในวันนี้ที่กอปรด้วยย่านสารพัน อำนาจเศรษฐกิจบีบให้ย่านเหล่านี้เติบโตแตกต่างกันไป แต่ปัจจัยทางการเมืองก็ตีกรอบให้แต่ละย่านมีทิศทางของตนเอง สีสันของวันวานทอผ่านกาลเวลามาถึงปัจจุบัน บ้านบาตรยังคงก้องเสียงเคาะบาตรพระทำมือ ตึกแถวย่านสำเพ็งยังคงเปิดโอกาสให้นักธุรกิจรุ่นใหม่เสมอ ย่านสีลมแปรเปลี่ยนเป็นย่านแห่งเม็ดเงินและเสียงหัวเราะ และอาร์ซีเอก็ร้องรำทำเพลงในคืนที่หนุ่มสาวบางคนโศกศัลย์ กระนั้น ลองนึกภาพดูเถิดว่า ย่านคลองมหานาคแต่ครั้งต้นรัตนโกสินทร์ ยามที่ชาวเมืองมาชุมนุมกันเพื่อชมการเล่นเพลงเรือและสักวาในคืนเดือนเด่นนั้นจะงดงามเพียงไร และพอครึกครื้นเทียบกับคอนเสิร์ตเรียลลิตีในปัจจุบันได้ไหม

 

ชมภาพถ่ายเมืองไทยในอดีตเพิ่มเติม

เมืองไทยในอดีต : ไพร่ฟ้าสามัญชน

Recommend