แล้วบรรดาชาวเกาหลีเหนือคิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้ Huffpost รายงานผลสำรวจชาวเกาหลีเหนือจำนวน 100 คนที่อาศัยและทำงานอยู่ในจีน เมื่อปี 2015 โดยนักวิจัยนาม Chosun llbo ร่วมกับศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมผสมผสาน โดยย้ำว่าชาวเกาหลีเหนือเหล่านี้เป็นแรงงานข้ามชาติที่ต้องกลับประเทศ หาใช่ผู้แปรพักตร์แต่อย่างใด ซึ่งมุมมองของพวกเขานั้นเห็นตรงกันอย่างน่าอัศจรรย์
95 คนกล่าวว่า การรวมประเทศเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ และพวกเขาเองก็เชื่อว่าจะได้ประโยชน์จากการยุติความขัดแย้ง และเมื่อถามต่อไปว่า กระบวนการรวมประเทศจะเกิดขึ้นได้อย่างไร 8 ใน 100 คนเชื่อว่า จะเกิดขึ้นโดยรัฐบาลเกาหลีเหนือ อีก 7 คนคิดว่าภาพฝันที่พวกเขาวาดหวังจะเป็นจริงต่อเมื่อรัฐบาลเกาหลีเหนือล่มสลาย อีก 22 คนเชื่อว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เกาหลีใต้จะกลืนเกาหลีเหนือ ส่วนที่เหลือเชื่อว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ก็จาก “การเจรจาของทั้งสองประเทศในฐานะเท่าเทียมกัน”
หากเกาหลีกลับมาเป็นหนึ่ง
ภาพคิม จอง-อึน ผู้นำเกาหลีเหนือจูงมือประธานาธิบดีมุน แจ-อิน แห่งเกาหลีใต้ข้ามเส้นกำหนดเขตทหารกลายมาเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำ รวมถึงข้อความที่ว่า “ประวัติศาสตร์หน้าใหม่เริ่มขึ้นแล้ว – จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์และยุคของสันติภาพเริ่มต้นที่นี่” ที่คิม จอง-อึน เขียนลงในสมุดเยี่ยมของอาคารสันติภาพ ในเกาหลีใต้ จุดประกายความเชื่อมั่นขึ้นมาอีกครั้งว่ามีความเป็นไปได้ที่เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะกลับมารวมกันอีกครั้งในอนาคต แต่จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหากทั้งสองเกาหลีกลับมารวมกันเป็นหนึ่ง Times ได้รวบรวมมุมมองไว้ในหลายประเด็น
การเมือง – ความแตกต่างของระบอบการปกครองคือจุดเด่นชัดที่สุดที่ทั้งสองประเทศนี้ไม่อาจเข้ากันได้ ฉะนั้นแล้วเป็นไปได้ว่าหากการรวมประเทศเกิดขึ้นจริง เกาหลีอาจใช้โมเดล เช่น จีน-ฮ่องกง ที่เป็น “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งข้อนี้นับเป็นผลประโยชน์ของเกาหลีเหนือ และจะนำมาซึ่งนโยบายการค้าที่ผ่อนปรนมากขึ้นจากเดิมที่เคยถูกคว่ำบาตรจากนานาประเทศ ตามมาด้วยการกระตุ้นให้เกิดความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจของชาวเกาหลีใต้และชาวเกาหลีเหนืออีกกว่า 25 ล้านคนที่ยังคงมีฐานะยากจน
เศรษฐกิจ – อีกหนึ่งความยากลำบากคือเรื่องของเศรษฐกิจ เกาหลีเหนือมี GDP น้อยกว่า 1% เมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 11 ของโลก ทั้งยังโดดเด่นด้านเทคโนโลยี ดังนั้นแล้วหากจะแก้ไขปัญหานี้เกาหลีใต้อาจใช้กระบวนการรวมประเทศไปทีละขั้นละตอน ซึ่งอาจใช้เวลานานกว่าสิบปี ในการช่วยให้เศรษฐกิจของเกาหลีเหนือเติบโต ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ที่ยากเพราะทุกวันนี้เกาหลีใต้เองก็ยังคงต้องต่อสู้กับปัญหาคนวัยทำงานมากมายที่ว่างงานในประเทศ
สังคม – สังคมของเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือคือสังคมที่ต่างกันคนละขั้ว เกาหลีใต้ขับเคลื่อนด้วยธุรกิจบันเทิง ตามหัวมุมถนนเต็มไปด้วยคาเฟ่หลากหลายรูปแบบ อย่างไรก็ดีประเทศนี้ยังคงมีอัตราความเครียดสูง ชาวเกาหลีใต้ติดอันดับชั่วโมงทำงานมากที่สุดเป็นอันดับสอง เด็กนักเรียนเองก็มีชั่วโมงการเรียนถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงที่ต้องสอบไล่เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดัง ทั้งยังเป็นหนึ่งในประเทศที่วัยรุ่นมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง ความแตกต่างสุดขั้วนี้จะทำให้สถานที่นี้คือโลกใบใหม่ของชาวเกาหลีเหนือ ฉะนั้นแล้วหากการรวมประเทศเกิดขึ้นจริงรัฐบาลต้องจัดหาโครงการพัฒนาทักษะความรู้ ตลอดจนเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ชาวเกาหลีเหนือมีโอกาสแข่งขันกับชาวเกาหลีใต้ได้ แต่ต้องยอมรับว่าอาจเกิดความไม่พอใจในสังคมตามมา
ภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์ – แต่ละประเทศมีพันธมิตร เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา ในขณะที่เกาหลีเหนือมีจีนและรัสเซียหนุนหลัง และเกาหลีเหนือคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้อเมริกาตั้งฐานทัพในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น และการรวมประเทศหรือแม้แต่ข้อตกลงสันติภาพจะทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เหตุใดสหรัฐฯ ยังคงตั้งฐานทัพในคาบสมุทรเกาหลี และจากนโยบายของจีนที่ยืนยันหนักแน่นในการต่อต้านการใช้ระบบป้องกันขีปนาวุธชั้นสูง หรือ THAAD ของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ อาจกำลังบอกเป็นนัยถึงอำนาจของจีนเพียงประเทศเดียวในคาบสมุทรเกาหลี เมื่อสหรัฐฯ หมดข้ออ้างในภูมิภาคนี้อีกต่อไป
ความปลอดภัย – อาวุธนิวเคลียร์และบรรดาอาวุธเคมีที่เกาหลีเหนือสะสมไว้คือเรื่องน่ากังวลว่า พวกเขาจะจัดการหรือป้องกันไม่ให้อาวุธเหล่านี้ถูกขายหรือตกไปอยู่ในมืออาชญากรได้อย่างไร ที่ผ่านมาประชาคมโลกรู้เรื่องราวเกี่ยวกับที่ตั้งและประสิทธิภาพของอาวุธเหล่านี้ไม่มากนัก เนื่องจากเกาหลีเหนือปกปิดข้อมูลของพวกเขาเป็นอย่างดี ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งหัวข้อสำคัญที่ต้องติดตามว่า ในการประชุมอีกหนึ่งเดือนข้างหน้ากับผู้นำสหรัฐฯ ผลการเจรจาเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นอย่างไร เนื่องจากล่าสุดสถานการณ์มีท่าทีไปในทางบวก เมื่อผู้นำเกาหลีเหนือได้สั่งยุติการทดลองอาวุธนิวเคลียร์แล้วเช่นกัน
ทั้งนี้ Leonid Petrov นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย คาดการณ์ไว้ว่า กระบวนการรวมประเทศระหว่างสองเกาหลีนั้นน่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นราว 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี กว่าจะรวมกันได้ คำถามต่อมาก็คือใครควรเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเหล่านี้ในการสมานแผลที่เกิดขึ้นจากสงคราม
อ่านเพิ่มเติม
ขอบคุณข้อมูล
https://www.huffingtonpost.com/entry/korean-reunification-the_b_7597430
http://time.com/5255381/north-south-korea-kim-jong-un-reunification/
https://www.posttoday.com/world/549244
https://www.posttoday.com/world/549261